Skip to main content
sharethis

ห้างค้าปลีก "วอลมาร์ท" ถอดกะทิ "ชาวเกาะ" ของไทยจากชั้นหลังจาก PETA อ้างว่ามีกระบวนการ "ละเมิดสัตว์" ด้วยการบังคับให้ลิงเก็บมะพร้าว ทั้งๆ ที่เคยมีการโต้แย้งมานานแล้วว่าไม่เป็นความจริง เพราะปัจจุบันกะทิที่ส่งออกนั้นผลิตจากมะพร้าวที่มาจากสวนที่พัฒนาให้ต้นเตี้ย ไม่ต้องใช้ลิงเก็บ อีกทั้งยังมีการตรวจสอบจากบริษัทรับรองมาตรฐานในเรื่องนี้แล้ว

 

10 มิ.ย. 2565 ห้างค้าปลีก "วอลมาร์ท" เป็นห้างค้าปลีกรายล่าสุดที่ตัดสินใจถอดกะทิ "ชาวเกาะ" ออกจากชั้นวางสินค้าในร้านค้าและยกเลิกขายทางออนไลน์ โดยอ้างเรื่องที่องค์กรพิทักษ์สัตว์ PETA เคยกล่าวหาว่า กะทิยี่ห้อนี้มาจากการบังคับใช้แรงงานลิง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยเคยชี้แจงแล้วว่ามะพร้าวที่ส่งออกไม่ได้ใช้ลิงเก็บ

ก่อนหน้าวอลล์มาร์ทเคยมีห้างค้าปลีกรายอื่นๆ ที่ยกเลิกการวางจำหน่ายและสต็อกกะทิชาวเกาะไปแล้ว ได้แก่ โครเกอร์, คอสต์โก, ทาร์เกต, เว็กแมนส์, วอลล์กรีนส์ และ สต็อปแอนด์ช็อป ที่ยกเลิกหลังจากกลุ่มองค์กร PETA กล่าวหาว่าผู้ผลิตกะทิไทยบังคับใช้แรงงานลิงที่ถูกล่ามให้ปีนต้นไม้เพื่อเก็บมะพร้าว

ภาพจาก Chaokoh

 

เทรซี ไรมาน รองประธานบริหารของ PETA แถลงว่า "การค้ามะพร้าวมีการใช้ลิงที่เป็นสัตว์สังคมล่ามเชือกไว้ใช้เป็นเครื่องเก็บมะพร้าว ปิดกั้นโอกาสของพวกมันในการที่จะได้กิน, เล่น, หรือใช้เวลากับครอบครัวของพวกมัน ... จากการเปิดเผยข้อมูลโดย PETA ครั้งแล้วครั้งเล่าก็เป็นกลายเป็นการยืนยันว่าในเรื่องความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในฟาร์มมะพร้าว ผู้ค้าปลีกต่างก็พากันยกเลิกกะทิชาวเกาะกันทั่วทุกที่ เราขอยกย่องวอลมาร์ทกับการตัดสินใจที่มีเมตตาเช่นนี้"

PETA บอกอีกว่าวอลมาร์ทได้รับอีเมลกดดัน 86,000 ฉบับจากกลุ่มผู้สนับสนุนของ PETA ก่อนที่จะตัดสินใจในเรื่องนี้

องค์กร PETA เริ่มต้นผลักดันให้มีการยกเลิกขายกะทิชาวเกาะมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว ในตอนนั้นพวกเขาใช้คนเข้าไปตรวจสอบสวนมะพร้าว 8 แห่งในไทย แล้วออกมาบอกว่ามีการ "บังคับใช้" ลิงให้เก็บมะพร้าว รวมถึงอ้างว่าเป็น "การละเมิดสัตว์" จากการที่มีลิงถูกล่ามไว้แล้วก็ให้อยู่ในกรงแคบๆ

อย่างไรก็ตามข้ออ้างของ PETA ก็มีหลักฐานโต้แย้งจากการตรวจสอบของบริษัทอีกแห่งหนึ่ง คือจากบริษัทรับรองมาตรฐาน บริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้รับการติดต่อจาก บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด เจ้าของกะทิชาวเกาะ ให้มาตรวจสอบสวนมะพร้าวของพวกเขา 64 แห่งจากทั้งหมด 817 แห่ง ในแบบสุ่ม ซึ่งพวกเขาพบว่าไม่มีการใช้ลิงให้เก็บมะพร้าวอย่างที่ PETA อ้างเลยแม้แต่น้อย

ทาง PETA อ้างว่าการตรวจสอบของบริษัทรับรองมาตรฐานนั้น "ทำให้ไขว้เขวและไม่เพียงพอ" และอ้างว่ามีการโกหกต่อบริษัทและผู้บริโภคในเรื่องการใช้ลิง องค์กร PETA เปิดเผยอีกว่าในตอนนี้มีร้านค้า 45,000 แห่งที่ยกเลิกกะทิยี่ห้อชาวเกาะแล้วและพวกเขาก็กำลังผลักดันให้มีร้านค้าอื่นๆ ถอดกะทิชาวเกาะออกจากชั้นวางจำหน่าย

ทั้งนี้กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ยังเคยโต้ตอบ PETA ในเรื่องการขาดความเข้าใจในวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ด้วย โดยที่ในปี 2563 นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เคยกล่าวไว้ว่าการที่เกษตรกรหรือผู้เลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะลิงเก็บมะพร้าวก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ เพราะสัตว์ที่ชาวบ้านนำมาเก็บมะพร้าวถือว่าอยู่ในวิถีชีวิต และเป็นการเลี้ยงแบบฝึกเก็บมะพร้าวโดยเฉพาะไม่ใช่การทรมานหรือทารุณสัตว์ตามกลุ่ม PETA อ้าง

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ก็เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2563 ว่าในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าจากมะพร้าวของไทยเพื่อการส่งออกนั้นมีการพัฒนาพันธุ์ให้ต้นมะพร้าวมีต้นเตี้ย เก็บง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้ลิงเก็บ

 

 

 

เรียบเรียงจาก

Walmart pulls Chaokoh coconut milk from stores amid PETA allegations of forced monkey labor, USA Today, 07-06-2022
https://www.usatoday.com/story/money/food/2022/06/07/peta-walmart-chaokoh-coconut-milk-monkey-labor/10001173002/

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เอกชนชี้แจงไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรมส่งออก
https://prachatai.com/journal/2020/07/88469
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net