Skip to main content
sharethis

สนทนาคลับเฮาส์ ครป. '#แบม #ตะวัน #มนุษยธรรม บนเส้นทางสู่ #ประชาธิปไตย' นักกิจกรรมแกนนำกลุ่มราษฎร หวังตุลาการจะใช้วิธีการเปิดพื้นที่การพูดคุย แทนที่จะไปลิดรอนสิทธิคนเห็นต่างด้วยการถอนประกัน

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2566 ครป. ได้จัดกิจกรรมการสนทนาบนแอปพลิเคชั่นคลับเฮาส์ ในหัวข้อ '#แบม #ตะวัน #มนุษยธรรม บนเส้นทางสู่ #ประชาธิปไตย' โดยมีผู้นำการสนทนาประกอบด้วย แทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ และธัชพงศ์ แกดำ แกนนำราษฎร ดำเนินการสนทนาโดย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป. 
    
กิจกรรมการสนทนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการแลกเปลี่ยนมุมมองในด้านมนุษยธรรมท่ามกลางสถานการณ์ความเห็นต่างทางการเมือง จากกรณีที่อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ “แบม” กับทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ “ตะวัน” 2 นักกิจกรรมผู้อยู่ระหว่างการถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 ที่ได้ตัดสินใจยื่นขอถอนประกันตัวเอง และยกระดับมาตรการแสดงการประท้วงต่อปัญหากระบวนการยุติธรรมที่มีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาทางการเมืองจำนวนมากถูกคุมขังในเรือนจำโดยที่คดียังไม่ถึงที่สุด ประสบปัญหาในการขอประกันตัวเพื่อสู้คดีประหนึ่งว่าเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการพิพากษาความผิดและเป็นอาชญากรรมร้ายแรง ด้วยการตัดสินใจ “อดอาหารและน้ำ” (Dry Fasting)ในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. เป็นต้นมา 
    
ธัชพงศ์ แกดำ แกนนำราษฎร กล่าวว่า การต่อสู้ด้วยวิธีการอดอาหารของแบมและตะวันนั้น เกิดขึ้นมาจากความตั้งใจของน้องทั้ง2คนเอง ซึ่งพวกตนก็คาดไม่ถึงเหมือนกัน แต่ก็คิดกันไว้ว่ามันก็ยากที่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงบังเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาผู้มีอำนาจไม่เคยฟังคนตัวเล็กตัวน้อยเลย กระนั้นการที่เราๆมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง หรือแม้แต่เข้าสู่เส้นทางการเมืองเองเหมือนอย่าง “พี่อี้” (แทนคุณ จิตต์อิสระ) เราเห็นอยู่ว่าการเมืองไทยมันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ในวันนี้ แต่เราก็หวังว่าวันหนึ่งมันจะต้องเปลี่ยนแปลงได้ ก็ต้องสู้กันต่อไป ส่วนข้อเสนอและมาตรการประท้วงของตะวันและแบม ก็เชื่อว่าน้องก็คงคิดไว้แล้วว่าเป็นไปได้ยาก แต่ก็ยังต้องการที่จะลงมือทำให้ถึงที่สุด ด้วยคาดหวังว่ามันจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าน้องจะหยุดการอดข้าวอดน้ำ เรากลุ่มราษฎรก็จะดูแลกัน ไม่ทิ้งกัน แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับวิธีการ อดข้าวอดน้ำที่น้องเลือกมาแต่แรก แต่เราเองก็ไม่รู้หรอกว่า แล้วจะมีวิธีอื่นใดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างตอนที่ลุงจำลอง (พลตรีจำลอง ศรีเมือง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำสมาพันธ์ประชาธิปไตย ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535) อดอาหารประท้วง (คัดค้านการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา คราประยูร) หลายคนขอร้อง โน้มน้าวไม่ให้ลุงจำลองทำวิธีนี้ ด้วยความห่วงใย ลุงจำลองตอบว่า “ไม่ต้องมาคุยกัน ถ้าจะบอกให้ตนหยุด” ในสถานการณ์นี้ หลายคนก็เสนอกับตะวันและแบม แต่การเสนอทางเลือกไม่ใช่การเสนอให้ลดเพดาน เพราะถ้ากลายเป็นการไปด้อยค่าวิธีการที่น้องตัดสินใจเลือก ก็จะเป็นปัญหา เราต้องเข้าใจว่า คนที่ตัดสินใจที่จะทำวิธีการแบบนี้มาแล้ว เราไปพยายามหยุดเขาไม่ได้จริงๆ ยิ่งถ้าเราไปพยายามหว่านล้อมเขามากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งกลายเป็นการแสดงความไม่เชื่อมั่นในตัวเขา ไม่เชื่อใจ ไม่เคารพการตัดสินใจ การที่เราจะไปมองว่าเขายังเด็ก จึงทำอะไรไม่คิด ก็ดูจะไม่ถูกต้อง 

ทางราษฎรจึงทำอยู่ 3 หลัก 1. เราเคารพการตัดสินใจของน้อง เพราะราษฎรเองก็สู้มาหลายวิธีการแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ เมื่อน้องเลือกที่จะเชื่อมั่นในวิธีการนี้ เราก็ต้องเคารพ 2. เราอยู่ให้กำลังใจ 3. เราจะสานต่อเจตนารมณ์สิ่งที่ตะวันและแบมกำลังทำ นี่คือสิ่งที่ทางราษฎรได้ลงมือทำ ผ่านกิจกรรมต่างๆ คู่ขนานกันไป แม้ถ้าวันนี้ตะวันและแบมจะตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ทุกคนก็ไม่มีปัญหา ทั้งพร้อมเดินหน้าสนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่เป็นของตะวันและแบม (1.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2.ยุติการดำเนินคดีประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง 3.พรรคการเมืองทุกพรรคต้องเสนอนโยบายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา112และ116) ต่อไป ส่วนตน ถ้าตนเป็นศาล (ตุลาการ) ตนจะใช้วิธีการเปิดพื้นที่การพูดคุย แทนที่จะไปลิดรอนสิทธิคนเห็นต่างด้วยการถอนประกัน หรือถ้าตนเป็นรัฐ ตนจะใช้วิธีการพูดคุย แทนการปราบปรามคุกคามด้วยความรุนแรง เราต้องมองว่าปรากฏการณ์นี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามกาลเวลา แต่ถ้าเราไปมองเป็นความขัดแย้ง มันก็จะถูกจัดการด้วยความรุนแรงหรือกฎหมาย 
    
อย่างไรก็ตาม ก็อยากให้คนหนุ่มสาวเหล่านี้ได้เข้าใจว่า สิ่งที่หลายคนสะท้อนออกมาต่อวิธีการที่แบมและตะวันเลือก ล้วนแต่เป็นเรื่องของความปรารถนาดี เพราะไม่มีใครอยากเห็นแบมและตะวันต้องตาย
    
ด้านแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ ได้สะท้อนความรู้สึกว่า การต่อสู้ของแบมและตะวันเป็นความกล้าหาญที่หาได้ยากจริงๆ ตนเองยังทำไม่ได้ขนาดนี้ ที่ยอมถึงขนาดเลือกวิธีสู้ที่เดิมพันด้วยชีวิตตนเอง ตนติดตามอย่างใกล้ชิด ฟังบทสัมภาษณ์คุณพ่อคุณแม่ของน้องๆ แล้ว ก็เข้าถึงได้ในความรู้สึกของคนเป็นพ่อเป็นแม่ เพราะตนก็มีลูกเหมือนกัน ทั้งทุกวันนี้ลูกของตนก็รู้สึกเขินๆที่จะบอกว่าพ่อของตนเป็นใคร ไม่ได้รู้สึกภูมิใจอย่างแต่ก่อน ตนจึงขอใช้โอกาสนี้ชื่นชมและสดุดีในความกล้าหาญของน้องทั้ง2คน รวมถึงน้องๆคนอื่นที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง ในฐานะที่ตนก็เคยเป็นเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ทำกิจกรรมด้วยมุ่งหวังจะเห็นประเทศนี้ดีขึ้น และการที่ตนเข้ามาทำงานการเมือง ก็มาด้วยความรู้สึกเดียวกันนี้ เพียงแต่การเดินทางเราเลือกทางไม่เหมือนกัน ตนอยากสดุดีน้องทั้ง 2 ที่เสียสละ คิดถึงประเทศชาติมากกว่าตนเอง และสิ่งที่ตนอยากเห็นคือ เวทีในการพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน ส่วนสิ่งที่ตนไม่อยากเห็นเลยคือ การที่พอพูดกันแล้ว ต้องแบ่งขั้วกันทันที แบบถ้ากูหาจังหวะเล่นงานมันได้ กูต้องเล่นงานมัน เพราะแม้วันนี้สถานภาพเราจะต่างกัน มันก็ไม่ได้แปลว่าเราต้องเห็นต่างกันทุกเรื่อง เพียงแต่แต่ละคนมีเหตุผลในการแสดงออกท่าทีบางเรื่องที่แตกต่างกัน 

อย่างตนเอง ถ้ามีอะไรที่ตนต้องเคลื่อนไหว โดยต้องออกจากสถานภาพนักการเมือง ตนก็พร้อม เพราะตนก็อยู่ในการเมืองมาจนเริ่มเกิดความรู้สึกแล้วว่ามันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ คือการเปลี่ยนแปลงมันอาจต้องการยุทธศาสตร์ ลำพังเพียงการเข้ามาเป็นนักการเมือง นักเคลื่อนไหว มันทำได้เพียงสะกิดผิวการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ อาจต้องมีประชาชนเห็นด้วยจำนวนมาก และต้องมีอำนาจบางอย่างเช่นการลุกขึ้นพร้อมกันของประชาชน อำนาจของราชการที่พร้อมจะร่วมมือกับประชาชน และเป็นอำนาจจากการรู้สึกถูกกดขี่ กดทับที่รุนแรงมากๆ ตนดีใจมากที่ “ต้อง” (วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ ผู้ดำเนินการสนทนา) ได้มองเห็นว่าการเอาคนที่ถูกวางไว้ว่าเห็นต่างมาคุยกัน โดยมีการวางกติกาต่างๆ ในการพูดคุย เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ถ้ามันขยายผลในเชิงกายภาพมากขึ้น ก็จะดีมากที่จะให้คนที่เห็นต่างได้มานั่งคุยกันในกติกาที่รับกันได้ ไม่มุ่งโจมตีกัน ตั้งคำถามโดยเคารพบนจุดยืนที่แตกต่าง 
    
และในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ตนไม่อยากเห็นน้องทั้ง 2 คนที่ควรมีอนาคตอีกยาวไกลจะต้องมาเสียชีวิตลงอย่างแน่นอน ถ้าอธิษฐานได้ ก็อยากขอให้พวกเขาได้รับการรักษาฟื้นฟูให้เร็วที่สุด เพราะตนได้ฟังที่พระพยอม (พระราชธรรมนิเทศ) เล่าถึงการที่ท่านได้พบกับ “เพนกวิน” (พริษฐ์ ชีวรักษ์) ผู้ซึ่งเคยใช้วิธีการประท้วงด้วยการอดอาหารมาก่อน ท่านบอกว่าท่านเห็นหลายอย่างในตัวเพนกวินที่ไม่เหมือนเดิม เพราะการอดอาหารเช่นนี้ มีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว 
    
แทนคุณยังกล่าวอีกว่า ในบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมือง การโจมตี เย้ยหยัน ด้อยค่าคนที่คิดต่าง มันย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้จากทั้ง 2 ฝ่ายเป็นปกติ แต่ถ้ามันถึงจุดที่ใครสักคนยอมแลกด้วยชีวิตตนเอง ถึงจุดที่เป็นเรื่องความเป็นตายของใครสักคน เราไม่ควรมองเป็นเรื่องเล่นๆที่จะเอามาด้อยค่ากันแล้ว บรรยากาศที่เอาเรื่องของแบมและตะวันในเวลานี้มาเย้ยหยัน สบประมาทกันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เราไม่ควรปล่อยให้ความเชื่อทางการเมืองของตัวเรามาทำลายจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ของตนเองด้วยการมองว่าชีวิตของคนที่เห็นต่างเป็นชีวิตที่ไร้คุณค่า 
    
ด้านวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป. ได้กล่าวสรุปว่า ตนคาดหวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้ สังคมควรจะมี “ประชาธิปไตย” “สิทธิมนุษยชน” และ “มนุษยธรรม” เป็นคุณค่าหลักของการอยู่ร่วมกัน อยู่เหนืออุดมคติทางการเมือง (Ideology) ทั้งปวง ทุกคนสามารถมีกลุ่มองค์กร มีพรรคการเมืองที่ขับเคลื่อนอุดมคติทางการเมือง สังคม วัฒนธรรมจารีตตามแนวที่ตนเชื่อ แล้วให้ประชาชนสามารถเลือกสนับสนุน บริจาคเงิน จ่ายค่าสมาชิกให้กับองค์กร พรรคการเมืองที่รณรงค์ในแนวทางที่ตนเห็นด้วยกันได้อย่างเสรี หากสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ความเห็นต่างจะไม่ถูกทำให้เป็นปีศาจที่ต่างฝ่ายต่างจะต้องหาทางกำจัด ทำลายล้างกันโดยไร้มนุษยธรรมกันอีกต่อไป 

สำหรับในสถานการณ์เฉพาะหน้าที่กำลังมีชีวิตของเด็กเยาวชนเป็นเดิมพันนั้น จึงขอเสนอว่าคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานโดยตำแหน่ง ซึ่งขณะนี้ตำแหน่ง รมว.พม. เป็นตำแหน่งในโควตาของพรรคประชาธิปัตย์ที่แทนคุณสังกัดอยู่ จะต้องออกมามีบทบาทในการดำเนินมาตรการเพื่อคุ้มครอง ช่วยเหลือ เยียวยาผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาที่เป็นเด็ก เยาวชนโดยด่วน และขอให้คณะกรรมการสมานฉันท์ซึ่งแต่งตั้งโดยชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ดำเนินการให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ในการพูดคุยเพื่อหาทางออกให้กับสถานการณ์การเห็นต่างทางการเมืองอย่างจริงจัง แทนการปล่อยให้ฝ่ายรัฐมุ่งใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือควบคุมความขัดแย้งที่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net