Skip to main content
sharethis

พรรคก้าวไกลชี้คนละครึ่ง เฟส 6 มาตรการรัฐ แบบเดิม ไม่นำพา ควรเปลี่ยนเป็นสวัสดิการ เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยเด็กเล็กแทน - แนะ 'วราวุธ' จัดการกรณี 'กอริลาบัวน้อย' ด้วยความรู้ วางสมดุลการบริหารจัดการให้ดี


วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล

22 ต.ค. 2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกลแจ้งข่าวว่าวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึงมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คนละครึ่ง เฟส 6 วงเงิน 17,000 ล้านบาท ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่สามารถพาประเทศไทยไปไกลกว่านี้ได้

รัฐบาลชุดนี้ใช้มาตรการคนละครึ่ง มาแล้ว 5 รอบ ใช้วงเงินไปแล้วทั้งสิ้น 234,500 ล้านบาทมีแค่ครั้งแรกที่ควรจะเรียกได้ว่า เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเป็นมาตรการรองรับสภาวะช็อคจากวิกฤตโควิดช่วง ปี 2563 ที่เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว และ จูงใจให้ปรับเปลี่ยนมาใช้กระเป๋าเงินดิจิทัล

แต่รอบที่เหลือ ล้วนพิสูจน์มาแล้วว่า ถ้าจะยังคงใช้มาตรการภาครัฐในรูปแบบนี้ ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยพัฒนาศักยภาพให้มีรายได้เพิ่มขึ้น หรือ สร้างเศรษฐกิจต่อเนื่อง สร้างรายได้ใหม่ๆขึ้นมาได้ ซึ่งแน่นอนว่า ถ้ารัฐบาลชุดนี้จะยังฝืนใช้มาตรการคนละครึ่งแบบเดิม ผลลัพธ์ย่อมเป็นเหมือนเดิม คือ รายได้คนไทยยังอยู่เท่าเดิม ที่เพิ่มเติมคือ หนี้สาธารณะให้ประชาชนต้องใช้คืนในอนาคต

อีกทั้งหากรัฐบาลจะอ้างว่า เป็นมาตรการสวัสดิการ เพื่อช่วยเหลือประชาชน งบประมาณที่เท่ากันนี้ สามารถนำมาสร้างเป็นสวัสดิการให้กลุ่มเปราะบางได้ตรงเป้าหมายมากกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุได้ถึง 1,200 บาท/เดือน ตลอดระยะเวลา 17 เดือนที่มีมาตรการคนละครึ่ง จากปัจจุบันที่ผู้สูงอายุได้เพียง 600 - 1,000 บาทต่อเดือน หรือ วันละ 20 บาท

วรภพกล่าวเพิ่มเติมว่า ทางที่ดีรัฐบาลควรเปลี่ยนจาก คนละครึ่ง เฟส 6 เป็น เบี้ยเด็กเล็กถ้วนหน้า 1,200 บาทต่อเดือน ก็จะเป็นสวัสดิการช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพชีวิตของอนาคตของสังคมไทยได้ถึง 3 เดือน

สุดท้ายคงต้องฝากพี่น้องประชาชน ท้วงติงรัฐบาลว่างบประมาณ ล้วนมาจาก ภาษีของประชาชน งบประมาณที่ควรจะเป็นสิทธิสวัสดิการประชาชน แต่กลับถูกรัฐบาลเปลี่ยนให้กลายเป็นมาตรการที่ไม่ช่วยเสริมเศรษฐกิจแทน วรภพทิ้งท้าย

แนะ 'วราวุธ' จัดการกรณีกอริลา 'บัวน้อย' ด้วยความรู้

ต่อกรณีที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่ามีโครงการจะช่วย บัวน้อย ลิงกอริลลา ที่อยู่ในสวนสัตว์ห้างสรรพสินค้าพาต้า โดยเสนอขอซื้อเพื่อนำกลับไปใช้ชีวิตในบั้นปลายที่บ้านเกิดประเทศเยอรมนี แต่เมื่อติดต่อไปปรากฏว่า เจ้าของเสนอขายในราคา 30 ล้านบาทนั้น

นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนสิ่งแวดล้อม พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนจะไม่ขอแสดงความเห็นในเรื่องราคาการซื้อกลับเนื่องจากทางพาต้าได้ชี้แจงแล้วว่าไม่เคยมีการประสานงานมาจาก ทส.ในเรื่องนี้แต่อย่างใด แต่ขอสะท้อนถึงความความกังวลต่อแนวทางของนายวราวุธ ที่ไม่ควรนำเรื่องนี้มาเรียกดราม่าเพื่อสร้างผลงานโดยอาจทำให้ชีวิตของกอริลาบัวน้อยมีความเสี่ยงมากขึ้น

"ก่อนอื่น ผมต้องยืนยันว่าในฐานะนักกฎหมายสิทธิสัตว์และด้วยความรักในทุกชีวิต ผมไม่เห็นด้วยกับการนำสัตว์ป่ามากักขังอยู่แล้ว แต่กรณีของบัวน้อยเป็นเรื่องของการหาจุดขายทางการค้าที่เกิดขึ้นมานานมาก ตั้งแต่เรายังไม่มีกฎหมายหรือมีความเข้าใจเกี่ยวกับการนำสัตว์ป่ามาเลี่ยงหรือเป็นสัตว์แสดงเลย

"บัวน้อย จึงถูกนำเข้ามาแสดงตั้งแต่เด็ก อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบปิด และอยู่ในสถานที่นั้นมาอย่างยาวนานจนถึงช่วงบั้นปลายของชีวิต ดังนั้น ไม่ว่าการเคลื่อนย้าย หรือการปรับเปลี่ยนสภาพที่อยู่อาจทำให้เกิดทั้งความเครียด ปรับตัวไม่ได้ และภัยคุกคามจากเชื้อโรค ซึ่งเรื่องบัวน้อยเคยมีประเด็นมาตลอด แต่อย่าว่าไปเยอรมันซึ่งมีสภาพอากาศไม่เหมือนไทยเลย แค่การย้ายไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ในไทย อาจเป็นป่าหรือที่เปิดโล่งก็อาจนำไปสู่การเสียชีวิตเพราะการปรับตัวไม่ได้ รวมถึงเรื่องของเชื้อโรคต่างๆ เพราะบัวน้อยอยู่ในพื้นที่ปิดมาตลอด จึงอาจมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่น้อยกว่าสัตว์ในธรรมชาติทั่วไป ปัจจัยเหล่านี้ในฐานะรัฐมนตรี จึงควรต้องจัดการด้วยความรู้ให้มากกว่าการดึงดราม่าสร้างผลงานให้ตัวเอง"

นิติพล ยังกล่าวด้วยว่า ด้วยความเปราะบางของบัวน้อย จึงไม่อาจจัดการด้วยวิธีทั่วไปได้ สิ่งที่ควรทำคือการสร้างความร่วมมือกันระหว่างรัฐกับเอกชนในการจัดการดูแลแบบประคับประคองในช่วงบั้นปลายของบัวน้อยให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี และสนับสนุนการดูแลรักษาเพิ่มเติมซึ่งงบประมาณส่วนนี้คงน้อยกว่าการย้ายบัวน้อยไปเยอรมันแน่ และต่อให้เจอกันในฝูงกอริลาก็ไม่ได้หมายความว่าบัวน้อยจะปรับตัวเข้ากับฝูงหรืออยู่อย่างมีความสุขได้

"เรื่องของบัวน้อยเป็นกรณีที่เกิดขึ้นมานาน ต้องจัดการอีกแบบหนึ่งและต้องแยกออกจากการดูแลไม่ให้เกิดการค้าและนำสัตว์ป่ามาขังหรือเป็นสัตว์โชว์ในปัจจุบัน รวมถึงการจัดการสวนสัตว์ไม่ว่าของรัฐหรือเอกชน จะต้องคำนึงถึงสิทธิและสวัสดิภาพของสัตว์เป็นสำคัญ เพราะแน่นอนว่าสวนสัตว์ด้านหนึ่งเป็นการกักขัง แต่ในอีกด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าสวนสัตว์หลายแห่งในปัจจุบันก็มีบทบาทในการศึกษาและเพาะพันธุ์สัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ให้กลับคืนสู่ป่าได้เช่นกัน ตรงนี้ต้องวางสมดุลการบริหารจัดการให้ดี ซึ่งจะเป็นงานที่รัฐมนตรีควรให้ความสำคัญที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net