Skip to main content
sharethis

4 ปี การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อทวงคืนป่าแหว่ง เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพจัดกิจกรรม “ผูกผ้าเขียว รอบคูเมือง ทวงคืนป่าแหว่ง” ชี้ ขณะนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้ทำเรื่องส่งคืนพื้นที่ป่าแล้ว แต่ติดที่ข้อกฎหมายส่งมอบครุภัณฑ์ของกรมธนารักษ์ ทำให้ยังทวงคืนป่าแหว่งไม่สำเร็จ

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

9 เม.ย. 2565 เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพจัดกิจกรรม “ผูกผ้าเขียว รอบคูเมือง ทวงคืนป่าแหว่ง” เนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปี การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อทวงคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ในวันที่ 29 เมษายน 2565 หลังมีการสร้างบ้านพักผู้พิพากษาศาลอุทรภาค 5 รุกพื้นที่ป่า

ธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ระบุว่า ขณะนี้ทางเครือข่ายได้เข้าหารือกับสำนักงานศาลอุทธรณ์ภาค 5 และสำนักงานธนารักษ์เชียงใหม่ โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้ทำเรื่องส่งคืนพื้นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการทำหนังสือตอบรับการคืนพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ก็จะถือว่าเสร็จสิ้นขั้นตอนการคืนพื้นที่อย่างเป็นทางการ ขณะนี้ยังติดที่ข้อกฎหมายส่งมอบครุภัณฑ์ของกรมธนารักษ์ ซึ่งในวันที่ 15 เม.ย.นิ้ ทางเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพจะเข้าหารือร่วมกับธนารักษ์เชียงใหม่อีกครั้ง

 

ย้อนรอยหมู่บ้านป่าแหว่ง

 

โครงการบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 จ.เชียงใหม่ ตกเป็นประเด็นร้อนในสังคมเมื่อ พ.ศ.2561 หลังภาพถ่ายทางอากาศเผยให้เห็นว่าโครงการบ้านพักดังกล่าวก่อสร้างโดยกินพื้นที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ซึ่งก่อให้เกิดคำถามตามมาว่าโครงการบ้านพักตุลาการฯ รุกล้ำพื้นที่ป่าหรือไม่

โครงการบ้านพักการตุลาการฯ หรือ “หมู่บ้านป่าแหว่ง” อยู่ในที่ดินราชพัสดุเชิงดอยสุเทพ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ใกล้กับสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี กินพื้นที่ประมาณ 147 ไร่ เป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานศาลยุติธรรมภาค 5 อาคารชุด 13 หลัง และบ้านเดี่ยวอีก 45 หลังใช้งบก่อสร้างทั้งสิ้น 955,064,056.28 บาท เริ่มก่อสร้างปลายปี 2557 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

โครงการบ้านพักการตุลาการฯ หรือ “หมู่บ้านป่าแหว่ง”

ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการบ้านพักนี้แต่เดิมเป็นที่ของทหาร อยู่ติดกับเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้มีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ เมื่อมองจากภาพถ่ายทางอากาศหรือภาพถ่ายดาวเทียมจึงกลมกลืนเหมือนเป็นป่าผืนเดียวกัน โดยสำนักงานศาลยุติธรรมได้ยื่นขออนุญาตใช้ที่ดินผืนดังกล่าวใน พ.ศ.2540 และได้รับสิทธิการใช้ที่ดินจากกรมธนารักษ์และ จ.เชียงใหม่ ตามหนังสือแจ้ง ลงวันที่ 21 ก.ค. 2549 และ 14 พ.ย. 2459 ตามลำดับ ซึ่งทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงใช้เวลากว่า 7 ปีจึงเริ่มดำเนินการใช้พื้นที่ เพราะระเบียบการใช้ที่ดินราชพัสดุกำหนดว่า หน่วยงานใดได้รับอนุญาตใช้ที่ดินราชพัสดุไปแล้ว ต้องดำเนินการตามที่ขอภายในระยะเวลา 2 ปี

โครงการบ้านพักตุลาการฯ สร้างเสร็จประมาณเดือน มิ.ย. 2561 และเปิดให้ข้าราชการเข้าพักอาศัย ในขณะที่คนเชียงใหม่และภาคประชาชนหลายองค์กรเรียกร้องให้รื้อถอนโครงการบ้านพักดังกล่าว และขอให้ภาครัฐรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงขั้นตอนการขอใช้พื้นที่ว่าดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ มีการรุกล้ำเขตพื้นที่ป่าสงวนหรือไม่ ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมยืนยันว่าไม่สามารถยุติและรื้อถอนโครงการได้เนื่องจากดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบข้าราชการทุกขั้นตอน ต่อมาในเดือน ส.ค. ปีเดียวกัน คณะกรรมการกำหนดแนวทางการดำเนินการในส่วนของสิ่งปลูกสร้างในกรณีก่อสร้างบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีมติร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่และเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพว่าให้รื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกทั้งหมด พร้อมเปลี่ยนสภาพกลับคืนเป็นผืนป่า แต่เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ รัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. (ในขณะนั้น) อนุโลมให้ข้าราชการที่เข้าพักอาศัยแล้วสามารถอยู่ไปก่อนระหว่างรอการหาพื้นที่ใหม่สำหรับสร้างบ้านพัก ซึ่งคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) มีมติให้ถอนศาลอุทธรณ์ภาค 5 ออกจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังจังหวัดเชียงราย

ต่อมาในวันที่ 20 พ.ย. 2562 พนักงานสอบสวนมีคำสั่งส่งฟ้องแกนนำและสมาชิกแกนนำเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาฯ ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหา แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 คน คือ ธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ และเรืองยศ สิทธิโพธิ์ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net