Skip to main content
sharethis

กลุ่มปกป้องสถาบันโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก แจ้งความละเมิด รธน. ม.124-กฎหมายอาญา ม.112 ‘อมรัตน์’ ส.ส.ก้าวไกล เหตุโพสต์ทวิตเตอร์เผยแพร่คลิปวิดีโอการประชุมสภาวานนี้ (2 พ.ย.) ที่เธออภิปรายปัญหาความเป็นกลางของศาลอาญา คดี ม.112

 

3 พ.ย. 2565 เพจเฟซบุ๊ก 'ประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน' ซึ่งเป็นกลุ่มปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โพสต์ข้อความวันนี้ (3 พ.ย.) ระบุว่า เมื่อเวลา 15.30 น. ‘โอม’ ทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน (ปภส.) ประสาน พ.ต.ท.ประสิทธิ์ สิงหพล รอง ผกก.สอบสวน สภ.เมืองพัทลุง เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ นางอมรัตน์ โชคปมิตกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล โดยทางกลุ่มอ้างว่า อมรัตน์ โพสต์ทวิตเตอร์เผยแพร่การอภิปรายพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 เมื่อวานนี้ (2 พ.ย.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ก่อนที่ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำการปิดไมค์ไม่ให้พูดถึงสถาบัน

ในโพสต์ดังกล่าวระบุด้วยว่า ทางกลุ่ม ปภส. ร้องทุกข์กล่าวโทษอมรัตน์ ละเมิดรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 6 และมาตรา 124 และกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

สำหรับโพสต์ทวิตเตอร์ของอมรัตน์นั้น เป็นโพสต์ข้อความวานนี้ (2 พ.ย.) เมื่อเวลา 16.53 น. ว่า “ขออภัยที่ไม่สามารถอภิปรายจนจบได้ (หารือไปยังผู้บริหารศาลอาญาเรื่องการเรียกหลักฐานคดี 112)” พร้อมแนบลิงก์คลิปวิดีโอสั้นช่องยูทูบ ‘matichon tv’ ซึ่งคลิปดังกล่าวเป็นการบันทึกเทปการประชุมสภา สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 วานนี้ (2 พ.ย.) ช่วงที่อมรัตน์ หารือในสภาว่าด้วยประเด็นปัญหาความเป็นกลางของศาลอาญาในคดี 112 และการที่ศาลอาญาปฏิเสธออกหมายเรียกพยานหลักฐานคดี 112 เช่น หลักฐานการเดินทางเข้าออก ไทย-เยอรมัน ของรัชกาลที่ 10 หลักฐานการโอนหุ้นไทยพานิชย์ หลักฐานว่ามีการฟ้องยึดทรัพย์รัชกาลที่ 7 ของศาลแพ่ง และอื่นๆ  

 

 

คลิปช่วงอมรัตน์ อภิปรายในการประชุมสภา เมื่อ 2 พ.ย. 2565

พ.ต.ท.ประสิทธิ์ สิงหพล ตรวจสอบหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ เห็นว่ามีมูล จึงสั่งการไปยัง พ.ต.ท.ศิริพงษ์ สุขแก้ว สว.(สอบสวนฯ) สภ.เมืองพัทลุง รับแจ้งร้องทุกข์กล่าวโทษ สอบปากคำเพิ่มเติม เพื่อสรุปสำนวนเสนอยังผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาต่อไป

ทรงชัย กล่าวหลังยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ เปิดเผยว่า เขารู้สึกตกตะลึงต่อการอภิปรายของอมรัตน์ ที่มีเนื้อหาเชิงพาดพิงสถาบันกษัตริย์ และรัชกาลที่ 10 จนทำให้ ชวน หลีกภัย ประธานสภา ต้องปิดไมค์ และสั่งให้หยุดกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์  สถาบันศาล และสถาบันรัฐสภา 

ประธานกลุ่ม ปภส. ระบุต่อว่า ตนคิดว่าเรื่องดังกล่าวจะจบลงแค่ในห้องประชุมสภาเท่านั้น จนกระทั้งเวลา 16.53 น. ทวิตเตอร์ของตนมีการแจ้งเตือน ตนเห็นแล้วว่าเป็นการโพสต์ของอมรัตน์ แต่เนื่องด้วยเหตุผลที่ตนไม่คาดคิดมาก่อนว่า หลังจากจบการประชุมสภาแล้ว การกล่าวพาดพิงสถาบันเบื้องสูงจักจบลงแค่เพียงห้องประชุมสภา และเผยแพร่ถ่ายทอดสดผ่านวิทยุโทรทัศน์ ตามที่ประธานสภาอนุญาต จนกระทั่งเวลาประมาณ 2 ทุ่มตนว่างจากภารกิจ จึงเข้าไปเปิดอ่านการแจ้งเตือนต่างๆ และหนึ่งในการแจ้งเตือนคือการเผยแพร่การโพสต์ทวิตเตอร์ซ้ำอีกครั้งต่อเหตุการณ์ที่ประธานรัฐสภาสั่งห้ามแล้ว แต่อมรัตน์ กลับนำมาเผยแพร่ต่อนอกสภา ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ตนจึงเห็นว่า การกระทำการดังกล่าวนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 142 วรรค 2 จึงรวบรวมพยานหลักฐานทุกอย่างประกอบหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าพนักงานสอบสวนให้พิจารณาต่อข้อกล่าวหาที่ตนนำมาแจ้ง

ประธานประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน ทิ้งท้ายว่า ตนเกิดมา 40 กว่าปี ผ่านนายกมาหลายรุ่น ผ่านการเห็นการอภิปรายซึ่งถ่ายทอดสดมาบ่อยครั้ง ไม่มีครั้งไหนเลยที่จักมี ส.ส. ทั้งฝ่ายค้าน หรือ ฝ่ายรัฐบาลคนใดกล้ากระทำการบังอาจอภิปรายพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือสถาบันศาลเช่นนี้มาก่อน ตนมองว่าการกระทำการดังกล่าวของนางอมรัตน์ อาจเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทย แต่ตนเห็นว่าสิ่งที่อมรัตน์กระทำนั้นไม่ใช่ความกล้าหาญ แต่รู้สึกว่าเป็นการก้าวล้วงให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมัวหมองหรือไม่ กับการกระทำเช่นนี้ ตนจึงใช้สิทธิ์วิจารณ์การปฎิบัติหน้าที่ของ ส.ส. รายนี้ในฐานะประชาชนคนไทย ตามสิทธิ์ที่ระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญ

หมายเหตุ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 124 ระบุว่า ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดๆ มิได้

เอกสิทธิ์ตามวรรคหนึ่งไม่คุ้มครองสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคำในการประชุมที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หรือทางอื่นใด หากถ้อยคำที่กล่าวในที่ประชุมไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภา และการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้น

ในกรณีตามวรรคสอง ถ้าสมาชิกกล่าวถ้อยคำใดที่อาจเป็นเหตุให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้นได้รับความเสียหาย ให้ประธานแห่งสภานั้นจัดให้มีการโฆษณาคำชี้แจงตามที่บุคคลนั้นร้องขอตามวิธีการและภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับการประชุมของสภานั้น ทั้งนี้ โดยไม่กระทบต่อสิทธิของบุคคลในการฟ้องคดีต่อศาล

เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ย่อมคุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์และผู้โฆษณารายงานการประชุมตามข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี และคุ้มครองไปถึงบุคคลซึ่งประธานในที่ประชุมอนุญาตให้แถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม ตลอดจนผู้ดำเนินการถ่ายทอดการประชุมสภาทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หรือทางอื่นใดซึ่งได้รับอนุญาตจากประธานแห่งสภานั้นด้วยโดยอนุโลม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net