'ก้าวไกล' ตั้งคำถาม กกท. แอบเจรจาให้สิทธิ์เอกชนได้ดีลสุดคุ้ม - จับตา ส.ว. กมธ. 30 วัน หนทางสู่ประชามติ

พรรคก้าวไกลตั้งคำถาม กกท. แอบเจรจาให้สิทธิ์เอกชนได้ดีลสุดคุ้ม จี้ กสทช. อย่าปล่อยให้เอกชนเล่นตุกติกได้รับยกเว้นกฎ must carry - จับตา ส.ว. กมธ. 30 วัน หนทางสู่ประชามติ หวังพิจารณาบนข้อเท็จจริงไม่ตุกติก


ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล

22 พ.ย. 2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกลแจ้งข่าวว่า ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ตั้งคำถามต่อความโปร่งใสของกระบวนการเจรจากับกลุ่มทุนเพื่อมอบสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลก จากกรณีที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ให้สิทธิ์กลุ่มทรูในการเลือกแมทช์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกก่อน จากนั้นแมทช์ที่เหลือ 32 นัด จึงค่อยกระจายไปช่องทีวีดิจิทัลต่างๆ จับสลากกัน และยังมีเงื่อนไขในการกีดกันไม่ให้ประชาชนที่ติดตามชมในระบบ IPTV, ระบบอินเทอร์เน็ต, ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่, และระบบ OTT ซึ่งทำให้ประชาชนที่ติดตามผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือไม่สามารถติดตามฟุตบอลโลกได้ ซึ่งผิดกฎระเบียบของกสทช.ในเรื่อง must carry ที่จะต้องเผยแพร่ให้ได้รับชมในทุกช่องทางอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม

โดยศิริกัญญา ตั้งคำถามถึงกระบวนการเจรจาและการทำข้อตกลงระหว่าง กกท. และกลุ่มทุนบริษัทต่างๆ ว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ เงื่อนไขที่กลุ่มทรูได้รับมีการประเมินมูลค่าอย่างไร ได้นำเงื่อนไขเดียวกันนี้ไปเสนอกับผู้ให้บริการทีวีดิจิทัล หรือ IPTV เจ้าอื่นๆ อย่าง 3BB TV AIS Play Box ด้วยหรือไม่ เพราะอาจมีเอกชนรายอื่นให้ข้อเสนอที่ดีกว่า กลายเป็นกลุ่มทรูเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตกระจายเสียงเพียงรายเดียวที่จ่ายเงินสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์

ศิริกัญญากล่าวว่าความวุ่นวายของการถ่ายทอดฟุตบอลโลกในครั้งนี้ องค์กรที่ควรต้องออกมาพูดอะไรมากที่สุดคือ กสทช. ในฐานะหน่วยงานที่ใช้เงินของรัฐจ่ายค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมากที่สุด และเงินที่นำมาอุดหนุนค่าลิขสิทธิ์เป็นเงินที่เบียดบังมาจากงบประมาณที่จัดไว้สำหรับการเข้าถึงระบบโทรคมนาคมของกลุ่มเปราะบางทางสังคม แต่เงื่อนไขการถ่ายทอดฟุตบอลโลกที่เอกชนอ้างกลับเป็นการกึ่งบังคับให้คนที่ต้องการติดตามบอลโลกต้องเป็นลูกค้าทรู

“เงื่อนไขที่กลุ่มทรูได้ คือร่วมจ่าย 300 ล้านบาท ได้ถ่าย 32 คู่รวมคู่เปิด-ปิด แถม Exclusive deal ต้องเป็นลูกค้าทรูถึงจะดูผ่าน กล่อง หรือแอพทรูไอดีได้ กสทช.ในฐานะเจ้าของเงินลิขสิทธิ์ครึ่งนึงจะไม่พูดอะไรเลยหรอคะ ในวันที่กฎระเบียบมีปัญหาจนไม่มีเอกชนมาประมูลแล้วต้องควักเงินจ่าย 600 ล้านบาท นั้น กสทช. กลับไม่แก้กฎ ดังนั้นในวันนี้ อย่างน้อยที่สุด กสทช. ต้องกำกับดูแล อย่าปล่อยให้เอกชนเล่นตุกติก เจรจาลับกับ กกท. แล้วได้รับสิทธิพิเศษยกเว้นกฎ Must Carry ทำให้ลูกค้าทรูเท่านั้นที่จะได้ดูฟุตบอลครบทุกแมทช์แบบคมชัด แต่ประชาชนที่ไม่จ่ายต้องไปดิ้นรนหาช่องทางติดตามฟุตบอลโลกกันเอาเอง” ศิริกัญญากล่าวทิ้งท้าย

จับตา ส.ว. กมธ. 30 วัน หนทางสู่ประชามติ หวังพิจารณาบนข้อเท็จจริงไม่ตุกติก

ด้าน ณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.เขตบางแค พรรคก้าวไกล กล่าวในฐานะผู้เสนอญัตติญัตติเรื่องขอให้สภาฯพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)ตามที่สภาฯมีมติในการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ระบุว่า เป็นที่น่าเสียดายที่ประชุมวุฒิสภา (21 พ.ย. 2565) ไม่อนุญาตให้มีตัวแทนจากฝั่ง ส.ส. เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงในฐานะผู้เสนอญัตติ จึงไม่สามารถตอบข้อสงสัยในหลาย ๆ เรื่องที่สุฒิสภามีข้อกังวลจากวุฒิสมาชิกบางท่านได้ อาทิ เรื่องเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับญัตตินี้ รวมไปถึงประเด็นด้านการประหยัดงบประมาณ ที่คณะรัฐมนตรีสามารถดำเนินการได้ผ่านการตราเป็นพระราชกำหนด เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประชามติในบางมาตรา ก็เป็นช่องทางที่ทำให้การจัดทำประชามติ สามารถจัดพร้อมกับการเลือกตั้งเพื่อประหยัดงบประมาณได้ เป็นต้น

ตนเชื่อว่า หากในที่ประชุม ได้รับทราบเหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้ ผลการลงมติก็อาจมีทิศทางต่างออกไป เพราะเหตุผลที่ให้ไว้สำหรับการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาก่อน 30 วัน ก็ด้วยเหตุผลที่ให้ไว้ข้างต้นทั้งสิ้น น้อยคนมาก ที่จะอภิปรายไปในทิศทางไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ มีแต่บอกว่าเห็นด้วย แต่อยากให้พิจารณาศึกษาให้รอบคอบอย่างมีวุฒิภาวะ ให้สมกับเป็น "วุฒิสภา" (ตามคำอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภาบางท่าน)

ณัฐพงศ์กล่าวเพิ่มเติมว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษานี้ จะดำเนินไปด้วยความตรงไปตรงมา พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันตามที่ได้เสนอไว้ อย่าได้ขอเวลาขยายกรอบการพิจารณาออกไป ลากเกมเตะถ่วง ตามที่หลาย ๆ คนได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในที่ประชุม และได้แต่หวังว่า กรรมาธิการของวุฒิสภาที่ตั้งขึ้นมาศึกษาพิจารณาญัตตินี้ จะเปิดโอกาสให้ ส.ส. เข้าชี้แจงในฐานะผู้เสนอญัตติ เพื่อให้ทราบถึงเจตนารมย์ของผู้เสนอญัตติ มากกว่าการอ่านและตีความเอาเองจากลายลักษณ์อักษร เพื่อให้การพิจารณาศึกษาในกรณีดังกล่าว มีความถูกต้อง รอบคอบ ครบถ้วน และเป็นการพิจารณาศึกษาอย่างมีวุฒิภาวะ ตามที่วุฒิสมาชิกได้อภิปรายไว้ ในห้องประชุมจันทราแห่งนี้ ณัฐพงศ์ทิ้งท้าย

ชี้เป็นหนี้ BTS ต้องรีบใช้อย่าให้เป็นเงื่อนไขขยายสัมปทาน แต่ต้องมีความโปร่งใส เปิดเผยสัญญาให้รู้ยอดหนี้จริง

สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ทำการสื่อสารคลิปวิดิโอทวงถามหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวกว่า 4 หมื่นล้านบาท

สุรเชษฐ์ระบุว่า ลำดับแรกต้องตอบให้ชัดว่าจะเอาอย่างไรกับการขยายสัมปทานออกไปอีก 30 ปี ว่าจะเอาหรือไม่เอา ซึ่งตนและพรรคก้าวไกลเคยแสดงความเห็นอย่างละเอียดไปแล้วว่าไม่ควรขยายสัญญาสัมปทานและควรเริ่มต้นแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบได้เสียที แก้ปัญหาตั๋วร่วมและค่าโดยสารร่วมอย่างจริงจังหรืออย่างน้อยหากจะปะผุปัญหาต่อไปอีก 30 ปีก็ต้องโปร่งใส ชี้แจงตัวเลข กระแสเงินสดให้ได้ว่าทุนใหญ่ไม่เอากำไรเกินควรและเปิดเผยสัญญาระหว่างกรุงเทพธนาคมกับ BTS และหากรัฐบาลและ กทม. ชัดเจนว่าไม่ขยายสัมปทานไปอีก 30 ปี ก็ควรจ่ายหนี้ไม่ปล่อยให้ปัญหาคาราคาซัง เพราะ กทม. บอกว่าพร้อมจ่าย อย่างน้อยก็ในส่วนของส่วนต่อขยายหนึ่ง

สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปอีกว่า “ติดหนี้ ต้องจ่าย” แต่ต้องตรวจสอบด้วยว่ายอดถูกต้องหรือไม่ สัญญาส่วนต่อขยายที่แอบไปทำกันถึงปี 85 ชอบธรรมหรือไม่ ต้องเอามาเปิดเผยต่อวาธารณะและตัดสินเสียทีว่าเป็นการหลีกเลี่ยง พรบ.ร่วมทุน หรือไม่ นี่ยังไม่นับรวมการขอขยายสัมปทานไปอีก 30 ปีด้วย ม.44 โดย “ทหารการเมือง” และเงินที่หายไปจากการเบี้ยวหนี้โดยอดีตผู้ว่าฯ ควรเร่งแก้ปัญหา ไม่ควรปล่อยให้คาราคาซังเพราะหนี้จะยิ่งพอกพูน สุรเชษฐ์ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท