เมื่อโรงงานคือท้องถนน (1) : ทำไมต้องสนใจเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของไรเดอร์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

“สลดหนุ่มไรเดอร์ชนดับ หดหู่ใจ ตำรวจโทรแจ้งญาติ
เมียท้องแก่รับสายร้องไห้โฮ”

                                                                               ข่าวสดออนไลน์ 24 กุมภาพันธ์ 2565[2]

 

“ไรเดอร์หนุ่มรีบทำรอบ แต่ GPS พาหลงทางพุ่งชนต้นไม้ริมทางสาหัส”

                                                                              ผู้จัดการออนไลน์ 13 เมษายน 2565[3]

 

พาดหัวข่าวข้างต้นเป็นตัวอย่างของปัญหาสุขภาพและความปลอดภัย ของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่งอาหารภายใต้การกำกับของแพลตฟอร์ม หรือที่เรียกกันให้ถนัดปากว่า “ไรเดอร์” หากกล่าวเฉพาะปัญหาด้านอุบัติเหตุ การสำรวจของ Rocket Media Lab ให้ข้อมูลว่า ไรเดอร์มากกว่าร้อยละ 93 ของกลุ่มตัวอย่าง เคยประสบอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน [4]

หากพิจารณาสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนของรถจักรยานยนต์ระหว่างปี 2558-2562 พบว่าผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมีจำนวนมากอย่างน่าวิตก คือมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 9,120 ราย/ปี บาดเจ็บสาหัส 167,931 ราย/ปี และบาดเจ็บเล็กน้อย 685,866 ราย/ปี[5] สถิตินี้ไม่ได้จำแนกว่าเป็นอุบัติเหตุของไรเดอร์โดยตรง และเป็นข้อมูลก่อนปี 2563 ซึ่งอาชีพไรเดอร์ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น[6] แต่ข้อมูลนี้ทำให้คาดการณ์ได้ว่า นับจากปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจำนวนไรเดอร์บนท้องถนนเพิ่มขึ้นอย่างมาก สถิติอุบัติเหตุและความสูญเสียน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

อันที่จริงอุบัติเหตุของไรเดอร์เป็นเพียงภาพสะท้อนเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยที่เห็นได้ชัด ลึกลงไปไรเดอร์มีปัญหาด้านสุขภาพ และสุขภาพจิตอย่างมากด้วย งานวิจัยในต่างประเทศซึ่งศึกษาแรงงานที่ทำงานรับจ้างแบบจบเป็นครั้ง (GiG Work) (อาชีพไรเดอร์เป็นส่วนหนึ่งของงานประเภทนี้) พบว่าแรงงานกลุ่มนี้จำนวนมากมีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งเกิดขึ้นจากสภาพการทำงานที่ไม่มีความมั่นคง ทั้งในด้านการมีงานทำ รายได้ การคุ้มครองทางสังคม และลักษณะการทำงานที่เร่งรีบแข่งกับเวลา[7] สำหรับไรเดอร์นั้น นอกจากสุขภาพจิตแล้ว การทำงานในสภาพแวดล้อมของบนท้องถนน จึงคาดได้ว่าปัญหาโรคภัยไข้เจ็บน่าจะสูงอย่างมากด้วย  

ประเด็นสุขภาพและความปลอดภัยของไรเดอร์ส่งอาหาร นำมาสู่คำถามสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ ปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยเกิดจากสาเหตุใด? เป็นปัญหาของใคร? และทางออกของเรื่องนี้ควรเป็นอย่างไร?

ข้อแรกเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย โดยเฉพาะอุบัติเหตุ ปัญหาทั้งหมดมาจากความประมาทเร่งรีบของไรเดอร์จริงหรือ? อาชีพไรเดอร์ถูกนำเสนอว่าเป็นงานอิสระ มีความยืดหยุ่นในการทำงาน สามารถทำงานตามเวลาที่ต้องการ แต่ข้อเท็จจริงจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ไรเดอร์ประมาณร้อยละ 60 ประกอบอาชีพนี้เป็นอาชีพหลัก ร้อยละ 38 ทำงานวันละ 6-8 ชั่วโมง/วัน ขณะที่ร้อยละ 37 ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง/วัน[8] ข้อเท็จจริงนี้สะท้อนระดับการพึ่งพา (หรือความไม่อิสระ/ไม่ยืดหยุ่น) ของไรเดอร์ต่อบริษัทแพลตฟอร์ม

การทำงานวันละ 8 ชั่วโมง หรือมากกว่า ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานการทำงานปกติ  ทำให้เกิดความเหนื่อยล้า ในสภาพแวดล้อมการทำงานบนท้องถนน บวกกับความเร่งรีบทำงานในเวลาที่กำหนด เป็นแรงกดดันที่นำไปสู่ความเคร่งเครียดในการทำงานและการเกิดอุบัติเหตุ ยังไม่รวมถึงกระบวนการทำงานที่ถูกสั่งงานผ่านแอปพลิเคชั่น ตั้งแต่การแข่งขันกัน “กด” รับงาน (ที่แสดงบนหน้าจอสมาร์ทโฟน) การได้รับคำสั่งงานและรายงานผลงานทีละขั้นตอน การได้ค่าตอบแทนจากจำนวนรอบที่ทำงาน การถูกกำหนดค่าตอบแทนหรือ “ค่ารอบ” ซึ่งเป็นสิทธิขาดของบริษัท รวมทั้งโอกาสการได้รับงานในรอบต่อไป ที่เทคโนโลยีอัตโนมัติประมวลข้อมูลการรับงาน ความรวดเร็ว และการให้คะแนนความพึงพอใจของลูกค้า สำหรับเป็นข้อมูลตัดสินใจให้งานครั้งต่อๆ ไป

ข้อเท็จจริงนี้ทำให้เห็นว่า หลักการที่บริษัทแพลตฟอร์มยึดถือว่า ไรเดอร์เป็นผู้ทำสัญญาอิสระ – หมายความว่า บริษัทแพลตฟอร์มไม่ใช่นายจ้าง จึงไม่มีข้อผูกพันในการรับผิดชอบเรื่องสวัสดิการแรงงาน และบริษัทมีอำนาจโดยสมบูรณ์ที่จะปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ต่างๆ – เป็นเรื่องที่จะต้องทบทวน เราต้องการกรอบคิดที่จะมองทะลุทะลวงเพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงาน (ในที่นี้คือแพลตฟอร์มกับไรเดอร์) เพื่อเข้าใจว่าสาเหตุที่แท้จริงของสุขภาพความปลอดภัยคืออะไร ปัญหานี้สัมพันธ์กับปัญหาอื่นๆ ในกระบวนการแรงงานอย่างไร และทุนได้ประโยชน์จากการปกปิดเบี่ยงเบนความสัมพันธ์นี้อย่างไร

ข้อที่สอง ปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยเป็นปัญหาของใคร ? จากข่าวแรกที่แสดงไว้ในตอนต้นเรื่อง การเสียชีวิตของไรเดอร์ผู้นี้ ได้ทิ้งภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์และบุตรที่กำลังจะลืมตามาดูโลกไว้เบื้องหลัง ด้วยฐานะที่เป็นผู้ทำสัญญาอิสระ คาดว่าเขาจะไม่ได้เงินช่วยเหลือจากบริษัท หรืออาจได้ภายใต้เงื่อนไขที่บริษัทกำหนด ส่วนการคุ้มครองทางสังคมอื่นๆ ขึ้นอยู่กับว่าได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม (มาตรา 39 หรือ 40) หรือไม่

ปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยของไรเดอร์ ไม่ใช่ปัญหาของปัจเจกบุคคล แต่เป็นปัญหาสังคม หากบุคคลหนึ่งกลายเป็นคนพิการ หรือเสียชีวิตปล่อยให้คนในครอบครัวเผชิญชีวิตลำพัง ก็เลี่ยงไม่ได้ที่สังคมจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ อุบัติเหตุบนท้องถนนยังทำให้เกิดผลเสียต่อคู่กรณี ซึ่งอาจได้รับผลกระทบไม่ต่างกับไรเดอร์ ในเชิงโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ การมีผู้ขับขี่ที่มีความเคร่งเครียดเร่งรีบบนท้องถนนทำให้ความปลอดภัยบนท้องถนนลดลง ทำให้ต้องใช้งบประมาณออกแบบระบบจราจร หรือรณรงค์เรื่องอุบัติเหตุมากขึ้น ในอีกระดับหนึ่งอุบัติเหตุ ปัญหาสุขภาพ และสุขภาพจิต สร้างภาระต่อระบบสาธารณะสุข และการสังคมสงเคราะห์ แล้วแต่กรณี

งานชิ้นหนึ่งให้ข้อมูลกรณีศึกษาในสหภาพยุโรปว่า การยึดหลักการว่าไรเดอร์เป็นผู้ทำสัญญาอิสระ (ไม่ได้เป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม) ทำให้บริษัทแพลตฟอร์มไม่ต้องรับภาระสวัสดิการและการคุ้มครองทางสังคมแก่แรงงานและภาษีแรงงาน (labour taxes) ช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจได้ถึงร้อยละ 25[9] ในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า แพลตฟอร์มโอนภาระไปให้แก่แรงงานและสังคมเป็นจำนวนมากเท่าใด ในขั้นนี้การมองเห็นประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อจะเข้าใจว่าธุรกิจประเภทนี้สร้างกำไรจากการสร้างภาระแก่สังคมอย่างไร

ข้อที่สาม ทางออกของเรื่องนี้ควรเป็นอย่างไร? ที่ผ่านมามีงานจำนวนหนึ่งเสนอทางออกต่อเรื่องนี้ (ทั้งประเด็นสุขภาพความปลอดภัยและสถานะการจ้างงานของแพลตฟอร์มโดยรวม) งานวิจัยของเกรียงศักดิ์   ธีระโกวิทขจร และวรดุลย์ ตุลารักษ์[10] เสนอว่าหลักการสำคัญคือการยืนยันว่าบริษัทแพลตฟอร์มคือนายจ้างของไรเดอร์ ซึ่งเห็นได้จากความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย ที่ไม่แตกต่างกับการจ้างงานโดยปกติ เพียงแต่มีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวกลาง แต่แท้จริงแล้วบริษัทแพลตฟอร์มคือผู้ควบคุมเทคโนโลยี เป็นผู้ควบคุมกระบวนการแรงงาน ตั้งแต่ขั้นตอนจัดสรรงาน กำกับการทำงาน จนถึงการจ่ายค่าตอบแทนแก่แรงงาน ข้อเสนอคือต้องปรับปรุงกฎหมายให้ทันยุคทันสมัย โดยยึดสาระสำคัญคือบริษัทแพลตฟอร์มเป็นนายจ้างของไรเดอร์ที่จะต้องรับผิดชอบต่อลูกจ้างตามกฎหมาย

งานวิจัยของอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ และอนรรฆ พิทักษ์ธานิน[11] ขยายความงานชิ้นแรกให้ลึกและกว้างครอบคลุมประเด็นและกรณีศึกษามากขึ้น ข้อเสนอของงานชิ้นนี้มีส่วนที่คล้ายคลึงกับงานชิ้นแรกคือการปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้ทันสมัยเท่าทันกับงานรูปแบบใหม่ และเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในการจ้างงานที่เป็นธรรม จึงมีข้อเสนอต่อบริษัทแพลตฟอร์มว่า ต้องรับผิดชอบต่อสวัสดิการแรงงาน การสร้างหลักประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ และปรับปรุงสภาพการจ้างงานให้เหมาะสม

ขณะที่บทความของกิริยา กุลกลการ[12] เห็นความสำคัญของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในฐานะโอกาสใหม่ๆ ในการจ้างงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สถานะของแรงงานแพลตฟอร์มมีความก้ำกึ่งระหว่างแรงงานในระบบกับแรงงานนอกระบบ ขณะที่ความเป็นอิสระของการทำงานแพลตฟอร์มเป็นปัจจัยสำคัญที่ตอบโจทย์ความต้องการของแรงงาน กระนั้นไรเดอร์ยังเผชิญกับปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออก คือมีความอิสระ ยืดหยุ่น คนจำนวนหนึ่งบอกว่ามีรายได้น่าพอใจ แต่พวกเขาทำงานโดยไร้สวัสดิการและการคุ้มครองทางสังคม ดังนั้นเพื่อออกแบบการกำกับดูแลใหม่ที่สร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของไรเดอร์ แพลตฟอร์ม ผู้บริโภค และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ จึงเสนอให้ใช้  ‘กรอบความคิดการทำงานที่เป็นธรรม (Fair work)’ ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มาเป็นหลักการในการหาทางออกระหว่างทุกฝ่าย แทนกรอบคิดเดิมที่จำแนกแรงงานออกเป็น 2 ประเภท (ในระบบกับนอกระบบ) โดยการทำงานที่เป็นธรรม ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม สภาพการทำงานที่เป็นธรรม สัญญาที่เป็นธรรม การบริหารจัดการที่เป็นธรรม และระบบตัวแทนที่เป็นธรรม

งานทั้ง 3 ชิ้นนำมาสู่ประเด็นน่าพิจารณาในแง่มุมที่แตกต่างกัน ข้อเสนอของกิริยา กุลกลการ เป็นการเสนอทางออกที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ และเป็นทางออกจากปัญหาสถานภาพที่ก้ำกึ่งของไรเดอร์ ไปสู่ทางเลือกใหม่ที่ไม่สำคัญว่าไรเดอร์จะเป็นแรงงานในระบบหรือนอกระบบ งานชิ้นนี้เสนอให้ใช้การเจรจาทางสังคม (Social Dialogue) เป็นกระบวนการหาข้อยุติที่ทุกฝ่ายยอมรับ แต่ข้อเสนอนี้มีปัญหาในทางปฏิบัติ ในภาวะที่บริษัทแพลตฟอร์มมีอำนาจต่อรองเหนือไรเดอร์อย่างมาก การเจรจาคงเกิดขึ้นได้ยาก และที่ยากยิ่งกว่านั้น หากมีข้อตกลงการทำงานที่เป็นธรรมเกิดขึ้นแล้ว ไม่มีหลักประกันว่าข้อตกลงจะมีผลในทางปฏิบัติ เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีปัญหา “สถาบัน” (กฎหมาย ระเบียบ การบังคับใช้กฎระเบียบ) อ่อนแอ ประเทศไทยมีกฎหมายดีๆ จำนวนมาก แต่มักไม่ถูกบังคับใช้ หรือใช้แบบเลือกปฏิบัติ

งานของอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ และอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ช่วยเปิดเผยให้เห็นข้อมูลและกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัทแพลตฟอร์ม และสะท้อนชีวิต ปัญหาและความต้องการของแรงงาน  แต่งานชิ้นนี้ยังไม่ได้สำรวจเขาไปในกระบวนการแรงงาน (labour process) ซึ่งเป็น “พื้นที่” ความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงาน ที่จะสะท้อนให้เห็นความขัดแย้ง การต่อสู้เพื่อได้ประโยชน์สูงสุดของแต่ละฝ่าย การใช้เครื่องไม้เครื่องมือ ทั้งทางอุดมการณ์  กฎระเบียบ การจัดการ เทคโนโลยี และปฏิบัติการทางสังคม ในขณะที่งานของเกรียงศักดิ์   ธีระโกวิทขจร และวรดุลย์ ตุลารักษ์ ได้บุกเบิกวิเคราะห์กระบวนการแรงงาน แต่ยังไม่ได้อธิบายกระบวนการนี้โดยละเอียด โดยเฉพาะในประเด็นสุขภาพและความปลอดภัยของไรเดอร์ ที่ได้เปิดประเด็นไว้ แต่ยังไม่มีการอธิบายถึงที่มาที่ไปของปัญหานี้มากนัก

โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ “รูปแบบการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อสุขภาวะของแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารและแรงงานในกิจการขนส่ง” ในช่วงแรก มุ่งศึกษาประเด็นปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยของไรเดอร์ในแพลตฟอร์มส่งอาหาร โดยต้องการตอบโจทย์คำถามหลัก 3 ข้อที่กล่าวไปข้างต้น

 เรื่องที่เกี่ยวข้อง

การเข้าสู่ปัญหาในประเด็นดังกล่าววางอยู่บนแนวคิดที่สำคัญดังนี้

ประการแรก สุขภาพและความปลอดภัยของไรเดอร์ โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นปัญหาที่ประจักษ์ชัดและเห็นผลกระทบชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรป้องกันแก้ไข แต่สิ่งที่เห็นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของความสัมพันธ์ในการจ้างงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เราคาดว่าการเข้าสู่ประเด็นปัญหาสุขภาพและความปลอดภัย จะนำไปสู่การเข้าใจปัญหาอื่นๆ ที่สำคัญแต่ซ่อนเร้นอยู่ในการจ้างงานผ่านแพลตฟอร์ม

ประการที่สอง การสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายควรวางอยู่บนหลักการที่ชัดเจน และการเข้าใจสาระสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างทุนและแรงงานในระบบทุนนิยม อันที่จริงประเด็นสุขภาพและความปลอดภัยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นประเด็นที่ขบวนการแรงงานต่อสู้เพื่อให้ได้มา จนได้รับการยอมรับเป็นบรรทัดฐานของระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ยึดถือเป็นหลักสากล ดังการต่อสู้ของขบวนการแรงงานอังกฤษตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 อันเป็นที่มาของกฎหมายสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานฉบับแรก

การสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัย และข้อเสนอเรื่องสิทธิและการคุ้มครองทางสังคมของแรงงานแพลตฟอร์ม ควรวางอยู่บนความเข้าใจว่าเป็นการต่อรองเรื่องผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันระหว่างทุนกับแรงงาน การสร้างข้อเสนอต้องมาจากความเข้าใจความยอกย้อนในกระบวนการแรงงาน การเข้าใจยุทธศาสตร์และจุดอ่อนของทุน พร้อมกับสร้างอำนาจต่อรองของแรงงาน ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของแรงงาน การได้มาซึ่งสิทธิและการคุ้มครองต่างๆ ไม่เคยได้มาด้วยการร้องขอ    

ประการที่สาม อาชีพไรเดอร์คือรูปแบบหนึ่งของงานแพลตฟอร์ม ซึ่งงานแพลตฟอร์มคืองานรูปแบบใหม่ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างแรงงานกับลูกค้า/ผู้ใช้บริการ สภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดความคลุมเครือ ซึ่งดูเหมือนว่าไรเดอร์เป็นผู้ทำสัญญาอิสระ (independent contractor) หรือผู้จ้างงานตนเอง (self-employed) และทำให้แพลตฟอร์มใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่รับผิดชอบแรงงานในฐานะลูกจ้าง แต่หากพิจารณาบทบาทของบริษัทแพลตฟอร์มโดยละเอียด จะพบว่าบริษัทคือนายจ้างของไรเดอร์อย่างไม่อาจปฏิเสธ  โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้มองไรเดอร์ในฐานะกรณีตัวอย่างของแรงงานแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มใหม่ที่กำลังขยายตัว ผลลัพธ์ของโครงการฯคือการสร้างสุขภาวะของไรเดอร์ ซึ่งเราเห็นว่าการมีสุขภาวะที่ดีคือ การทำงานที่มีคุณค่า (decent work) สำหรับการบรรลุสู่การทำงานที่มีคุณค่าเราเห็นว่า ไม่ได้เกิดจากการร้องขอ แต่เกิดจากมีอำนาจต่อรองของแรงงานเพื่อสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตนเอง โครงการฯนี้หวังว่าจะสร้างองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการต่อรองของไรเดอร์และขบวนการแรงงานโดยรวม

หากกล่าวในระดับกว้างออกไปอีก เราเห็นว่าแรงงานแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะไรเดอร์ เป็นส่วนหนึ่งของกระแสการเปลี่ยนแปลงระดับโลกที่เคลื่อนไปสู่ภาวะ “งานที่ไม่มั่นคง” (Precarious Work) ในทุกวันนี้คนจำนวนมากขึ้นๆ มีชีวิตท่ามกลางความเสี่ยงในการหาเลี้ยงชีพ การจ้างงานถูกปรับเปลี่ยนเป็นงานระยะสั้น ชั่วคราว งานรายชิ้น งานหนัก รายได้น้อย ขาดสวัสดิการและการคุ้มครองทางสังคม ในภาวะเช่นนี้ความเข้าใจแก่นแท้ของความสัมพันธ์ระหว่างทุนและแรงงานในระบบทุนนิยม คืออาวุธทางความคิดที่จะช่วยรับมือและต่อรองกับความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นธรรม

เราหวังว่าโครงการวิจัยนี้จะช่วยต่อเติมความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อขบวนการแรงงาน และ “คนงาน” อย่างพวกเราทุกคน.

   

 

[1] โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการพัฒนาความรู้และความเข้มแข็งกลุ่มแรงงานนอกระบบเพื่อสุขภาวะ” มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาเป็นหัวหน้าโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

[2] สลดหนุ่มไรเดอร์ชนดับ หดหู่ใจตร.โทรแจ้งญาติ เมียท้องแก่รับสายร้องไห้โฮ. (24 กุมภาพันธ์ 2565). ข่าวสดออนไลน์. สืบค้นจาก https://shorturl.asia/47cCl

[3] ไรเดอร์หนุ่มรีบทำรอบ แต่ GPS พาหลงทางพุ่งชนต้นไม้ริมทางสาหัส. (13 เมษายน 2565). ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นจาก https://mgronline.com/local/detail/9650000035637

[4] Rocket Media Lab. (2564). ไรเดอร์ไทย เป็นอยู่ยังไง อยากได้อะไรบ้าง. สืบค้นจาก https://rocketmedialab.co/rider/?fbclid=IwAR0KYsHmSCn9ce-HrBea7hvuceI0oneTPFPPjgjv_Wo2CEe0sw20IHyWwNQ

[5] กระทรวงสาธารณสุข. (ม.ป.ป.) อุบัติเหตุรถจักรยายยนต์. สืบค้นจาก https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1073220201112064231.pdf

[6] บริษัทฟู้ดแพนดาเป็นแพลตฟอร์มส่งอาหารรายแรกที่เปิดบริการในปี 2555  จากนั้นมีแพลตฟอร์มอื่นๆ เปิดตามมา เช่น Grab, line Man, Gojek, Robinhood ในปี 2563 หากรวมจำนวนไรเดอร์ทุกแพลตฟอร์มที่กล่าวมาคาดว่ามีไรเดอร์ประมาณ 1 ล้านคน ดู Leenoi, Prapan. (2021). How to improve working conditions for gig workers in Thailand? The policy brief is based on the ILO’s training on Evidence-Based Policy Making for Decent Work, which was organized by the Research Department from 26 April to 23 June 2021. นับจากปี 2563 ซึ่งโควิด-19 ระบาด มีคนว่างงานจำนวนมาก และความต้องการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มสูงขึ้น ทำให้มีคนหันมาทำงานไรเดอร์ในแพลตฟอร์มต่างๆ มากขึ้นอีก

[7] Glavin, Paul. and Schieman, Scott. (2022). Dependency and Hardship in the

Gig Economy: The Mental Health Consequences of Platform Work. Socius: Sociological Research for

a Dynamic World. 8, 1-13. กรณีไรเดอร์ส่งอาหารเป็นการเฉพาะดู Convery, Elizabeth. (2020). Work health and safety of food delivery workers in the gig economy. NSW Government.

[8] Rocket Media Lab. (2564). ไรเดอร์ไทย เป็นอยู่ยังไง อยากได้อะไรบ้าง. สืบค้นจาก  https://rocketmedialab.co/rider/?fbclid=IwAR0KYsHmSCn9ce-HrBea7hvuceI0oneTPFPPjgjv_Wo2CEe0sw20IHyWwNQ

[9] Joyces, S. and Stuart, M. (2021). Digitalised management, control and resistance in platform work: a labour process analysis. In Haidar, J. and Keune, M. (eds.). Work and Labour Relations in Global Platform Capitalism. International Labour and Employment Relations Association and International Labour Organization. p. 174.

[10] เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร และวรดุลย์ ตุลารักษ์. (2563). รูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซต์ส่งอาหาร

ที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม. รายงานการศึกษา. สถาบันเศรษฐกิจและแรงงานที่เป็นธรรม ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES)

[11] อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ และอนรรฆ พิทักษ์ธานิน. (2564). ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน สภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคมของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19. สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

[12] กิริยา กุลกลการ. (2565). กรอบการทำงานที่เป็นธรรม (Fair Work): แนวคิดใหม่ในการกำกับดูแลแรงงานในแพลตฟอร์ม. The 101 world. สืบค้นจาก https://www.the101.world/fair-work-riders/

 

 

 

หมายเหตุ : โลโก้บริษัทแพลตฟอร์มส่งอาหารในภาพปกเป็นเพียงส่วนหนึ่งของบริษัทแพลตฟอร์มส่งอาหารทั้งหมด เพื่อประกอบความเข้าใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท