เครือข่ายสุขภาพบ้านหัวริน จ.เชียงใหม่ ดูแลผู้ป่วย HIV มุ่งลดตีตรา-ส่งเสริมอยู่ร่วมกัน

คณะผู้เข้าร่วมประชุม UNAIDS ลงพื้นที่ไปยัง ต.ทุ่งสะโตก อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เยี่ยมชม ‘การจัดบริการดูแลผู้ป่วยเอชไอวี’ ผ่านแผน ‘Huarin HIV Model’ โดย รพ.สต.บ้านหัวริน เชื่อมโยงชุมชนไปถึงอำเภอ สร้างเครือข่ายบริการสุขภาพ มุ่ง ‘รักษา-ลดตีตรา-ส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน’

ฝ่ายสื่อสารของ สปสช.รายงานว่า เมื่อ12 ธันวาคม 2565 คณะผู้เข้าร่วมการประชุมคณะผู้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 51 (The 51st UNAIDS Programme Coordinating Board Meeting : PCB) นำโดย นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 1 เชียงใหม่ นพ.ทวิช แก้วประเสริฐ ผู้อำนวยการ รพ.สันป่าตอง ลงพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหัวริน(รพ.สต.) ต.ทุ่งสะโตก อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมชม “การจัดบริการดูแลผู้ป่วยเอชไอวี ผ่านแผน Huarin HIV Model” ที่ดำเนินการโดย รพ.สต.บ้านหัวริน และภาคีเครือข่าย ในการดูแลรักษา ลดการตีตรา และกีดกัน ตลอดจนส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในชุมชน

วราภรณ์ รัตนาวิบูลย์ ผอ.รพ.สต.บ้านหัวริน เปิดเผยว่า ในพื้นที่ที่ รพ.สต.บ้านหัวรินดูแลอยู่มีผู้ป่วยเอชไอวีจำนวน 69 ราย โดยมีผู้ป่วยที่รับยาผ่าน Drop in Center ของ รพ.สต.บ้านหัวริน จำนวน 23 ราย ซึ่งในส่วนนี้ได้รับการสนับสนุนด้านยาต้านไวรัสตามสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติจาก สปสช. ทำให้ผู้ป่วยเอชไอวีสามารถรับการรักษาได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนอีก 42 ราย จะรับยาที่โรงพยาบาลสันป่าตอง และอีก 4 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้รับการรักษา

ผอ.รพ.สต.บ้านหัวริน กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดูแลผู้ป่วยเอชไอวีในพื้นที่ ทาง รพ.สต.บ้านหัวริน มีจุดเด่นอยู่ที่การแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ โดยใช้ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายตั้งแต่ในระดับชุมชนไปจนถึงระดับอำเภอ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ผู้นำศาสนา และผู้นำชุมชน จนเกิดเป็นเครือข่ายบริการสุขภาพ และดำเนินการผ่านแผนที่มีชื่อว่า “Huarin HIV Model” โดยได้ปฏิบัติร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2563

ทั้งนี้ แผนดังกล่าวจะถูกแบ่งออกเป็น 5 ขั้น ประกอบด้วย 1. ระดับครอบครัว เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้ป่วยเอชไอวีได้รับการยอมรับ และสนับสนุนจากครอบครัว 2. ระดับกลุ่ม หรือชุมชน ของผู้ป่วยเอชไอวี โดยเป็นการทำให้ผู้ป่วยเอชไอวีเข้าสังคมมากขึ้น และต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพ 3. ระดับเจ้าหน้าที่ เช่น Care giver อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ติดเชื้อเอชไอวีมีส่วนมีบทบาทในการดูแลสุขภาพคนในชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี

4. ระดับตำบล โดยดำเนินการผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต (พชอ.) ในการช่วยเหลือ และสร้างเสริมคุณภาพชีวิต และ 5. ระดับอำเภอ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันทั้งเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาระบบสุขภาพในภาพใหญ่

“จากการดำเนินการตามแผนนี้ ต้องบอกว่าตอบโจทย์มาก เพราะปัจจุบันไม่มีการตีตราและกีดกันในสังคม ผู้ป่วยเอชไอวีสามารถอยู่ร่วมกันกับประชาชนทั่วไปได้ เกิดการยอมรับ เวลามารับยาที่คลินิกก็ไม่มีการแบ่งแยกว่าผู้ป่วยเอชไอวีต้องมาวันนี้ แต่สามารถมารับยาพร้อมกับผู้ป่วยทั่วไปได้ แล้วก็ผู้ป่วยทั่วไปก็พร้อมให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีบทบาทในการดูแลรักษา เช่น Care giver ให้การรักษากับเขาได้ปกติ” นางวราภรณ์ ระบุ

ด้าน พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู รอง ผอ.สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ รพ.สต.บ้านหัวริน นอกจากจะมีความโดดเด่นในเรื่องการจัดบริการการดูแลผู้ป่วยเอชไอวี ผ่านการทำงานร่วมกับชุมชน รวมถึงสถาบันทางศาสนาอย่างวัดหัวริน ในการลดดการตีตรา และเลือกปฏิบัติกับผู้ป่วยเอชไอวีแล้ว ยังเป็นศูนย์บริการด้านเอชไอวีที่ให้บริการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การค้นหาผู้ป่วยไปจนถึงการนำเข้าระบบการรักษา

“ในส่วนของ สปสช. ได้มีการสนับสนุนในเรื่องสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในการจัดบริการ เช่น การให้ยาต้านไวรัสกับผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี การตรวจเชื้อเอชไอวีฟรี การตรวจไวรัลโหลดตามกำหนด การติดตามผลเลือดที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ รวมถึงเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ในการตรวจเชิงรุกให้กับทั้งหน่วยบริการของรัฐ และภาคประชาสังคมเพื่อให้กลุ่มเสี่ยงเข้าถึงการตรวจ และรับการรักษาได้ทันท่วงที” พญ.วลัยรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้การดูงานดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 51 (The 51st UNAIDS Programme Coordinating Board Meeting : PCB) ระหว่างวันที่ 13-16 ธันวาคม 2565 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน

ประเด็นที่ในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย การดำเนินงานขององค์กรที่นำโดยชุมชน, ความคืบหน้าของการดำเนินงาน Global Partnership เพื่อการขจัดการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีทุกรูปแบบ, ผลการประเมินการดำเนินงานโครงการ UNAIDS และ เอชไอวีกับผู้ชายที่มีความหลากหลายในทุกรูปแบบ

การประชุม UNAIDS PCB ครั้งที่ 51 มีผู้แทนจากประเทศสมาชิก 22 ประเทศ หน่วยงาน UN Cosponsors 11 องค์กร และ NGOs จำนวน 5 องค์กร ซึ่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาคของโลก มาร่วมกันวางทิศทางและการบริหารจัดการแผนงานเอดส์ของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน การยุติปัญหาเอดส์ทั่วโลกภายในปี 2573 ตามปฏิญญาทางการเมืองเรื่องเอชไอวีและเอดส์ ปี 2564 และเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ และถือเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพ อีกครั้งในรอบ 14 ปี หลังจากที่ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดเมื่อปี 2551

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท