Skip to main content
sharethis

มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) จัดงานเปิดตัวหนังสือ “การรวมตัวจัดตั้งและสร้างอำนาจต่อรองให้คนทำงาน” เขียนโดยศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเสริมสร้างการจัดตั้งสหภาพแรงงาน พร้อมถกเถียงปัญหาการบริหารสหภาพฯ ในอีกหลายประเด็น 

 

26 พ.ค. 2565 ที่โรงแรมเซนจูรี่พาร์ค ดินแดง มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) จัดเสวนาเปิดตัวคู่มือ “การรวมตัวจัดตั้งและสร้างอำนาจต่อรองให้คนทำงาน” เขียนโดย ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน นักจัดตั้งสหภาพแรงงานทั้งรุ่นเก่า และรุ่นใหม่ เข้าร่วมเสวนาดังกล่าว 

เมื่อเวลา 9.30 น. เวสนา โรดิส จาก FES กล่าวเปิดเสวนา และคู่มือ “การรวมตัวจัดตั้งและสร้างอำนาจต่อรองให้คนทำงาน” โดยหวังว่าเครื่องมือนี้จะนำไปสู่แนวทางใหม่ๆ ที่จะสามารถใช้จัดตั้งสหภาพแรงงาน 

เวสนา โรดิส จาก FES

เวสนา ระบุว่า ปัญหาของสหภาพแรงงานในประเทศไทยคือมีประชาชนเข้าร่วมสหภาพฯ ในสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้แรงงาน และจำนวนผู้เข้าร่วมสหภาพฯ ประเทศอื่นๆ ซึ่งสาเหตุมาจากข้อจำกัดด้านการเข้าถึงข้อมูล แลกฎหมายแรงงาน

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีอัตราการรวมตัวจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงานน้อย โดยอยู่ในลำดับที่ 99 ของ 105 ประเทศทั่วโลก โดยมีอัตราการรวมตัวเพียง 1.5 เปอร์เซ็นต์ของกำลังแรงงานทั้งหมด 

นอกจากนี้ เวสนา พบปัญหาการไม่เข้าร่วมสหภาพในประเทศไทย อาจเพราะประชาชนขาดเครื่องมือในการจัดตั้งขบวนการที่เข้าใจง่าย 

"หวังว่าเครื่องมือจัดตั้งนี้จะช่วยยกระดับการทำงาน การสร้างเครือข่าย การสร้างสมาชิกของสหภาพในการบรรลุเป้าหมายที่เราจะมีการจัดตั้งแรงงาน 15 เปอร์เซ็นต์ในอนาคต หรือ 10 ปีข้างหน้า" เวสนา กล่าว

เวลา 9.50 น. ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ผู้เขียนคู่มือ 'การรวมตัวจัดตั้งและสร้างอำนาจต่อรองให้คนทำงาน' กล่าวถึงที่มาสอดคล้องกับเวสนา เนื่องด้วยสัดส่วนประชากรไทยที่เข้าร่วมสหภาพแรงงานไทยมีจำนวนน้อยมาก หรือประมาณ 6 แสนคนจากคนทำงานทั้งหมด 39 ล้านคน ซึ่งมีผลต่อความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียมในสังคมไทย

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน

“ช่วงหลายปีมานี้ แม้ว่าจะมีคนเข้ามาทำงานจัดตั้งสหภาพ เราไม่สามารถจัดตั้งได้เลย มันมีข้อจำกัดบางประการ ผมพยายามที่จะหาข้อจำกัดเหล่านั้น และทำออกมาเป็น ผมไม่อยากเรียกว่าเป็นคู่มือ หรือคัมภีร์ อยากให้เป็นไกด์ไลน์ หรือข้อชี้แนะที่ทำให้ฝ่าข้ามอุปสรรคที่ทำให้พวกเราที่ทำงานด้านสหภาพแรงงาน ฝ่ามันไปให้ได้หลายประการ คู่มือฉบับนี้จึงอยากให้เราทะลุเพดานอุปสรรคข้อกฎหมายที่กำกับไม่ให้เรารวมตัวกันได้” ศักดินา ระบุ 

ศักดินา กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการทำคู่มือ เพราะอยากให้เกิดเครื่องมือใหม่ๆ ที่สามารถนำไปสร้างนักกิจกรรม นักจัดตั้ง และคนที่สนใจสามารถนำไปใช้ หรือเข้าถึงอย่างง่ายดาย จึงพยายามที่จะทำให้ง่ายต่อการเข้าใจสหภาพแรงงาน

ศักดินา ระบุว่า สำหรับกลุ่มเป้าหมายของคู่มือ คือ เน้นที่นักจัดตั้งที่ทำงานอยู่ และหวังว่าอยากให้เครื่องมือช่วยสร้างนักจัดตั้งใหม่ขึ้นมา ดังนั้น เป้าหมายแรกคืออยากให้คนที่สนใจเรื่องสหภาพแรงงานมีเครื่องมือที่จะเอาไปใช้ในการจัดตั้ง ฝึกอบรมให้เกิดนักจัดตั้งนักกิจกรรม และให้เข้าใจเรื่องสหภาพแรงงาน นอกจากนี้ อยากให้คนที่สนใจทั่วไปอ่านแล้ว รู้สึกว่าการจัดตั้งสหภาพไม่ว่าใครก็สามารถทำได้ 

นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน ระบุต่อว่า คู่มือที่เขาเขียนประกอบด้วย 5 ชุดความรู้ที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจเรื่องการจัดตั้งขบวนการแรงงานมากขึ้น ได้แก่ 1) เราทุกคนคือคนทำงาน เพื่อสร้างความรู้สึกสำนึกทางชนชั้นร่วมกัน 2) สิทธิของเราในฐานะคนทำงาน 3) การทำความเข้าใจของสหภาพแรงงานในฐานะองค์กรของคนทำงาน 4) ความรู้เรื่องการจัดตั้งโดยตรง และ 5) สร้างความเข้มแข็งและอำนาจการต่อรอง ในช่วงท้ายแต่ละหมวดจะมีแบบฝึกหัด และ Power point อยู่ สามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้ รวมถึงมีคลิปวิดีโอในการช่วยอธิบาย 

“อยากให้ชุดความรู้นี้เป็นเพียงแรงบันดาลใจ หรือเป็นเชื้อไฟ เพื่อให้เราไปคิดค้นเอง …ผมอยากให้คู่มือชุดนี้เป็นสมบัติร่วมกันที่เราช่วยกันคิดค้นต่อยอดไป มันอาจจะมีแบบฝึกหัดอื่นๆ หรือวิธีการ หรือเนื้อหาอื่นๆ ถ้าอยากจะปรับปรุง ก็ปรับปรุงได้” ศักดินา กล่าว 

นักวิชาการแรงงาน ระบุว่า จุดเด่นของคู่มือนี้คือนอกจากจะให้ทำให้คนอ่านเข้าใจเรื่องการจัดตั้ง ประวัติศาสตร์ของสหภาพแรงงาน หรือขบวนการแรงงานเพิ่มขึ้นแล้ว ในหมวด “ความรู้เรื่องการจัดตั้ง” จะทำให้เข้าใจแนวคิดใหม่ของการจัดตั้งที่ไม่ใช่การตั้งสหภาพ แต่การจัดตั้ง คือการขยายจำนวนสมาชิก และการดึงสมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมคือหัวใจสำคัญของงานจัดตั้ง 

ศักดินา ระบุว่า เนื้อหามีการทำให้มีความทันสมัย และเท่าทันเหตุการณ์ที่มีรูปแบบการจ้างงานใหม่ ยกตัวอย่างในบทที่ 3 หมวดที่ 4 มีการพูดถึงคนทำงานที่มีความยากลำบากในการจัดตั้ง หรือ ‘Hard Organized Worker’ เนื่องจากมีคนงานจำนวนมากถูกกันออกจากสหภาพแรงงาน เนื่องจากมันจัดตั้งยาก แต่คู่มือนี้พยายามที่จะบอกว่มีคนอยู่หลากหลายที่อยู่นอกเหนือการจัดตั้ง เช่น แรงงานนอกระบบ ไรเดอร์ แรงงานทำงานบนแพลตฟอร์ม ผู้ค้าบริการทางเพศ (Sexworkers) แรงงานข้ามชาติ ซึ่งนักจัดตั้งจะผนวกเขาเข้ามาอยู่ในการจัดตั้งได้อย่างไร

“ผมขอฝากสิ่งที่คาดหวัง และอยากจะไปให้ถึง คุณเวสนา ระบุว่า 10 ปีข้างหน้าอยากจะไปให้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งดีมากๆ เลย ไปไกลกว่าที่ผมคิดว่า ถ้าเราขยายไปถึง 10 เปอร์เซ็นต์ได้ มันก็จะสร้างอำนาจต่อรอง ถ้าไปถึง 15 เปอร์เซ็นต์ได้ ผมว่าวิเศษ 10-15 เปอร์เซ็นต์ มาจากไหน ถ้าเราดูประเทศยุโรปที่มีสมาชิกภาพที่ต่ำสุดคือที่ประเทศฝรั่งเศสคืออยู่ที่ประมาณ 9-10 เปอร์เซ็นต์ มันการันตีเสียงของคนงานมันจะดังเพียงพอ เป้าหมายที่เราตั้งไว้มันจะทำให้อำนาจการต่อรองของเราสามารถที่จะมีได้ในประเทศนี้ 

“เรื่องของการจัดตั้งและสร้างอำนาจการต่อรองให้กับคนงานในประเทศนี้ เรามีคนทำงานจำนวนมาก ในหนังสือฉบับนี้เราเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ใหม่ ผมพยายามพูดเรื่องของคนทำงาน เราพยายามคิดค้น คิดคำว่า ‘คนทำงาน’ ขึ้นมา เพื่อที่จะโอบรับคนต่างๆ เข้ามาเป็นพวกเดียวกัน …คนทำงานเหมือนกันแต่ก็ถูกลืมไป คู่มือชิ้นนี้มันเป็นความพยายามที่เราจะโอบล้อม โอบรับคนทั้งหลายที่เป็นคนทำงาน เป็นคน 99% ที่จะมาทำงานร่วมกัน แล้วจัดตั้งกันสร้างอำนาจต่อรอง 

“หวังว่าเครื่องมือชุดนี้ที่จะใช้ร่วมกัน เพื่อพัฒนาต่อยอด ผมอยากให้มันเป็นเหมือนกับสารตั้งต้นที่เราเอาไปใช้ สำหรับการผลิตเครื่องมือที่มีพลังต่อไป ให้คนทำงานทั้งหลายตื่นตัว มองเห็นปัญหาแล้ว พอรวมกันเพื่อที่จะสร้างอำนาจ การต่อรองและเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้เป็นประชาธิปไตย เป็นประเทศที่เสมอภาค เท่าเทียมกัน” ศักดินา ทิ้งท้าย

หลังจากนั้นเวลา 10.40-12.40 น. มีนักสหภาพแรงงานทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่าร่วมอภิปรายปัญหาของการจัดตั้งสหภาพแรงงานหลายประเด็น เช่น การไม่มีกฎหมายคุ้มครองนักก่อการ การต่อสู้ที่ไม่ได้ขยับขยายไปยังภาพใหญ่ และอื่นๆ 

ให้ความสำคัญกับชนชั้นนิยม

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยารัตน์ ที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นหนึ่งวิทยากร กล่าวว่า ขบวนการแรงงานไทยไม่ควรผูกตัวเองไว้กับความรู้สึกทางด้านชาตินิยม แต่เราต้องเปลี่ยนเป็นชนชั้นนิยม ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา และแนวคิดทางการเมืองแบบไหน แต่สำคัญที่สุดคือการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานด้วยกัน 

แล ทิ้งท้ายว่า คู่มือที่เขียนโดยศักดินา จะเป็นคุณูปการที่ทำให้การจัดตั้งขบวนการแรงงานสำเร็จได้ในบริบทที่เหมาะสม

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยารัตน์

“ถึงวันนี้เราไม่ค่อยรู้สึกว่าเราเป็นคนงาน เราไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นลูกจ้าง ความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ เงื่อนไขแวดล้อม เราเรียกว่าบริบท มันจะทำให้ในที่สุดแล้ว การตระหนักรู้ว่าตัวเองเป็นลูกจ้างมันเพิ่มขึ้น…แน่นอนความตระหนักรู้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญคือจะต้องมีคู่มือที่ทำให้การจัดตั้งสำเร็จลง และจะเป็นคุณูปการที่สำคัญ” แล ทิ้งท้าย 

สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มองประเด็นการจัดตั้งมีความสำคัญ แต่ต้องมีการจัดตั้งความคิด และทฤษฎีควบคู่ไปได้ เพื่อทำให้ขบวนการแรงงานมีพลัง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมได้ 

สาวิทย์ กล่าวในทำนองเดียวกับแล ว่าการเป็นนักจัดตั้งที่ดี ต้องไม่มีอคติไม่ว่าจะทางการเมือง และทางเชื้อชาติ เพราะถ้ามีอคติแล้ว จะไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้

กระตุ้น ขบวนการแรงงานต้องเชื่อมร้อย

มานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์กรลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าความสำคัญของการจัดตั้งแรงงานในภาคตะวันออกนั้นมีความสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน แต่มักจะถูกการต่อต้านจากนายทุนที่ร่วมมือกับผู้นำท้องถิ่นมาต่อต้านสหภาพฯ แต่คนงานก็ต่อสู้กันจนมีสหภาพฯ เกิดขึ้นหลายแห่งทางภาคตะวันออก 

อย่างไรก็ตาม มานิตย์ มองว่า ปัญหาของสหภาพตอนนี้แม้หลายๆ ที่มีความเข้มแข็ง แต่มักทำกิจกรรมกันแค่ภายในกลุ่มของตัวเอง ไม่ออกมาประสานงานกับกลุ่มอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถรวมตัวกันได้เหมือนแยกกันอยู่ 

มานิตย์ มองว่า นักสหภาพแรงงานทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ต้องทลายกรอบความคิด และหันหน้ามาประสานงานกันมากขึ้น เพราะถ้าเมื่อไรรวมตัวกันได้ แรงงานก็จะมีอำนาจการต่อรอง และเปลี่ยนแปลงสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานได้ 

“อย่างไรก็ตาม พวกเราคือแรงงานทั้งชีวิตจิตใจ และอุดมคติ พวกเราคือแรงงาน พวกเรามาจากศูนย์ เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ ก็เกิดจากพวกเรา ฉะนั้น การต่อสู้นี้ยังไม่สิ้นสุด และเราต่อสู้ต่อไปเพื่อคนงาน” มานิสต์ กล่าว 

‘เผด็จการ’ อุปสรรคสหภาพแรงงาน

เซีย จำปาทอง จากสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ ระบุว่า เมื่อกล่าวถึงการจัดตั้งต้องกล่าวถึงบริบทการเมือง เพราะว่าชีวิตความเป็นอยู่ของเราล้วนเกี่ยวข้องการเมือง และบริบทการเมืองเผด็จการนั้นทำให้การจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นไปอย่างยากลำบาก เวลาไปร้องเรียนที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ก็มีทหารมาคุม

กลับกัน ในช่วงที่มีประชาธิปไตยเบ่งบานหลัง 2500 ขบวนการสหภาพแรงงานมีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก และประเทศที่มีขบวนการแรงงานเข้มแข็ง ล้วนเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยที่ดี

การจัดตั้งความคิด

เซีย ระบุต่อว่า ‘การจัดตั้ง’ ในความหมายของเขา แยกออกมาได้ 2 คำ คือ ‘การจัด’ คือ การจัดเป็นเรียงเป็นแถว และคำว่า ‘ตั้ง’ ให้มีระดับ จัดให้เป็นเรียงเป็นแถว ไม่ว่าจะแนวไหนก็ตามให้เป็นระเบียบ เมื่อเป็นระเบียบก็สามารถจัดการและนำไปสู่การบรรลุประสงค์ที่ดีได้ง่าย ซึ่งในกระบวนการตั้งแรงงานเช่นกัน ถ้ามีการจัดตั้งที่ดี ก็สามารถบรรลุประสงค์ที่ดีได้ 

เซีย จำปาทอง จากสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ

เซีย มองว่า ขณะนี้บริบทของประเทศไทยอยู่ในบรรยากาศการปกครองแบบทุนนิยม ชนชั้นแรงงานไม่ใช่ชนชั้นเดียวที่พยายามรวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดี ทางฝั่งนายทุนก็มีการรวมตัวกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ ก็มาต่อสู้กัน ถ้าฝั่งแรงงานเรียกร้องได้ นายทุนเสียประโยชน์ นายทุนเองรวมตัวกันและเรียกร้องได้ แรงงานก็เสียประโยชน์

เพื่อให้ชนะในการปะทะสังสรรค์นี้ เซีย มองว่า การจัดตั้งสหภาพอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ต้องมีการจัดตั้งทางความคิดให้ชนชั้นแรงงานหันหน้าไปในทางเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ และท้าทายมาก  

“ทำอย่างไร เราถึงจะจัดตั้งทางความคิดของเรา เพื่อให้ไปในแนวทางเดียวกันว่า เราในฐานะที่เป็นคนชนชั้นที่ถูกกดขี่ จะลุกขึ้นมาจับมือกัน และก็เดินไป ต่อสู้กับชนชั้นที่กดขี่เราให้ได้”

“ไม่อยากให้พวกเรามองเรื่องความขัดแย้ง หรือความเห็นต่าง ในขบวนการแรงงานเป็นเรื่องที่เลวร้ายเกินไป เป็นเรื่องปกติเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่ขอให้พวกเรามีอุดมการณ์ว่า เราคือคนที่อยู่ชนชั้นแรงงาน เราอยู่ในชนชั้นแรงงาน เรามีทัศนะ เรามีมุมมองยังไง ให้เรายึดมั่นอันนั้นไว้ หรือเราจะไปอยู่มุมไหนก็ตามแต่ พรรคไหนของสังคม ขอให้พวกเรายึดมั่นว่าเราอยู่ในชนชั้นของผู้ถูกกดขี่ เราจะต้องปลดแอกชนชั้น ทลายกำแพงทางชนชั้นออกให้ได้” เซีย ทิ้งท้าย

ฟื้นคืนขบวนการแรงงานสาย ปชต.

ด้านฉัตรชัย พุ่มพวง จากสหภาพคนทำงาน และนักสหภาพแรงงานรุ่นใหม่ ระบุว่า ในขบวนการแรงงาน โจทย์ที่อยากจะเริ่ม และต้องยึดไว้ ทำยังไงให้คุณภาพชีวิตของคนทำงานทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี พอเริ่มที่โจทย์นี้ มันจะมาสู่คำถามว่า ระบบแบบไหนที่จะทำให้ผลประโยชน์และคุณภาพชีวิต ค่าแรง สวัสดิการไปสู่คนทำงานทุกคน 99% ซึ่งฉัตรชัย มองว่าต้องเริ่มจากประชาธิปไตย 1 สิทธิ์ 1 เสียงคนเท่ากัน 

ฉัตรชัย มองว่า สิ่งสำคัญของคู่มือเขียนโดยศักดินา คือ การนิยามแรงงานโดยใช้คำว่า ‘เราทุกคนคือคนทำงาน’ ซึ่งอาจเป็นหมุดหมายของการรื้อฟื้นขบวนการแรงงานฝ่ายประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ แต่ถ้าแรงงานไปอยู่กับฝั่งเผด็จการ ผลประโยชน์จะตกอยู่กับนายทุน ศักดินา และขุนศึก ซึ่งคือ 1 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ 

ฉัตรชัย พุ่มพวง จากสหภาพคนทำงาน

“ทั้งตอนรัฐประหาร 49 และ 57 เสมือนว่าขบวนการแรงงานไทยเป็นใคร หลงคิดว่าคน 1 เปอร์เซ็นต์เป็นพวกเดียวกับเขา เป็นเรี่องที่น่าเศร้าแรงงานรัฐวิสาหกิจนัดหยุดงานจนนำมาสู่การทำรัฐประหารปี’57 สุดท้าย 8 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าคน 99 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้อะไรจากรัฐประหารเลย ค่าแรงเท่าเดิม หมูแพง สวัสดิการไม่ได้อะไรสักอย่าง 

“เราเป็นคนทำงานเหมือนกัน… เราเถียงกันได้ แต่เราต้องรู้ว่าเราเป็นพวกเดียวกัน เราคือคนทำงาน เราต้องเลือกโจทย์ว่าเพื่อคน 99% หรือคน 1% ตอนนี้น่าจะเป็นจังหวะที่ดีที่ขบวนการแรงงานฝั่งประชาธิปไตยจะรุกกลับ ไปดึงแนวร่วมในขบวนการประชาธิปไตย และดึงแนวร่วมจากคนทำงานทุกคน เพื่อให้ทุกคนมาใช้อำนาจโดยตรง อำนาจที่ทุกคนมีในฐานะคนทำงาน อำนาจที่ทำให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นในฐานะคน 99% ซึ่งอาวุธพิฆาตที่ชื่อว่า ‘General Strike’ หรือการนัดหยุดงานทั้งประเทศ มันจะต้องนำมาใช้เพื่อโค่นเผด็จการ สร้างประชาธิปไตยในที่ทำงาน และสร้างรัฐสวัสดิการ ผลประโยชน์และคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าจึงจะไปสู่คน 99% เพราะอำนาจสูงสุดของประชาชนคนทำงานจะต้องถูกนำไปใช้เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เงินเดือนที่มากกว่า ชั่วโมงการทำงานที่น้อยกว่า และประชาธิปไตยทั้งในการเมือง และในที่ทำงาน” ฉัตรชัย กล่าวเสริม

ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ขั้นตอนที่จะไปสู่จุดนั้น เราต้องเชื่อว่าคนทำงาน ซึ่งเป็น 99% ของประชากร เป็นพวกเดียวกัน เพื่อนำไปสู่การต่อรองตั้งแต่เรื่องเล็ก อย่างเงินทำงานล่วงเวลา เงินชดเชยการเลิกจ้าง ค่าแรง และกระบวนการทำงานที่เป็นธรรม และนำไปสู่ประชาธิปไตย และรัฐสวัสดิการ

“ข้อเสนอคือเราต้องไม่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องเผด็จการ เราต้องรวมตัวกัน เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่คนเท่ากัน เราต้องจัดตั้งเพื่อคน 99% ไม่ใช่คน 1%” ฉัตรชัย กล่าว 

เสนอคู่มือแนะเรื่องการบริหารสหภาพ

'ไนลฺ์' เกศนคร พจนวรพงษ์ จากสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ หรือ Creative Work Union Thailand - CUT กล่าวว่า สำหรับสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ถือเป็นกลุ่มที่ใหม่ ซึ่งก่อตัวหลังโควิด-19 ระลอก 2 โดยสมาชิกกลุ่มประกอบด้วยกลุ่มอาชีพนักเขียน นักออกแบบ คนทำหนัง นักร้อง นักแสดง หรือคนในสายทางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งหมด 

ไนล์ ระบุว่า แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานฟรีแลนซ์ ทำให้มีปัญหาเรื่องการจัดตั้งเป็นสหภาพ แต่อย่างไรก็ตาม เธอมองว่า แม้การรวมตัวของแรงงานอิสระเป็นเรื่องยาก แต่ยังมองเรื่องการจัดตั้งในฐานะเครื่องมือการส่งต่อความคิด ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเรื่องสำนึกทางชนชั้น และการทำให้แรงงานเข้าใจสิทธิและอำนาจในมือ

'ไนลฺ์' เกศนคร พจนวรพงษ์ จากสหภาพแรงงานสร้างสรรค์

“จริงๆ แล้วการตระหนักรู้เหล่านี้ เราคิดว่ามันมีอยู่ในตัวของแรงงานทุกคนอยู่แล้ว แต่มันแค่รอเวลา แต่เราขาดแค่การรอประเด็น และการเผยแพร่ความรู้นี้เท่านั้น เพื่อทำให้แรงงานทราบว่า เราจะมีอำนาจในมือนี้แค่ไหน” ไนล์ ระบุ 

ตัวแทนจาก CUT ระบุว่า คู่มือที่เขียนโดยศักดินา จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดตั้งสหภาพ ทำให้เกิดการรวมตัว และปลุกจิตสำนึกทางชนชั้น นอกจากนี้ หนังสือนี้มีความน่าสนใจ และทันสมัย เพราะเนื้อหาบางบทมีการกล่าวถึงบทบาทเทคโนโลยีในการจัดตั้งสหภาพฯ  

ตัวแทนจาก CUT เสนอว่า ในฐานะที่ CUT เป็นสหภาพแรงงานที่เกิดขึ้นใหม่ ก็จะเผชิญการท้าทายในเรื่องของจัดการบริหารภายในสหภาพ และจัดการความขัดแย้งภายในองค์กร การจัดการสมาชิกและเครือข่ายสหภาพอื่นๆ ตลอดจนการประคับประคองกลายเป็นสหภาพที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากของขบวนการแรงงาน จึงอยากฝากประเด็นนี้หากสามารถเพิ่มในคู่มือดังกล่าว

“การที่เรามีแบบแผน มันเป็นสิ่งสำคัญที่จะปูทางไปสู่การจัดตั้ง และเป็นตัวเชื่อมที่ทำให้แรงงานดั้งเดิม และแรงงานเกิดใหม่ในอนาคต รูปแบบของแรงงานจะเปลี่ยนไป แต่เนื้อหาและความเจ็บปวดของแรงงานก็ยังอยู่เหมือนเดิม” ไนลฺ์ กล่าวทิ้งท้าย

เสริมเนื้อหาบทบาทแรงงานหญิงในการจัดตั้ง

ชนฐิตา ไกรศรีกุล จากสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม หรือ JELI มีข้อเสนอว่า อยากให้คู่มือนี้มีเนื้อหาเพิ่มโดยเฉพาะบทบาทผู้หญิงในกระบวนการจัดตั้งสหภาพฯ เพราะข้อท้าทายของแรงงานหญิงนั้นแตกต่างจากแรงงานชาย จึงมองว่าเป็นเรื่องดีหากเนื้อหานี้ในคู่มือ

“ยกตัวอย่าง จะมีการจัดตั้งออนไลน์อย่างไร เมื่อผู้หญิงจะต้องทำงานบ้านไปด้วยระหว่างที่ประชุมกับเรา จะทำงานออนไลน์อย่างไรเมื่อคนงานไม่มีพื้นที่ที่ปลอดภัยที่จะสามารถพูดในบ้าน และมีเรื่อง ‘Gender viewpoint’ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง เพราะผู้หญิงไม่ว่าอาชีพอะไร จะจัดตั้งสหภาพได้ยากกว่า” ชนฐิตา ทิ้งท้าย

ชนฐิตา ไกรศรีกุล จากสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net