Skip to main content
sharethis

สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ จัดแข่งเสนอไอเดียแก้ปัญหาคดีฟ้องปิดปาก (SLAPP) พร้อมสะท้อนปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่สร้างภาระให้กับประชาชนจนถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการแสดงออกและการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งต่อบริษัทเอกชนและสถาบันต่างๆ ในสังคมอย่างเช่น คดีการเมืองจำนวนมากที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2564 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) จัดกิจกรรม ANTI-SLAPP HACKATHON เพื่อนำเสนอไอเดียแก้ไขปัญหาและป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก โดยการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีกับบุคคลที่ใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกเพื่อปิดกั้นการตรวจสอบหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เป็นเรื่องสาธารณะ ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างภาระทั้งด้านการเงินและสร้างความหวดกลัวให้กับประชาชนที่พยายามเข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ

ภาพจาก สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ในกิจกรรมมีการนำเสนอไอเดียทั้งการปรับโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีสภาพการป้องกัน การลงโทษผู้ฟ้องและการเยียวยาผู้ที่ถูกฟ้อง รวมถึงการทำระบบฐานข้อมูลเพื่อการเผยแพร่ข้อมูลคดีและการเปิดเผยสถิติของบริษัทหรือหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้ฟ้องคดี

ณัฐธิดา ชูมาลัยวงค์ หรือ ณัฐ เจ้าหน้าที่ สนส. อธิบายที่มาของไอเดียในการจัดงานนี้ว่าต้องการเผยแพร่และเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเสนอไอเดียเพื่อผลักดันประเด็นการฟ้องคดีปิดปากหรือ SLAPP (Strategic lawsuit against public participation) มากขึ้น เนื่องจาก สนส.ศึกษาการใช้กฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรรมมาใช้เป็นเครื่องมือลักษณะนี้มา 2 ปีแล้ว ซึ่งกรณีของไทยก็มีมานานแล้วแต่ไม่เคยถูกนิยามว่าคดีแบบไหนคือเป็นการฟ้องปิดปาก

ณัฐธิดาบอกว่าการฟ้องคดีปิดปากในไทยมีมานานแล้วแต่ในการบันทึกข้อมูลได้ใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เป็นหมุดหมายในการนับคดีฟ้องปิดปากในไทย เนื่องจากรัฐธรรมนูญมีการรับรองสิทธิของประชาชนไว้อย่างชัดเจนทำให้คนออกมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญกันมากขึ้น หลังจากนั้นก้มีคดีฟ้องปิดปากกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ก็มีทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เป็นผู้ฟ้องคดีปิดปากกับประชาชนเพื่อปิดกั้นการแสดงออกในการเรียกร้องสิทธิของชุมชนและการจัดการตัวเองของคนในชุมชน และไม่ได้มีการฟ้องคดีแพ่งเพียงอย่างเดียวแต่มีการใช้คดีอาญาด้วย

เธอยังบอกอีกว่าแม้ที่ผ่านมาจะมีการเผยแพร่ความรู้เรื่องการฟ้องคดีปิดปากไปแล้วแต่ก็ยังเกิดคดีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองในปีที่ผ่านมา ก็เลยต้องเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมเสนอไอเดียเนื่องจากก็มีคนรุ่นใหม่สนใจและให้ความสำคัญกับการที่หน่วยงานรัฐหรือเอกชนมาดำเนินคดีกับประชาชนมากขึ้น

ณัฐธิดา อธิบายปัญหาของการฟ้องคดีปิดปากของไทยแตกต่างกับของต่างประเทศตรงที่ ถ้าดูสถิติจริงๆ หน่วยงานรัฐหรืององค์กรเกี่ยวกับรัฐบาล ก็จะดำเนินคดีกับประชาชน ซึ่งจริงๆ รัฐบาลเป็นองค์กรที่ไม่สามารถดำเนินคดีกับประชาชนได้ในแง่ของการทำงาน แต่ในต่างประเทศจะเป็นเอกชนฟ้องผู้มีส่วนได้เสียคือคนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านหรือวิจารณ์บริษัทเอกชนสร้างผลกระทบชุมชน

เธอบอกว่าของไทยผู้ฟ้องจะไปแจ้งความกับตำรวจให้เป็นคนสั่งฟ้อง โดยที่กระบวนการยุติธรรมไทยก็มีปัญหาอยู่แล้ว

“ชั้นตำรวจชั้นอัยการก็มักจะรับฟ้อง ไมได้พิจารณาว่าคดีที่มีการฟ้องกันมันเป็นคดีสาธารณะหรือเปล่า คือคดีที่ผลักเรื่องไปให้สาธารณะเนี่ย ดีเบทกันให้จบก่อนไม่ใช่คดีต่อส่วนตัวแล้วก็ส่งเข้ามาพนักงานสอบสวนก็รับแจ้งความ พูดง่ายๆ ก็คือกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเครื่องมือได้ง่าย ในต่างประเทศจะมีกระบวนการกลั่นกรอง แต่ในประเทศไทยตำรวจไม่ได้ใช้อำนาจของตัวเองที่จะสั่งไม่ฟ้องอัยการก็เหมือนกันทั้งที่ๆ ที่มีกลไกของตัวเองก็คือสั่งไม่ฟ้องในคดีที่เข้าข่ายจะเป็นการฟ้องคดีปิดปากหรือไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็ไม่ใช้ดุลพินิจของตัวเองแล้วก็ผลักภาระไปให้ศาล”

ภาพจาก สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

“กระบวนการยุติธรรมที่มันกลายมาเป็นเครื่องมือเอามาใช้ในการฟ้องร้องปิดปากคนที่มาแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ ก็เพราะกระบวนการยุติธรรมมันสร้างภาระ” ณัฐธิดาอธิบายว่า ในชั้นอัยการเขาก็จะมีกระบวนการที่ใช้เวลานานและต้องเดินทางไปรายงานตัวและอาจต้องไปรายงานตัวอีกหลายครั้ง อย่างเช่นกรณีคดีของทนายจูน-ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ที่ต้องเดินทางไปรายงานถึง 14 ครั้งทุกเดือนทำให้ใช้เวลาถึง 1 ปีที่อยู่ในชั้นอัยการก่อนที่คดีจะเข้าสู่ศาลทำให้ใช้เวลานานขึ้นไปอีก

ณัฐธิดาอธิบายว่าแม้จะมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 161/1 ที่ทางฝ่ายรัฐบอกว่าเป็นกลไกที่ทำให้ศาลสามารถพิจารณาไม่สั่งฟ้องได้ โดยให้อัยการหรือทนายความยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณาไม่สั่งฟ้องเพราะเป็นคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะนัดคู่ความมาทั้งสองฝั่งมาเจอกันในนัดไกล่เกลี่ยก็จะเป็นโอกาสที่ทนายความหรือจำเลยได้ยื่นคำร้องนี้

“แต่ที่บอกว่าไม่ฟังก์ชั่นหมายความว่ามันมีความพยายามยื่นให้ศาลพิจารณาว่าคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือว่าคดีนี้เป็นคดี SLAPP แล้วบางศาลรับแต่ว่าไม่ได้พิจารณา หมายความว่ารับจากทนายความหรือจำเลยมาแล้วก็วางไว้อย่างนั้นโดยไม่ได้เอามาประกอบว่ามันเป็นคดีที่เป็นประโยชน์สาธารณะหรือไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ กล่าวง่ายๆ ก็คือศาลไม่กล้าใช้สิ่งนี้มันก็เลยทำให้ไม่ฟังก์ชั่น”

ณัฐธิดาบอกว่ายังมีอีกปัญหาคือคดีที่ผ่านพนักงานสอบสวน ผ่านอัยการมา เช่นคดีการเมืองที่ตำรวจตั้งข้อกล่าวหา ก็จะไม่สามารถใช้ มาตรา 161/1 ได้เพราะมาตรานี้ใช้ได้กับคดีที่โจทก์ฟ้องต่อศาลโดยตรงไม่ได้ผ่านชั้นตำรวจขึ้นมา แล้วก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ากลไกนี้ทำงานหรือไม่เนื่องจากศาลไม่ได้ใช้ ก็เลยไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ที่เนื้อหากฎหมายหรือศาลที่ไม่ใช้ ก็อาจจะไปแก้ที่ระเบียบของศาลให้ศาลหยิบกฎหมายนี้มาใช้

เธอบอกว่าจากที่คุยกับทนายความ เขาคิดว่าศาลเองก็ต้องการป้องกันตัวเองด้วย สมมติว่าถ้าเกิดศาลตัดคดีไปเลยว่าเป็นคดีฟ้องปิดปากหรือไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ ศาลก็อาจจะถูกตั้งคำถามว่าทำไมถึงตัดคดีออกไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าหรือเป็นเพราะดุลพินิจอยู่ที่ศาลหมดเลยทำให้ไม่เกิดการถ่วงดุลให้ศาลเลือกที่จะหยิบมาตรานี้มาใช้หรือไม่ ณัฐธิดาตอบว่าใช่ และก็ยังมีกลไกอื่นอย่งเช่นอัยการที่ก็มีพระราชบัญญัติอัยการและระเบียบของตัวเองที่จะบอกว่าคดีไหนไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะไม่ควรสั่งฟ้อง แต่ว่าอัยการก็ไม่เคยหรือน้อยมากที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ที่ผ่านมาก็มีอย่างกรณี “We Walk...เดินมิตรภาพ” (นักกิจกรรมเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตไปขอนแก่นเพื่อสื่อสารปัญหานโยบายภาครัฐ) และกรณีของทนายจูน หรือศิริกาญจน์ที่สำนวนส่งจากพนักงานสอบสวนไปแล้วอัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้องในตอนแรก แต่ก็มีการส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาต่อ

“ถ้าเขา (อัยการ) สั่งไม่ฟ้องตั้งแต่ชั้นเขาเลย เขาก็ต้องทำรายงานเพื่อบอกหัวหน้าเขาว่าทำไมถึงไม่ฟ้อง ในขณะที่ถ้าเขาฟ้องไปเลยเขาไม่ต้องทำรายงานอันนี้เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากก็ทำให้เขาไม่อยากทำ มันยากกว่าถ้าเขาสั่งฟ้องไปเลย” ณัฐธิดาตั้งข้อสังเกตแล้วพนักงานตำรวจก็ทำได้เหมือนกันคือรวบรวมพยานหลักฐานไปเลยอย่างเช่นในคดีชุมนุมก็ดูได้เลยว่าผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์กฎหมาย แต่เขาก็ไม่ทำแล้วก็หยิบกฎหมายมาใช้

“แม้กระทั่งมาตรา 112 ก็ตาม ถ้าดูพฤติการณ์ที่ตั้งข้อกล่าวหากับเขา คือมันไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายทุกอัน อย่างเช่นคำปราศรัยของอานนท์(นำภา) ซึ่งเป็นเรื่องของโครงสร้างของระบบไม่ใช่ด่าสาดเสียเทเสียหรือว่าอาฆาตมาดร้ายจริงๆ”

ผู้สื่อข่าวได้ถามต่อว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ว่ามีการให้คุณให้โทษอย่างไรหรือมีการตั้งกรรมการสอบสวนกับเจ้าพนักงานที่สั่งไม่ฟ้องหรือไม่ ณัฐธิดาเห็นว่าคงไม่สามารถบอกได้ขนาดนั้นเพราะยังไม่มีข้อมูลตรงนี้

“แต่คดีเชิงนโยบายที่ความกดดันมากๆ มักจะไม่ได้ใช้สิ่งที่มันมีอยู่ หมายถึงว่านิติรัฐจริง มันน่าจะมีความกดดันภายในองค์กรแต่ละองค์กรทุกๆ ชั้น ยิ่งผู้พิพากษาเรายิ่งตรวจสอบไม่ได้เลยว่าภายในมันมีอะไรบ้างและเราไม่เคยเห็นระเบียบของเขาว่าสมมติเป้นคดีลักษณะอย่างนี้แล้วต้องยังไง”

ภาพจาก สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ณัฐธิดาตอบในประเด็นที่ทีมที่ได้รางวัลที่นำเสนอการทำแพลตฟอร์มสำหรับทำฐานข้อมูลและบริหารจัดการทนายความเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการช่วยเหลือทางกฎหมายได้ง่ายขึ้น เนื่องจากว่าองค์กรทนายความไม่ได้มีทักษะเรื่องเทคโนโลยีหรือการบันทึกข้อมูลอยู่แล้ว เพราะงานทนายความเป็นงานหนักแล้วก็ไม่มีเวลามาบันทึกข้อมูล สิ่งที่จะช่วยได้คือการมีฐานข้อมูลการมีข้อมูลก็จะช่วยให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์คดีฟ้องปิดปากที่เกิดขึ้นได้เพราะทนายความบางคนก็ไม่ได้รู้ทุกพื้นที่ เขาจะรู้เฉพาะพื้นที่เขาดูเท่านั้น แล้วถ้าเป็นเว็บไซต์ก็จะสามารถสื่อสารข้อมูลได้ง่ายคนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net