Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“วันนี้ผมงงมาก ธนาธรออกมาโจมตีเพื่อไทย ที่คนบอกว่าก้าวไกลเหมือนประชาธิปัตย์ ผมว่าก็ชักเหมือนขึ้นทุกวัน”

คำพูดของโทนี่ วู้ดซัม ใน Care Talk ตอกย้ำความร้าวฉานระหว่าง 2 พรรค “ฝ่ายประชาธิปไตย” โทนี่ไม่ใช่คนแรกที่ตั้ง “ข้อหาร้ายแรง” นี้ แต่เป็นครั้งแรกที่ยกขึ้นมาพูดเป็นทางการ

ขออภัยพรรคประชาธิปัตย์ การตั้งข้อกังขาว่า ก้าวไกลเหมือนประชาธิปัตย์ขึ้นทุกวัน เป็นข้อหาร้ายแรงขยะแขยงยอมรับไม่ได้

ขนาดอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พูดเปรียบเปรยในทางชื่นชม (เพราะไอติมก็อยู่ก้าวไกล) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ยังสะดุ้งโหยง เหมือนโดนแมลงสาบเกาะไหล่

ก้าวไกลไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ไม่เคยบอยคอตเลือกตั้ง ไม่เคยหนุนรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ มีแต่ต่อต้านสืบทอดอำนาจสุดจิตสุดใจ ไม่ใช่พรรคอนุรักษนิยมตั้งแต่ก่อตั้ง คลอดออกมาก็ “ตะโกนในโรงหนัง ตรงกันข้ามชูอุดมการณ์ Liberal จนถูกหาว่าเป็นหัวโจกชังชาติ ยุบพรรคอนาคตใหม่ก็เกิดม็อบสามนิ้วทะลุเพดาน เลือกตั้งครั้งนี้ก็ชูปฏิรูปโครงสร้าง

งั้นทำไมก้าวไกลโดนตั้งข้อหาร้ายแรง “เหมือนประชาธิปัตย์ขึ้นทุกวัน” ถ้ามองจากฝั่งแบกเพื่อไทยคือไม่พอใจ “เอาดีใส่ตัว” ยกตนข่ม ก้าวหน้ากว่า กล้าหาญกว่า ทะลุทะลวงกว่า กล้าเสนอแก้ 112 ขณะเดียวกันก็หาเสียงแบบ “คนดี” ไม่ใช้เงินเยอะ ขอบริจาค ไม่พึ่งหัวคะแนน ไม่ดูดบ้านใหญ่

ก็อย่างที่ธนาธรวิพากษ์พรรคต่างๆ ดูดบ้านใหญ่ ซึ่งอันที่จริงพูดในหลักการ ไม่เฉพาะเพื่อไทย แต่ก็โดนเต็มๆ ในวันที่สมศักดิ์ สุริยะ “กลับบ้าน” ทั้งที่สี่ปีก่อน “รัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อเรา” วันนี้ “ฟ้าเปิดแล้ว”

พูดในภาพรวม ทำใจเถอะ ทั้งสองพรรคแตกต่างตั้งแต่ต้น ยิ่งเข้าสู่เลือกตั้ง ยิ่งต้องช่วงชิงฐานเสียงกัน จะละเว้นได้อย่างไร เพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคใหญ่ได้เปรียบในระบบเลือกตั้งบัตรสองใบหารร้อย เปิดปฏิบัติการจิตวิทยา “แลนด์สไลด์“ เรียกร้องให้เลือกเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อไทยพรรคเดียวเท่านั้น “ไม่เลือกเพื่อไทยทั้งสองใบได้ประยุทธ์กลับมา”

ในแง่ปฏิบัติการจิตวิทยา มันคือ “ล้อมปราบ” พรรคฝ่ายค้านด้วยกัน ซึ่งในสมรภูมิเลือกตั้งไม่ผิดหรอก แต่อีกฝ่ายก็ต้องตีโต้ฝ่าวงล้อม เมื่อเพื่อไทยมีจุดแข็งเรื่องปากท้อง ก้าวไกลก็ตีจุดอ่อนคือความไม่วางใจว่าเมื่อได้อำนาจไปจากประชาชนแล้ว จะใช้อำนาจนั้นเจรจาต่อรอง “ทำดีล” กับอำนาจอนุรักษ์ และจัดสรรแบ่งปันในกลุ่มนักการเมือง อย่างไร

ซึ่งอันที่จริง ยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยต้องการให้เพื่อไทยชนะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล แล้วหวังให้ก้าวไกลได้ ส.ส.อย่างน้อยใกล้เคียงเดิม เพื่อกดดันอำนาจอนุรักษ์และ “จี้ตูด” เพื่อไทย

แต่การเลือกตั้งไม่มีใครกำหนดเจตจำนงประชาชนให้ออกมาตามคาดได้ เหมือนพรรคลุงตกปลาในบ่อจืด อาจมีปลาตายลอยทะเลภาคใต้เป็นเบือ ไม่ว่าฝั่งไหน

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่อยู่ในช่วงเลือกตั้ง เพื่อไทยก้าวไกลก็อยู่บนวิถีต่างกันชัดเจน พูดง่ายๆ สั้นๆ เพื่อไทยเป็นพรรค “ประชาธิปไตยกินได้” ของคนชนบทคนเหนือคนอีสาน ก้าวไกลเป็นพรรคของคนชั้นกลางในเมืองฝั่งเสรีประชาธิปไตย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เติบโตในโลกออนไลน์

พูดอีกอย่างเป็น “สองนครา” ในฝ่ายประชาธิปไตย ทำให้ “ฝั่งแบกเพื่อไทย” มองอย่างไม่วางใจว่าก้าวไกล “ติ่งส้ม” จะกลายเป็น “สลิ่มเฟสสอง”

มองอย่างไม่ไว้ใจคนชั้นกลางในเมืองเกินไปไหม?

ธรรมชาติของคนชั้นกลางในเมือง หรือจะเรียกว่าจริต ไม่ใช่สิ่งผิดที่จะรังเกียจการซื้อเสียง หรือการเมืองบ้านใหญ่ ระบบอุปถัมภ์ ทุนท้องถิ่น อยากเห็น ส.ส. เป็นคนชั้นกลางระดับเดียวกัน คนมีการศึกษา เข้าไปทำงานในสภาแบบประชาธิปไตยตะวันตก มากกว่าอาเสี่ยอาเฮียผู้รับเหมาเดินงานบวชงานศพ

ผิดไหม ถ้าอยากเห็นอย่างนี้ ถามจริง ผิดด้วยเหรอะ ที่เราอยากเห็นคนธรรมดาชนะเลือกตั้ง กระทั่งระดมทุนบริจาคหวังเอาชนะ “บ้านใหญ่”

“ประชาธิปไตยสุจริต” บางพรรคอาจขี้หก แต่มันก็ควรจะเป็นอุดมคติ แม้ต้องใช้เวลา

ประเด็นสำคัญคือคนชั้นกลางในเมืองต้องเลิกเชื่อรัฐประหาร เลิกเชื่อรัฐราชการองค์กรศักด์สิทธิ์ “คนดีย์” ปราบนักการเมือง ซึ่งคนรุ่นใหม่พ้นหล่มความคิดอนุรักษ์เหล่านี้ไปแล้ว เหลือแค่ต้องทำความเข้าใจ ต้องอดทนและให้เวลา เรียนรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเอาชนะทีละขั้น

พูดกันตรงๆ ถ้าเปรียบเทียบวิถีเพื่อไทย คือเอาชนะด้วย “ประชาธิปไตยกินได้” ขายความเชื่อมั่นว่าเพื่อไทยเป็นรัฐบาลปากท้องดีขึ้น แต่เพื่อเอาชนะ เพื่อไทยก็ยอมรับว่า “ปัญหาประชาธิปไตยเราไม่ได้ทิ้ง แต่ให้น้ำหนักต่างกัน”

เพื่อไทยจึงใช้ทั้งนโยบายดึงคนวงกว้าง ใช้ฐานเสื้อแดงที่มีอุดมการณ์ ใช้นักการเมืองที่กล้าต่อสู้ ผสมกับนักการเมืองบ้านใหญ่ หรือพวกที่กวาดดูดมา เพื่อเอาชนะ ซึ่งถ้าชนะเป็นรัฐบาล อย่างน้อยก็จะมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพมากขึ้น มีโอกาสแก้รัฐธรรมนูญ

ไม่ทำแบบเพื่อไทยก็ไม่ชนะ เพียงแต่ชนะแล้วก็ทำอะไรไม่ได้มาก ข้อจำกัดของเพื่อไทยทั้งชนักปักโทนี่ทั้งคุณภาพนักการเมือง ก็เป็นที่วิตกว่าจะบั่นทอนอำนาจต่อรอง การมีสองพรรค หรือ 3-4 พรรคในฝ่ายประชาธิปไตย แม้แข่งกันเองก็แยกพลังกดดันอำนาจ

แบบพลังก้อนใหญ่อยู่ที่เพื่อไทย พลังแหลมคมอยู่ที่ก้าวไกล พลังดับเครื่องชนอยู่ที่เสรีรวมไทย

ในขณะเดียวกันก็แยกกัน “หาตลาด” เพราะแม้ก้าวไกลแย่งฐานมวลชนเพื่อไทยบางส่วน แต่ก็แย่งคนชั้นกลางในเมืองมาจากประชาธิปัตย์

ไม่แน่นะ คนกลุ่มหลังอาจมากกว่าด้วยซ้ำ

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7577674

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net