Skip to main content
sharethis

มูลนิธิ HRDF เรียกร้องรัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างฯ ของภาครัฐ เหตุโครงการก่อสร้างของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคภูเก็ต มูลค่า 210,000,000 บาท ละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติชาวพม่า จำนวน 16 ราย โดยการค้างจ่ายค่าแรงและจ้างเหมาช่วงแรงงาน

 

6 ก.พ. 2566 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ย. และ 17 พ.ย. 2565 เจ้าหน้าที่มูลนิธิ HRDF ได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติชาวพม่า จำนวน 16 ราย โดยการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต ว่า บริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งหนึ่งของโครงการก่อสร้างอาคาร ณ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดภูเก็ต ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงาน พ.ศ.2541 โดยการค้างจ่ายค่าจ้างคนงาน และปัญหาการจ้างงานแรงงานข้ามชาติแบบรับจ้างเหมาช่วง (Sub-Contract )

ข้อมูลจากฝ่ายลูกจ้างพบว่า โครงการก่อสร้างแห่งนี้มีกิจการร่วมค้าหนึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง ด้วยจำนวนเงินทั้งสิ้น 210,000,000 บาท (สองร้อยสิบล้านบาท) และมีการบริหารจัดการโครงการอันมีลักษณะเป็นการรับจ้างเหมาช่วง จากการตรวจสอบทางมูลนิธิ HRDF พบว่า ผู้รับเหมาช่วง ได้ละเมิดสิทธิด้านแรงงาน โดยไม่จ่ายค่าจ้างในระหว่างวันที่ 22 มิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม 2565

มูลนิธิ HRDF ได้ช่วยเหลือให้แรงงานร้องเรียนและทำหนังสือส่งพยานหลักฐานไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานเรียกกิจการร่วมค้าเข้ามาร่วมรับผิด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 12 กำหนดว่า กรณีที่นายจ้างเป็นผู้รับเหมาช่วงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ผู้รับเหมาชั้นต้นต้องร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาช่วงด้วย ในกรณีนี้ผู้รับเหมาชั้นต้นต้องรับผิดชอบจ่ายค่าจ้าง ตลอดจนเงินอื่นๆ ให้แก่ลูกจ้างทั้ง 16 รายด้วย

ต่อมาวันที่ 9 ม.ค. 2566 ตัวแทนกิจการร่วมค้าซึ่งเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นได้ขอเจรจาไกล่เกลี่ยกับฝ่ายลูกจ้าง และได้วางเงินค่าจ้างไว้ให้พนักงานตรวจแรงงาน ฝ่ายลูกจ้างภายหลังจากตรวจสอบรายละเอียดค่าจ้างค้างจ่ายและตกลงไกล่เกลี่ย จึงเดินทางไปที่สำนักงานสวัสดิการฯ และได้ทำบันทึกการรับเงินค่าจ้างค้างจ่ายจากกิจการร่วมค้า เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 98,200 บาท เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา

มูลนิธิ HRDF แสงดความเห็นว่า รัฐบาลควรมีนโยบายให้งานหรือธุรกิจ เคารพ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิมนุษยชนของแรงงานและแรงงานข้ามชาติ ตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน แต่หน่วยงานของรัฐกลับไม่ยึดถือปฏิบัติตามหลักการดังกล่าว โดยพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 8 นั้นได้กำหนดไว้แต่เพียงว่า การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐนั้นต้องก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานของรัฐ และสอดคล้องกับหลักการคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลและตรวจสอบได้ในกระบวนการจัดซื้อ จัดจ้าง แต่มิได้กำหนดให้มีการตรวจสอบในเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานไว้ด้วย ทั้งไม่ปรากฏว่ารัฐบาลและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ได้กำหนดนโยบายดังกล่าวไว้  จึงทำให้เกิดกรณีการละเมิดกสิทธิของแรงงานหลายกรณี โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ในโครงการก่อสร้างของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ และพนักงานทำความสะอาดในหน่วยงานของรัฐ

ดังนั้น มูลนิธิ HRDF ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยกำหนดนโยบายอย่างชัดเจนให้หน่วยงานของรัฐ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ ดำเนินกิจการบนพื้นฐานของการเคารพ ส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิด้านแรงงานของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ และมีมาตรการตรวจสอบที่เข้มงวดและได้ผล เพื่อประกันว่านายจ้างที่เป็นผู้จัดขาย จัดหา รับจ้างหรือรับเหมางานหรือกิจการจากหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างเคร่งครัด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net