Skip to main content
sharethis

ปี’66 สหรัฐฯ มีแนวโน้มยกระดับคว่ำบาตรนายพลพม่า และสนับสนุนด้านทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการคร่าชีวิตแก่องค์กรต่อต้านเผด็จการทหาร และเรียกร้องประชาธิปไตย รวมถึง ‘รัฐบาล NUG’ หลังสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับงบฯ ‘BURMA Act’

 

5 ม.ค. 2566 สื่อต่างชาติรายงาน ปี 2566 สหรัฐฯ อาจมีบทบาทมากขึ้นในการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพพม่า และสนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) รวมถึงองค์กรกองกำลังชาติพันธุ์ที่ต่อต้านกองทัพพม่า หลังรัฐสภาผ่านกฎหมายงบประมาณฉบับสำคัญเกี่ยวกับพม่าเมื่อปลายปีที่แล้ว (2565)

กฎหมายเพื่อการสร้างพม่าให้เป็นปึกแผ่นด้วยความรับผิดชอบอย่างเข้มงวดของทหาร (The Burma Unified through Rigorous Military Accountability Act หรือ BURMA Act) ผ่านมติของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 7 ธ.ค. 2565 และผ่านมติของวุฒิสภา เมื่อ 15 ธ.ค. 2565 โดยเป็นส่วนหนึ่งของร่างงบประมาณกลาโหมประจำปี 2566

ปกติแล้ว รัฐสภาของสหรัฐฯ จะมีการพิจารณาจัดสรรงบประมาณกลาโหมเป็นประจำทุกปีมาตัั้งแต่ พ.ศ. 2504 สภาผู้แทนราษฎรเคยผ่านกฎหมายเกี่ยวกับพม่าฉบับนี้แล้วครั้งหนึ่งในปี 2564 แต่ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในชั้นวุฒิสภา หลังจากแก้ไขเนื้อหาอย่างยืดยาวแล้ว จึงมีการเสนอกฎหมายนี้อีกครั้ง และผ่านสภาได้ในช่วงปลายปี 2565

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้ทำการลงนามในกฎหมายงบประมาณก้อนใหญ่สำหรับกระทรวงกลาโหม รวมถึงลงนามในกฎหมายเกี่ยวกับพม่าซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายงบประมาณดังกล่าวแล้ว ส่งผลให้กฎหมายดังกล่าวประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อ 23 ธ.ค. 2565 

โจ ไบเดน

รายละเอียดของกฎหมายระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มอบงบประมาณให้กิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยในพม่าเป็นจำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลอดระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2570 และจะให้งบประมาณช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกว่า 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีงบประมาณ 2566

สำนักข่าวและนักวิเคราะห์หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า การผ่านกฎหมายเกี่ยวกับพม่าฉบับนี้เป็นพัฒนาการที่มีนัยสำคัญ เนื่องจากเป็นเอกสารสำคัญที่สะท้อนท่าทีนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อประเทศเมียนมา โดยในช่วงที่ผ่านมา พม่ายังคงอยู่ในสถานการณ์ต่อสู้ทางการเมืองและการทหาร หลังกองทัพทำรัฐประหารเมื่อ ก.พ. 2564

'ปีที่สดใสขึ้นของ NUG' 

กฎหมายฉบับนี้ระบุว่าจะให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและความช่วยเหลือแบบที่ไม่นำไปสู่การฆ่าชีวิต (non-lethal) แก่องค์กรต้านเผด็จการทหารและเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า องค์กรที่มีการระบุชื่ออย่างชัดเจน ได้แก่ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า และคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (CRPH) เป็นอาทิ

ก่อนการลงนามในกฎหมายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดูหว่า ละชิละ ผู้นำของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า ได้ออกมาแสดงความยินดีและขอบคุณชาวพม่าพลัดถิ่นที่ผลักดันเรื่องนี้อย่างแข็งขันระบุว่า "กฎหมายพม่าฉบับนี้จะให้ความหวังและการสนับสนุนที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อประชาชนของเราที่กำลังดิ้นรนต่อสู้อยู่"

ดูหว่าละชิละ รักษาการประธานาธิบดี รัฐบาล NUG

ขณะที่กองทัพพม่ายังใช้ความรุนแรง​ความช่วยเหลือในรูปแบบที่ไม่นำไปสู่การฆ่าชีวิตถูกตั้งคำถามจากสื่อเมียนมานาวว่าจะมีประสิทธิภาพมากเพียงใด ขณะที่ด้านสื่อดิโพลแมต เห็นว่า กฎหมายฉบับนี้น่าจะช่วยให้ฝ่ายต่อต้านกองทัพทหารมีทรัพยากรเพิ่มขึ้น และเป็นเสาหลักที่นำไปสู่การสนับสนุนและพูดคุยเจรจา และทำให้ "2566 เป็นปีสดใสขึ้นสำหรับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ"

การผ่านกฎหมายฉบับนี้มานับว่าจังหวะพอเหมาะพอเจาะ เพราะพม่ากำลังเข้าสู่ฤดูกาลภูมิอากาศไม่เปียกชื้น ซึ่งเป็นช่วงที่คาดว่ากองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ จะเป็นฝ่ายบุกโจมตีฝั่งกองทัพ และขณะนี้พื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของประเทศอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติแล้ว แม้ส่วนใหญ่ยังเป็นเขตชนบท

แม้กฎหมายฉบับนี้ยังไม่ได้ประกาศว่ารัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเป็นองค์กรที่ชอบธรรมในการปกครองพม่า แต่การเอ่ยชื่ออยู่ในกฎหมายก็นับเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญ และเป็นการสื่อสารด้วยว่าสหรัฐอเมริกาพร้อมเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า ขณะที่อาเซียน ระบุว่าพร้อมพูดคุยกับทุกฝ่าย แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เป็นเช่นนั้น

คว่ำบาตรนายพลทหาร

ที่ผ่านมา อาเซียน เสนอฉันทามติ 5 ข้อ แต่ล้มเหลว เพราะกองทัพพม่าไม่ดำเนินการตามสัญญาที่ให้ไว้ อาเซียนปฏิเสธที่จะพูดคุยกับผู้แทนทางการเมืองของกองทัพพม่านับแต่นั้น แม้ไทยยังคงดึงดันที่นำทหารพม่ามาสู่โต๊ะเจรจา และล้มเหลวก็ตาม นอกจากนี้ อาเซียนยังไม่ได้พูดคุยกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติอย่างเป็นกิจจะลักษณะ 

กองทัพพม่าพยายามแก้เกมด้วยการประกาศจัดเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมาทหารพม่าพยายามแสวงหาความชอบธรรมในเวทีระหว่างประเทศ ด้วยการขอให้ตัวแทนของกองทัพพม่าเป็นตัวแทนของประเทศในองค์การสหประชาชาติ ทว่ามติในเรื่องนี้ก็ถูกเลื่อนออกไป แม้กองทัพพม่าจะพยายามผูกมิตรกับจีน และรัสเซีย

เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) กฎหมายเกี่ยวกับพม่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ฉบับนี้มีส่วนที่พูดถึงผลักดันมาตรการต่อต้านทหารพม่าในองค์การสหประชาติมากขึ้น และเรียกร้องให้รัสเซียและจีนแสดงความรับผิดชอบที่ให้การสนับสนุนเผด็จการทหาร

นอกจากนี้ ยังมีการยกระดับมาตรการต่อการคว่ำบาตรนายพลพม่าโดยแบ่งเป็นประเภทบังคับและประเภทที่ใช้ดุลยพินิจ ในส่วนของประเภทบังคับยังคงเน้นไปที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลทหารพม่าเป็นรายบุคคล โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะต้องเร่งดำเนินการคว่ำบาตรภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศใช้กฎหมาย  

ในส่วนที่ใช้ดุลยพินิจ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่ได้กำหนดว่าจะคว่ำบาตรบุคคลหรือองค์กรหน่วยงานใด และอาจไม่ได้ให้น้ำหนักการคว่ำบาตรไปที่ 'ท่อน้ำเลี้ยงสำคัญ' ในความเห็นของนักกิจกรรมและองค์กรสิทธิ เช่น Myanmar Oil and Gas Enterprise หรือ MOGE รัฐวิสาหกิจซึ่งคาดว่าสร้างรายได้สูงถึงปีละ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

อย่างไรก็ตาม กฎหมายเกี่ยวกับพม่าฉบับนี้ถูกออกแบบมา เพื่อพยายามยับยั้งไม่ให้กองทัพพม่าได้รับอาวุธหรือความชอบธรรม สกัดไม่ให้ธุรกิจของเครือข่ายสภาบริหารแห่งรัฐ ประกอบกิจการนอกประเทศได้ และยังบีบให้รัฐบาลของไบเดน ต้องคว่ำบาตรนายพลพม่า และกลุ่มผู้สนับสนุนที่บ่อนทำลายสถาบันประชาธิปไตย

การประชุมผู้นำอาเซียน เมื่อ เม.ย. 2564 เพื่อหาทางแก้ไขวิกฤตการเมืองพม่า หลังทำรัฐประหาร

สนับสนุนประชาสังคม-กองกำลังชาติพันธุ์

กฎหมายเกี่ยวกับพม่าฉบับนี้ไม่ได้สนับสนุนเฉพาะรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือยกระดับการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่าเท่านั้น แต่ให้การสนับสนุนองค์กรกองกำลังชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร และโครงการขององค์กรประชาสังคมด้วย

ขณะที่องค์กรกองกำลังชาติพันธุ์บางกลุ่มก็ไม่ได้สนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ กลุ่มชาติพันธุ์อย่างเป็นทางการ 135 กลุ่ม และรัฐของชาติพันธุ์ 7 แห่งให้การสนับสนุนแก่กองกำลังต่อต้านกองทัพพม่า แต่กลุ่มเหล่านี้ก็ยังคงขาดเอกภาพ และความเห็นไม่ตรงกันในหลายเรื่อง

กฎหมายเกี่ยวกับพม่าฉบับนี้อาจเป็นโอกาสไปสู่การเจรจากันระหว่างองค์กรกองกำลังชาติพันธุ์เหล่านี้ ผ่านการจัดสรรงบประมาณให้กับกองทุนส่งเสริมการปกครองแบบสหพันธรัฐนิยม และกองทุนสนับสนุนความสมานฉันท์ระหว่างชาติพันธุ์ 

อีกด้านหนึ่ง กฎหมายฉบับนี้ยังให้การสนับสนุนแก่องค์กรประชาสังคมและขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย โดยมีงบประมาณในการคุ้มครองนักโทษการเมือง ส่งเสริมให้ทหารแปรพักตร์ออกจากกองทัพ รวมถึงการสืบสวนสอบสวนและบันทึกการละเมิดสิทธิมนุษยชน  

ข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP เมื่อ 4 ม.ค. 2566 พบว่า ปัจจุบันมีผู้ถูกฝ่ายความมั่นคงพม่าจับกุมไปแล้ว 16,897 ราย ได้รับการปล่อยตัวแล้ว 3,517 คน ยังอยู่ในการควบคุมตัวหรือต้องโทษจำคุก 13,356 คน และเสียชีวิตแล้ว 2,701 คน ด้านองค์กรสื่อก็แสดงความกังวลว่าเสรีภาพสื่อในพม่าถดถอยลงอย่างน่าใจหาย 

 

 

หากนับตั้งแต่การรัฐประหารโดย พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า เมื่อ 1 ก.พ. 2564 ขณะนี้วิกฤตการณ์ในพม่ากำลังจะเข้าสู่ปีที่ 3 น่าจับตาว่าบทบาทของสหรัฐฯ หลังการผ่านกฎหมายงบประมาณฉบับนี้ จะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นได้หรือไม่และอย่างไร  

 

แปลและเรียบเรียงจาก

https://www.irrawaddy.com/news/burma/us-approves-new-myanmar-legislation-to-support-nug-and-resistance-forces.html?fbclid=IwAR3qfRgB2s2d8M3QJFl3Bi_HzasR5497DdviTpSOAGTtZhEYskMoHKcTrLY

https://myanmar-now.org/en/news/us-senate-passes-defence-bill-authorising-sanctions-against-myanmar-military-and-aid-for

https://thediplomat.com/2022/12/myanmars-nug-welcomes-the-passage-of-the-u-s-burma-act/

https://www.irrawaddy.com/news/burma/myanmars-nug-praises-passage-of-us-burma-act.html

https://elevenmyanmar.com/news/president-joe-biden-signs-the-national-defense-authorization-act-ndaa-which-includes-the-burma

https://aappb.org/
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net