บือพอ กับ ชิ สุวิชาน : ‘คลังความทรงจำ’ ปกาเกอะญอ มองคนรุ่นใหม่ จะเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไร | EP.2

ถอดความทรงจำของ ถาวร กัมพลกูล หรือ บือพอ ศิลปิน คนเขียนหนังสือ ผู้ฟื้นฟูภาษาและอัตลักษณ์ปกาเกอะญอ โดยได้ย้ำคนรุ่นใหม่จะก้าวไปข้างหน้า จำเป็นต้องมีพื้นที่และโอกาส และทุกเชื้อชาติ ทุกชนเผ่า นั้นก็มีคุณค่าของตัวเอง ในขณะที่ ชิ สุวิชาน บอกว่า เราจำเป็นที่จะต้องสร้างพื้นที่การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ให้มีความหลากหลาย และมีทางเลือกให้มากขึ้นด้วย

ถาวร กัมพลกูล (บือพอ), ศิลปิน คนเขียนหนังสือ ผู้ฟื้นฟูภาษาและอัตลักษณ์ปกาเกอะญอ

ถาวร กัมพลกูล นั้นทำงานองค์กรศาสนา และเป็นศิลปิน นักคิดนักเขียนชาวปกาเกอะญอที่พยายามรักษาภูมิปัญญาชาติพันธุ์ เล่นเตหน่า อนุรักษ์ฟื้นฟูภาษาและอัตลักษณ์ปกาเกอะญอ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ได้บอกเล่าถอดความทรงจำในวัยเยาว์ให้ฟังอย่างน่าสนใจ

“ผมก็เป็นชนเผ่าปกาเกอะญออีกคนหนึ่ง ที่ในวัยเด็กได้มีโอกาสไปเรียนหนังสือที่แม่ปอน เป็นโรงเรียนของมิชชันนารี ที่อำเภอจอมทอง เป็นโรงเรียนที่อยากจะให้โอกาสทางการศึกษาให้กับชนเผ่าในการเรียนการสอนในเรื่องของศาสนา วัฒนธรรม ภาษาด้วย ก็ได้เรียนเขียนอ่านภาษาไทย ภาษาปกาเกอะญอ ภาษาโรมัน จนจบชั้น ป.4 สมัยนั้น ต่อมา ก็เลยลงมาเรียนต่อที่โรงเรียนมงฟอร์ต เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนของคณะนักบวชในศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก หลังจากนั้น ในช่วงปิดเทอม ทางอาจารย์เขาก็ให้เราไปกลับไปอยู่ตามหมู่บ้านชนเผ่าบนดอย บอกเราว่า ให้กลับไปเรียนรู้จักรากเหง้าของตนเอง ไปอยู่ร่วมกับพี่น้องชาวปกาเกอะญอ ไปเรียนรู้เรื่องของตนเอง ก็ทำให้ผมมีโอกาสไปนั่งพูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ ได้เรียนรู้เรื่องเล่า คำสอน คำธา บทกวีลำนำ คำพังเพย นิทาน ถือว่าทำให้ผมได้รับการฝึกฝน กล่อมเกลาในเรื่องเหล่านี้มานานพอสมควร”

นอกจากนั้น ถาวร ยังได้มีโอกาสใกล้ชิดและเรียนรู้กับคนเฒ่าคนแก่ ครูบาอาจารย์อีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็นพะตีจอนิ โอ่โดเชา พะตีปุนุ อาจารย์ประเสริฐ ตระการศุภกร อาจารย์ชัชวาล ทองดีเลิศ คุณพ่อสมพงษ์ กำพลกูล  รวมไปถึงคุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ซึ่งท่านเหล่านี้ ทำให้ตนเองได้เรียนรู้ กระบวนการทำงาน ในวิถีชีวิต ศาสนาและวัฒนธรรมของคนรากหญ้ามาอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งกลายมาเป็น “บือพอ” คนเขียนหนังสือ เพื่อสื่อสารเรื่องราววิถีปกาเกอะญอให้สังคมไทยเข้าใจ

“คือปกติ ผมเป็นคนชอบจดบันทึกเรื่องเล่า นิทาน คำธา เอาไว้อยู่แล้ว ต่อมา มีโอกาสได้อ่านงานเขียนของวีระศักดิ์ ยอดระบำ ที่เขียนเรื่อง คนปกากะญอ ก็ทำให้ได้แนวคิด แนวทางการเขียน จนผมได้ลงมือเขียนหนังสือออกมาเรื่องหนึ่ง ชื่อ ชีวิตข้า ปกาเกอะญอ โดยเป็นการบันทึกเรื่องเล่าสมัยตนเองเป็นเด็ก ชอบหาปูหาปลาในลำห้วย ในไร่ มีเรื่องราววิถีชีวิต และนิทานอยู่ด้วย จากนั้น มีพี่พจนา จันทรสันติ มาเห็นต้นฉบับเข้า บอกว่าน่าสนใจดี จึงนำไปเสนอให้กับสำนักพิมพ์สารคดีตีพิมพ์ให้ โดยใช้นามปากกา บือพอ”

ชีวิตข้า ปกาเกอะญอ ของ “บือพอ”  สำนักพิมพ์สารคดี จัดพิมพ์

ต่อมา ถาวร ได้มองรับรู้เรื่องราวของพี่น้องชนเผ่าปกาเกอะญอ ถูกรัฐ ถูกสังคมข้างล่างกล่าวหาว่าเป็นคนทำไร่เลื่อนลอย ทำลายป่า จึงทำให้เขา ตัดสินใจเขียนเรื่อง “ไร่หมุนเวียน  ในวงจรชีวิตชนเผ่าปกาเกอะญอ”ขึ้นมาอีกเล่มหนึ่ง เป็นงานเขียนเชิงพรรณนา ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่เอาไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้นำไปศึกษาเป็นงานวิจัยกันต่อไปได้

ผลงานเขียนของ ถาวร กัมพลกูล (บือพอ)

อีกบทบาทหนึ่ง ก็คือเป็นผู้ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจวัฒนธรรมชนเผ่า ผ่านเครื่องดนตรีเตหน่า

ถาวร บอกว่า จริงๆ ตนเองไม่ได้เก่งเรื่องเตหน่า แต่พอเล่นได้ ส่วนใหญ่จะถนัดเล่นเตหน่าในท่วงทำนองแบบดั้งเดิม เล่นไปควบคู่กับการร้องลำนำอื่อธา

“ที่สนใจและหันมาสนับสนุนส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่หันกลับมารื้อฟื้นเล่นดนตรีเตหน่า ก็เพราะว่าก่อนหน้านั้น เครื่องดนตรีเตหน่ามันเริ่มจะสูญหายไปแล้ว ต่อมาที่เห็นก็คือมีคนรุ่นก่อนหลายคน เช่น ตือโพ ได้หยิบมานำเสนอเล่นเตหน่าจนพี่น้องปกาเกอะญอบนดอยหันกลับสนใจกันมากขึ้น หลังจากนั้น ก็จะมีศิลปินปกาเกอะญออีกหลายคน เช่น ทองดี ธุรวร หรือ ชิ สุวิชาน นำมาสืบทอดกันต่อมา ทุกวันนี้ ผมก็จะเป็นผู้คอยสนับสนุนให้น้องๆ เยาวชนคนปกาเกอะญอได้สืบสานกันต่อไปพร้อมๆ กับสอนเรื่องคำธา นิทาน คำพังเพยของปกาเกอะญอ”

ย้ำคนรุ่นใหม่จะก้าวไปข้างหน้า จำเป็นต้องมีพื้นที่และโอกาส

ถาวร มองว่าคนรุ่นหลัง คนรุ่นใหม่นั้นจะก้าวไปทางใดนั้น จะขึ้นอยู่กับพื้นที่และโอกาสมากกว่าว่าจะมีพื้นที่ให้พวกเขามากน้อยเพียงใด

“อย่างทุกวันนี้ ผมก็พยายามจะเปิดพื้นที่ ให้โอกาสแก่เด็กๆ ที่ศูนย์คำสอนสังฆมณฑลเชียงใหม่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เราจะสอนหนังสือ สอนให้เขาได้เรียนภาษาอังกฤษ สอนคำธา นิทานคำพังเพย ซึ่งพอเราสร้างพื้นที่ให้เขามีโอกาส พวกเขาก็สนใจที่จะเรียนรู้”

ถาวร บอกว่า ถึงแม้ว่าเขาจะใช้ภาษาอื่นเป็นภาษาที่สอง ภาษาที่สาม แต่พวกเขาก็ไม่ได้หลงลืมภาษาดั้งเดิมของตนเอง ไม่ได้ลืมเชื้อชาติของตนว่าคือคนปกาเกอะญอ ก็พยายามรักษารากเหง้า เลือดเนื้อของปกาเกอะญอนั้นยังมีอยู่ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ อยากให้ระบบการศึกษาไทย กระทรวงศึกษาธิการ น่าจะปรับเน้นให้มีหลักสูตรท้องถิ่น ให้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา เพื่อสร้างความภาคภูมิใจของชนเผ่า

“ที่สำคัญ คืออยากฝากไปถึงน้องๆ คนรุ่นใหม่ว่า ทุกเชื้อชาติ ทุกชนเผ่า นั้นก็มีคุณค่าของตัวเอง เพราะฉะนั้น สังคมข้างนอกก็เรียนรู้สังคมของเรา ในขณะที่เราก็ต้องเรียนรู้สังคมข้างนอกด้วย แล้ว เราก็ต้องกลับมาเรียนรู้เรื่องราวของตนเองด้วย ยอมรับในวัฒนธรรมของตนเอง ถ้าเราเรียนรู้ตนเอง และเรียนรู้คนข้างนอกด้วย เราก็สามารถจะอยู่ร่วมกับคนในสังคมทั่วไปได้”

ถอดคลังความทรงจำ ของ ชิ สุวิชาน

เขาบอกว่า เราจำเป็นที่จะต้องสร้างพื้นที่การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ให้มีความหลากหลาย และมีทางเลือกให้มากขึ้นด้วย

ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินปกาเกอะเญอ นักวิชาการด้านชาติพันธุ์

ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินปกาเกอะเญอ และเป็นนักวิชาการด้านชาติพันธุ์ ปัจจุบัน เขาเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการภูมิวัฒนธรรม  วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้บอกเล่าความทรงจำวัยเยาว์ ให้ฟังว่า เกิดและเติบโตที่มูเส่คี ดินแดนป่าสนวัดจันทร์ หรืออำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตผ่านครอบครัว ผ่านพ่อ พอจำความได้ ก็รู้ว่าอาศัยอยู่กับครอบครัวของตายาย  ในขณะที่พ่อพนา พัฒนาไพรวัลย์ เป็นครูสอนที่โรงเรียนสหมิตรวิทยา จนกระทั่ง พ่อตัดสินใจจะไปหักร้างถางพง บอกว่าจะไปก่อตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่

“พ่อบอกกับหลายคนว่า อยากไปจุดตะเกียงบนยอดดอย ไปสร้างชุมชนใหม่ ที่มีพันธกิจร่วมกันกับญาติประมาณ 4 ครอบครัว โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันว่าอยากให้เป็นชุมชนปกาเกอะญอที่เป็นคริสเตียนจริงๆ จู่ๆ ก็พาครอบครัว มาอยู่ในดินแดนใหม่ อยู่กันแค่สี่หลังคา สร้างบ้านอยู่กันคนละมุม ตั้งอยู่ห่างๆ กัน มีการวางผังหมู่บ้าน มีถนนกว้างขนาดสี่เลน บริเวณนี้ยังเป็นป่า เป็นที่โล่งๆ

ต่อมา เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ประมาณราวปี พ.ศ.2527 พ่อพนา ได้ประสานไปยังกรมพัฒนาที่ดิน โครงการหลวง เข้ามาช่วยปรับที่ดิน มีการสร้างถนนตัดผ่านในหมู่บ้าน เริ่มมีคนอยากขอย้ายอพยพเข้ามาอยู่ พ่อก็จะมีการสัมภาษณ์ทุกคนก่อนว่า พร้อมและยอมรับเจตนารมณ์ของหมู่บ้านหรือไม่ว่า หมู่บ้านนี้จะเป็นชุมชนคริสเตียน และจะต้องทำพันธกิจร่วมกัน

“ทำให้ผมมองเห็นความเป็นครูในตัวพ่อ ทำให้ผมมองเห็นความเป็นศาสนิกชนในตัวพ่อ และทำให้ผมมองเห็นความเป็นนักพัฒนาในตัวพ่อ ซึ่งตอนนั้น จำได้ว่า พ่อจะมักชวนผู้เฒ่าผู้แก่มาล้อมวคุยกันในเรื่องวัฒนธรรม วิถีความเป็นอยู่ของพี่น้องปกาเกอะญอ บางครั้งพ่อก็จะชวนเจ้าหน้าที่ทั้งของรัฐ ทั้งผู้นำศาสนา มิชชันนารี มาทานข้าวที่บ้าน พ่อกับแม่จะเลี้ยงไก่เอาไว้เพื่อฆ่าเลี้ยงกับแขกของพ่อ  ซึ่งได้ทำให้ผม มีโอกาสซึมซับความรู้จากวงสนทนาของคนกลุ่มเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว หรือบางครั้ง ผมจะมองเห็นพ่อไปหยิบเอาท่อนไม้ มานั่งทำเตหน่า จากท่อนไม้กลายเป็นเครื่องดนตรีชนเผ่า ทำให้ผมจำบทบาท ท่วงทำนองของพ่อ เวลาพ่อพูด ผมนั่งฟัง ซึ่งมีทั้งตลกขบขัน และมีทั้งสาระ ทำให้ผมซึมซับรับมาโดยไม่รู้ตัว”

ชิ สุวิชาน กับพ่อพนา พัฒนาไพรวัลย์

ชิ สุวิชาน ยังพูดถึงยายด้วยว่า ยายถือเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เรื่องเล่า นิทาน คำธา คำสอนให้กับเขา

“ตอนวัยเด็ก ผมจะผูกพันอยู่กับยายมาตลอด ยายจะมีส่วนช่วยหล่อหลอมเรื่องเล่า นิทาน คำสอน บทธาของปกาเกอะญอให้กับผม ทุกคืนก่อนนอน ยายชอบเล่านิทานให้ฟัง”

ธรรมชาติ นั้นช่วยกล่อมเกลาชีวิตจิตใจของชิ สุวิชาน

ในวัยเยาว์ เขาจะชอบเข้าป่ากับเพื่อนๆ ไปลำห้วย หนองน้ำ ทำให้เรียนรู้วิธีการเอาตัวรอด และช่วยฝึกความแข็งแกร่งให้กับตนเอง

“มันทำให้เรารู้ว่า เก็บผลไม้ในป่าอย่างไรไม่ให้มันร่วง ขึ้นต้นไม้อย่างไรไม่ให้เราตก ว่ายน้ำอย่างไรให้รอด บางครั้งก็พากันไปตกเบ็ดตกปลา ทุกคนก็จะเรียนรู้กันว่าถ้าอยากได้ปลาชนิดนี้ เราจะต้องใช้เหยื่ออะไรล่อปลา ซึ่งมีทั้งตั๊กแตน เขียด หนอน ข้าวหรือข้าวโพด มาทำเป็นเหยื่อ แม้กระทั่งการล่าสัตว์ การดักสัตว์อย่างเช่น หนู หรือตุ่น พอมีประสบการณ์มาหน่อย ก็จะขยับไปล่าสัตว์ ยิงปืน ล่านก กระรอก กระต่าย เก้ง อีเห็น หรือหมูป่า ซึ่งวิชาเหล่านี้เราได้มาจากเพื่อนๆ ซึ่งผมล่าสัตว์ ได้อย่างเก่งที่สุดก็แค่ล่ากระต่าย เพราะว่าการล่าสัตว์อื่นๆ ที่ใหญ่กว่า นั้นต้องอดทน รอล่าสัตว์ข้ามคืนเพื่อจะได้มา”

พอเข้าสู่วัยเรียน ชิ สุวิชาน ได้เข้าไปเรียนในระบบ ที่ ร.ร.สหมิตรวิทยา เขาต้องเรียนรู้ปรับตัว เริ่มต้นใช้ภาษาไทย ไปพร้อมกับเรียนรู้เรื่องการเล่นดนตรี

“ผมจำได้ว่า มีครูคนหนึ่งที่ผมจำได้แม่นยำมากคือ ครูประวิทย์ สุริยมณฑล ซึ่งเขาเคยเป็นลูกศิษย์ของพ่อผมมาก่อน และผมจำได้ว่าครูประวิทย์คนนี้แหละที่เป็นหนึ่งในแกนนำต่อสู้เรื่องป่าสนวัดจันทร์ ที่คัดค้านออป.จะมาตัดโค่นป่าสนในสมัยนั้น และเป็นผู้ชักชวน พะเลอโดะหรือ วีระศักดิ์ ยอดระบำ นักคิดนักเขียนที่เข้าป่ายุคนั้น มาร่วมคัดค้านเคลื่อนไหวด้วย จำได้ว่า ตอนนั้น ผมยังเป็นเด็กนักเรียน และมีภาพของผมยืนอยู่หน้าโรงเรียนกลางป่าสน ลงสื่อหนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ด้วย”

คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร คือผู้ที่มีบทบาทเรื่องสังคมพัฒนา ศาสนา และวัฒนธรรมชุมชน

ครูบาอาจารย์ที่ สุวิชาน ได้พูดถึงต่อมา ก็คือ คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร หรือบาทหลวงนิพจน์  เทียนวิหาร  ซึ่งคุณพ่อนิพจน์ ทำงานศูนย์สังคมพัฒนา มิสซังเชียงใหม่ ตั้งแต่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1965  และงานของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมศาสนาและวัฒนธรรมชุมชน ตั้งแต่ ค.ศ. 1980 ตามเจตนาของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ที่เรียกร้องให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับโลก  วัฒนธรรม  และชาวบ้านชาติพันธุ์

ต่อมา คุณพ่อนิพจน์ ได้สนใจตั้งสถาบันปรีชาญาณแห่งเอเชีย ขึ้นมา โดยมีคณะกรรมการบริหาร  9 คน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย  5 แห่ง และทีมที่ปรึกษา 9 คน จาก 5 ประเทศ  เพื่อส่งเสริม 1. ประเพณีท้องถิ่น ที่แตกต่างหลากหลาย ให้เป็นพลังสร้างสรรค์ 2. ศูนย์การเรียนรู้  เพื่อรื้อฟื้น  และปฏิบัติชีวิตจิต 3. การริเริ่มเครือข่ายระดับท้องถิ่น แบบเพื่อน 4. ปรีชาญาณท้องถิ่น  ที่สามารถท้าทายกระบวนทัศน์ที่ครอบคลุมและนำเสนอหนทางแก้ไขที่ยั่งยืน 5. ปัญญาชนชาวบ้าน  และปัญญาชนสาธารณะ  ทำงานเพื่อความดีส่วนรวม

คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ยังเป็นผู้ก่อตั้งกองบุญข้าวของชาวปกาเกอะญอ และก่อตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมศาสนาและวัฒนธรรมชุมชน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

ชิ สุวิชาน เข้าร่วมกิจกรรมกับคุณนิพจน์ เทียนวิหาร ผู้บุกเบิกในการวางแนวคิดของงานพัฒนาชุมชนให้กับชนเผ่า

ชิ สุวิชาน มองว่า คุณพ่อนิพจน์ เป็นผู้บุกเบิกในการวางแนวคิดของงานพัฒนาชุมชนให้กับพี่น้องชนเผ่าอย่างแท้จริง โดยเน้นการบูรณาการ ขับเคลื่อนงานสายวัฒนธรรมของปกาเกอะญอ ผ่านชุมชนคาทอลิก ผ่านแนวคิด วัฒนธรรมชุมชน โดยมีความเชื่อในพลังของชุมชน โดยนำศาสนจักรมาปรับตัวรับใช้งานพัฒนา ซึ่งครั้งหนึ่งคุณพ่อนิพจน์ ได้เคยไปนำเสนอแนวคิดเหล่านี้ให้กับทางนครรัฐวาติกัน ประเทศอิตาลี ท่านเสนอว่า “กระบวนการการทำงานชุมชนเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง ต้องตั้งอยู่บนฐานของศาสนา และวัฒนธรรมของชาวบ้าน” จนกลายเป็นที่ยอมรับในงานพัฒนาชุมชนนี้มาอย่างต่อเนื่อง

ชิ สุวิชาน ชื่นชมหลักคิดของคุณพ่อนิพจน์กับกองบุญข้าว เปรียบข้าวคือพืชศักดิ์สิทธิ์ ที่เสียสละและแบ่งปัน

ครั้งหนึ่ง คุณพ่อนิพจน์ เคยมาบรรยายในชั้นเรียนปริญญาโท มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ซึ่ง สุวิชาน ได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกัน ซึ่งทำให้สุวิชานรู้สึกและประทับใจในแนวคิดของคุณพ่อนิพจน์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของ กองบุญข้าว เพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ เด็กกำพร้า และหญิงม่าย ซึ่งถือว่านี่เป็นปรีชาญาณ ที่ทำให้เรารู้ว่านี่คือศาสนจักรที่กินได้ และสามารถปลดปล่อยความยากจน ความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง

“คุณพ่อนิพจน์ มองว่า ข้าวนั้นคือพืชศักดิ์สิทธิ์ เหมือนเป็นพระวรกายของพระเยซู คือมีความเสียสละและแบ่งปัน โดยมองว่า ข้าวนั้นต้องตายถึงสามครั้ง เช่นเดียวกับพระเยซู นั่นคือ ตายครั้งที่หนึ่ง คือจากเมล็ดกลายเป็นต้นกล้า ตายครั้งที่สอง คือต้นข้าวแก่แห้งกลายเป็นรวงเมล็ดข้าว ตายครั้งที่สาม คือจากข้าวเปลือก ข้าวสาร กลายเป็นข้าวสุก จะเห็นว่าต้องตายถึงสามครั้ง เพื่อจะให้คนได้กินข้าว”

ทัศนคติของ ชิ สุวิชาน มองคนรุ่นใหม่ ต้องมีทางเลือกที่หลากหลาย

ชิ สุวิชาน ได้พูดถึงคนรุ่นใหม่ ในยุคปัจจุบันนี้ว่า คนรุ่นใหม่มีความหลากหลายมากกว่ายุคก่อนๆ และก็มีความต้องการมากขึ้นไปด้วย เพราะฉะนั้น เราจะใช้แนวคิดแบบเดิมก็คงไม่ได้แล้ว ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีวิธีการที่หลากหลาย และต้องดูทักษะความคิดของแต่ละคนด้วยว่า คนๆ นี้สนใจอยากจะเรียนรู้อะไร แล้วเราจะต้องเรียนรู้จากเด็กให้มากที่สุด ว่าพวกเขาสนใจอะไร และเราต้องรู้ด้วยว่าโจทย์ความต้องการของเด็กๆ จะไม่เหมือนกัน ความสนใจของทุกคนนั้นต่างกัน

“ยกตัวอย่างลูกศิษย์ของผมที่มาเรียนวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย เมื่อผมถามไปว่าเรียนจบแล้วจะไปทำอะไร  ซึ่งแต่ละคนจะมีคำตอบไม่เหมือนกันเลย บางคนบอกจะกลับไปจัดการเรื่องท่องเที่ยว บางคนบอกจะไปเป็นข้าราชการ บางคนบอกจะไปเป็นนักพัฒนา บางคนบอกจะไปทำงานด้านสื่อ อีกคนบอกว่าอยากไปทำอาร์ต แกลลอรี หรือกรณีที่ผมไปลงพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน ในเรื่องการพัฒนาทักษะอาชีพ ยกตัวอย่าง 12 คน แต่มีความต้องการไม่เหมือนกันเลย เพราะฉะนั้น เราจำเป็นที่จะต้องสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้มีความหลากหลาย และมีทางเลือกให้มากขึ้นด้วย คือในยุคนี้ ถ้าเรามอบทางเลือกให้เขา แต่มันไม่ตอบโจทย์ชีวิต ในที่สุดเขาก็จะออกไปหาทางเลือกใหม่ เพราะเขารู้ดีว่า พื้นที่ทางเลือกในปัจจุบันนี้ มันมีให้เขาเลือกได้มากมายหลายทาง” ชิ สุวิชาน บอกย้ำในตอนท้าย

นี่คือ คลังความทรงจำ จากรุ่นสู่รุ่น ของคนรุ่นก่อน ที่เฝ้ามองคนรุ่นใหม่ ที่ทำให้เราเรียนรู้ว่า ปราชญ์ ผู้รู้ ผู้อาวุโส คนรุ่นก่อน นั้นเต็มเปี่ยมด้วยประสบการณ์และภูมิปัญญา ที่คนรุ่นใหม่ต้องเงี่ยหูฟัง เรียนรู้ นำไปปรับใช้ และดำเนินรอยตามได้ และในทางกลับกัน ผู้ใหญ่ก็ต้องรับฟังคนรุ่นใหม่ และเข้าใจพวกเขาด้วยว่า อะไรคือคุณค่าสำคัญที่เด็กให้สนใจให้ความสำคัญในยุคนี้ ต่อตัวตน  ต่อโลก ต่อธรรมชาติ ถ้าทั้งสองรุ่นยอมรับความต่าง สร้างความเข้าใจ ก็จะทำให้ทุกกิจกรรม ทุกการก้าวย่างนั้นมีคุณค่า ความหมาย มีหัวใจที่อยากให้โลกนี้มีสันติสุขและงดงามต่อไป

ข้อมูลประกอบ

  • ถอด ‘คลังความทรงจำ’จากคนรุ่นก่อน สู่คนรุ่นใหม่ ก้าวเดินอย่างไรอย่างมีคุณค่าความหมายและไม่ผิดทาง,องอาจ เดชา,วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 118,เดือนมกราคม-เมษายน 2565
  • สัมภาษณ์ ชิ สุวิชาน  ‘คลังความทรงจำ’ ปกาเกอะญอ มองคนรุ่นใหม่ จะเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไร, 15 มี.ค.2565
  • สัมภาษณ์ ถาวร กัมพลกูล หรือ บือพอ ‘คลังความทรงจำ’ ปกาเกอะญอ มองคนรุ่นใหม่ จะเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไร, 2 เม.ย.2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท