Skip to main content
sharethis

รายงาน 'Global Wage Report 2022-23' ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เผยอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทำให้ 'ค่าจ้างที่แท้จริง' (Real Wage) ลดลงอย่างน่าตกใจ ชี้ต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อป้องกันไม่ให้ 'ความยากจน-ความไม่เท่าเทียม-ความไม่สงบทางสังคม' รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก 

16 ธ.ค. 2565 วิกฤตเงินเฟ้อที่รุนแรงประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ที่ได้แรงหนุนส่วนหนึ่งจากสงครามในยูเครนและวิกฤตพลังงาน ทำให้ค่าจ้างที่แท้จริง (Real Wage) ของคนทำงานในหลายประเทศลดลงอย่างมาก

ตามรายงานฉบับใหม่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พบวิกฤตกำลังซื้อได้กระทบต่อชนชั้นกลางและครัวเรือนที่มีรายได้น้อยอย่างหนัก

ค่าจ้างที่แท้จริง (Real Wage)

ค่าจ้าง คือ ค่าที่จ่ายให้แก่ผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งค่าจ้างที่ได้รับจึงเป็นที่มาของรายได้ และเมื่อนำมารวมกันทั้งหมด ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ประชาชาติ ค่าจ้างแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1. ค่าจ้างที่เป็นตัวเงิน (Money Wage) คือ ค่าจ้างที่ได้รับจากนายจ้างที่จ่ายให้อาจเป็นรายวัน รายสัปดาห์หรือรายเดือน 2. ค่าจ้างที่แท้จริง (Real Wage) คือ การนำค่าจ้างที่เป็นตัวจริงลบด้วยอัตราเงินเฟ้อต่อปีซึ่งอัตราเงินเฟ้อสามารถคำนวณได้จากดัชนีราคาผู้บริโภคการกำหนดอัตราค่าจ้างจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของแรงงาน คือ ถ้าอุปสงค์ของแรงงานมีมาก ความต้องการจ้างแรงงานมาก อัตราค่าจ้างจะสูงขึ้น แต่ถ้าอุปทานของแรงงานมีมาก จะทำให้ค่าจ้างลดลง

จากรายงาน 'Global Wage Report 2022-2023: The Impact of inflation and COVID-19 on wages and purchasing power' ประมาณการว่าค่าจ้าง (รายเดือน) ทั่วโลกลดลงติดลบร้อยละ 0.9 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งเป็นครั้งแรกในศตวรรษนี้ที่การเติบโตของค่าจ้างทั่วโลกติดลบ

ในบรรดาประเทศกลุ่ม G20 ที่พัฒนาแล้ว ค่าจ้างที่แท้จริงในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 คาดว่าจะติดลบร้อยละ 2.2 ในขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริงในประเทศกลุ่ม G20 เศรษฐกิจเกิดใหม่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ซึ่งน้อยกว่าปี 2562 ที่ร้อยละ 2.6 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดโควิด -19 ระบาด

“วิกฤตต่างๆ ทั่วโลกที่เรากำลังเผชิญอยู่ ได้นำไปสู่การลดลงของค่าจ้างที่แท้จริง ทำให้คนทำงานหลายสิบล้านคนต้องตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้าย ขณะที่พวกเขาเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น” กิลเบิร์ต เอฟ ฮองโบ ผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าว “ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้และความยากจนจะเพิ่มขึ้นหากไม่รักษากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อยที่สุด นอกจากนี้การฟื้นฟูที่จำเป็นหลังการระบาดใหญ่อาจตกอยู่ในความเสี่ยง สิ่งนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดความไม่สงบในสังคม และบ่อนทำลายเป้าหมายความกินดีอยู่ดีและสันติภาพสำหรับทุกคน”

เงินเฟ้อมีผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น


ที่มาภาพประกอบ: ILO/Apex Image (CC BY-NC-ND 2.0)

วิกฤตค่าครองชีพเกิดขึ้นจากการสูญเสียรายได้จากการทำงานไปเป็นจำนวนมากสำหรับคนทำงานและครอบครัวในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งในหลายประเทศส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมากที่สุด

รายงานของ ILO แสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมีผลกระทบต่อค่าครองชีพมากขึ้นสำหรับผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากพวกเขาใช้รายได้ส่วนใหญ่ไปกับการซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็น ซึ่งโดยทั่วไปราคาจะปรับสูงขึ้นมากกว่าสินค้าฟุ่มเฟือย

นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อก็ยังกัดเซาะมูลค่าที่แท้จริงของค่าจ้างขั้นต่ำในหลายประเทศอย่างรวดเร็ว

ต้องมีมาตรการรักษามาตรฐานการครองชีพ

การวิเคราะห์ของรายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้มาตรการเชิงนโยบายที่ออกแบบมาอย่างดีเพื่อช่วยรักษากำลังซื้อและมาตรฐานการครองชีพของคนทำงานและครอบครัว

การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมอาจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากร้อยละ 90 ของประเทศสมาชิก ILO มีระบบค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว ส่วนการเจรจาทางสังคมแบบไตรภาคีที่แข็งแกร่งและการเจรจาต่อรองร่วมยังสามารถช่วยให้บรรลุการปรับขึ้นค่าจ้างอย่างเพียงพอในช่วงวิกฤต

นโยบายอื่นๆ ที่สามารถบรรเทาผลกระทบของวิกฤตค่าครองชีพต่อครัวเรือน ได้แก่ มาตรการที่กำหนดเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม เช่น การให้คูปองแก่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเพื่อซื้อสินค้าที่จำเป็น หรือการลดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่จำเป็น เป็นต้น 

“เราต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษแก่คนทำงานที่ได้ค่าจ้างระดับกลางและระดับล่าง การต่อสู้กับการลดลงของค่าจ้างที่แท้จริงสามารถช่วยรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูการจ้างงานไว้ในระดับเดียวกับเมื่อช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาด นี่อาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทุกประเทศและทุกภูมิภาค” โรซาเลีย วาซเกซ-อัลวาเรซ หนึ่งในผู้เขียนรายงานกล่าว

ค่าจ้างที่แท้จริงในภูมิภาคต่างๆ ปี 2565


ที่มาภาพประกอบ: Marcel Crozet / ILO (CC BY-NC-ND 2.0)

รายงานฉบับนี้ ได้แสดงให้เห็นว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อัตราเงินเฟ้อในประเทศที่มีรายได้สูง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเร็วกว่าในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง สำหรับค่าจ้างที่แท้จริงรายภูมิภาคมีดังต่อไปนี้:

- ในอเมริกาเหนือ (แคนาดาและสหรัฐอเมริกา) การเติบโตของค่าจ้างจริงลดลงเหลือศูนย์ในปี 2564 และติดลบร้อยละ 3.2 ในครึ่งแรกของปี 2565
- ในละตินอเมริกาและแคริบเบียน ค่าจ้างที่แท้จริงติดลบร้อยละ 1.4 ในปี 2564 และติดลบร้อยละ 1.7 ในครึ่งแรกของปี 2565
- ในสหภาพยุโรป ที่มีนโยบายรักษาการจ้างงานและการอุดหนุนค่าจ้างในช่วงที่เกิดโรคโควิด-19 ระบาดนั้น ได้ทำให้การเติบโตของค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.3 ในปี 2564 แต่กลับติดลบร้อยละ 2.4 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565
- ในยุโรปตะวันออก การเติบโตของค่าจ้างที่แท้จริงชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 4.0 ในปี 2563 และร้อยละ 3.3 ในปี 2564 และลดลงเหลือร้อยละ 3.3 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565
- ในเอเชียและแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีนในการคำนวณ) การเติบโตของค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.5 ในปี 2564 และชะลอตัวลงในครึ่งแรกของปี 2565 เหลือร้อยละ 1.3 
- ในเอเชียกลางและเอเชียตะวันตก การเติบโตของค่าจ้างที่แท้จริงเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 12.4 ในปี 2564 แต่ชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 2.5 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565
- ในแอฟริกา มีหลักฐานบ่งชี้ว่าค่าจ้างที่แท้จริงติดลบร้อยละ 1.4 ในปี 2564 และติดลบร้อยละ 0.5 ในครึ่งแรกของปี 2565
- ในกลุ่มประเทศอาหรับ แนวโน้มค่าจ้างที่แท้จริงยังไม่แน่นอน แต่ประมาณการชี้ว่าการเติบโตของค่าจ้างต่ำที่ร้อยละ 0.5 ในปี 2564 และร้อยละ 1.2 ในปี 2565



ที่มา
Global Wage Report 2022-23 (ILO, 2022)
Rising inflation brings striking fall in real wages, ILO report finds (ILO, 30 November 2022)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net