Skip to main content
sharethis

เสวนาภูมิรัฐศาสตร์  'อนุสรณ์ ธรรมใจ' เสนอนโยบายเป็นกลาง-ผลประโยชน์แห่งชาติ 'ปรีดา เตียสุวรรณ์' ชี้ไทยต้องรับแรงงานข้ามชาติแก้ปัญหาประชากรถดถอย ให้ความสำคัญภาวะโลกร้อน 'โคทม อารียา' แนะเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยสร้างบทบาทไทยในอาเซียนรับมือความขัดแย้งของมหาอำนาจในภูมิรัฐศาสตร์โลก

12 มี.ค. 2566 สภาที่ 3 (The Third Council Speaks) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าที่ห้องสีดา โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ สภาที่ 3 ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 จัดเสวนา "ความสำคัญของภูมิรัฐศาสตร์ กับเศรษฐกิจและการเมืองประเทศไทย" กล่าวเปิดอภิปรายโดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN), รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ดำเนินรายการและร่วมอภิปราย

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 กล่าวเปิดงานว่า ขณะที่ประเทศไทยจะเข้าสู่การเลือกตั้ง ทุกพรรคการเมืองมุ่งหาเสียงแต่ละเลยการพูดถึงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างจีนจับมือกับอินเดีย และที่ผ่านมาไทยถูกครอบงำโดยชาติตะวันตก ดังนั้น นักลงทุน พ่อค้า หรือรัฐบาล เหมือนอยู่ระหว่างเขาควาย หรือทางสองแพร่ง อยู่ระหว่างอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจ เพราะฉะนั้นการค้าขายหรือลงทุนจึงต้องเข้าใจขั้วอำนาจในโลกและการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจต่างๆ ด้วย

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าขบวนการภูมิรัฐศาสตร์ของโลกเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐบาลหน้าจะเผชิญ 4 ปัญหา 1) เศรษฐกิจชะลอตัว เกิดจากปี 2551 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในชาติตะวันตก ต่อเนื่องวิกฤตโควิด-19 และชาติตะวันตกต่างแก้ปัญหาแบบเดียวกันคือ ทุ่มเงินให้ประชาชน เมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงอย่างไม่ลดละ ธนาคารชาติตะวันตกเลือกขึ้นดอกเบี้ยลดเงินเฟ้อ จึงเป็นการใช้นโยบายการเงินแก้เป็นหาผิดพลาด เพราะปัญหาเกิดจากนโนยาบายการคลัง คือเอานโยบายการเงินไปแก้ปัญหานโยบายการคลัง จึงทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว การค้าระดับโลกลดลง อย่างจีน ส่งออกลดลงกว่า 6% และนำเข้าลดลงกว่า 10%

2) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเทียบกับรัสเซีย โดยรัสเชียแม้โดนแซงชั่นจากหลายประเทศ แต่รัสเซียส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็นของโลก ประคองได้ยาวกว่า แต่สหรัฐทุ่มเงินให้ยูเครนในการทำสงครามยูเครน ขณะที่ประเทศยุโรปซื้อก๊าสจากรัสเซียในราคาต่ำกว่าราคาโลกถึง 1 ใน 10 หรือมีต้นทุนใช้ก๊าซต่ำ แต่เมื่อเกิดสงครารัสเซียรุกรานยูเครน ชาติยุโรปแซงชั่นโดยยกเลิกซื้อก๊าซรัสเซีย ทำให้ต้นทุนก๊าซในครัวเรือนยุโรปสูงขึ้นก่อนมีสงครามรัสเซีย-ยูเครนแล้วถึง 40% ดังนั้น ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกสูงขึ้น กระทบคนไทยเพราะรัฐบาลเปลี่ยนเพดานราคาก๊าซหุงต้มปัจจุบัน โดยนำไปโยงกับก๊าซของประเทศซาอุดีอาระเบีย หากราคาก๊าซในตลาดโลกสูงขึ้น ราคาก๊าซหุงต้มในไทยสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ แม้รัสเซียจะประสบปัญหาในการหาลูกค้ามาซื้อน้ำมันสำเร็จรูป แต่ชาติยุโรปที่แซงชั่นรัสเซียก็แย่งกันซื้อน้ำมันตามราคาตลาดโลกและจะทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเเพงขึ้นอีกด้วย ซึ่งกระทบกับประเทศไทยแน่นอนเช่นกัน อีกทั้ง ราคาอาหารก็จะสูงขึ้น จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่ง 2 ประเทศนี้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ของโลก รวมส่งออกข้าวบาร์เลย์ 29% ขณะน้ำมันดอกทานตะวันส่งออก 79% ของโลก

3) โลกการค้าแบ่งเป็น 2 ค่าย ตะวันออกกับตะวันตกคือสหรัฐกับจีน ซึ่งจีนเร่งขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากไทยจะค้าขายกับจีน ควรกำหนดการใช้เงินดิจิทัลหยวนของจีน ตลอดจนพัฒนาการขนส่งสินค้าทางบกไทย-จีนโดยเร่งด่วน

4) ปัญหาเรื่องโลกร้อน ที่ประเทศตะวันตกโดยเฉพาะยุโรปจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่ผลิตจากประเทศที่มีการปล่อยคาร์บอนเยอะ หมายความว่าประเทศใดมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้ามากก็จะต้องเสียตรงนี้และมันจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังยุโรป เพราะว่าประเทศไทยยังผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในสัดส่วนที่มากอยู่

"เพื่อไม่ให้ประเทศไทยวิ่งตามปัญหาเหมือนรัฐบาลแก้ปัญหาโควิด-19ที่ผ่านมา จึงขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองตระหนักถึงปัญหาในเรื่องของ Geopolitics และมีนโยบายที่จะเสนอประชาชนเพื่อรับมือปัญหานี้อย่างไร" นายธีระชัย กล่าว

นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN) ระบุถึงปัญหาโลกร้อนที่ทั้งโลกยังไม่แก้ปัญหาหรือให้ความสำคัญอย่างจริงจัง โดยเห็นว่ารัฐบาลไทยและทั่วโลกควรดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ เกี่ยวกับ "การเสริมสร้างวิธีการดำเนินการและฟื้นฟูความเป็นหุ้นส่วนระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" ที่กำหนดโดยสหประชาชาติในปี 2558 เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม แล้วนักการเมืองในไทยควรใช้ประเด็นนี้ในการหาเสียงด้วยเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นมติสากลของโลกรวมถึงจะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้ด้วย

นายปรีดา ย้ำถึงปัญหาประชากรถดถอยหรือสังคมสูงอายุ  ปัญหาสงครามเย็นรอบใหม่ โดยยืนยันว่า การแก้ปัญหาประเทศไทย ต้องสร้างสันติภาพขึ้นมาก่อน คือหยุดต่อสู้ทางการเมืองหรือหาเสียงด้วยประชานิยม ที่จะสร้างปัญหาให้ประเทศภายหลัง ด้านนโยบายต้องมองการเติบโตที่ยั่งยืน มองประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ควรมองประขาชนเป็นเหยื่อ

สำหรับปัญหาการถดถอยของประชากรนั้นปัจจุบันเหลือราว 66 ล้านคน ลดลงราว 600,000 คนต่อปี มีผู้สูงวัย 20% หรือราว 15 ล้านคน กระทบวัยที่จะเป็นแรงงานในอนาคต ท่ามกลางประเทศต่างๆ ที่ประชากรเพิ่มขึ้นสวนทางกับไทย สำหรับไทยจึงยากที่จะมีการลงทุนโดยเฉพาะจากต่างชาติ  และไทยเองยังช่วยตัวเองไม่ได้ มีทางเดียวคือ ต้องยอมให้มีการอพยพแรงงานต่างชาติเข้ามา เหมือนกับ สิงคโปร์และ ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ซึ่งไทยยังโชคดีที่ถูกล้อมล้อมด้วยประเทศที่มีวัฒนธรรมและศาสนาที่คล้ายๆ กันเป็นแรงงานได้

"ต้องให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติแถวลุ่มแม่น้ำโขงนี่แหละ เราก็จะได้กลุ่มคนที่มีคุณภาพที่จะสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกันกับเราอย่างมีความสุขได้ และไม่น่าจะมาสร้างปัญหาอะไรให้มากมาย เพราะฉะนั้นนโยบายที่อยากฝากนักการเมืองไป คือขอให้ใช้นโยบายในการที่จะแก้ปัญหาที่ปัญหาเป็นตายของประเทศไทยคือเรื่อง ประชากรถดถอย จาก 70 ล้านคนหรือ 66 ล้านคนหายไปปีละ 600,000 คน จึงไม่มีทางเลือก ท่านต้องเอาคนต่างประเทศเข้ามาอยู่"

นายปรีดา มองว่าสงครามรัสเซียรุกรานยูเครน ส่งผลให้เงินเฟ้อเกิดทั่วโลก กระทบคนจำนวนมาก และยังฉุดจีนเข้าสู่สงครามเย็น เพราะจีนจำเป็นต้องสนับสนุนรัสเซีย ด้วยเหตุ 2 ประการคือ ดินแดนรัสเซียมีทรัพยากรต่างๆ 30% ของโลกขณะที่จีนมีพลเมืองมากที่สุดในโลก มีอาหารไม่เพียงพอ จึงต้องพึ่งพาทรัพยากรและอาหารจากรัสเซีย กับประการที่ 2 คือเรื่อง ขีปนาวุธ หัวรบที่ตกค้างจากสงครามเย็นมีกว่า 13,000-14,000 ลูก เหลือมากที่สุดในโลก ซึ่งยังไม่ถูกทำลายทิ้ง และจีนรู้ตัวเองว่าต้องประจัญหน้าหรือแข่งขันเศรษฐกิจการค้ากับสหรัฐอเมริกาที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์เหนือกว่า จีนจึงต้องพึ่งด้านอาวุธจากรัสเซียเพื่อถ่วงดุลอำนาจการมหารของสหรัฐอเมริกาด้วย จึงอาจเป็นภาวะสงครามเย็นรอบใหม่ขึ้น ซึ่งยังไม่ค่อยมีคนตระหนักเพราะโลกห่างจากสงครามเย็นมาหลายสิบปี

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าไทยต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดในเวทีโลกทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม และสิ่งที่ประเทศไทยต้องการมากที่สุดคือพลเมืองซึ่งมีความกระตือรือร้น active citizen ซึ่งต้องขยายพลังให้มากขึ้น เพื่อมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมกับพลวัตใหม่ของโลก เพราะอาจจะเกิดสงครามเย็นรอบใหม่ระหว่างมหาอำนาจสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งต่างขยายอำนาจมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่จีนเติบโตขึ้นและสหรัฐอเมริกาพยายามจะปิดล้อมจีน แม้การต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์สิ้นสุดลงหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย แต่การแข่งขันเชิงดุลอำนาจนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้

รศ.ดร.อนุสรณ์ เสนอว่า 1) ท่ามกลางความขัดแย้งการต่อสู้การแข่งขันในเชิงอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นประเด็นสำคัญที่ไทยจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศต้องยึดมั่นในความเป็นกลางและการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด การเคารพคุณภาพแห่งดินแดน โดยไม่จำเป็นและไม่ควรต้องเลือกข้าง เพราะไทยไม่ได้เป็นประเทศใหญ่ ไม่ได้มีกองกำลังทหารยิ่งใหญ่ เศรษฐกิจก็พัฒนาในระดับกลางๆไม่ได้ไม่ได้โดดเด่นอะไรมาก ดังนั้น สถานะจึงต้องคบกับทุกคน และยืนหยัดในหลักการที่ถูกต้องคือ สันติภาพ

2) ไทยต้องยึดผลประโยชน์แห่งชาติและไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อขั้วที่มีความขัดแย้งกัน ต้องยึดหลักความเป็นจริงว่าอะไรก็ตามที่กระทบกับคนไทย กระทบผลประโยชน์ของชาติไทยเราไม่ทำ แต่ต้องแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการลุกราน เคารพหลักบุรณภาพแห่งดินแดนหรือต้องพร้อมประนามการรุกรานประเทศอื่น และบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทางการฝึกของไทยต้องทำมากกว่าที่เป็นอยู่คือต้องหาข่าวเชิงลึกด้วย นอกเหนือจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

"ไม่ใช่ไม่ประนามทั้งที่มันควรต้องประนาม เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตอนนี้เข้าใจว่ากระทรวงต่างประเทศเริ่มกลับลำมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว หลังจากที่เสียศูนย์ไประยะหนึ่งในช่วงแรกประเด็นนี้มันก็เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศ ถ้าเราวางสถานะไม่ถูกต้องเราก็อาจจะได้รับผลกระทบได้ ทูตของไทยไม่ใช่ทำงานเรื่องการเจริญความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการหาข่าวให้ประเทศด้วยว่าลึกๆแล้วมันเป็นยังไง กระบวนการการตัดสินใจของแต่ละประเทศของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะมหาอำนาจเป็นอย่างไร..เราก็ต้องวางสถานะให้มันถูกต้องเพื่อให้เราได้ประโยชน์"

"เราก็ต้องมองอนาคตให้มันชัดว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นยุโรป เมื่อยุโรปจะเกิดปัญหา ในเชิงยุทธศาสตร์เราต้องเป็นเพื่อนกับประเทศในเอเชียมากขึ้น ต้องเปิดตลาดและเพิ่มการค้าเพิ่มการลงทุนในเอเชียมากขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าสงครามในยุโรปจะจบเมื่อไหร่ จะยืดเยื้อขนาดไหน ซึ่งจะยืดเยื้อแน่นอน เพราะรัสเซียไม่ได้รบกับยูเครนประเทศเดียว แต่มีประเทศยุโรปและอเมริกาอื่นหนุนหลัง และจีนที่เหมือนไม่เลือกข้างแต่สนับสนุนรัสเซียเป็นนัย " รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

รศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมให้ความเห็นในงานเสวนา ระบุว่าจุดยืนของรัฐไทยต่อสงครามรัสเซียรุกรานยูเครนนั้น อยากจะเห็นไทยมีบทบาทมากกว่านี้ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไทยมีบทบาทไทยลดลง เนื่องจากปัญหาความไม่เป็นเสรีประชาธิปไตย แต่หากผู้มีอำนาจขยับจากอำนาจนิยมอนุรักษ์นิยมไปสู่เสรีประชาธิปไตยให้มากขึ้นตามที่พูดได้จริง คือเปิดพื้นที่ให้แก่เสรีประชาธิปไตยมากขึ้น บทบาทของประเทศไทยในอาเซียนอาจจะโดดเด่นขึ้นได้ ดังนั้นในระดับภูมิศาสตร์ควรมุ่งทำให้อาเซียนองค์กรที่มีความสามารถที่จะประสานงานหลายฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมถือว่าทำได้ระดับหนึ่งแล้ว การแก้ปัญหาต่างๆไม่ว่ากรณีพิพาทที่ไต้หวันหรือในทะเลจีนใต้ อาเซียนควรขอให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะประเทศจีนไม่ตัดสินด้วยการใช้กำลังทหารและอาวุธสงคราม

ขณะเดียวกันต้องสร้างความไว้ใจกันให้มากขึ้นการแข่งขันการทางการค้าสู้การหรือนโยบายระหว่างประเทศโดยมุ่งหาหาพันธมิตร แต่อย่าไปถึงกับสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นการทำให้ไต้หวันรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือการทำให้ประเทศใดอาเซียนรู้สึกไม่สบายใจ ถ้าหากจีน จะขยายอิทธิพลมากเกินไปขณะที่ไทยเป็นประเทศเล็ก แต่ถ้ารวมกับอาเซียนแล้วก็มีขอบเขตการดำเนินการต่างๆได้ น่าจะสามารถดูทิศทางแล้วก็รับมือกับภัยคุกคามได้ แต่เสียดายที่การหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เป็นการนำเสนอเพื่อผู้รับสารที่กว้างที่สุดมุ่งเอาใจคนที่คิดว่าน่าจะเอาใจ เพื่อที่จะได้คะแนนกลับคืนมา ยังไม่ค่อยเห็นการพูดถึงยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาประเทศ หรือภัยคุกคามระยะยาวอย่างภาวะโลกร้อนและความเหลื่อมล้ำ

"การเลือกตั้งเนี่ยขอพื้นที่สำหรับประเด็นโครงสร้าง ประเด็นระยะยาวและเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย อย่าเพียงแค่หวังชัยชนะในการเลือกตั้งเพียงไม่กี่เดือนนี้ แต่ละเลยเป้าหมายระยะยาวของประเทศและของโลก" รศ.ดร.โคทม กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net