คนทำงานหนุ่มสาวเกาหลีใต้หวั่น 'วัฒนธรรมบังคับสังสรรค์หลังเลิกงาน' จะกลับมาอีกครั้งหลังโควิด-19

ในเกาหลีใต้มีวัฒนธรรม "ฮเวชิก" (Hoesik) อันเป็นการบังคับให้พนักงานบริษัทสังสรรค์หลังเลิกงาน แต่คนทำงานรุ่นใหม่มองว่าเป็นวัฒนธรรมที่ล้าสมัยและรบกวนเวลาส่วนตัว ซึ่งช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้วัฒนธรรมนี้หายไปชั่วคราว แต่หลังสถานการณ์คลี่คลาย คนทำงานหนุ่มสาวต่างหวั่นใจว่าวัฒนธรรมนี้จะกลับมาอีกครั้ง


ที่มาภาพประกอบ: Tere (CC BY-NC-ND 2.0)

Summary

  • ในเกาหลีใต้ มีวัฒนธรรม "ฮเวชิก" (Hoesik) ซึ่งเป็นการบังคับให้พนักงานบริษัทสังสรรค์หลังเลิกงาน โดยไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ ทั้งนี้คนทำงานรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้มองว่าเป็นวัฒนธรรมที่ล้าสมัยและเป็นการรบกวนเวลาส่วนตัวของพนักงาน
  • ในช่วงการระบาดของโควิด-19 เกาหลีใต้มีมาตรการจำกัดการรวมตัวได้ไม่เกิน 10 คน ควบคู่ไปกับมาตรการเคอร์ฟิวตอนเที่ยงคืนสำหรับร้านอาหารและบาร์ ทำให้วัฒนธรรมนี้หายไปชั่วคราว
  • แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น และรัฐบาลได้ปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ทำให้คนทำงานหนุ่มสาวเกาหลีใต้ต่างหวั่นใจว่าวัฒนธรรมบังคับสังสรรค์หลังเลิกงานนี้จะกลับมาอีกครั้ง

เมื่อเกาหลีใต้ประกาศการตัดสินใจยกเลิกข้อจำกัดส่วนใหญ่เกี่ยวกับโควิด-19 เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2565 'จัง' พนักงานออฟฟิศหญิงวัย 29 ปีรู้สึกกังวลมากกว่ามีความสุข

การสิ้นสุดของการเว้นระยะห่างทางสังคมอาจรื้อฟื้นวัฒนธรรมการรวมตัวหลังเลิกงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่เรียกว่า "ฮเวชิก" (Hoesik) ในภาษาเกาหลี จางเป็นหนึ่งในคนทำงานหนุ่มสาวที่มองว่าวัฒนธรรมนี้ล้าสมัยและล่วงล้ำเวลาส่วนตัวของพนักงาน

"ฮเวชิกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการทำงานของคุณ เพียงแต่มันไม่ได้รับค่าจ้าง" จัง ผู้ซึ่งอาศัยและทำงานในกรุงโซลกล่าว เธอขอให้ระบุนามสกุลเท่านั้น เพื่อจะได้พูดเกี่ยวกับนายจ้างของเธออย่างตรงไปตรงมา

เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2565 เกาหลีใต้ยกเลิกเคอร์ฟิวเที่ยงคืนในบาร์และร้านอาหาร และยกเลิกมาตรการจำกัดการรวมตัวได้ไม่เกิน 10 คน กฎเกณฑ์ดังกล่าวใช้เป็นแนวทางสำหรับบริษัทต่างๆ ในการปรับใช้นโยบายการทำงานระยะไกลและควบคุมการชุมนุมที่ไม่จำเป็น เช่น การดื่มนอกเวลาทำการ

"ส่วนที่แย่ที่สุดของการสังสรรค์หลังเลิกงานคือคุณไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร การดื่มจะดำเนินต่อไปได้จนถึงดึกดื่นจนไม่มีใครรู้ว่าเมื่อใดที่มันจะจบ" จังกล่าว

ทั้งนี้ตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด มีชาวเกาหลีใต้จำนวนมากขึ้นโดยเฉพาะคนทำงานวัยหนุ่มสาว ที่ไม่พอใจต่อกิจกรรมสังสรรค์หรือร่วมงานต่างๆ กับบริษัท เช่น การไปพักร้อนกับบริษัท หรือการเดินป่ากับเพื่อนร่วมงานในช่วงเวลาที่นอกเหนือเวลาทำงานปกติ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

วัฒนธรรมนี้อาจจะคงอยู่ แต่อาจจะมีไม่บ่อยครั้งเหมือนแต่ก่อน


ช่วงโควิด-19 ทำให้พนักงานในเกาหลีใต้ทำงานทางไกลจากที่บ้านเพิ่มมากขึ้น และหลังวิกฤตคลี่คลาย หลายบริษัทก็เลือกใช้การทำงานแบบไฮบริดต่อเนื่อง | ที่มาภาพประกอบ: Jean Chung/Rest of World

ซู ยอง-กู ศาสตราจารย์ด้านการตลาดแห่งมหาวิทยาลัย Sookmyung Women's University ในกรุงโซล ชี้ว่าการระบาดใหญ่อาจทำให้วัฒนธรรมฮเวชิกแบบเก่าค่อยๆ จางหายไป

จากการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้โดย Incruit Corp ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์จัดหางาน เกือบร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าวัฒนธรรมการสังสรรค์ของบริษัทของพวกเขาเปลี่ยนไปในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ โดย ร้อยละ 95 แสดงความพึงพอใจต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

2 ปีที่ผ่านมา จังเล่าถึงช่วงเวลาเลิกงานที่ไม่ต้องสังสรรค์ เธอใช้เวลาในการทำความสะอาดบ้านมากขึ้น ทำอาหารเย็นให้ตัวเอง และออกกำลังกาย

ส่วน คิม วุน-บอง ชายวัย 30 ปี ซึ่งเริ่มทำงานให้กับหน่วยงานรัฐเมื่อปี 2564 กล่าวว่าเขารู้สึกโชคดีที่ไม่ต้องผ่านวัฒนธรรมฮเวชิก ซึ่งต้องขอบคุณกฎการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงโควิด-19

"จริงๆ แล้วผมชอบการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน เพราะผมรู้ว่ามันจะสิ้นสุดแค่เวลา 13.00 น." เขากล่าว "ผมหวังว่าวัฒนธรรมการสังสรรค์ช่วงเย็นจะเปลี่ยนไป เพราะหายไปเกือบ 2 ปีแล้ว"

แม้ว่าคนทำงานวัยหนุ่มสาวจะไม่พอใจกับวัฒนธรรมฮเวชิกมากขึ้น แต่พนักงานอาวุโสหลายคนยังคงเชื่อว่าการสังสรรค์ดังกล่าวจำเป็นต่อการสร้างสายสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ศาสตราจารย์ซู ยอง-กู ระบุ

"มันจะเป็นอีกหนึ่งความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่" ศาสตราจารย์ซู ยอง-กู กล่าว "แม้ว่าวัฒนธรรมฮเวชิกและการทำกิจกรรมร่วมกันช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์จะยังมีต่อไป แต่มันก็ไม่สามารถจัดขึ้นได้บ่อยเท่าที่เคยเป็นมา"

ในขณะที่บริษัทหลายแห่งค่อยๆ ให้พนักงานกลับมาที่ออฟฟิศของตน แต่บางบริษัทก็พยายามหาจุดกึ่งกลาง โดยเลือกใช้การทำงานแบบไฮบริด (ทั้งทำงานทางไกลและการเข้าออฟฟิศ) แทนที่จะใช้แผนการกลับสู่ออฟฟิศอย่างเต็มรูปแบบ

หนึ่งในนั้นคือบริษัท SK Telecom ที่กำลังดำเนินนโยบายให้พนักงานสามารถเลือกได้ว่าจะทำงานจากที่บ้าน ที่สำนักงานใหญ่ หรือในพื้นที่ทำงานเล็กๆ ที่บริษัทเปิดไว้ให้

"เราไม่มีคำแนะนำเฉพาะเกี่ยวกับการสังสรรค์มื้อค่ำของพนักงาน แต่มันคงจะไม่ค่อยมีบ่อยนักเมื่อพนักงานของเราหลายคนทำงานจากที่บ้าน" เจ้าหน้าที่ของ SK Telecom กล่าวโดยขอไม่เปิดเผยชื่อ เนื่องจากเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับสื่อ

"กุญแจสำคัญคือเราไม่สนใจว่าพนักงานของเราเข้าออฟฟิศบ่อยแค่ไหน ตราบใดที่มันยังช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของพวกเขา"

ที่มา
Young South Koreans are dreading the revival of work dinners as Covid measures ease (CNBC, 28 April 2022)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท