Skip to main content
sharethis

กะฉิ่น...ชาติพันธุ์ที่รุ่มรวยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการปรับตัวบนผืนดินไทย EP1
กะฉิ่น...ชาติพันธุ์ที่รุ่มรวยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการปรับตัวบนผืนดินไทย EP2

เมื่อพูดถึงเรื่องประเพณีวัฒนธรรมของกะฉิ่น (Kachins) ประเพณีรำมะหน่าว(Ma Nau)  คือศูนย์รวมจิตใจที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของชนเผ่ากะฉิ่นทั่วโลกกันเลยทีเดียว อีกทั้งถือว่าเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติกะฉิ่น สืบทอดกันมานานตั้งแต่สมัยโบราณจนมาถึงปัจจุบัน พิธีเต้นรำมะหน่าวในอดีตนั้น จะจัดขึ้นเพื่อถวายสักการะแด่ นัต มะได (Madai) และจัน (Jan) ซึ่งเป็น “ผี” ที่มีอำนาจบันดาลให้สันติและความสุขความเจริญแด่มนุษย์ การเต้นรำมะหน่าวตามแบบความเชื่อดั้งเดิมของกะฉิ่น จะต้องคารวะนัตทั้งสองก่อนเสมอ โดยมีหมอผีเป็นผู้นำพิธีเซ่นไหว้ด้วยวัว ควาย หมู หรือไก่ ต่อมา ชาวกะฉิ่นได้หันมานับถือศาสนาคริสต์ ทำให้การรำมะหน่าว ได้เปลี่ยนมาเป็นการสักการะพระผู้เป็นเจ้าแทนที่จะเป็นนัต

ในอดีตนั้น จะมีการเต้นรำมะหน่าวในยามศึกสงครามด้วย ซึ่งเรียกกันว่า หนิ่งทาน มะหน่าว (Ning manau) ที่จัดเพื่อเอาฤกษ์เอาชัยก่อนออกรบ เป็นการสักการะวีรบุรุษสงครามที่ได้จากไปแล้วและกระตุ้นความฮึกเหิมให้แก่ นักรบ ผู้รำจะใช้อาวุธประจำตนชี้ขึ้นฟ้าและปลดอาวุธลงเมื่อจบการรำ หลังเสร็จพิธีก็จะออกรบทันที

นอกจากนั้น ‘เนาส็อต มะหน่าว’ (Nausawt) สำหรับช่วงพักรบ  เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจทหาร  เป็นการบูชานัตเล็กๆ ตอนสองตน และใช้เสามะเนากระดาษแข็งหรือผ้าทำลวดลายง่ายๆ เท่านั้น จากนั้น หากได้รับชัยชนะในสงคราม ก็จะมี ปาดัง มะหน่าว (Padang manau) ที่จัดขึ้นเพื่อขอบคุณนัตและฉลองชัยชนะจากการออกรบ

ปัจจุบัน ที่เมืองมิตจีนา(Myitkyina) เมืองหลวงของรัฐกะฉิ่น ยังคงมีการจัดพิธีการรำมะหน่าวกันขึ้นทุกปี เพื่อแสดงถึงการรวมพลัง เป็นศูนย์รวมจิตใจ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ชนชาติกะฉิ่น ในการปกป้องพิทักษ์รักษาแผ่นดินของตนเอง 

ในขณะที่พิธีรำมะหน่าวในประเทศไทยนั้น ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2-5 ธันวาคม 2545 ที่บ้านใหม่สามัคคี(กะฉิ่น) เพื่อเฉลิมฉลองการก่อตั้งหมู่บ้าน หลังจากนั้นจึงได้มีพิธีเต้นรำมะหน่าวกันในทุกๆ สองปี ภายในงานประเพณีรำมะหน่าว บริเวณลานหญ้ากว้างกลางหมู่บ้าน  ทุกคนที่ไปเยือน จะมองเห็นเสามะหน่าวตั้งปักไว้สูงเด่นเรียงกันเป็นแนวนอน 10 เสาติดกัน  โดยแต่ละเสาก็จะมีลวดลายสีสันงดงาม แต่แฝงไว้ด้วยความหมาย มีทั้งรูปใบไม้ ต้นไม้ สัตว์ต่างๆ เช่น นกเขา เสือ ปลา มังกร กบ ฯลฯ ว่ากันว่าล้วนซ่อนนัยยะบ่งบอกถึงภาวะและคุณสมบัติที่แตกต่างของมนุษย์ นอกจากนั้น ที่โดดเด่นที่สุดก็คือ ภาพของตะวัน จันทร์ ดาว  ซึ่งบ่งบอกถึงการดำรงชีวิตของสัตว์โลก จักรวาล และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นผู้สร้าง                                     

และที่โดดเด่นก็คือ มีการสลักลวดลายแผ่นไม้เป็นรูปนกเงือกตัวใหญ่ทอดยาวระหว่างเสามะหน่าว นกเงือก หมายถึงประธานแห่งนก หมายถึงความรัก ความสามัคคี สันติสุข และการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับสรรพสัตว์ในโลกใบนี้

ในตำนานของชาวกะฉิ่น มีการบอกเล่าเอาไว้ว่า การเต้นมะหน่าว จัดขึ้นในโลกที่ปกครองโดยสุริยเทพ ในพิธีประชุมของสุริยเทพจะมีการเต้นรำมะหน่าว ซึ่งราชาแห่งนกและนกยูงได้เข้าร่วมพิธีนี้ด้วย สุริยเทพได้ชวนเหล่านกบนโลกซึ่งปกครองด้วยราชานก ‘Hkung Rang U’ มาเต้นให้พระองค์ได้ชม เมื่อกลับมายังโลกและบินหากินลูกไม้ นกก็รู้สึกคล้ายกำลังร่ายรำ จึงชวนนกอื่นๆ มาเต้นรำด้วยกัน และนกเหล่านี้ก็ได้สอนให้ชาวกะฉิ่นเต้นมะหน่าว จนกลายเป็นการเต้นรำที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวกะฉิ่นตั้งแต่นั้นมา

งานเต้นรำมะหน่าว จะเริ่มต้นเมื่อเสียงกลองใหญ่ ฆ้อง แตร ฉาบ ขลุ่ย ดังกังวานขึ้น จากนั้น ‘หน่าว ชอง’ ผู้นำเต้นรำหัวแถวสวมชุดสีเหลือง สวมหมวกปักร้อยด้วยหางนกยูงและเขี้ยวหมูป่า เดินถือดาบ พาพี่น้องชาวกะฉิ่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ออกนำเต้นรำหมู่ไปรอบๆ เสามะหน่าวกลางลานหญ้า ผู้ชายที่ร่วมเต้นมะหน่าว จะถือมีดดาบไม้ ส่วนผู้หญิงจะถือผ้าเช็ดหน้าสีขาว กวัดแกว่ง โบกไปมาตามจังหวะลีลาของการเต้นรำ ว่ากันว่า ท่ารำมะหน่าว มีลีลาการรำคล้ายกับผีเสื้อบิน ซึ่งมีท่วงท่าลีลาสวยงามอ่อนช้อยพริ้วไหวไปมา

สมชาติ ละชี รองประธานวัฒนธรรมกะฉิ่นบ้านใหม่สามัคคี บอกเล่าว่า สมัยก่อน การรำมะหน่าวนี้จะจัดขึ้นหลังจากที่ทหาร นักรบชาวกะฉิ่น ไปสู้รบกับศัตรู แล้วชนะกลับมา ก็จะมีการจัดกิจกรรมรำมะหน่าวนี้เหมือนเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะกัน 7 วัน 7 คืน กันเลยทีเดียว

“จะสังเกตได้ว่า ในการเต้นรำ ผู้ชายจะสะพายย่าม และถือดาบ ให้ทุกคนรู้ว่าชนเผ่ากะฉิ่นนั้นคือสายเลือดนักรบ มีดดาบ คือสัญลักษณ์เพื่อเอาไว้ต่อสู้ศัตรู และปกป้องหญิงสาวคนรัก  ส่วนผู้หญิงก็จะมีผ้าเช็ดหน้าสีขาวโบกไปมา ผ้าเช็ดหน้าก็เพื่อการแสดงออกของผู้หญิงที่ห่วงใยผู้ชายกลับมาจากสงคราม จะคอยเอาผ้าเช็ดหน้าคอยซับเหงื่อหรือเช็ดน้ำตาให้ผู้ชาย”

สมชาติ ละชี รองประธานวัฒนธรรมกะฉิ่นบ้านใหม่สามัคคี

ประเพณีการรำมะหน่าว นั้นจะมีการจัดขึ้นในทุกๆ สองปี ในช่วงต้นเดือนธันวาคม บริเวณลานหญ้าในหมู่บ้านใหม่สามัคคี ซึ่งทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่รู้ข่าว ต่างพากันมาเที่ยวชมกันอย่างล้นหลาม บางคนถึงกับกระโดดเข้าร่วมเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน รื่นเริงใจ

การรำมะหน่าว จึงเป็นประเพณีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของชนเผ่ากะฉิ่น ในแง่ของการสะท้อนถึงอัตลักษณ์เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นกะฉิ่น รวมทั้งเป็นประเพณีที่เชื่อมความสัมพันธ์ในระหว่างกลุ่มย่อยต่างๆ ของชนเผ่ากะฉิ่น ได้มารวมตัวกัน ณ ที่แห่งนี้

“จะไดปัน” หรือ ภัทรินญา จอมดวง หญิงชนเผ่ากะฉิ่นบ้านใหม่สามัคคี บอกเล่าว่า ในงานเต้นรำมะหน่าวที่บ้านใหม่สามัคคี ในแต่ละครั้งที่จัดขึ้นมา จะมีพี่น้องชนชาติกะฉิ่นที่มาจากเมืองมิตจีนา รวมทั้งชาวกะฉิ่นที่อพยพ ลี้ภัย กระจัดกระจายอาศัยอยู่ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ต่างพากันเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง                                         

“หลังจากที่เรากระจายข่าวกันออกไปว่า เราจะมีประเพณีรำมะหน่าวกันที่บ้านใหม่สามัคคี ที่เชียงดาว ก็จะมีพี่น้องกะฉิ่น เดินทางมาจากหลายๆ ประเทศ มาร่วมงานกันเยอะมาก เท่าที่เราจำได้ จะมาจากรัฐกะฉิ่น จีน พม่า อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น เนปาล นอร์เวย์ ออสเตรเลีย กัมพูชา ฮ่องกง มาเลเซีย หลายคนเป็นเครือญาติแล้วมาเจอกันที่นี่ บางคนไม่ได้เป็นญาติ แต่ก็มาพูดคุยแลกเปลี่ยน สนิทสนมคุ้นเคยกันที่นี่ ทุกคนตื่นเต้นมากที่ได้มางานนี้ ทุกคนจะพร้อมใจร่วมเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งงานจะมีทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งงานรำมะหน่าวนี้ทำให้พวกเรารู้สึกว่า เราเป็นเผ่าพันธุ์หนึ่ง ที่มีวัฒนธรรม มีพื้นที่ มีตัวตน รู้สึกภูมิใจในความเป็นกะฉิ่นเป็นอย่างมาก”

“จะไดปัน” ภัทรินญา จอมดวง หญิงชาวกะฉิ่นบ้านใหม่สามัคคี

ความหวัง บนความเปลี่ยนแปลง      

พอมาถึงตอนนี้ สังคมโลกเปลี่ยนไป วิถีชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลง ชนเผ่ากะฉิ่นที่เชียงดาว จึงมีความพยายามตั้งรับปรับตัว  ให้รู้และเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง

อนุชาติ ลาพา ประธานกลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โฮมสเตย์ บ้านใหม่สามัคคีกะฉิ่น ได้กล่าวถึงวิถีชีวิตของชาวกะฉิ่นบ้านใหม่สามัคคีว่า ปัจจุบัน มีประชากรประมาณ 1,300 กว่าคน แต่วัยรุ่น และวัยทำงานจะไปเรียน หรือเข้าไปทำงานในเมือง เหลือแต่คนแก่ และเด็กทิ้งไว้ในหมู่บ้าน ประมาณ 200 กว่าคน ทำให้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมถูกกลืนหายไป  การทำโครงการส่งเสริมศักยภาพแกนนำและเยาวชนในบ้านใหม่สามัคคีกะฉิ่น ในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชน จึงเป็นอีกกลวิธีหนึ่งในการรื้อฟื้นประเพณี วัฒนธรรมเก่าแก่ให้กลับคืนมา และยังเป็นการรวมตัวกันของคนกะฉิ่น ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็มักจะกลับถิ่นฐานในช่วงที่มีกิจกรรมรำมะหน่าว พร้อมกันนั้นการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ก็ถือเป็นการเผยแพร่ให้สังคมรู้จัก “กะฉิ่น” อย่างกว้างขวางมากขึ้น

เช่นเดียวกับ แสงชัย วารินอมร ผู้นำชุมชนกะฉิ่น บ้านใหม่สามัคคี(กะฉิ่น) คนปัจจุบัน บอกว่า ถ้าเป็นไปได้ หลังวิกฤติปัญหาเรื่องโควิด-19 ก็อยากให้มีการรื้อฟื้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายในชุมชนให้คืนกลับมาอีกครั้ง โดยช่วยกันรักษาวัฒนธรรมประเพณีของกะฉิ่นให้คงอยู่ต่อไป โดยเฉพาะประเพณีงานรำมะหน่าวนี้ เราอยากให้มีการจัดขึ้นสองปีครั้ง เหมือนที่ผ่านมา

“อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ที่ผ่านมา ชุมชนของเรา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ ทำสวน ปลูกข้าวโพด ข้าว มะม่วง ถั่วลิสง และอะโวคาโด มาถึงตอนนี้ ชุมชนกะฉิ่นของเราถือว่าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมากแล้ว ทุกวันนี้ จะมีโครงการหลวงหนองเขียว และเทศบาลตำบลเมืองนะ เข้ามาช่วยสนับสนุนในหลายๆ ด้าน ทำให้ชุมชนมีโอกาสพัฒนาชุมชนและทุกคนก็สามารถตั้งเนื้อตั้งตัวกันได้แล้ว” 

แสงชัย วารินอมร ผู้นำชุมชนกะฉิ่น บ้านใหม่สามัคคี(กะฉิ่น)

ผู้นำชุมชนกะฉิ่น บอกอีกว่า อยากให้ชุมชนกะฉิ่นได้ปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมคือ จากทำไร่ข้าว ข้าวโพด ถั่วลิสง ได้หันมาปลูกอะโวคาโดกัน เนื่องจากทางโครงการหลวงหนองเขียวได้มีการแนะนำส่งเสริมจนเริ่มออกลูก ขายผลผลิตกันได้มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า อะโวคาโดนั้นช่วยสร้างรายได้ดีกว่าปลูกพืชไร่ไม้ผลอย่างอื่นเยอะเลย

อโวคาโด ผลไม้เศรษฐกิจของชาวบ้านกะฉิ่น บ้านใหม่สามัคคี

“เราฝันและวางแผนอนาคตเอาไว้ว่า อยากให้พี่น้องกะฉิ่นทุกครอบครัว ได้หันมาปลูกอะโวคาโดกันอย่างน้อย 50 ต้นขึ้นไป อย่างผมตอนนี้ปลูกไว้ 100 กว่าต้น แน่นอนว่า ราคาตลาดของอะโวคาโดนั้นดีกว่าปลูกข้าวโพดหรือไม้ผลอื่นๆ อย่างแน่นอน และต่อไปเราอยากเสาะหาหน่วยงานที่สนใจได้เข้ามาตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตในชุมชน เช่น แปรรูปอะโวคาโดให้เป็นอาหาร ขนม หรือแปรรูปอะโวคาโดเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและความงาม ซึ่งผมคิดว่าถ้าทำได้ จะช่วยทำให้ชาวบ้านมีอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน และยังเป็นการสร้างงานในชุมชนกะฉิ่นของเราได้อีกทางหนึ่งด้วย”ผู้นำชุมชนกะฉิ่น บอกเล่าถึงความฝันและการปรับตัวให้เข้ากับวิถีของโลกสมัยใหม่

เป็นความหวัง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ว่าทำอย่างไร ถึงจะไม่ทำให้อัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ของตนนั้นสูญหายไป อีกทั้งทำอย่างไร  ถึงจะให้ชุมชนกะฉิ่นนั้นสามารถดำรงอยู่ได้ต่อไปอย่างยั่งยืน.

           

ข้อมูลประกอบ

  • ภู เชียงดาว,หนังสือสารคดีชาติพันธุ์ “เด็กชายกับนกเงือก...ความงาม ความหวัง เผ่าชนคนเดินทาง”,สำนักพิมพ์วิถีชน,มกราคม 2547
  • โครงการวิจัยเรื่อง แนวทางการอนุรักษ์ประเพณีการรำมะหน่าว (MANAU) ของชนเผ่ากะฉิ่นในชุมชนบ้านใหม่สามัคคีกะฉิ่น หมู่ 14 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, อนุชาติ ลาพา และคนอื่น ๆ โดยได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจากมูลนิธิโครงการหลวงและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.),มกราคม 2557
  • มนตรี กาทู และคณะ, หนังสือกะฉิ่น : เมื่อวานและวันนี้,ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิมพ์,พรสุข เกิดสว่าง บรรณาธิการ,กันยายน 2555    
  • ภู เชียงดาว,รำมะหน่าว ประวัติศาสตร์กะฉิ่นเชียงดาวในเทศกาลฟ้อนรำ,นิตยสารสารคดี ฉบับมกราคม 2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net