สุรพศ ทวีศักดิ์: ปรัชญาเคียร์เคอการ์ดกับปรัชญาสิทธัตถะ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมไม่มีพื้นความรู้ดีพอเกี่ยวกับปรัชญาของซอเรน เคียร์เคอการ์ด (Søren Kierkegaard, 1813-1855) นักปรัชญาชาวเดนมาร์ก บทความนี้เขียนจากที่อ่าน “เคียร์เคอการ์ด ฉบับกระชับ” ของแพทริก การ์ดิเนอร์ แปลโดยพุทธิพงศ์ อึงคนึงเวช และภาคิน นิมมานนรวงศ์ และจากที่ฟังคลิปบรรยาย “Existentialism ของ Kierkegaard” โดยสมภาร พรมทา (https://www.youtube.com/watch?v=5fvKzANaB74) จึงเป็นเพียงข้อเขียนเชิงแลกเปลี่ยนจากที่อ่านและฟังตามที่อ้างอิงนี้เป็นหลัก 

งานแปลและการบรรยายดังกล่าวบอกเราว่า เคียร์เคอการ์ดเสนอความคิดปรัชญาด้วยวิธีการที่เป็นแบบฉบับของตนเอง ซึ่งไม่ใช่การเขียนงานปรัชญาในรูปแบบที่ตั้งคำถามปัญหาพื้นฐานเพื่อเสนอแนวคิด และข้อโต้แย้งต่างๆ อย่างเป็นระบบเหมือนนักปรัชญาชื่อใหญ่ๆ ทั่วไป และเสนอในบริบทของการวิพากษ์สถานการณ์คริสต์ศาสนา และปัญหาทางญาณวิทยาที่ว่าประสาทสัมผัสและเหตุผลนำไปสู่ความจริงที่มั่นใจได้หรือไม่ 

ตามการบรรยายของสมภาร เคียร์เคอการ์เห็นว่าคริสต์สาสนาแบบที่คนส่วนใหญ่นับถือกันในยุคนั้นเป็น “ศาสนามวลชน” (mass religion) ศาสนาเช่นนี้เน้นอัตลักษณ์รวมหมู่ หรือตีกรอบให้คิด เชื่อ และทำอะไรเหมือนๆ กัน จึงเป็นศาสนาที่กดทับความเป็นปัจเจกบุคคลในการคิดและตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง เขาเห็นว่าคริสต์ศาสนาแบบดั้งเดิมเป็น “ศาสนาปัจเจก” (individual religion) คือ คือศาสนาในแบบที่เราแต่ละคนมีปฏิสัมพันธ์กับพระเจ้าโดยตรง ซึ่งทำให้เราเผชิญหน้ากับพระเจ้า, ศรัทธาของตนเอง, และความย้อนแย้งในสถานการณ์ที่ต้องเลือกโดยตรง เราจึงเป็นผู้เลือกศรัทธา หรือคุณค่าความหมายของชีวิตในแบบของตนเอง ทำให้เราซื่อสัตย์และรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองเลือก

ใน “เคียร์เคอการ์ด ฉบับกระชับ” พุทธิพงศ์เกริ่นนำว่า เคียร์เคอการ์ดไม่เห็นด้วยแนวทางการได้มาซึ่งความรู้และความจริงด้วยการใช้เหตุผลและประสบการณ์ (ประสาทสัมผัส) ความรู้และความจริงทั้งสองแบบเป็นเพียงมุมมองแบบสังเกตการณ์จากภายนอก (ความรู้หรือความจริงเป็นบางสิ่งที่แยกจากผู้สังเกตหรือผู้ที่รู้) แต่ “ความไร้เหตุผล” และ “ความย้อนแย้ง” ต่างหากที่ทำให้เราเข้าถึงความจริงหรืออธิบายกระบวนการรู้ความจริงได้ดีกว่า โดยเคียร์เคอการ์อธิบายกระบวนการเข้าถึงความจริงผ่าน “ความไร้เหตุผล” และ “ความย้อนแย้ง” ด้วยการยกตัวอย่างเรื่องเล่าใน Genesis 22 ของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า อับราฮัมชายที่ศรัทธาในพระเจ้าอย่างแรงกล้าและเชื่อว่าพระองค์จะมอบสิ่งที่ดีที่สุดแก่เขาเสมอ แต่แล้ววันหนึ่งพระเจ้ากลับสั่งให้เขานำอิซักลูกชายคนเดียวขึ้นไปบนเทือกเขาโมรายอาห์เพื่อเชือดคอบนแท่นบูชาพระเจ้า แต่เสี้ยววินาทีที่ฮับราฮัมกำลังเงื้อมีดสังหารลูกของตนเอง พระเจ้าปรากฏต่อหน้าเขาพร้อมนำอิซักคืนให้ โดยถือว่าเป็นผลตอบแทนที่เขาแสดงถึงการมีศรัทธาแน่วแน่ต่อพระองค์อย่างแท้จริง

ตามมุมมองของเคียร์เคอการ์ด การตัดสินใจเลือกของอับราฮัมต้องเผชิญและก้าวข้ามความไร้เหตุผลและความย้อนแย้งหลายระดับ เช่น พระเจ้าที่เป็นตัวแทนความจริงและความดีสูงสุดที่ตนเชื่อว่าทรงมอบแต่สิ่งที่ดีแก่ตนเสมอ เหตุใดจึงสั่งให้ทำสิ่งชั่วร้ายและต้องห้าม ความขัดแย้งระหว่างบทบาทของพ่อกับผู้ศรัทธาศาสนา ความรู้สึกภายในที่สั่นคลอนว่าจะทำตามศรัทธาในพระเจ้า หรือทำตามความรักที่พ่อมีต่อลูก อีกทั้งแรงกดดันที่ต้องปกปิดภรรยา และการถูกตัดสินจากครอบครัว ญาติมิตร และบรรทัดฐานศีลธรรมทางสังคมที่รับไม่ได้กับการวางแผนฆ่าลูกตนเองเป็นต้น แต่ในที่สุดอับราฮัมตัดสินใจเลือกศรัทธาในพระเจ้า ซึ่งตามการตีความของเคียร์เคอการ์ดหมายความว่า 

“ศรัทธาที่แน่วแน่ของอับราฮัมเป็นผลลัพธ์ของการก้าวข้ามความไร้เหตุผล หรือความขัดแย้งทางความรู้สึกในหลายระดับ และความไร้เหตุผล รวมถึงความขัดแย้งทางความรู้สึกในมิติต่างๆ นี้เองที่มีส่วนผลักภาวะภายในของอับราฮัมให้ ‘เคลื่อนที่’ สู่ดินแดนทางจิตวิญญาณแห่งใหม่” (หน้า xxvi)

ควรเข้าใจว่า สำหรับเคียร์เคอการ์ด การเลือกของเราไม่ใช่การเลือกความจริงหรือคุณค่าที่เป็นภาววิสัย (objective) การเลือกของเรามีนัยสำคัญว่ามันทำให้เรา “กลายเป็น” (becoming) บางสิ่งที่เราเลือก ดังนั้น การเข้าถึงความจริงหรือคุณค่าบางอย่าง ก็คือการที่เรากลายเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่เราเลือก และนี่คือ “ความจริง” หรือ “คุณค่า” ที่เราสร้างขึ้นสำหรับตนเอง ซึ่งเป็นความจริงหรือคุณค่าเชิงอัตวิสัย (subjective) หรือความจริงในความหมายที่ว่า “ความเป็นมนุษย์สำหรับตัวข้าพเจ้าเอง สำหรับตัวท่านเอง และสำหรับตัวเขาเอง” (หน้า 82)

คำอธิบายการเลือกของอับราฮัมสะท้อนว่า มนุษย์เรามักเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องเลือก ซึ่งเมื่อถึงที่สุดแล้วความรู้หรือหลักการที่ได้มาจากการใช้เหตุผลและประสบการณ์ไม่อาจตัดสินได้ชัดเจนเด็ดขาดว่าเราควรเลือกทางใดจึงถูกต้องที่สุด ในสถานการณ์เช่นนี้ศรัทธาที่แน่วแน่อันเป็นผลลัพธ์ของการก้าวข้ามสภาวะไร้เหตุผลและความย้อนแย้งคือสิ่งนำทางการตัดสินใจเลือกของเรา นั่นคือ เราต้องใช้เสรีภาพเลือกสิ่งที่เราศรัทธาหรือเชื่อมั่นและพร้อมรับผิดชอบต่อผลที่ตามมา

ประเด็นเดียวกันนี้ สมภารตีความว่าตามความคิดแบบเคียร์เคอการ์ดแล้ว ไม่ว่าอับราฮัมจะเลือกทำตามคำสั่งของพระเจ้า หรือเลือกไม่ทำตามคำสั่งนั้นก็ไม่มีทางเลือกใดผิด ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอหลักของเคียร์เคอการ์ดที่ว่า “การมีพันธะผูกมัดต่อวิถีชีวิตแบบคริสต์เตียน ก็เหมือนกับการมีพันธะต่อวิถีชีวิตรูปแบบอื่น กล่าวคือ เมื่อวิเคราะห์ถึงที่สุดแล้ว มันย่อมเป็นเรื่องการตัดสินใจของปัจเจกเอง เป็นสิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบด้วยตนเอง...” (หน้า 241) ซึ่งเราเข้าใจต่อได้ว่า ถ้าอับราฮัมเลือกทำตามคำสั่งของพระเจ้า ก็คือเขาเลือกให้ตนเองกลายเป็นผู้รักษาศรัทธาที่แน่วแน่ หรือเขาเลือกให้ชีวิตตนเองมีความหมายหรือคุณค่าแบบนั้น และเขาก็ต้องรับผิดขอบต่อผลที่ตามมา (หากไม่เกิดปาฏิหาริย์) คือการสูญเสียลูกชายคนเดียวที่ตนรัก การรับมือกับความเจ็บปวดของตนเองและภรรยา คำพิพากษาจากสังคมและกฎหมาย แต่ถ้าเขาเลือกรักษาชีวิตลูก ก็คือเขาเลือกความหมายของการเป็นพ่อที่ปกป้องชีวิตลูกให้กับตนเอง และต้องรับผิดชอบต่อการสูญเสียศรัทธาในพระเจ้าหรือความเสี่ยงที่จะตกนรก แต่ในสองทางเลือกนั้น เราไม่อาจใช้หลักเหตุผลอธิบายให้เห็นได้ว่าทางเลือกใดดีหรือถูกต้องกว่าอย่างเป็นภาววิสัย เพราะการเลือกและผลของการเลือกเป็นความจริงหรือคุณค่าเชิงอัตวิสัยของผู้ที่เลือกแต่ละคน

ในบทสรุปของงานแปลเล่มนี้พูดถึง “การเลือกที่สุดโต่งหรือขั้นสูงสุด” (radical or ultimate choice) ตัวอย่างการเลือกของอับราฮัมน่าจะจัดเข้าในความหมายนี้ หรืออีกนัยหนึ่งน่าจะหมายถึงการเลือกในความหมายของปรัชญา existentialism ที่ว่า “ปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพในการเลือกอย่างสัมบูรณ์” เพราะภายใต้สถานการณ์ใดๆ ก็ไม่ทำให้เราสูญเสียเสรีภาพในการเลือกได้จริง เช่น แม้พระเจ้าจะทรงอำนาจสัมบูรณ์ แต่ก็บังคับให้อับราฮัมทำตามคำสั่งไม่ได้ ในทางกลับกัน ภรรยา ญาติมิตร กฎหมายและสังคมก็ห้ามอับราฮัมไม่ได้ เพราะไม่ว่าการทำตามคำสั่งหรือปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งของพระเจ้าล้วนเกิดจากการใช้เสรีภาพในการเลือกของอับราฮัมเอง

สมภารมองว่าปรัชญาเคียร์เคอการ์ดและ existentialism มี “คุณูปการมาก” ต่อการศึกษาพุทธปรัชญา ตอนท้ายของการบรรยาย เขาเปรียบเทียบการเลือกแบบอับราฮัมกับเวสันดรไว้เล็กน้อย โดยทั่วไปชาดกเวสสันดรมีการตีความหลายแบบ แบบกระแสหลักมุ่งปลูกฝังศรัทธาในพุทธะว่ากว่าจะตรัสรู้เป็นพุทธะผู้ปล่อยวางทุกอย่างได้ต้องผ่านการเสียสละได้ทุกอย่าง หรือมุ่งใช้ประโยชน์ทางการเมืองโดยชนชั้นปกครองตามทฤษฎีกษัตริย์โพธิสัตว์ และแบบกระแสรอง คือการตีความเชิงวิพากษ์ปัญหาหลักการทางจริยธรรมแบบเวสสันดรว่าใช้ลูกเมียเป็นเครื่องมือในการทำความดีเพื่อบรรลุเป้าหมายตามความเชื่อส่วนตัวของตนอย่างไร และมีนัยสำคัญต่อความเชื่อทางจริยธรรมแบบพุทธกระแสหลักในสังคมไทยอย่างไร และถอดรื้อบรรทัดฐานชายเป็นใหญ่ในเวสสันดรชาดกว่ามีนัยสำคัญสนับสนุนวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในสังคมพุทธแบบไทยอย่างไรเป็นต้น 

แต่การตีความเวสสันดรจากมุมมองปรัชญาเคียร์เคอการ์ดและ existentialism แบบสมภารตีความยังมีน้อย ซึ่งผมจะอธิบายเสริมตามการตีความของตนเองต่อไปนี้

ขณะที่อับราฮัมเลือก “ศรัทธาในพระเจ้า” แต่เวสสันดรเลือก “โพธิศรัทธา” คือความเชื่อว่ามนุษย์มีโพธิหรือพุทธภาวะ หรือศักยภาพทางปัญญาที่สามารถรู้ความจริงที่ทำให้เป็นพุทธะได้ (ความเชื่อที่ว่า “มนุษย์มีโพธิหรือพุทธาวะในตนเอง” ก็คล้ายกับความเชื่อของนักปรัชญากรีกที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตที่มีเหตุผล”) 

ตามเรื่องเล่าในไตรปิฎก โพธิสัตว์คือคนที่มีศรัทธาแน่วแน่ว่าตนเองจะเป็นพุทธะได้ แต่ยังไม่รู้วิธีที่จะเป็น จึงเลือกลองผิดลองถูกหลายวิธี แต่ละวิธีที่เลือกมักจะเป็นการเลือกแบบสุดโต่ง เช่น บางชาติโพธิสัตว์เป็นดาบสที่สมาทาน “ขันติ” มีกษัตริย์มาทดสอบว่าเขามีขันติแน่วแน่จริงหรือไม่ วิธีทดสอบคือตัดจมูก หู มือ แขน ขาไปเรื่อยๆ ไม่ยอมหยุดจนกว่าดาบสจะบอกว่า “เลิกทำตามความเชื่อในขันติแล้ว” แต่จนลมหายใจสุดท้าย ดาบสก็ยังยืนยันว่าตนเชื่อในขันติ นี่คือการเลือกให้ตนเองกับสิ่งที่เชื่อเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งเป็นการเลือกที่สุดโต่งและไร้เหตุผลในสายตาคนทั่วไป 

แน่นอนว่า ถ้าเราอ่านเรื่องเล่าโพธิสัตว์ในชาดกต่างๆ “ระหว่างบรรทัด” ย่อมเข้าใจได้ว่าโพธิสัตว์เผชิญกับความย้อนแย้งและความไร้เหตุผลหนักหน่วงอย่างไรบ้าง ทั้งความย้อนแย้งภายในใจ กับความกดดันจากคนอื่นๆ และสังคม

เวสสันดรก็เช่นกัน เมื่อตั้งปณิธานจะให้ทานทุกสิ่งที่มีคนมาขอ เขาต้องเผชิญกับความไร้เหตุผลและความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นในใจตนเองและจากคนอื่นๆ และสังคม เช่น มีทั้งคนที่สนับสนุนและเห็นแย้ง มีทั้งผู้คนที่แห่มาขอทรัพย์สินต่างๆ มีทั้งผู้คนที่ต่อต้าน ผลของการเลือกเช่นนั้นคือถูกเนรเทศไปอยู่ป่ากับลูกเมีย กระนั้นยังมีคนตามไปขอลูกสองคนไปเป็นทาส แถมเฆี่ยนตีต่อหน้าต่อตา ในฐานะพ่อย่อมเผชิญกับความเจ็บปวดสุดๆ และยังต้องรับมือกับความโศกเศร้าของมัทรีที่สูญเสียลูก แต่แล้วก็ยังมีคนมาขอเมียอีกจนได้ ซึ่งเวสสันดรก็ยังเลือกทำตามสิ่งที่ตนเชื่อ แม้ว่าเรื่องจะจบแบบแฮ๊ปปี้เอ็นดิ่ง คือลูกทั้งสองถูกปู่ย่าไถ่ตัวกลับวัง พระอินทร์ที่แปลงตัวเป็นพราหมณ์ก็คืนมัทรีให้ 

ถ้ามองแบบเคียร์เคอการ์ด ชาดกเวสสันดรคือเรื่องเล่าที่สะท้อนให้เห็น “พันธะผูกมัดต่อวิถีชีวิตที่ปัจเจกบุคคลใช้เสรีภาพเลือกและรับผิดชอบด้วยตัวเขาเอง” เป็นการเลือกของปัจเจกบุคคลผู้ซื่อสัตย์ต่อความเชื่อของตนเอง ซึ่งเป็นการเลือกที่ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่เขาเลือก กรณีอับราฮัมผลของการเลือกก็คือการกลายเป็นผู้ศรัทธาต่อพระเจ้าอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นความหมายของศรัทธาที่เขาได้พิสูจน์หรือทำให้เป็นจริงด้วยการก้าวข้ามสถานการณ์ของความไร้เหตุผลและความย้อนแย้งต่างๆ ที่เขาเผชิญ ผลของการเลือกแบบเวสสันดร ก็คือการกลายเป็นผู้ให้ทานอย่างปราศจากเงื่อนไข ซึ่งเป็นความหมายของผู้ให้ทานที่เขาได้พิสูจน์หรือทำให้เป็นจริงด้วยการก้าวข้ามความไร้เหตุผลและความย้อนแย้งต่างๆ ที่ตนเผชิญ 

แต่หากตีความอีกแบบ เรื่องเล่าเกี่ยวกับ “การเลือกแบบสุดโต่ง” ของโพธิสัตว์อาจเทียบได้กับช่วงชีวิตแสวงหาของสิทธัตถะ อันเป็นช่วงชีวิตที่เขาเลือกเรียนรู้และทดลองใช้ชีวิตตามความเชื่อทางศาสนาแบบต่างๆ ที่ตนเชื่อว่าจะทำให้เป็นพุทธะได้ ซึ่งหลายๆ ทางเลือกล้วนสุดโต่ง เช่น เลือกตัดขาดความรักลูกที่เพิ่งเกิด ความรักภรรยา สายใยผูกพันในครอบครัว ปฏิเสธการเดินตามครูอาจารย์ เลือกการทรมานร่างกายตนเองเจียนตาย แต่เมื่อทำตามทางที่ตนเลือกนั้นๆ เต็มที่แล้วพบว่ามันไม่ทำให้กลายเป็นพุทธะได้จริง ก็เปลี่ยนทางเลือกใหม่เรื่อยๆ เลือกแม้แต่ทางเลือกที่ไม่มีใครเอาด้วยอีกแล้ว แม้แต่ศิษย์ห้าคน (ปัญจวัคคีย์) ก็หมดความเชื่อถือและจากไป จนพบทางเลือกที่ทำให้กลายเป็นพุทธะได้จริงในที่สุด ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ของตนเองที่ไม่ใช่การเลือกเดินตามทางของใครที่ทำให้เกิดความจริงหรือคุณค่าใหม่ของตนเอง อันเป็นผลของการผ่านสถานการณ์ที่ไร้เหตุผล และความย้อนแย้งเจ็บปวดสารพัดจนก้าวข้ามได้ นี่คือปรัชญาสิทธัตถะที่เชื่อในการใช้เสรีภาพในการเลือกและรับผิดชอบต่อชีวิตตนเอง เมื่อมองจากมุมมองแบบเคียร์เคอการ์ดและ existentialism   

วิจารณ์

เคียร์เคอการ์ดตั้งคำถามต่อศาสนาแบบมวลชนที่หล่อหลอมให้ผู้คนเชื่อ คิด และทำแบบเดียวกัน หรือตามๆ กัน ซึ่งทำให้เราสูญเสียความเป็นปัจเจก ตกอยู่ในภาวะของการเป็น “ศพที่เดินได้” เพราะไม่ได้ใช้เสรีภาพในการเลือก “ความเป็นมนุษย์” ของตนเองอย่างแท้จริง นอกจากนี้เขายังวิจารณ์ว่าความจริง ความรู้ หรือคุณค่าเชิงภาววิสัยที่ได้มาจากการใช้เหตุผลและประสาทสัมผัสก็ไม่ได้ช่วยให้ปัจเจกบุคคลเข้าถึงความจริงหรือคุณค่าเชิงอัตวิสัยของชีวิตตนเอง ดังข้อโต้แย้งที่ว่า

“...(การที่ปัจเจกบุคคล) แทนที่ตนเองด้วยคำที่เป็นนามธรรมไร้จุดหมาย เช่น ‘มนุษยชาติ’ หรือ ‘สาธารณชน’ ย่อมทำให้เขาปฏิเสธความรับผิดชอบต่อตนเอง เพราะเขากลายเป็นกระบอกเสียงของสาธารณะ ศาสตราจารย์ก็เป็นกระบอกเสียงของการคาดคะเนโดยใช้ทฤษฎี บาทหลวงกลายเป็นกระบอกเสียงของการใคร่ครวญทางศาสนา คนกลุ่มนี้ต่างก็ยอมทำตามสิ่งนามธรรมที่สร้างความเป็นจริงแบบลอยๆ ขึ้นมา แทนที่จะเผชิญหน้ากับข้อเท็จจริงที่ว่า สุดท้ายแล้วทุกคนก็ต้องรับผิดชอบต่อชีวิต นิสัย และทัศนคติของตนเอง พวกเขากลับปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ไปอยู่ในดินแดนปลอมๆ ที่ปั้นความคิดและหลักการขึ้นมาเป็นตัว” (หน้า 78-79)

หากคิดตามข้อความข้างบน การที่โพธิสัตว์หรือสิทธัตถะสมาทานคุณค่าตามความเชื่อต่างๆ หรือเลือกเดินตามแนวทางของลัทธิความเชื่อต่างๆ นั่นย่อมไม่ใช่การเลือกเป็นตัวเองหรือเลือกรับผิดชอบชีวิตตนเองอย่างแท้จริง จนในที่สุดเมื่อเลือกทางของตนเองได้จึงกลายเป็นพุทธะ 

ผมคิดว่าปรัชญาเคียร์เคอการ์ดกับปรัชญาสิทธัตถะให้ความสำคัญสูงสุดกับการใช้เสรีภาพในเลือกและรับผิดชอบชีวิตตนเองเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่การใช้เสรีภาพในการเลือกแบบเคียร์เคอการ์ด ไม่ใช่การเลือกเพื่อจุดหมายที่แน่นอนแบบใดแบบหนึ่ง เช่น การเข้าถึงพระเจ้า หรือการกลายเป็นพุทธะเป็นต้น แต่เป็นการใช้เสรีภาพในการเลือกความหมายหรือคุณค่าชีวิตตนเองของปัจเจกแต่ละคน ซึ่งย่อมจะแตกต่างกัน เพราะความหมายหรือคุณค่าชีวิตเป็นความจริงเชิงอัตวิสัยที่แต่ละคนสร้างขึ้นสำหรับตัวเขาเองในสถานการณ์ชีวิตของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน แต่การใช้เสรีภาพในการเลือกและรับผิดชอบแบบปรัชญาสิทธัตถะมีจุดหมายที่แน่นอน คือการกลายเป็นพุทธะตามโพธิศรัทธา แต่เนื่องจากสภาวะของการเป็นพุทธะหรือภาวะตื่นรู้ที่ทำให้มีอิสรภาพด้านในย้อนแย้งกับความเป็นจริงในสถานการณ์ชีวิตมนุษย์ทั่วไปโดยพื้นฐาน การจะกลายเป็นพุทธะได้ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเผชิญสถานการณ์ของความไร้เหตุผลและความย้อนแย้งต่างๆ ในบริบทของสถานการณ์ชีวิตปัจเจกแต่ละคน จนกว่าเขาจะพบทางของตนที่ทำให้มีอิสรภาพด้านในได้จริง

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแบบเคียร์เคอการ์ดที่ว่าความจริง คุณค่า และความหมายของชีวิตเป็นอัตวิสัยของปัจเจกแต่ละคน ที่เกิดจากการที่เขาใช้เสรีภาพในการเลือกและรับผิดชอบชีวิตของตนเอง เป็นข้อเสนอที่มีเหตุผล แต่ก็ไม่ใช่ข้อเสนอที่หักล้างความจริง ความรู้ หรือคุณค่าเชิงภาววิสัยที่ได้มาจากการใช้เหตุผลและประสบการณ์ได้จริง เพราะการมีชีวิตอยู่ในสภาวการณ์จริงของโลก เราไม่สามารถเผชิญปัญหาต่างๆ ที่ซับซ้อนด้วยมุมมองความจริงเชิงอัตวิสัยเท่านั้น เช่น เราไม่สามารถเผชิญการระบาดของไวรัสโควิดด้วยมุมมองความจริงเชิงอัตวิสัยของแต่ละคนเท่านั้นได้ เพราะเราต้องมีวิธีการรับมือร่วมกันของมวลชน หรือในระดับนโยบายสาธารณะ และต้องผลิตวัคซีนและเครื่องมืออื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพจริงเชิงภาววิสัย หรือแม้แต่การใช้เสรีภาพในการเลือกและรับผิดชอบชีวิตตนเองของปัจเจกแต่ละคนที่สะท้อน “ความจริงเชิงอัตวิสัยที่แตกต่างและหลากหลาย” ก็ย่อมจำเป็นต้องมีคุณค่าเชิงนามธรรมที่ถือเป็น “หลักการทั่วไป” บางอย่างที่ทุกคนควรยึดถือร่วมกัน เช่น หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม หรือเสรีภาพปัจเจกบุคคล เสรีภาพทางการเมือง หรือหลักความยุติธรรมสาธารณะ เป็นต้น  

อีกอย่าง สถานการณ์ชีวิตจริงที่ปัจเจกบุคคลเผชิญในปัจจุบัน ก็ซับซ้อนกว่าสถานการณ์ที่สิทธัตถะดีลกับพุทธภาวะในตัวเองในบริบทสังคมศาสนาโบราณ และสถานการณ์ที่อับราฮัมดีลกับพระเจ้าจากมุมมองในบริบทสังคมยุคเคียร์เคอการ์ดมาก เพราะปัจเจกบุคคลในปัจจุบันต่างดีลกับ “พระเจ้าทุนนิยม” ศาสนา หรือจิตวิญญาณทางศาสนา จิตวิญญาณทางวิชาการและอื่นๆ ต่างก็ซื้อขายกันปกติในตลาดทุนนิยม หรือที่จริงวิถีชีวิตปัจเจกบุคคลแทบทุกมิติต่างถูกครอบงำและกำกับด้วยคุณค่าและกลไกตลาดของพระเจ้าทุนนิยม เราจะใช้เสรีภาพในการเลือกและรับผิดชอบชีวิตตนเองอย่างเป็นจริงได้อย่างไร หากขาดการสร้างมิติมวลชน หรือความร่วมมือในการสร้างหลักการ กติกา หรือระบบกลไกคาน, ต้าน หรือไม่ก็ยกเลิกระบบอำนาจของพระเจ้าทุนนิยมไปเสียหากสามารถทำได้ เพื่อให้การใช้เสรีภาพในการเลือกและรับผิดชอบชีวิตตนเองของปัจเจกบุคคลเป็นไปได้ในความเป็นจริง แทนที่ชีวิตปัจเจกที่กล้าใช้เสรีภาพและความรับผิดชอบเช่นนั้นจะเป็นเพียง “ภาพตัวแทนชีวิตในจินตนาการโรแมนติก” ที่ถูกวาดขึ้นมาแทนที่หลักการสาธารณะนามธรรมตามที่เคียร์เคอการ์ดวิจารณ์

 

ที่มาภาพ https://teol.ku.dk/skc/english/about-soeren-kierkegaard/the-global-dane-soeren-kierkegaard-teologian-philosopher-author/soeren-kierkegaard/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท