Skip to main content
sharethis

ก่อนที่สีจิ้นผิงจะได้ไฟเขียวให้อยู่ต่อเป็นสมัยที่ 3 การประท้วงของพลเมืองแบบ 'วันแมน' ด้วยการแขวนป้ายต่อต้านเผด็จการสีจิ้นผิง และนโยบายโควิดเป็นศูนย์ บนสะพานซื่อตงในเขตไห่เตี้ยน กรุงปักกิ่ง ก่อให้เกิดการขึ้นข้อความประท้วงสีจิ้นผิงตามมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฮ่องกง ออสเตรเลีย และประเทศต่างๆ ในยุโรปกว่า 200 แห่ง

เมื่อวันพฤหัสบดี (13 ต.ค.) ผู้ประท้วงคนหนึ่งได้แขวนป้ายผ้า 2 ป้ายบนสะพานซื่อตง ในเขตไห่เตี้ยน ป้ายหนึ่งปรากฎข้อความ "โค่นล้มทรราชสีจิ้นผิง" อีกป้ายหนึ่งพบข้อความเขียนว่า "เอาอาหาร ไม่ใช่เครื่องตรวจพีซีอาร์ เอาเสรีภาพ ไม่ใช่ล็อกดาวน์ เอาปฏิรูป ไม่ใช่ปฏิวัติวัฒนธรรม เอาการเลือกตั้ง ไม่ใช่ผู้นำ เอาศักดิ์ศรี ไม่ใช่คำลวง เอาพลเมือง ไม่ใช่ทาส"

ผู้ประท้วงคนดังกล่าวได้เผายางและตะโกนสโลแกนผ่านโทรโข่ง เขาถูกจับหลังจากนั้นไม่นานนัก จากภาพเหตุการณ์พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการล้อมผู้ประท้วงคนดังกล่าว ซึ่งใส่หมวกแข็งสีเหลือง และเสื้อผ้าสีส้มไว้ การประท้วงเช่นนี้นับว่าหาได้ยากในประเทศจีน ที่มีการจำกัดเสรีภาพอย่างเข้มงวด สื่อรัฐบาลจีนและไม่ได้มีการนำเสนอข่าวเรื่องนี้ และมีความพยายามในการเซ็นเซอร์ข่าวเรื่องนี้ในโซเชียลมีเดียทันทีที่ข้อมูลเผยแพร่ออกไป

บุคคลได้กล่าวได้รับการชื่นชมจากหลายคนโดยได้รับฉายาว่า "บริดจ์แมน (Bridge Man)" หรือมนุษย์สะพาน บางคนตั้งฉายาให้เขาว่า "นิวแทงค์แมน (new Tank Man)" โดยอ้างอิงถึงชายคนหนึ่งที่ยืนขวางรถถังในการประท้วงเทียนอันเหมินใน พ.ศ. 2532 ขณะเดียวกัน การประท้วงของพลเมืองคนดังกล่าวแพร่กระจายออกไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในโลกตะวันตก รวมถึง การต่อต้านในประเทศจีนเองด้วย

สำนักข่าว The Independent พบการประท้วงตามที่ต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ พบป้าย "ฟรีไชน่า (Free China)" และ "เดโมเครซีนาว (Democracy Now)" วิทยาลัยโคลบี้(Colby College) ในรัฐเมน สหรัฐอเมริกา พบโปสเตอร์เขียนมือว่า "เราประชาชนชาวจีนต้องการเผยแพร่สารนี้ เพื่อแสดงออกความคิดของเราในสถานที่ที่ปราศจากการเซ็นเซอร์"

มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โรงเรียนออกแบบเอมอรี่ โรงเรียนออกแบบพาร์สันส์ สหรัฐอเมริกา วิทยาลัยแคมเบอร์เวลล์ วิทยาลัยโกลด์สมิธ และวิทยาลัยคิงส์ในลอนดอน พบป้ายประท้วงลักษณะเดียวกัน ขณะที่โปสต์เตอร์อันหนึ่งในมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย เขียนว่า "สวัสดีสีจิ้นผิง ถึงเวลาเกษียณได้แล้ว!" ที่มหาวิทยาลัยโตรอนโตพบป้ายประท้วงลักษณะเดียวกัน แต่มีการขึ้นโปสเตอร์โต้กลับ และบอกว่าควรวิจารณ์สีจิ้นผิงที่จีนแทนที่จะเป็นที่นี่

ในประเทศจีนพบกระแสการต่อต้านเช่นกัน คืนวันเสาร์ 22 ต.ค. พบ เยาวชนหญิงกลุ่มหนึ่งเดินถือป้าย "เราต้องการ" และ "เราไม่ต้องการ" ล้อกับข้อความการประท้วงที่สะพานซื่อตงเมื่อวันที่ 13 ต.ค. ที่เซี่ยงไฮ้มีรายงานหลายแห่งระบุว่าครูเกษียณอายุคนหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ถูกควบคุมตัว และไม่สามารถติดต่อได้อีก หลังจากการประท้วงลักษณะเดียวกัน คาดว่าชื่อกู่กัวปิง อายุ 67 ปี หายตัวไปหลังจากแชร์ภาพและวิดิโอการประท้วง

จากข้อมูลของ VoiceofCN กลุ่มนักกิจกรรมที่ดำเนินงานโดยชาวจีนนิรนาม สโลแกนและกราฟฟิตี้ต่อต้านรัฐบาลสีจิ้นผิงปรากฎตามสถานที่ต่างๆ อย่างน้อย 8 แห่ง ได้แก่ เซินเจิ้น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กวางโจว และฮ่องกง ขณะนี้ VoiceofCN กำลังรวบรวมข้อมูลป้ายประท้วง หลังเกิดการประท้วงที่สะพานซื่อตง หัวหน้ากลุ่มให้ความเห็นว่าแม้คนของกลุ่มส่วนใหญ่จะทำงานหรือเรียนหนังสือนอกจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ทุกคนล้วนเติบโตในประเทศจีน

"นักเรียนส่วนใหญ่ที่ขึ้นป้ายประท้วงเห็นว่ามันเป็นวิธีหนึ่งในการแสดงความไม่พอใจ ซึ่่งถูกกดทับโดยรัฐบาลและจักรกลการเซ็นเซอร์มาอย่างยาวนาน" ผู้บริหารงานกลุ่ม VoiceofCN ให้ความเห็นกับบลูมเบิร์ก

อีกด้านหนึ่ง ที่ห้องน้ำสาธารณะแห่งหนึ่งในเสฉวนพบข้อความ "จิตวิญญาณ 8964 จะไม่มีวันถูกลบได้" ตัวเลขดังกล่าวหมายถึงวันที่เหตุการณ์เทียนอันเหมิน การประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในจีนเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 1989 (พ.ศ.2532) ที่รัฐบาลจีนถูกปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ขณะที่โรงภาพยนตร์ศิลปะหอจดหมายเหตุภาพยนตร์ในกรุงปักกิ่ง พบกราฟฟิตี้อยู่บริเวณเหนือโถปัสสาวะเขียนว่า "ไม่เอาเผด็จการ"

ในโซเชียลมีเดียพบแฮชแท็กเช่น #EndXictatorship และ #FreeChina เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในประเทศจีนพบว่าบัญชีผู้ใช้ของหลายคนถูกระงับ แฮชแท็ก "ฉันเห็นมัน" หมายถึงการเห็นภาพประท้วงบนสะพานซื่อตงบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นเทรนด์ในเว่ยโป๋ ถูกลบทิ้งอย่างรวดเร็ว ผู้ใช้หลายคน มีรายงานด้วยว่าอินเตอร์เน็ตของจีนมีการแบนคำว่า "สะพาน" "ความกล้าหาญ" และ "ปักกิ่ง"

การประท้วงและกระแสการต่อต้านในหลายประเทศทั่วโลกเกิดขึ้นในช่วงที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้รับการรับรองให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน ส่งผลให้เขามีอำนาจสูงสุดนับตั้งแต่เหมา เจ๋อ ตุง ผู้ร่วมก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน แม้ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ สีจิ้นผิงจะพูดว่า "เราต้องยอมรับคำวิจารณ์จากประชาชน" แต่การต่อต้านผู้นำในจีนมักนำไปสู่การข่มขู่คุกคาม รวมถึง โทษจำคุกยาวนาน

 

แปลและเรียบเรียงจาก

‘Bridge Man’: How activist’s rare anti-Xi message in China is inspiring solidarity protests around the world

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net