'ลูลา' สาบานตนเป็น ปธน.บราซิล ท่ามกลางการประท้วงจากฝ่ายขวา ที่ยังคุกรุ่น

อดีตผู้นำฝ่ายซ้ายของบราซิลที่เคยถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองจนถูกจำคุก ในที่สุด ลูอิซ อิกนาซิโอ "ลูลา" ดา ซิลวา ก็กลับมาครองตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิลอย่างเป็นทางการอีกครั้งหลังสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันปีใหม่ 2566 เขาพูดถึงการฟื้นคืนนโยบายสวัสดิการประชาชนและการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่เคยถูกเขี่ยทิ้งไปในช่วงสมัยรัฐบาลฝ่ายขวา ขณะเดียวกันกลุ่มฝ่ายขวาที่ไม่ยอมแพ้ก็ยังคงพยายามก่อความรุนแรงและเรียกร้องให้กองทัพบราซิลแทรกแซงทางการเมือง

ลูอิซ อิกนาซิโอ "ลูลา" ดา ซิลวา(กลาง) ขณะกำลังสาบานตนโดยมีโรซันเกลา ดา ซิลวา(ขวา) ภรรยาของเขาอยู่ร่วมด้วย ภาพโดย Jefferson Rudy / Agência Senado

ลูอิซ อิกนาซิโอ "ลูลา" ดา ซิลวา ผู้นำฝ่ายซ้ายของบราซิลได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่สาม ในวันที่ 1 ม.ค. 2566 ท่ามกลางการต่อต้านจากฝ่ายขวาผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดี จาอีร์ บอลโซนาโน ที่พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งล่าสุดและมีความเสี่ยงคนกลุ่มนี้จะใช้ความรุนแรง

ลูลา แถลงว่า "เขาจะคอยพิทักษ์คุ้มครองรัฐธรรมนูญ รักษากฎหมาย ส่งเสริมในเรื่องประโยชน์สุขของประชาชนชาวบราซิล ส่งเสริมความเป็นเอกภาพ บูรณภาพ และเอกราชของประเทศบราซิล"

ลูลาเป็นนักการเมืองอายุ 76 ปี ที่กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิลได้อีกครั้ง หลังจากที่เว้นช่วงทางการเมืองนานถึง 12 ปี เขาปรากฏตัวพร้อมกับภรรยา โรซันเกลา ดา ซิลวา ที่มหาวิหารใจกลางกรุงบราซิลเลีย เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2566 ก่อนเดินทางต่อไปยังรัฐสภาที่มีการเปิดประชุมสภาอย่างเป็นทางการ

รัฐสภาบราซิลได้ลุกขึ้นปรบมือให้ลูลาก่อนที่จะประสานเสียงว่า "โอเล โอเล โอลา ลูลา ลูลา" ซึ่ง "โอเล โอเล" เป็นคำที่มีที่มาจากการแสดงออกสนับสนุนในกีฬาสู้วัวกระทิงของสเปน ซึ่งชาวบราซิลมักจะนำมาใช้ในกีฬาฟุตบอลเพื่อแสดงออกชื่นชมนักกีฬาของตัวเอง

ประธานวุฒิสภาบราซิลได้ทำการเปิดพิธีการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของลูลาด้วยการให้เกียรติไว้อาลัยแก่ เปเล่ นักฟุตบอลทีมชาติบราซิลชื่อดังที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกีฬาของบราซิล และ อดีตพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ 16 ซึ่งทั้งสองคนเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานนี้

ในช่วงที่มีการสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ลูลา แหกกฎพิธีการดั้งเดิมด้วยการเล่าเรื่องสั้นเกี่ยวกับปากกาที่เขาเคยใช้ลงนามในเอกสารรัฐธรรมนูญ

"เมื่อปี 2532 ในการหาเสียงที่รัฐปีเอาอี พวกเราได้เดินไปจนถึงโบสถ์ซานเบเนดิกต์ แล้วก็มีพลเมืองคนหนึ่งมอบปากกาด้ามนี้ให้ผม แล้วก็บอกให้ผมใช้มันลงนามถ้าหากว่าผมชนะการเลือกตั้งในปี 2532 ผมไม่ได้ชนะในการเลือกตั้งปี 2532 แล้วก็ไม่ชนะในปี 2537 ไม่ชนะในปี 2541 ด้วย ผมชนะในปี 2545 แต่เมื่อผมเดินทางมาถึงที่นี่ (ที่ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง) แล้วผมกลับลืมปากกาด้ามนั้น แล้วก็ลงนามด้วยปากกาของวุฒิสมาชิกแทน ในปี 2549 ผมก็ยังคงลงนามด้วยปากกาของวุฒิสมาชิก แล้วในตอนนี้ผมพบปากกาด้ามนั้นแล้ว แล้วผมก็จะทำในสิ่งที่เป็นการให้เกียรติต่อประชาชนในรัฐปีเอาอี" ลูลาเล่า

อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่าพิธีการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในครั้งนี้ จาอีร์ บอลโซนาโร อดีตประธานาธิบดีฝ่ายขวาผู้พ่ายแพ้การเลือกตั้งไม่มาปรากฏตัวอยู่ในพิธีด้วย โดยก่อนหน้านี้ไม่กี่วันบอลโซนาโร เดินทางออกจากบราซิลไปที่รัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2565 อย่างไม่มีกำหนดการกลับและในวันนั้นรัฐบาลบราซิลยังออกคำสั่งให้ข้าราชการ 5 คนเดินทางร่วมกับ "ว่าที่อดีตประธานาธิบดี" อย่างบอลโซนาโรด้วย

การพลิกกลับมาชนะของฝ่ายซ้ายบราซิล

การที่ลูลาชนะการเลือกตั้งรอบตัดสินเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2565 นับเป็นการพลิกกลับมาชนะได้อย่างน่าทึ่งของฝ่ายซ้ายบราซิล หลังจากที่ฝ่ายขวาจัดของบอลโซนาโรมีอำนาจมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งก่อนหน้านี้ลูลายังเคยต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันจนทำให้ถูกสั่งจำคุกรวมแล้วเป็นเวลา 580 วัน จนกระทั่งศาลสูงสุดตัดสินว่าการดำเนินคดีต่อลูลานั้นเป็นการดำเนินคดีที่ผิดพลาดและให้ลูลาสามารถลงชิงตำแหน่งในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดได้

ลูลาเคยเป็นประธานาธิบดีขวัญใจคนจนในบราซิลในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2540-2553 จากนโนบายด้านสวัสดิการและการพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่ในการรับตำแหน่งครั้งนี้ลูลาจะต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินของประเทศที่หนักหน่วงและระดับความยากจนที่สูงขึ้นยิ่งกว่าตอนที่เขาออกจากตำแหน่งไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน

นอกจากนี้การที่บอลโซนาโรไม่ได้กล่าวยอมรับความพ่ายแพ้อย่างเป็นทางการ แต่เคยกล่าวว่าเขาไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ทำให้มีผู้มองว่าบอลโซนาโรเป็นต้นตอในการการทำให้กลุ่มฐานเสียงหัวรุนแรงฝ่ายขวาของเขาก่อความโกลาหลและสร้างความแตกแยกในสังคม

ก่อร่างสร้างประเทศขึ้นมาใหม่

ทางด้านลูลากล่าวในสุนทรพจน์ต่อหน้ารัฐสภาว่าเขาจะก่อร่างสร้างประเทศนี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง จากการที่เขาได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนชาวบราซิล และจากแนวร่วมประชาธิปไตยที่พวกเขาสร้างขึ้นในข่วงรณรงค์หาเสียง

ลูลากล่าวอีกว่าผู้ชนะที่ใหญ่ที่สุดในการเลือกตั้งบราซิลครั้งล่าสุดนี้คือประชาธิปไตย หลังจากที่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของเขาสามารถผ่านพ้นอุปสรรคหลายอย่างมาได้ จากการที่นานาชาติให้การยอมรับประสิทธิผลของการเลือกตั้ง การที่ฝ่ายตุลาการให้การสนับสนุนผลการเลือกตั้งโดยเฉพาะจากศาลสูงสุด

นอกจากนี้ลูลายังได้วิจารณ์พาดพิงถึงรัฐบาลของบอลโซนาโรว่าเป็นรัฐบาลที่นำทรัพยากรของบราซิลมาใช้เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับตัวเอง ลูลาบอกว่าเอกสารการวิเคราะห์สภาพของประเทศที่เขาได้รับมาจากคณะรัฐบาลเปลี่ยนผ่านนั้นดูย่ำแย่ รัฐบาลที่แล้วใช้ทรัพยากรด้านสาธารณสุขไปจนหมด รื้อทำลายโครงสร้างด้านการศึกษา, วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ พวกเขาทำลายการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จนทำให้ไม่มีทรัพยากรเหลือสำหรับอาหารโรงเรียน, วัคซีน, ความมั่นคงของรัฐ, การคุ้มครองป่า และการช่วยเหลือทางสังคม"

ฟื้นคืนสวัสดิการ สิ่งแวดล้อม สิทธิชนกลุ่มน้อย

ตั้งแต่ในวันแรกลูลาก็ทำการยกเลิกมาตรการต่างๆ ที่มาจากรัฐบาลของบอลโซนาโร หนึ่งในนั้นคือการยกเลิกนโยบายอาวุธปืนของบอลโซนาโรที่มีการทำให้มาตรการควบคุมอาวุธหย่อนยานลง

ในเรื่องต่อมาคือการที่ลูลาได้นำกองทุนอเมซอนกลับมาอีกครั้ง โดยเป็นกองทุนที่นำงบประมาณจากต่างประเทศมาใช้กับโครงการเพื่อต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าและรักษาสิ่งแวดล้อมของป่าอเมซอนเอาไว้ ในตอนนี้ประเทศผู้ที่สนับสนุนกองทุนป่าอเมซอนคือเยอรมนีและนอร์เวย์ ในช่วงสมัยรัฐบาลบอลโซนาโร ไม่ได้มีการนำงบประมาณส่วนนี้มาใช้เลยจนกระทั่งรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมสมัยบอลโซนาโรคือ ริคาร์โด ซัลเลส์ ได้สั่งยุบคณะกรรมาธิการที่ดูแลจัดการงบประมาณนี้

ทั้งนี้ลูลายังได้อนุมัติให้มีการฟื้นคืนองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง สถาบันบราซิลด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมขาติที่ใช้แล้วทดแทนได้ (IBAMA) ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลบอลโซนาโรเคยสั่งตัดงบประมาณองค์กรนี้อย่างมากจนทำให้มีการลดคณะทำงานลง

นอกจากเรื่องการตั้งหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมกลับมาแล้ว ลูลายังยกเลิกนโยบายทำลายสิ่งแวดล้อมสมัยบอลโซนาโร ที่สนับสนุนให้มีการรุกที่ดินของชนพื้นเมืองในป่าอเมซอนเพื่อตัดไม้ทำลายป่าด้วย และปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานและจัดการระบบนิเวศของบราซิลให้เน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในบราซิลอย่าง "ยั่งยืน" รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กลายเป็นศูนย์ ทั้งยังให้สัญญาว่าจะ "ลดการถางป่าอเมซอนไม่ให้เกิดขึ้นอีกเลย"

ลูลายังได้สัญญาว่าเขาจะแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยของประเทศด้วยการจัดตั้งรัฐมนตรีที่ส่งเสริมเรื่องความเสมอภาคทางเชื้อชาติสีผิว และขยายการเข้าถึงการศึกษามหาวิทยาลัยและการเข้าถึงบริการสาธารณะให้กับชนกลุ่มน้อย รวมถึงนำนโยบายส่งเสริมสุขภาวะ, การศึกษา และวัฒนธรรมของคนผิวสีมาใช้อีกครั้ง

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องปากท้องของประชาชน ลูลาได้ลงนามอนุมัติกฤษฎีกาให้รัฐบาลกลางจัดหาสวัสดิการแก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อยเป็นเงินเดือนละ 600 เรียล (ราว 3,800 บาท) โครงการนี้เคยมีชื่อว่า "บอลซา ฟามิเลีย" (แปลตรงตัวว่าโครงการ "กระเป๋าเงินครอบครัว") ซึ่งมีการนำกลับมาใช้อีกครั้งแต่บอลโซนาโรเปลี่ยนชื่อเป็น "อ็อกซิลลิโอ บราซิล" (แปลตรงตัวว่าโครงการ "ช่วยชาติบราซิล")

ลูลาได้ขยายระยะเวลาของมาตรการลดภาษีน้ำมันออกไปนานกว่าเดิม จากเดิมที่บอลโซนาโรเคยเสนอจะลดภาษีตรงนี้เมื่อปี 2565 ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันลดลงและมาตรการครบกำหนดไปในช่วงสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา แต่ลูลาได้ขยายมาตรการนี้ออกไปอีก 60 วัน สำหรับมาตรการนี้มีคนจำนวนมากผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นมาตรการ "ประชานิยม" และทำให้เกิดข้อโต้แย้งเพราะถูกมองว่าทำให้รัฐบาลกลางสูญเสียทรัพยากร

อย่างไรก็ตามทั้ง 2 มาตรการข้างต้นนี้ยังเป็น "มาตรการเฉพาะกาล" ที่จะมีผลเป็นระยะเวลา 60 วันเพื่อให้เวลาในการหารือและลงมติโดยสภาบราซิลต่อไป

ฝ่ายสนับสนุนบอลโซนาโรพยายามก่อความรุนแรง

ถึงแม้ว่ารัฐบาลของบอลโซนาโรจะบอกว่าพวกเขาให้ความร่วมมือกับการเปลี่ยนผ่านอำนาจสู่รัฐบาลลูลา แต่ตัวบอลโซนาโรเองก็ไม่เคยประกาศยอมรับความพ่ายแพ้อย่างเป็นทางการ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศบราซิลเผชิญกับความรุนแรงจากผู้ประท้วงฝ่ายขวาจัด มีการวางกำลังฝ่ายความมั่นคงเพื่อปฏิบัติการคุ้มกันพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของลูลามากถึงราว 8,000 นาย

ฝ่ายหนุน 'บอลโซนาโร' ไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง ประท้วงปิดทางหลวง-ถนนนอกสนามบิน

เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ในกรุงบราซิลเลีย เจ้าหน้าที่สามารถจับชายคนหนึ่งที่พยายามลักลอบเข้าไปในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของลูลาได้โดยชายคนนี้พกมีดและดอกไม้ไฟเข้าไปด้วย

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 28 ธ.ค. ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดของบราซิลได้สั่งห้ามการพกอาวุธปืนโดยรอบบริเวณเมืองหลวงเป็นเวลา 4 วันในช่วงพิธีสาบานตนยกเว้นกองทัพ, ตำรวจ และยามเอกชน

คำสั่งของศาลดังกล่าวออกมาตามคำร้องจากทีมงานของลูลา หลังจากตำรวจจับผู้ต้องสงสัยวางระเบิดที่มีระเบิดอยู่ในครอบครองได้ที่ท่าอากาศยานนานาชาติบราซิลเลีย ผู้ต้องสงสัยเป็นชายอายุ 54 ปี เจ้าของปั้มน้ำมันที่เป็นผู้สนับสนุนบอลโซนาโรตำรวจระบุว่าผู้ต้องสงสัยต้องการ "ก่อเหตุวุ่นวาย" เพื่อป้องกันไม่ให้ลูลากลับสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี

นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่ผู้สนับสนุนบอลโซนาโรหลายพันคนทำการประท้วงนอกค่ายทหารหลายแห่งทั่วประเทศ โดยผู้ประท้วงเรียกร้องให้กองทัพแทรกแซงการเลือกตั้งที่พวกเขากล่าวหาว่ามีการโกงเกิดขึ้นทั้งที่ไม่มีหลักฐานมา รองรับ

ทางด้านบอลโซนาโรยังประนามถึงการจับกุมผู้พยายามก่อเหตุระเบิดว่า ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่จะพิสูจน์ว่าชายคนที่ถูกจับพยายาม "ก่อการร้าย" นอกจากนี้ยังพูดถึงการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของบอลโซนาโรในวันปีใหม่ว่า "บราซิลจะไม่จบสิ้นในวันที่ 1 ม.ค. คุณไว้ใจได้เลย"

 

เรียบเรียงจาก

Lula da Silva sworn in as Brazil’s president amid fears of violence from Bolsonaro supporters. CNN, 01-01-2023

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Olé,_Olé,_Olé

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท