Skip to main content
sharethis

แม้ว่าสิงคโปร์จะได้รับเสียงชื่นชมอยู่บ้างจากกลุ่ม LGBTQ+ และกลุ่มสิทธิมนุษยชน ในเรื่องที่พวกเขายกเลิกกฎหมายอาญาห้ามชายรักชายมึเพศสัมพันธ์กัน ซึ่งเป็นมรดกล้าหลังจากยุคอาณานิคม แต่รัฐบาลก็ยังจะประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสกัดการแก้กฎหมายอนุญาตให้มีการแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกัน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ และทำให้ถูกมองว่าเป็นการพยายามเอาใจกลุ่มศาสนาหรือกลุ่มอนุรักษ์นิยมในประเทศตัวเอง

งาน Pink Dot เมื่อปี 2014 ที่สวนฮองลิม ถ่ายโดย Jnzl

สิงคโปร์เพิ่งจะประกาศแผนการยกเลิกกฎหมายตั้งแต่สมัยยุคอาณานิคมที่ทำให้การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับผู้ชายเป็นอาชญากรรม แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ประกาศแผนการสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะกลายเป็นการเสริมกำแพงขวางกั้นการอนุญาตแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกัน

ทำให้ถึงแม้ว่าแผนการยกเลิกกฎหมายลงโทษเกย์จะเป็นเรื่องที่กลุ่ม LGBTQ+ ยินดีด้วยหลังจากที่รอคอยให้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลสิงคโปร์ก็ดูจะพยายามเอาใจฝ่ายอนุรักษ์นิยมและพวกกลุ่มศาสนาที่แสดงความกังวลต่อการยกเลิกกฎหมายนี้ โดยพยายามจะแก้รัฐธรรมนูญให้มีการปกป้องคำนิยามด้านการแต่งงานแบบดั้งเดิมเอาไว้ให้เป็นเรื่องระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงเท่านั้น

สำหรับกฎหมายที่สิงคโปร์ประกาศแผนการจะยกเลิกนั้นคือกฎหมายอาญามาตรา 377A ที่ระบุว่า "ชายใดก็ตามที่กระทำหรือส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายบริการ หรือจัดหา หรือพยายามจัดหาการซื้อขายบริการ ที่เป็นการกระทำในเชิงลามกอนาจารต่อชายอีกคนหนึ่ง ไม่ว่าจะในที่สาธารณะหรือในที่ส่วนตัว จะต้องถูกลงโทษจำคุก โดยอาจจะมีการขยายการลงโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี" กฎหมายดังกล่าวนี้มีอยู่ในสิงคโปร์แต่ไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจังมาตั้งแต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งกฎหมายยังไม่ได้ระบุห้ามการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงด้วย

ก่อนหน้านี้ในปี 2557 เคยมีการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 377A มาก่อนแต่ศาลสูงสุดของสิงคโปร์ก็ตัดสินว่ามันเป็นเรื่องเชิงรัฐธรรมนูญ ในเดือน ก.พ. ศาลอุทธรณ์ได้ยึดตามคำตัดสินเดิมของศาลชั้นต้นในการปฏิเสธการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายนี้ อย่างไรก็ตามศาลระบุว่ากฎหมายมาตรา 377A นี้ "ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้อย่างครบถ้วน" เพราะอัยการสูงสุดเคยพูดต่อสาธารณะไว้้มื่อปี 2561 ว่านโยบายของรัฐบาลคือจะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษชายที่เป็นผู้ใหญ่และมีเพศสัมพันธ์กันในที่ส่วนตัว อย่างยินยอมพร้อมใจกัน นอกจากนี้รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในของสิงคโปร์ยังกล่าวไว้เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาว่าประเด็นนี้ควรจะมีการหารือและตัดสินใจกันในรัฐสภา ไม่ใช่ในศาล

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลีเซียนลุง เคยกล่าวไว้เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ว่าทางการจะสั่งยกเลิกมาตรา 377A และทำให้การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายไม่นับเป็นอาชญากรรมอีกต่อไป โดยที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าเป็นการ "ทำให้กฎหมายเข้ากับสังคมมากขึ้น" แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลกลับมีแผนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงนิยามเรื่องการแต่งงานซึ่งพวกเขาอ้างว่าเป็นเรื่องสำหรับผู้ชายกับผู้หญิง โดยจะระบุห้ามไม่ให้มีการแก้ไขในเรื่องนี้ผ่านทางการร้องเรียนต่อศาล

สื่อวอชิงตันโพสต์วิเคราะห์เรื่องนี้เอาไว้ว่า การหารือใดๆ ก็ตามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายมาตรา 377A นี้ อาจจะทำให้คนบางกลุ่มเกิดความกังวลโดยเฉพาะจากกลุ่มศาสนา เพราะการนำเรื่องนี้เข้าสู่ชั้นศาลอาจจะทำให้เกิดการรับรองการแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกันตามมาได้

โดยที่ในสิงคโปร์นั้นถึงแม้ว่าจะมีคนยอมรับการแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกันเพิ่มขึ้นบางแล้ว แต่ประชากรเกินครึ่งก็ยังไม่เห็นด้วย เช่นจากโพลของกลุ่มคลังสมองในสิงคโปร์ "สถาบันศึกษานโยบาย" ที่สำรวจตั้งแต่ปี 2561 ระบุว่า กลุ่มคนที่มองว่าการแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดไม่ว่าจะในกรณีใดๆ ก็ตามหรือแทบจะในทุกกรณี มีลดลงเหลือร้อยละ 60 จากเดิมที่ในปี 2556 มีคนเชื่อแบบนี้อยู่ร้อยละ 74

ลีเซียนลุงกล่าวอ้างในการแถลงเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมาว่าทางการสิงคโปร์ "ไม่ต้องการจะยกเลิกกฎหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบยกเครื่องในสังคม" และอ้างว่าทางรัฐบาลต้องการรักษาไว้ซึ่ง "วิธีการแบบในปัจจุบันที่เน้นครอบครัวเป็นหลัก และดำรงไว้ซึ่งบรรทัดฐานและค่านิยมของสังคมสิงคโปร์" นายกรัฐมนตรีอ้างว่าเขาต้องการคงไว้ซึ่ง "โครงสร้างครอบครัวมาตรฐาน" แบบเดิมคือระหว่างชายกับหญิง และอ้างว่าจะต้องมีการเลี้ยงดูลูกของพวกเขา อีกทั้งยังอ้างว่าเพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการต่อสู้เรียกร้องทางกฎหมายที่จะ "จุดชนวนให้เกิดความตึงเครียดและทำให้เกิดการแบ่งขั้วในสังคม"

สำหรับกระแสโต้ตอบในเรื่องนี้นั้น ถึงแม้ว่ากลุ่ม LGBTQ+ จะยินดีในเรื่องที่มีการยกเลิกการทำให้ชายรักชายเป็นอาชญากรรม แต่พวกเขาก็แสดงความกังวลเรื่องการที่รัฐบาลจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อสกัดกั้นการแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกัน กลุ่ม LGBTQ+ ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะเป็นการ "ทำลายความเป็นโลกวิสัย(ที่แยกศาสนากับรัฐออกจากกัน) ในรัฐธรรมนูญ" ของพวกเขาและเป็นการ "มัดมือชก" ให้รัฐสภาในอนาคตทำอะไรกับมันไม่ได้

ทางด้านกลุ่มศาสนาในสิงคโปร์ก็แสดงความกังวลเรื่องการยกเลิกการทำให้ชายรักชายเป็นอาชญากรรม และสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มองค์กรที่เรียกตัวเองว่า สภาคริสตจักรแห่งชาติสิงคโปร์ เปิดเผยว่าพวกเขาต้องการที่จะสามารถสั่งสอนในเชิงห้ามการรักเพศเดียวกันต่อไปได้รวมถึงทำการต่อต้านเพศวิถีแบบต่างๆ ที่พวกเขาอ้างว่า "เป็นบาป" ในสิงคโปร์มีชาวคริสต์อยู่ร้อยละ 19 ในขณะที่ผู้นับถือพุทธยังคงเป็นกลุ่มศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์มีผู้นับถืออยู่ที่ร้อยละ 31

สำหรับผลกระทบที่น่าจะตามมาเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้นสื่อวอชิงตันโพสต์ประเมินว่า การยกเลิกมาตรา 377A อาจจะช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติในสังคมที่เคยลังเลที่จะยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ และทำให้สิงคโปร์สามารถดึงดูดแรงงานข้ามชาติที่มีความคิดหัวก้าวหน้าให้อยากเข้ามาทำงานในสิงคโปร์มากขึ้นบ้าง ซึ่งในตอนนี้สิงคโปร์เป็นประเทศศูนย์กลางการเงินรายใหญ่แห่งหนึ่งที่มีบริษัทนานาชาติ 37,400 บริษัท ตั้งอยู่ในประเทศของพวกเขา และมีกลุ่มเอ็กซ์แพตหรือชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศของพวกเขาร่วมไปกับคนทำงานชาวสิงคโปร์ ซึ่งคนทำงานจากต่างชาติกำลังเป็นที่ต้องการในสิงคโปร์ที่กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะประชากรสูงวัย

การสำรวจทางออนไลน์โดย Ipsos เมื่อเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ที่ผ่านมาระบุว่าจำนวนผู้อาศัยในสิงคโปร์มีคนสนับสนุนมาตรา 377A น้อยลงจากเดิมที่ร้อยละ 55 ในปี 2561 เหลือร้อยละ 44 ในปีนี้ อีกทั้งเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา โฆษกสภาผู้แทนฯ สหรัฐฯ แนนซี เปโลซี ได้เรียกร้องให้กลุ่มธุรกิจในสิงคโปร์สนับสนุนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่รัฐบาลสิงคโปร์กลับส่งคำเตือนให้กับบริษัทต่างชาติหลังจากนั้นระบุว่าให้ระวังเวลาดำเนินนโยบายเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยอ้างว่าเพราะมันเป็นประเด็นที่สังคมเห็นต่างกัน

เทียบกับประเทศอื่นแล้ว สิงคโปร์ยังดูจะตามหลังหลายๆ ประเทศในเอเชียในเรื่องความก้าวหน้าด้าน LGBTQ+ ประเทศที่เป็นผู้นำในแง่ของกฎหมายเรื่องความหลากหลายของเอเชียคือไต้หวันซึ่งนับเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่มีการรองรับการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันในทางกฎหมาย ประเทศไทยก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายและเพิ่งจะผ่านร่างในขั้นตอนแรกเกี่ยวกับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน ในเวียดนามมีการอนุญาตให้คนรักเพศเดียวกันจัดงานแต่งงานกันในเชิงสัญลักษณ์ได้แต่ไม่รับรองการแต่งงานในทางกฎหมาย ในฮ่องกงไม่มีกฎหมายอนุญาตการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันแต่อนุญาตให้คนงานต่างชาติพาคู่รักของตัวเองเข้าประเทศมาด้วยโดยอาศัยวีซ่าในฐานะคู่สมรส สำหรับในพม่า, มาเลเซีย และบรูไน ต่างก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย


เรียบเรียงจาก

Why Singapore is Abolishing a Ban on Sex Between Men: QuickTake, The Washington Post, 22-08-2022

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net