'ชลน่าน' ชี้กฎเหล็ก 180 วัน สกัดเพื่อไทยแลนด์สไลด์ เชื่อมีซื้อเสียงใต้ดิน

'ชลน่าน' เผย 'เพื่อไทย' ตั้งรับระเบียบ กกต. 180 วัน ชี้ กม.ใหม่สกัดเพื่อไทยแลนด์สไลด์-ดึงพรรคใหญ่เท่าพรรคเล็ก เชื่อมีซื้อเสียงใต้ดิน - 'จักรพรรดิ' ส.ส.อุดรฯ เพื่อไทย เปิดตัวสวมเสื้อ 'ภูมิใจไทย' รอฟังสัญญาณจากผู้ใหญ่ว่าจะให้ออกพร้อมกันกับ ส.ส.เพื่อไทย 7 คน เมื่อใด - 'อนุสรณ์' ชี้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช้ามาก ไม่ทันการณ์ 


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (แฟ้มภาพ)

24 ก.ย. 2565 มติชนออนไลน์ รายงานว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการเริ่มเข้าสู่ช่วง 180 วัน ที่พรรคการเมือง ส.ส. และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ต้องปฏิบัติตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งล่าสุดระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2565 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทางพรรค พท.จะเน้นย้ำกำชับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. และ ส.ส.ให้ระมัดระวังอย่างไร เพราะบางเงื่อนไขสุ่มเสี่ยงทำผิดกฎหมายว่า พรรค พท.ทำหนังสือแจ้งทำความเข้าใจกับสมาชิก ที่ระบุถึงข้อปฏิบัติและข้อห้ามต่างๆ นอกจากนี้ยังเตรียมงานสัมมนาให้กับ ส.ส. และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. วันที่ 5 ตุลาคม ที่โรงแรมเอสซี ปาร์ค และเปิดช่องสอบถามโดยตรงระหว่างสมาชิกที่มีข้อสงสัย กับทีมกฎหมายของพรรค

นพ.ชลน่านกล่าวว่า นี่คือการเข้าสู่การเลือกตั้ง ที่เหมือนมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จึงมีสิ่งที่ กกต.กำหนดว่า การหาเสียงแบบนี้สามารถทำได้ และมีข้อห้ามตามกฎหมายบัญญัติ เช่น การติดป้าย ขนาดของป้าย จำนวนของป้าย และสถานที่ติดป้าย หากทำผิดก็จะถือว่าผิดกฎหมายเลือกตั้ง

เมื่อถามถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์การขึ้นป้ายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรักษาการนายกรัฐมนตรี ระหว่างลงพื้นที่ตามต่างจังหวัด นพ.ชลน่านกล่าวว่า แม้จะทำในนามของรักษาการนายกฯ แต่กรณีนี้ถือว่าเข้าข่ายเป็นป้ายหาเสียง เพราะบนป้ายมีการระบุชื่อพรรค นโยบาย และตัวบุคคลอยู่

เมื่อถามว่าพรรคฝ่ายค้านกังวลว่าพรรคร่วมรัฐบาลที่มีรัฐมนตรีจะได้เปรียบกว่าหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ก็ไม่ถึงขนาดว่าต้องหวาดกลัว ทั้งนี้หากทำในนามรัฐบาล เราก็สามารถทำความเข้าใจกับประชาชนว่า สิ่งที่รัฐมนตรีมาแจกของ ทำในส่วนของรัฐมนตรี และใช้เงินภาษีประชาชน ไม่ใช่การหาเสียง แต่เราก็ไม่ปิดกั้นในเรื่องที่ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะบางเรื่องเราไม่สามารถช่วยเหลือได้ จึงต้องติดต่อหน่วยงานภาครัฐให้มาช่วยเหลือ

เมื่อถามว่า พรรคฝ่ายค้านจะตั้งคณะทำงานเพื่อจับตาตรวจสอบไม่ให้ถูกเอาเปรียบหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ต้องตรวจสอบ เช่น ไปในนามรัฐมนตรีแต่ให้ ส.ส.ไปแจกของ ถือเป็นการแอบแฝงหาเสียง ทั้งนี้ รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. ก็ต้องมีเส้นแบ่งให้ชัดว่าทำในนามอะไร

เมื่อถามถึงการขยายกรอบเวลาจาก 90 วัน เป็น 180 วัน ก่อนเลือกตั้ง จะส่งผลกระทบอะไรหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ถือว่าแตกต่างมาก และถือเป็นการเขียนใหม่ กรอบเวลาเดิมคือ 90 วันก่อนเลือกตั้ง จะคิดเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่าย โดยไม่ห้ามเรื่องการทำกิจกรรม และไม่ห้ามการช่วยเหลือต่างๆ อาจจะบอกว่ากฎหมายใหม่มีเจตจำนงเพื่อต้องการให้ความเป็นธรรมกับทุกพรรคการเมือง แต่ความจริงพรรคการเมืองที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ คือพรรค พท. ที่เป็นพรรคขนาดใหญ่ ทำให้เราไม่สามารถรณรงค์เรื่องแลนด์สไลด์ได้ และสกัดทุกพรรคที่เป็นขนาดใหญ่เกินไป เป็นการออกกฎหมายที่ปิดกั้นและกดทับการทำพรรคการเมือง

“เป็นกระบวนการดึงพรรคใหญ่ ลงมาให้เท่าพรรคเล็ก เป็นวิธีคิดที่ผิด และทำให้ต้องลงใต้ดินเยอะขึ้น เพราะมีช่องหลบเลี่ยง เช่น ห้ามหาเสียงและจำหน่ายจ่ายแจกเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ทำแบบเลี่ยงไม่จำหน่ายจ่ายแจกเป็นลายลักษณ์อักษร ถือเป็นการส่งเสริมให้ซื้อเสียง เมื่อซื้อเสียงบนโต๊ะไม่ได้ ก็ลงใต้ดิน” นพ.ชลน่านกล่าว

กกต.คลอดกฎเหล็ก 180 วันก่อนเลือกตั้ง เตือนพรรคการเมือง ระวังเสี่ยงทําผิดกฎหมาย

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่าจากกรณีหลักเกณฑ์การหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ในช่วง 180 วันก่อนที่สภาฯจะครบวาระสร้างความกังวลแก่ฝ่ายการเมือง ล่าสุดระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2565 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว

โดยเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักบริหารการสนับสนุนโดยรัฐ จัดการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง ครั้งที่ 4 ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม ที่ประกอบด้วยผู้บริหารพรรคการเมือง ผู้อำนวยการพรรคการเมืองและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของพรรคการเมืองว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงให้ทราบเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง ที่ถูกต้องและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการเตรียมการสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป การชี้แจงแนวทางการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงที่จะเข้าสู่กรอบ 180 วัน ที่สภาผู้แทนราษฎรจะครบ วาระ 23 มี.ค. 2566 อะไรทำได้ ทำไม่ได้ และข้อควร ระวังตามกฎหมาย

ต่อมาที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ นายแสวง กล่าวถึงกรณี กกต.ออกประกาศระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2565 ว่ากฎหมายเลือกตั้งเดิมจะกำหนดเรื่องระยะเวลาในการหาเสียงไว้เพียง 30-40 วัน แต่ตามกฎหมายใหม่ทำให้การหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมืองซับซ้อนขึ้น มีทั้งช่วงก่อนระยะเวลา 180 วันก่อนวันเลือกตั้ง ช่วง 180 วันจนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง ทำให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองสุ่มเสี่ยงผิดต่อวิธีการหาเสียง เช่น ประชุมใหญ่พรรค การเปิดตัวผู้สมัคร การทำไพรมารีโหวต หรือการจัดโครงการที่พรรคทำกับประชาชนโดยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ถ้าไม่ใช่เวลาหาเสียงเลือกตั้ง พรรคการเมืองให้เงินกับประชาชนสามารถทำได้ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วการให้เงินจะเป็นความผิด ส่วนการลงพื้นที่จัดกิจกรรมถ้าเป็นการหาเสียง ก็ต้องคิดรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรค แต่ถ้าเป็นการหาเสียงโดยที่พรรคการเมือง ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการ คิดเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ถ้าไปทำอะไรที่ไม่ใช่เป็นการหาเสียง ก็ไม่ต้องนำมาคิดเป็นค่าใช้จ่าย

“เช่น การช่วยเหลือน้ำท่วมก่อนช่วงระยะเวลา 180 วัน ให้ได้ไม่เกิน 300,000 บาท ถ้าเกินต้องนำมารวมเป็นค่าใช้จ่าย แต่พอมาในช่วงระยะเวลา 180 วัน จะให้ไม่ได้เลย ถ้าให้ถือว่าผิดกฎหมาย ส่วนผู้สมัครที่มีการขึ้นป้ายหาเสียงไว้ก่อนเข้าช่วงระยะเวลา 180 วัน ก็ต้องมีการปลดป้ายดังกล่าวลงมา และแก้ไขให้ป้ายเป็นไปตามขนาด และติดตั้งตามสถานที่ที่ประกาศ กกต.เรื่องป้ายกำหนด การหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ก็เช่นกัน เพราะตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. จะถือว่าเข้าโหมดการเลือกตั้ง 100% ขณะที่พรรคการเมืองจะจัดระดมทุน เปิดตัวผู้สมัคร ทำได้ตามปกติ ตราบใดที่ไม่ได้ให้ทรัพย์สิน ซึ่งคิดว่าพรรคการเมืองน่าจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ดี” นายแสวงกล่าว

เมื่อถามว่าขณะนี้ยังไม่มีการประกาศเขตเลือกตั้ง ผู้ที่จะลงสมัครอาจสับสนในเรื่องของวิธีการหาเสียง นายแสวงกล่าวว่า ตามระเบียบให้อ้างอิงเขตเลือกตั้งเดิม ตามประกาศของ ผอ.กกต.จังหวัดและประกาศ กกต.เกี่ยวกับบัญชีรายชื่อ จะมีการระบุว่าติดป้ายหาเสียงตรงไหนได้ จำนวนเท่าใด ส่วนถ้าเป็นป้ายของหน่วยงานราชการที่ขึ้นให้การต้อนรับรัฐมนตรี และระบุผลงานของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลรวมอยู่ด้วย ต้องพิจารณาว่าถ้ามันเป็นงานในหน้าที่ของรัฐมนตรี หรือส่วนราชการ มันจะไม่ผิด แต่ถ้าเกินกว่านี้ต้องดูข้อเท็จจริง ส่วนราชการต้องพึงระวังว่าทำได้แค่ไหนอย่างไร แล้วอยู่ในอำนาจหน้าที่หรือไม่ แต่ถ้าเป็นป้ายขอบคุณ เช่น ในอดีตเคยมีการขึ้นป้ายข้อความพี่น้องชาวโคราชขอขอบคุณโดยระบุชื่อนักการเมืองคนหนึ่ง กกต.เห็นว่าข้อความลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการหาเสียง และไม่พบว่าใครเป็นเจ้าของ มีการให้ ผอ.กกต.จังหวัดปลดป้ายลง

“เมื่อก่อนระยะเวลาการหาเสียงจะกำหนดช่วง 30-60 วัน พรรคการเมืองจะหยุดเรื่องงานกิจกรรมต่างๆของพรรค แล้วมาทำเรื่อง การหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้น แต่คราวนี้ระยะเวลามันยาว เป็น 180 วัน พรรคยังมีเรื่องที่ต้องทำทั้งจัดประชุมใหญ่ สมาชิกจัดระดมทุน จัดเปิดตัวผู้สมัคร ต้องระมัดระวังการกระทำที่จะไม่เป็นไปตามวิธีการหาเสียง ขณะเดียวกัน สิ่งที่ทำต้องคำนวณให้ดีว่าต้องคิดเป็นค่าใช้จ่ายหาเสียง เลือกตั้งหรือไม่ เพราะขณะนี้ยังไม่รู้ว่าค่าใช้จ่ายหาเสียง จะถูกกำหนดไว้ที่เท่าไหร่ อีกทั้งเมื่อมีประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง จะเป็นอีกส่วนหนึ่ง จะเข้มข้นขึ้น อยากให้ผู้ที่จะสมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองพิจารณาให้ดี อะไรที่ไม่ควรทำอย่าทำ ตรงนี้ต้องแยกกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการของหน่วยงานรัฐ และรัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ดูแลประชาชน” นายแสวงกล่าวและว่าหากมีการยุบสภาเกิดขึ้น สิ่งที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองทำในช่วงระยะเวลา 180 วัน จะไม่ถูกนำไปคิดไปเป็น ค่าใช้จ่าย เพราะเงื่อนเวลาการนับวันเริ่มต้นจนถึง วันก่อนวันเลือกตั้งต่างกัน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2565 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการ เลือกตั้ง (กกต.) ได้เซ็นออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2565 เพื่อส่งต่อให้รัฐบาลนำไปประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีเนื้อหาระบุว่า ข้อ 1 ระเบียบฉบับนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียง และลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2565” ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับ ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ ในข้อ 6 ของระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 “(9) กรณีที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้มี การเลือกตั้ง ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองสามารถปิด ประกาศ หรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยวิธีการจัดทํา ขนาด จำนวน และสถานที่ ให้ถือปฏิบัติ ตามที่ กกต.และผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดประกาศ กำหนดในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด” ข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ในข้อ 18 ของระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561 “(5) จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบนี้” ข้อ 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นหมวด 5 ผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง ข้อ 18/1 ของระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561” หมวด 5 ผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง ข้อ 18/1 ให้นำระเบียบนี้มาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งด้วย” ประกาศ ณ วันที่ 22 ก.ย. พ.ศ.2565

ต่อมาเวลา 18.30 น. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษามีประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนที่ 59 ก หน้า 7 วันที่ 23 ก.ย.2565 เผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะ ต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2565 เรียบร้อยแล้ว โดยสาระสำคัญเป็นไป ตามที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ได้เซ็นออก ระเบียบฉบับดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา

'จักรพรรดิ' ส.ส.อุดร เพื่อไทย เปิดตัวสวมเสื้อ 'ภูมิใจไทย' ชี้ชนวนอำลาค่ายเก่า ปมหวาดระแวงตระกูล 'ไชยสาส์น' ทำชวดลง ส.ส.

24 ก.ย. 2565 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าภายในกิจกรรม “ภูมิใจไทยสัญจร ครั้งที่ 5 จังหวัดขอนแก่น” ที่ ศูนย์ประชุมเอนกประสงค์กาญจนภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย จำนวน 8 คน เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา ปรากฎว่านายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ได้ขึ้นเวทีกิจกรรมดังกล่าวด้วย เคียงข้างรัฐมนตรี ผู้บริหารพรรค ส.ส. และว่าที่ผู้สมัครพรรคภูมิใจไทย

สำหรับนายจักรพรรดิ ถือเป็น 1 ใน 7 ส.ส.ที่โหวตสวนมติพรรคเพื่อไทย อาทิ ไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งมติกฎหมายต่างๆที่ผ่านมาและลงมติสอดคล้องกับมติพรรคภูมิใจไทย

นายจักรพรรดิ ให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้ยังไม่สมัครสมาชิกพรรคภูมิใจไทยอย่างเป็นทางการเพียงแต่มาร่วมกิจกรรมดังกล่าวเท่านั้น ส่วนจะลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยวันไหนนั้น อาจต้องรอฟังสัญญาณจากผู้ใหญ่พรรคภูมิใจไทย ว่าจะให้ออกพร้อมกันกับ ส.ส.เพื่อไทยทั้ง 7 คน ร่วมทั้ง ส.ส.พรรคอื่นๆ ที่มาร่วมกิจกรรมกับพรรคภูมิใจไทยก่อนหน้านี้หรือไม่ เพราะหลังจากวันที่ 24 ก.ย. 2565 นี้ ส.ส.สามารถลาออกได้โดยไม่ต้องจัดการเลือกตั้งซ่อม ตามกรอบอายุของสภาฯ ไม่ถึง 180 วันตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 105

นายจักรพรรดิ กล่าวต่อว่าส่วนสาเหตุที่ออกจากพรรคเพื่อไทย เนื่องจากเกิดความหวาดระแวง หลังนายต่อพงษ์ ไชยสาส์น ได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทยไปอยู่พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเพื่อไทยคิดว่าตัวเองจะย้ายตามไปด้วย จึงไม่ส่งตนลง ส.ส.ในสมัยหน้า และยังไม่มีการเรียกไปชี้แจงข้อเท็จจริง จึงทำให้ตนต้องตัดสินใจหาพรรคสังกัดใหม่ จนได้รับการประสานงานให้ไปอยู่พรรคภูมิใจไทยในที่สุด ผ่านนายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.แบบบัญชี พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นเพื่อนกับคุณพ่อหรือ นายประจวบ ไชยสาส์น อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง

'อนุสรณ์' ชี้ ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช้ามาก ไม่ทันการณ์

24 ก.ย. 2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยแจ้งข่าวว่านายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เห็นชอบยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วหลังสถานการณ์โควิด-19 ในไทยแผ่วลงตามลำดับและปิดฉากการทำงานของ ศบค.ในวันที่ 30 ก.ย. ว่า ชุดความคิดจะเลิกอะไรต้องเลิกหลังเกษียณ 30 กันยายน และจะเริ่มอะไรก็ต้องเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม ตามปีงบประมาณใหม่ ไม่ทันสมัย ไม่เป็นสากล เป็นมาตรการที่ล่าช้าไม่ทันการณ์ ไม่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ประชาชนคนไทยเรียกร้องให้มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่อนคลาย แต่รัฐบาลไม่ยกเลิก มีความพยายามใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในทางการเมืองเพื่อจํากัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เพื่อปราบม็อบนักศึกษา ม็อบเกษตรกร ม็อบ ชาวบ้านที่เดือดร้อนจากโครงการต่างๆของรัฐ แต่พอถูกกดดันจากประเทศต่างๆที่จะเดินทางมาเข้าร่วมการประชุม เพราะกาคงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นสิ่งที่ประเทศต่างๆไม่สบายใจ รัฐบาลถึงกลับลำ ประชาชน เรียกร้อง ให้ยกเลิกกพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วให้ใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อคุมโควิดแทน มาเป็นปี แต่รัฐบาลก็ยืนกรานกระต่ายขาเดียวมาโดยตลอดว่าใช้ทดแทนกันไม่ได้ แต่พอจะใช้แทนได้ก็ใช้แทนได้ แสดงให้เห็นถึงการไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์อะไรหรือไม่

“คุณภาพชีวิตของคนไทยภายใต้พ.ร.ก. ฉุกเฉิน รัฐบาลมั่นคง แต่ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิ รัฐบาลจึงควรต้องระมัดระวังให้มาก” นายอนุสรณ์ กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท