Skip to main content
sharethis
  • คดีหมิ่นประมาทเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในช่วงปี 58-63 มีคดีที่ขึ้นสู่ศาลทั้งหมด 26,085 คดีและในปี 2563 มีคดีมากกว่าปี 2558 ถึง 1,730 คดี
  • iLaw และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนทำข้อมูลสถิติการใช้ข้อหานี้มาฟ้องปิดปากประชาชนที่ออกมาวิจารณ์หรือตรวจสอบทั้งรัฐและบริษัทเอกชนช่วงปี 57-63 พบว่ามี 58 คดี โดยที่ 55% ของคดีทั้งหมดเป็นบริษัทเอกชนเป็นผู้ฟ้อง
  • การฟ้องคดีหมิ่นประมาทในกรณีที่เป็นประเด็นประโยชน์สาธารณะศาลมักจะยกฟ้อง แต่เมื่อผู้ถูกฟ้องต้องตกเป็นจำเลยก็เสียทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาในการต่อสู้คดี
  • มีการเสนอในเวทีว่าสำหรับคดีหมิ่นประมาทอย่างน้อยที่สุดต้องยกเลิกโทษจำคุกและไม่ควรเป็นคดีอาญา เนื่องจากกลไกทางแพ่งเพียงพอแล้วสำหรับผู้ที่ถูกหมิ่นประมาทหรือผู้ฟ้องคดี แต่ยังคงขาดกลไกป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก

31 มี.ค.2564 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) องค์กร Article 19 จัดเสวนาเปิดรายงานปัญหาการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในประเทศไทยที่มีเป็นจำนวนกว่าสองหมื่นคดีที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2558-2563 และยังถูกนำมาในการฟ้องปิดปากคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานรัฐและเอกชน โดยประเทศไทยยังขาดกลไกป้องกันการนำกฎหมายมาฟ้องกลั่นแกล้ง

(ซ้ายไปขวา) สุธารี วรรณศิริ, สาวตรี สุขศรี, ฐปนีย์ เอียดศรีไชย และวรภพ วิริยะโรจน์ ภาพจาก Article 19

6 ปี คดีเพิ่มทุกปี

สุธารี วรรณศิริ ในฐานะนักวิจัยเป็นผู้นำเสนอรายงานสถานการณ์การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในไทยว่า จากการทำงานในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนก็ได้เห็นผู้นำชุมชน นักปกป้องสิ่งแวดล้อม นักข่าว และคนทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะถูกฟ้องดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก จึงตั้งข้อสงสัยว่ากฎหมายนี้ถูกนำมาใช้ง่ายเกินไปหรือไม่ ทั้งที่คนที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเพราะออกมาปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ

สุธารีให้ภาพร่วมเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาของไทยว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326-333 มีการกำหนดโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี แต่มีการกำหนดข้อยกเว้นความผิดไว้ในกรณีที่เป็นการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ และยังมีมาตรา 14-16 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ที่กำหนดความผิดที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทด้วย แต่ก็ถูกแก้ไขในส่วนนี้ไปในฉบับแก้ไข 2560 เพื่อไม่ให้ถูกนำมาใช้ควบคู่กับความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ในกฎหมายฉบับแก้ไขก็ยังคงมีช่องว่างให้ถูกนำมาใช้ได้อยู่

ส่วนกฎหมายที่รัฐบาลไทยอ้างว่าออกมาเพื่อคุ้มครองจากการฟ้องคดีที่ไม่สุจริตจะอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 และ 165/2 ที่ให้จำเลยยื่นเอกสารหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือร้องเรียนให้ศาลพิจารณาได้ว่าเป็นการฟ้องโดยไม่สุจริตหรือไม่

ทั้งนี้กฎหมายหมิ่นประมาทของไทยนั้นไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ 3 ประการ ประการแรกคือ บทลงโทษของกฏหมายไทยยังเป็นคดีทางอาญาและมีโทษจำคุก ในกรอบกฎหมายระหว่างประเทศถือว่าไม่ได้สัดส่วนกับความผิด เพราะความผิดนี้เป็นไปเพื่อการปกป้องชื่อเสียงบุคคลเท่านั้น

ประการที่สอง ในระบบกฎหมายไทยยังขาดความคุ้มครองที่เพียงพอต่อการฟ้องหมิ่นประมาท และกฎหมายหลายฉบับก็ยังปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในส่วนนี้ ทั้งที่สิทธิในการแสดงความเห็นเป็นสิทธิพื้นฐานมาก

ประการที่สาม กฎหมายไทยยังไม่สามารถป้องกันการใช้กฎหมายไปในทางที่ผิดได้ เพราะยังมีกลุ่มบุคคลหรือบริษัทหรือราชการที่มีอิทธิพลหรือมีทุนทรัพย์ใช้กฎหมายในการฟ้องเพื่อปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีที่เป็นประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือการเปิดโปงการทุจริต

สุธารีกล่าวว่าจากการศึกษาพบแนวโน้มการดำเนินคดีหมิ่นประมาทของไทยมีจำนวนสูงขึ้นทุกปี และมีคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษร้อยละ 83 ของคดีทั้งหมด และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังถูกเอามาใช้ควบคู่ในการฟ้องหมิ่นประมาทฯ ด้วย ปัญหาการดำเนินคดีจะกินระยะเวลายาวนานและมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต้องไปศาลจ้างทนายความ รวมถึงยังเสียเวลาในการดำเนินชีวิตและสร้างความหวาดกลัว อีกทั้งกฎหมายหมิ่นประมาทยังถูกนำมาใช้เพื่อคุกคามคนที่ทำงานเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ

สุธารีนำเสนอข้อมูลสถิติการใช้ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 322-328 ในช่วงปี 58-63 ที่อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานอัยการสูงสุด พบว่าสถิติคดีที่อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องต่อศาลมีทั้งหมด 10,141 คดีจากสำนวนที่ตำรวจยื่นฟ้องต่ออัยการทั้งหมด 16,807 คดี มีคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษถึง 8,397 คดี หรือร้อยละ 83 และในแต่ละปีก็มีสัดส่วนคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษอยู่ที่ 80 กว่าเปอร์เซนต์ขึ้นไป ทั้งนี้ปี 63 ซึ่งยังมีข้อมูลเฉพาะช่วงมกราคมถึงกันยายนมีสัดส่วนอยู่ที่ 71% ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ

สถิติจากรายงาน ความจริงที่ต้องพูดถึงกรณีสนับสนุนการยกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาในประเทศไทย หน้า 15 มีนาคม 2564

นอกจากนั้นในช่วงปี 2558-2563 คดีที่มีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326-333 ที่เข้าสู่ศาลทั้งหมดทั้งจากการแจ้งความกับตำรวจแล้วผ่านสำนวนมาที่พนักงานอัยการให้ยื่นฟ้องและเอกชนยื่นฟ้องเองโดยตรงต่อศาลมีทั้งหมด 26,085 คดี และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2563 มีคดีมากกว่าปี 2558 ถึง 1,730 คดี

สถิติจากรายงาน ความจริงที่ต้องพูดถึงกรณีสนับสนุนการยกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาในประเทศไทย หน้า 16 มีนาคม 2564

ส่วนข้อมูลในส่วนของจำเลยที่ถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาทจากฐานข้อมูลของ iLaw และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนทั้งสองแห่งนี้เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่รวบรวมข้อมูลคดีที่เป็นการ “ฟ้องคดีปิดปาก” (SLAPP หรือ Strategic Lawsuit Against Public Participation หรือการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ) ในช่วงปี 2557-2563 พบว่ามีการใช้ข้อหาหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทั้งหมด 58 คดี มีจำเลยรวมทั้งหมด 116 คน

สถิติจากรายงาน ความจริงที่ต้องพูดถึงกรณีสนับสนุนการยกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาในประเทศไทย หน้า 19 มีนาคม 2564

สุธารีระบุว่ากลุ่มบุคคลที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือ ผู้นำชุมนุมและนักกิจกรรม 55% สื่อมวลชน 18% และอื่นๆ 21% โดยกลุ่มที่เป็นฝ่ายโจทก์ฟ้องดำเนินคดีคือ บริษัทเอกชนจำนวนมากที่สุด 55% (32 คดี) รองลงมาเป็นหน่วยงานของรัฐบาล 16% เจ้าหน้าที่รัฐ 14% บุคคลทั่วไป 10% และนักการเมือง 5%

ทั้งนี้จากคดีทั้งหมด 58 คดี ศาลยกฟ้อง 34% แต่มีลงโทษจำคุกหรือปรับ 16% ทั้งนี้เหตุผลที่ศาลใช้ยกฟ้องคือเป็นการใช้ข้อยกเว้นตามมาตรา 329 คือเป็นการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ

สุธารีมีข้อเสนอสำหรับประเทศไทยที่จะสามารถทำได้ก็คือการยกเลิกโทษจำคุกออกจากข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทก่อน ซึ่งคิดว่าเป็นขั้นตอนแรกที่ควรจะส่งเสริมรัฐบาลหรือผู้ที่ออกกฎหมายให้ทำ

เวที ANTI-SLAPP HACKATHON เสนอไอเดียแก้ปัญหาการใช้กฎหมายปิดปากคน

ยกเลิกโทษจำคุกได้ยังไม่พอถ้าไม่มีกลไกป้องกัน

สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในการฟ้องปิดปากของไทยก็มีลักษณะการใช้เพื่อให้ยืดเยื้อคดีออกไป เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องไม่ว่าจะเป็นนักข่าว นักกิจกรรมหรือผู้ที่ทำการตรวจสอบต่างๆ ต้องเสียเวลาไปขึ้นศาลมากกว่าและสุดท้ายคนฟ้องก็รู้สึกชนะแล้วเพราะว่าได้พื้นที่สื่อไปแล้วจากการฟ้อง ทำให้การฟ้องร้องดำเนินคดีจึงไม่ใช่ฟ้องเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมและชนะคดีในศาลแต่อย่างใด

ทั้งนี้สาวตรีเองก็เห็นด้วยที่จะยกเลิกโทษทางอาญาสำหรับคดีหมิ่นประมาทและยังเห็นว่าควรพูดถึงคดีฐานดูหมิ่นด้วยแต่ทั้งสองฐานความผิดนี้จะคล้ายกัน แต่ฐานหมิ่นเป็นลักษณะการกระทำที่ทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทเสียชื่อเสียง แต่ฐานดูหมิ่น คือการใช้คำด่าทอคำหยาบคายแต่คนถูกดูหมิ่นอาจจะไม่เสียชื่อเสียงในสายตาของบุคคลอื่น แต่เขาอาจจะรู้สึกถูกลดคุณค่าและศักดิ์ศรีลง ซึ่งเธอเห็นว่าทั้งความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นไม่ควรเป็นความผิดทางอาญาทั้งสองฐาน แต่เนื่องจากความผิดฐานดูหมิ่นเป็นลหุโทษและคนให้ความสนใจน้อยทำให้ไม่มีใครแตะในประเด็นนี้ และโดยเฉพาะกับโทษจำคุกไม่ควรมีอย่างแน่นอน

สาวตรีให้เหตุผลว่าที่ควรยกเลิกโทษทางอาญา ความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นการมุ่งคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลจากการแสดงออกเช่นการพูดการเขียนที่กระทบต่อคุณค่าของบุคคล ความเสียหายที่เกิดจึงเป็นความเสียหายของคนๆ หนึ่งหรืออย่างมากก็อาจจะคนรอบข้างของบุคคลนั้นเช่นครอบครัวหรือเพื่อนซึ่งถือเป็นความผิดทางอาญาต่อส่วนตัว แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมหรือความสงบเรียบร้อยของสังคมหรือศีลธรรมที่เป็นการกระทำในลักษณะเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน การที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทที่มีลักษณะเป็นความผิดอาญาต่อส่วนตัว ซึ่งก็ต้องดูหลักการได้สัดส่วนว่าการกำหนดโทษจะต้องพอเหมาะพอควรกับการกระทำความผิดที่กระทบต่อเกียรติยศชื่อเสียง ซึ่งชื่อเสียงของบุคคลคนหนึ่งที่เสียไปเทียบกับอิสรภาพของคนที่ต้องถูกจำคุกไม่ว่าจะกี่วันกี่ปีก็ตามนั้นเทียบกันไม่ได้ ทำให้ไม่ควรมีโทษจำคุกตั้งแต่ต้น

สุชาณี รุ่งเหมือนพร หรือ สุชาณี คลัวเทรอ อดีตนักข่าว Voice TV ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก 2 ปี ในคดีที่บริษัทธรรมเกษตรฟ้องจากข้อความบนทวิตเตอร์ของเธอเกี่ยวกับผลคำพิพากษาคดีที่บริษัทต้องชดเชยคนงานพม่า โดยมีข้อความว่า "กรณีใช้แรงงานทาส" ในทวีตดังกล่าว แต่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องในภายหลัง ภาพจาก iLaw

อุทธรณ์ยกฟ้องคดีบริษัทธรรมเกษตร ฟ้องหมิ่นประมาทนักข่าว Voice TV

เหตุผลที่สอง ถ้าดูจุดประสงค์ของคนฟ้องหมิ่นประมาทหรือโจทก์ ไม่ว่าจะฟ้องอาญาหรือแพ่งจะมีเป้าหมายร่วมทั้งแพ่งอาญาคือ ให้ศาลตัดสินว่าจำเลยผิดและฝ่ายโจทก์ไม่ผิด และเพื่อให้ชื่อเสียงของโจทก์กลับมาดีในสายตาคนอื่น ซึ่งกลไกทางแพ่งก็ตอบสนองเป้าหมายทั้งสองประเด็นนี้ได้อย่างเพียงพอแล้ว กล่าวคือในประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 447 มีกลไกให้ผู้พิพากษาสั่งจำเลยให้ต้องดำเนินการกู้ชื่อเสียงโจทก์กลับมา เช่นการเผยแพร่คำพิพากษาหรือมีการเยียวยา ซึ่งกลไกในทางอาญาก็มีลักษณะเดียวกันนี้แต่ในทางแพ่งศาลก็อาจจะได้สินไหมทดแทนด้วยหรือค่าเสียหายทางทำมาหากินไม้ได้ของบุคคล

“คำถามก็เลยเกิดขึ้นว่าเอา(ความผิดทาง) อาญามาทำไม เอามาเพื่อการข่มขู่เหรอ เพราะฉะนั้นลักษณะแบบนี้มันเกินความจำเป็น” สาวตรีบอกว่าในทางอาญาการปรับไปก็ปรับเข้ารัฐ ฝ่ายโจทก์ที่ฟ้องก็ไม่ได้อะไร

ข้อสาม คือ ประเทศไหนกำหนดให้หมิ่นประมาทเป็นคดีอาญาจะทำให้การฟ้องคดีง่ายกว่าฟ้องทางแพ่ง โดยเฉพาะประเทศที่รัฐซึ่งก็คืออัยการก็ฟ้องให้ได้หรือประชาชนหรือผู้เสียหายจะฟ้องเองก็ทำได้ ดังนั้นการฟ้องคดีทางอาญาจะง่ายกว่าจากการไม่ต้องหาพยานหลักฐานเองแต่ให้ตำรวจอัยการทำให้แทน เพราะถ้าเป็นทางแพ่งผู้เสียหายจะต้องทั้งหาทนายความและพยานหลักฐานเองทั้งหมด เมื่อฟ้องได้ง่ายกว่าคนก็จะเลือกวิธีทางอาญา

การที่รัฐดำเนินการแทนในฐานะโจทก์ ก็เกิดผลเสียต่อรัฐเนื่องจากต้องใช้งบประมาณที่สูงซึ่งเป็นปัญหาทางนิติเศรษฐศาสตร์ และคดีลักษณะนี้ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมเลย ทำให้มีทั้งนักวิชาการกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายในไทยอยากให้ยกเลิกคดีหมิ่นประมาทเป็นคดีอาญา และยังทำให้คดีอาญาเฟ้ออย่างมากและเสียงบประมาณที่ควรจะเอาไปใช้พัฒนาอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์กว่าได้

แม้สาวตรีจะเห็นด้วยกับการยกเลิกให้ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีโทษทางอาญา แต่ก็เห็นว่ายังมีข้อติดขัดบางประการ คือ

หนึ่ง ถ้าการหมิ่นประมาทหรือการแสดงออกของผู้กระทำส่งผลกระทบต่อคุณค่าที่ยิ่งกว่าชื่อเสียงของคนคนหนึ่ง หรือถ้ากระตุ้นเร้าความรุนแรง เช่น สร้างความเกลียดชัง (hate speech) เหยียดเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ และอาจมีหลักฐานชัดว่านำไปถึงระดับทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จะเสนอให้รัฐทำอย่างไรกับเรื่องนี้ เพราะกฎหมายไทยไม่มีเรื่องนี้โดยเฉพาะซึ่งต่างกับกฎหมายในยุโรป

ทั้งนี้สาวตรียังคงมีคำถามต่อประเด็นนี้ว่าถ้าจะต้องมีกฎหมายเพื่อการคุ้มครองไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้แล้ว จะทำอย่างไรไม่ให้กฎหมายไปละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกด้วยจะต้องมีการกำหนดขอบเขตของกฎหมายอย่างไร เพราะบางประเทศก็ไม่มีการออกกฎหมายลักษณะนี้ออกมาเนื่องจากการนิยาม hate speech ไม่ได้

นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องการกลั่นแกล้งรังแก (บูลลี่) ที่อาจจะกระทบทางด้านจิตใจจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายหรือทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งประเทศไทยก็ยังไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองในส่วนนี้เหมือนกัน จึงมีคำถามว่าถ้าเหลือแค่ความผิดทางแพ่งพอหรือไม่ หรือกลไกเท่าที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397 ที่เป็นความผิดฐานการสร้างความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะเพียงพอหรือไม่

สอง การกำหนดกรอบค่าเสียหายในคดีแพ่งหรือโทษปรับทางอาญาในกรณีที่สามารถยกเลิกโทษจำคุกได้แล้ว ก็ยังมีปัญหาตามมาคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่จะสืบเนื่องไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการได้รับความยุติธรรมทั้งทางอาญาและแพ่ง เพราะถ้าหากมีเงินไม่ว่าจะเป็นการทำผิดทั้งอาญาหรือแพ่งก็มีโอกาสหลุดพ้นจากโทษมากกว่าไม่ว่าจะอยู่ในฐานะโจทก์หรือจำเลยก็ตาม เพราะมีทั้งความสามารถในการประกันตัว จ้างทนายที่เก่ง หรือสามารถเสียค่าปรับเพื่อให้คดีจบได้ กรณีแบบนี้สร้างความเหลื่อมล้ำหรือไม่ และยังมีกรณีที่อาจเรียกค่าเสียหายที่สูงมาก การต้องตกเป็นจำเลยแล้วถูกเรียกค่าเสียหายหลายสิบล้านคนทั่วไปจะมีปัญญาจ่ายไหวหรือไม่ ซึ่งก็มีคำถามว่าจะมีกลไกอย่างไรที่จะทำให้การเรียกร้องค่าเสียหายที่สูงเกินไปไม่เป็นเครื่องมือในการฟ้องคนอื่นด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ หรือกรณีที่โจทก์อ้างว่าได้รับความเสียหายแท้จริงที่สูงมากจะเป็นการจำกัดสิทธิของผู้เสียหายหรือไม่ ก็จะเกิดการปะทะกันระหว่างความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงกับการใช้สิทธิในทางศาลที่ไม่ถูกต้อง

กลุ่มฅนรักษ์กรอกสมบูรณ์ที่รวมกลุ่มขึ้นมาหลังได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นคล้ายกลิ่นสารเคมีในชุมชนพื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ และ อ.กบินทร์บุรี ในปราจีนบุรีถูกบริษัทกำจัดขยะสารเคมีฟ้องหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท เมื่อเมษายน 2563 แต่หลังไกล่เกลี่ยบริษัทได้ถอนฟ้องไป

ประชาชนถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย 50 ล้าน หลังร้องเรียนโรงงานกำจัดกากเสียอุตสาหกรรม

ประเด็นสุดท้าย สาวตรีเห็นว่า แค่แก้ไขไม่ให้มีโทษทางอาญายังไม่พอ เพราะต่อให้มีแค่เรียกค่าเสียหายอย่างเดียวแล้วมีการเรียกค่าเสียหายที่สูงมากจนจำเลยจ่ายไม่ไหวสุดท้ายรัฐก็ต้องยึดทรัพย์ไปขายทอดตลาดก็เดือดร้อนกันทั้งครอบครัวอยู่ดีซึ่งสำหรับบางคนก็อาจจะคิดว่าน่ากลัวกว่าโทษจำคุก จึงต้องมีกลไกป้องกันการฟ้องปิดปากซึ่งของไทยก็พยายามทำให้มีกลไกทางกฎหมายอยู่คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 และ 161/2 ที่ให้ศาลใช้ดุลพินิจในการตัดขั้นตอนไม่รับฟ้องไปแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้มากนัก

สาวตรียกตัวอย่างในเชิงข้อเสนอต่อการแก้ไขเรื่องการป้องกันการฟ้องหมิ่นประมาทเพื่อกลั่นแกล้งกันว่า ที่อังกฤษมีการออกกฎหมายขึ้นมาเฉพาะโดยที่เดิมความผิดฐานหมิ่นประมาทมีแต่ทางแพ่งอยู่แล้ว กฎหมายดังกล่าวที่ออกมาเพิ่มนี้มุ่งเน้น 3 ประเด็น คือ ลดการฟ้องคดีหมิ่นประมาทลงโดยจะต้องจะฟ้องเป็นคดีได้ผู้ฟ้องต้องได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงทั้งธุรกิจหรือชื่อเสียง

สอง เพิ่มข้อต่อสู้ให้จำเลย หลักสุจริต คือดูที่ความเข้าใจของจำเลยว่าตอนที่เผยแพร่ข้อความออกไปได้เชื่อตามนั้นจริงหรือไม่ ถ้าเชื่อแล้วก็เป็นประโยชน์ต่อสังคมก็ยังชนะคดีได้ จึงไม่ใช่เพียงแค่ดูว่าเป็นความเท็จแล้วแพ้คดีทันที แต่ในข้อต่อสู้ทางคดีของไทยไม่มีในประเด็นนี้เพราะถ้าเป็นความเท็จก็จะผิดทันทีเพราะจะต้องเป็นความจริงเท่านั้น นอกจากนั้นกฎหมายของอังกฤษฉบับนี้ยังให้การพิสูจน์ความผิดของจำเลยเป็นภาระของโจทก์ด้วยถ้าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

สาวตรีมีข้อเสนออีกว่าให้มีกลไกการไกล่เกลี่ยเชิงบังคับก่อนฟ้องคดี โดยยกตัวอย่างของเยอรมันที่คดีหมิ่นประมาทยังเป็นโทษอาญาและแพ่งด้วย แต่เยอรมนีเองก็ยังมีกลไกการไกล่เกลี่ยเชิงบังคับ ซึ่งปกติแล้วเยอรมนีคดีอาญาจะฟ้องโดยรัฐเป็นหลักแต่จะมีฐานความผิดที่เฉพาะเจาะจงบนฐานที่จะอนุญาตให้ผู้เสียหายฟ้องคดีเองได้แต่ก็ป้องกันการฟ้องกลั่นแกล้งโดยให้มาไกล่เกลี่ยกันก่อนระหว่างผู้เสียหายกับคนที่กระทำความผิดซึ่งเป็นภาคบังคับ หากจะฟ้องคดีกันได้ก็คือเมื่อการไกล่เกลี่ยล้มเหลว ซึ่งในทางสถิติของเยอรมนีก็เห็นว่าคดีกว่าครึ่งจบลงที่ขั้นตอนไกล่เกลี่ยภาคบังคับ ซึ่งของไทยก็มีขั้นตอนการไกล่เกลี่ยในคดีหมิ่นประมาทอยู่แล้วแต่ไม่ใช่ภาคบังคับ

แก้กฎหมายยกเซตป้องกันฟ้องปิดปาก

วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน ในพรรคมีความเห็นตรงกันว่าไม่ควรมีใครติดคุกเพราะคำพูด ซึ่งหลักกฎหมายก็มีหลักความได้สัดส่วนว่าโทษจำคุกนี้เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งทางพรรคก็เห็นว่าโทษรุนแรงเกินไปกับการใช้คำพูดเท่านั้น และการจำกัดเสรีภาพของคนๆ หนึ่งควรเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่เป็นอันตรายกับสังคมโดยรวม การจำคุกก็เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม เช่นการกระทำระดับที่เป็นการปล้นฆ่า เป็นต้น

วรภพกล่าวถึงมิติทางเศรษฐศาสตร์อีกว่าในทางงบประมาณก็จะเห็นว่าประเทศไทยเสียงบประมาณในส่วนของราชทันฑ์เยอะมาก มีผู้ต้องขังมากถึงสามแสนกว่ารายซึ่งมีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ต้องขังเฉลี่ยแล้ว 37,000 บาทต่อคนต่อปี และถ้ามองว่าทรัพยากรมนุษย์สามารถทำงานด้วยค่าแรงขั้นต่ำก็จะมีรายได้แสนกว่าบาทต่อปี

ทั้งนี้พรรคก็ได้มีการเสนอแก้ไขให้ยกเลิกโทษจำคุกทั้งความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่น รวมถึงการดูหมิ่นเจ้าพนักงานและการดูหมิ่นศาลก็ควรจะต้องยกเลิกไปด้วย

ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทยที่ถูกกองทัพเรือแจ้งความหมิ่นประมาทก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาเพียงไม่กี่วันจากกรณีแถลงข่าวเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อเรือดำน้ำ ภาพจากสำนักข่าวไทย

'ยุทธพงศ์' แถลงข่าวหลังถูก ทร. แจ้งความหมิ่นประมาท

การยกเลิกโทษจำคุกจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเพราะการมีโทษจำคุกจะเป็นการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นเครื่องมือให้ทั้งรัฐและทุนด้วย เช่น กรณีโรงแรมในพัทยาที่ออกมาขู่ฟ้องปิดปากคนที่วิจารณ์สภาพโรงแรมที่เป็นสถานกักกันโรคของรัฐ หรือนักการเมืองก็ถูกฟ้องหมิ่นประมาทจากการอภิปรายในสภา หน่วยงานรัฐก็ยังมีการใช้กฎหมายในการฟ้องปิดปากกลุ่มประชาชนกลุ่มขอคืนไม่ขอทาน หรือกองทัพเรือก็มาฟ้องคนที่ตรวจสอบเรือดำน้ำ ทำให้กลายเป็นว่ารัฐเองก็ใช้งบของรัฐมาฟ้องประชาชนที่มาตรวจสอบอำนาจและการใช้งบของรัฐ การยังคงโทษจำคุกก็จะทำให้ประชาชนไม่มีแรงจูงใจมาตรวจสอบเพื่อประโยชน์สาธารณะและยังสร้างสภาวะหวาดกลัวให้กับสังคมและสื่อในไทยก็ต้องระวังเป็นอย่างมากจากการถูกฟ้อง

ทั้งนี้วรภพเห็นว่าที่ยังควรให้เป็นคดีอาญาแต่เลิกโทษจำคุกเพราะคนไทยบางส่วนยังไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะฟ้องคดีแพ่งได้เองและทำให้คนที่โดนกลั่นแกล้งหรือถูกหมิ่นประมาทจริงๆ จะยังมีเครื่องมือในการป้องกันตัวเองได้บ้าง

วรภพได้กล่าวถึงบทบาทของพรรคก้าวไกลว่า ได้มีการเสนอแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการฟ้องปิดปากว่า ได้เสนอร่างกฎหมายไป 5 ฉบับ ฉบับแรกคือประมวลกฎหมายอาญาที่จะยกเลิกโทษจำคุกทั้งหมดในความผิดฐานดูหมิ่นและหมิ่นประมาท ฉบับที่สองคือแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่ให้เกิดการฟ้องพ่วงในคดีหมิ่นประมาทและฉบับที่ใช้อยู่ก็มีมิติเรื่องความมั่นคงอยู่มากก็ต้องทำให้กฎหมายชัดเจนและเป็นไปตามเจตนารมณ์เดิมที่ต้องการป้องกันอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ เช่นการหลอกลวงเอาข้อมูลคอมพิวเตอร์ รหัสต่างๆ เป็นต้น

วรภพกล่าวถึงร่างกฎหมายอีกสองฉบับที่เป็นการป้องกันการฟ้องปิดปากโดยจะเป็นการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและความแพ่ง คือให้มีนิยามเกี่ยวกับคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะแล้วเมื่อไหร่ที่จำเลยรู้สึกว่าเป็นคดีฟ้องปิดปากก็สามารถยื่นคำร้องในชั้นอัยการหรือชั้นศาลในช่วงไต่สวนมูลฟ้องให้ยกฟ้องได้เร็วขึ้นแม้จะเป็นคดีที่อัยการสั่งฟ้องก็ตามเพราะปกติถ้าเป็นคดีที่อัยการสั่งฟ้องก็จะไม่มีกลไกนี้ และถ้าศาลยกฟ้องก็สามารถสั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสียเวลาให้จำเลยได้ ซึ่งกฎหมายนี้ก็เป็นภาคประชาสังคมที่นำเสนอเข้ามาแล้วพรรคก็เห็นด้วยว่าต้องแก้ไข

นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มโทษให้กับเจ้าหน้าที่ที่บิดเบือนกฎหมายกลั่นแกล้งประชาชนเพื่อให้ช่วยตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

สื่อโดนทั้งคดี คุกคาม IO บุลลี่ แต่ไม่มีเครื่องป้องกัน

ฐปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้ง The Reporters กล่าวในฐานะที่ตัวเองก็เป็นกรณีตัวอย่างจากการถูกใช้เฮทสปีช บุลลี่ หรือแม้กระทั่งมีการใช้ปฏิบัติการข่าวสาร หรือ IO (Information Operation) แล้วก็ยังเคยถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทแต่ไม่ใช่เรื่องการเมืองแต่เป็นการนำเสนอข่าวคดีฆาตกรรม

ฐปนีย์เล่าว่าตอนที่ถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาทครั้งนั้นเพราะเสนอข่าวถึงตัวผู้ต้องสงสัยในคดี ผู้ต้องสงสัยคนนั้นก็เลยฟ้องทั้งเธอที่เป็นนักข่าวทั้งสถานี แต่ผู้ฟ้องคดีก็ไม่ได้เรียกค่าเสียหาย แต่เรียกร้องให้เธอเว้นวรรคการทำข่าว 5 ปี แต่ในข้อเท็จจริงก็ไม่เพียงพอให้ทำให้ชนะทั้ง 3 ศาล เธอเห็นว่าเป็นการฟ้องเพียงการแก้เกี้ยวและหากดูจากข้อเรียกร้องของผู้ฟ้องก็คือความกลัวต่อการทำหน้าที่ในการติดตามทำข่าวคดีของผู้ฟ้องของเธอมากกว่า แต่คดีนี้ก็เป็นคดีแรกและคดีเดียวทั้งชีวิต ทั้งที่ตลอดการทำงานก็ทำข่าวหลายประเด็นที่มีความเสี่ยงสูง ไม่ว่าจะเป็นตรวจสอบรัฐหรือเอกชน หรือกรณีที่มีการการละเมิดสิทธิก็ไม่เคยถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาทอีกเลยแต่เป็นการคุกคามในรูปแบบอื่นแทน

ฐปนีย์ กล่าวต่อว่าที่ผ่านมาการคุกคามเกิดขึ้นกับเธอหลายครั้งแต่รูปแบบที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาล ประชาธิปไตย 4 ครั้ง แต่แค่ช่วงหลังรัฐประหาร 2557 มีไม่ต่ำกว่าสิบครั้ง ก็แตกต่างกัน

ฐปนีย์ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร 2557 ว่า เธอเคยถูกตั้งค่าหัวเมื่อปี 2552 จากการทำข่าวสืบสวนการบุกรุกป่าและเป็นครั้งแรกที่มีการจ้างมือปืนมาฆ่าแต่ก็โชคดีที่มือปืนไม่รับงานเพราะความเป็นนักข่าวคนดังของเธอ

ฐปนีย์ยังบอกอีกว่าเหตุการณ์ที่ทำให้เธอได้รู้จักการทำ IO เป็นครั้งแรกๆ คือตอนที่เธอนำเสนอข่าวทหารใช้ปืนจ่อหัวตำรวจในช่วงมีการชุมนุมเสื้อแดง ทำให้ ศอฉ.ออกมาแก้ต่างเรื่องนี้แล้วเธอก็ถูกบุลลี่ในโซเชียลมีเดียโดยกลุ่มที่เชียร์ ศอฉ. ตอนนั้นเสื้อแดงก็ขอบคุณแล้วก็ยืนยันว่าเป็นความจริง ตำรวจเองก็มาขอบคุณที่ช่วยปกป้องศักดิ์ศรี แต่ ศอฉ.ก็ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบตำรวจคนนั้นแต่ยังดีที่ตำรวจคนที่ถูกทหารใช้ปืนจ่อหัวยืนยันในเรื่องนี้

‘นสพ.ข่าวสด’ รายงานข่าวทหารปืนจ่อหัวตำรวจช่วงคุมสถานการณ์กลุ่มหนุนมาร์ค

จากนั้นมายุคหลังการรัฐประหาร เมื่อฐปนีย์ทำประเด็นเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งเรื่องซ้อมทรมาน การละเมิดสิทธิโดยรัฐ หรือการเปิดพื้นที่ข่าวให้กับขบวนการบีอาร์เอ็นหรือพูโลที่เป็นผู้เห็นต่างจากรัฐและนำเสนอการแก้ปัญหา หรือการใช้คำว่าปาตานีก็ทำให้รายงานข่าวไม่ได้ แล้วก็โดนไอโออีกทั้งยังถูกกล่าวหาว่าเป็นนักข่าวโจรด้วย หรือการนำเสนอข่าวการค้ามนุษย์ในการทำประมงผิดกฎหมายซึ่งกระทบกับการค้าอาหารทะเลกับสหภาพยุโรปที่ตอนนั้นไทยก็ได้ใบเหลืองอยู่ก็ถูกนายกรัฐมนตรีพูดถึงเธอว่าจะรับผิดชอบจ่ายค่าเสียหายสองหมื่นกว่าล้านได้หรือไม่ที่นำเสนอข่าวเรื่องนี้

ฐปนีย์ยังเล่าถึงกรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมสั่งปิดเพจสำนักข่าว 5 แห่งเมื่อปี 2563 จากการนำเสนอข่าวการชุมนุมซึ่ง The Reporters เป็นหนึ่งในห้า แต่ก็เกิดกรณีที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครอง Voice TV ที่เป็น 1 ใน 5 สื่อเช่นกันว่าเป็นการทำหน้าที่สื่อและเป็นเสรีภาพของประชาชนเสียก่อนก็เลยทำให้ไม่ถูกปิด

ฐปนีย์ยังเล่าถึงเหตุที่เพิ่งเกิดเมื่อสัปดาห์ก่อนจากการรายงานข่าวข้าว 700 กระสอบที่ชายแดนไทย-พม่าแม่ฮ่องสอนที่มีข้อสงสัยว่ารัฐบาลไทยส่งเสบียงให้กองทัพพม่าหรือไม่ ซึ่งเธอก็ถูกคุกคามทั้งมีคำขู่ถูกแอบถ่ายรูปแล้วมีการแชร์กันในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐแล้วก็มีคำเตือนว่าทำข่าวนี้มากๆ ก็ให้ระวังตัว พอล่าสุดก็มีเรื่องข่าวสู้รบในพม่าก็ถูกยกเอาเรื่องนี้มาบืดเบือนว่าการนำเสนอข่าวนั้นทำให้เกิดการสู้รบ

ข้าวจำนวน 700 กระสอบ พร้อมด้วยเสบียงต่าง ๆ ที่มีกลุ่มชายฉกรรจ์กว่า 10 คน มากองไว้ที่ท่าเรือแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นชายแดนไทย-พม่า 

ข้าว 700 กระสอบยังกองริมแม่น้ำสาละวิน ไปไม่ถึงกองทัพพม่า

ฐปนีย์ชี้ประเด็นของเรื่องที่ยกมาเหล่านี้ว่าหากทำอะไรที่ขัดกับรัฐก็จะเจอสิ่งเหล่านี้ แต่เมื่อเป็นสื่อก็ไม่สามารถฟ้องเป็นคดีได้ แล้วก็ต้องยอมรับการถูกกระทำถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เธอคิดว่าน่าจะต้องมีการศึกษาเรื่องเหล่านี้ เพราะได้เจอถ้อยคำลักษณะนี้มาตลอดเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือทำให้เห็นว่านำเสนอข่าวบิดเบือน ด้วยการทำไอโอโดยรัฐหรือปั่นให้ประชาชนมากดดันไม่ให้ทำข่าว เป็นต้น เมื่อเกิดการถูกคุกคามที่เห็นได้ชัดแต่ไม่มีกฎหมายมาคุ้มครอง

“เราจะใช้กฎหมายใดในการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการทำหน้าที่สื่อของเราได้บ้าง ที่ผ่านมาเราถูกกระทำมาจนเรารู้สึกว่ามีวิธีการที่จะต่อสู้กับมันเท่านั้นเอง แต่เราไม่รู้ว่าวันไหนที่เราจะต่อสู้ไม่ได้จนเราไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีเครื่องมือใดสู้กับวิธีการหรืออำนาจในการทำสิ่งเหล่านี้ได้ซึ่งเรามองว่าไม่ใช่ประชาชนทั่วไปที่จะทำได้”

ฐปนีย์ตอบคำถามในเวทีเกี่ยวกับกลไกปกป้องคุ้มครองนักข่าวจากสมาคมสื่อในกรณีถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทว่าปกติก็จะเป็นฝ่ายกฎหมายของแต่ละสำนักข่าว แต่ทางสมาคมสื่อก็ไม่ได้มีกลไกอะไรที่จะมาคุ้มครองในเรื่องนี้หรือแม้กระทั่งการถูกคุกคามหรือบุลลี่ก็ไม่ได้มีเช่นกัน

อ่านรายงานฉบับเต็มที่ ความจริงที่ต้องพูดถึง:กรณีสนับสนุนการยกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาในประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net