Skip to main content
sharethis

ชาวไทใหญ่ เชียงใหม่ จัดงาน “ปอยส่างลอง” หรืองานบวชเณรกว่า 50 รูป ที่วัดกู่เต้า จ.เชียงใหม่ มีชาวไทใหญ่และนักท่องเที่ยวร่วมงานคึกคัก ชาวไทใหญ่ให้ความสำคัญกับการบวชเณรอย่างมาก เนื่องจากผู้เณรยังเป็นเด็กไม่แปดเปื้อนทางโลกเหมือนผู้ใหญ่ และเชื่อว่า “ส่างลอง” หรือสามเณรจะเป็นผู้ที่สร้างมหากุศลให้แก่บิดามารดา

 

27 มี.ค. 2566 ระหว่างวันที่ 24 - 26 มี.ค. 2566 ชาวไทใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่จัดงาน “ปอยส่างลอง” พิธีการบวชเณรขึ้นที่วัดกู่เต้า เวฬุวนาราม มีสามเณรชาวไทใหญ่เข้าพิธีกว่า 50 รูป และมีชาวไทใหญ่มาร่วมงานกว่าพันคน

สาเหตุที่ต้องจัดงาน 3 วัน เนื่องจากวันที่ 1 เรียกว่า วันรับส่างลองมาวัด วันที่ 2 เป็นวันข่ามแขก ต้อนรับญาติพี่น้องและแขกที่มาร่วมงาน วันที่ 3 เรียกว่า วันแห่ครัวหลู่ เป็นวันแห่ส่างลองไปตามถนนเข้าวัดและทำพิธีบวชเณร

พิสิษฏ์ นาสี อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์การศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ศึกษาด้านแรงงานไทใหญ่ในภาคเหนือ อธิบายว่า ปอยส่างลอง เป็นภาษาไทใหญ่แปลว่า “งานบวชเณร” ทางภาคเหนือของไทยเรียกว่า “งานบวชลูกแก้ว” ชาวไทใหญ่ให้ความสำคัญกับการบวชเณรอย่างมาก เพราะผู้บวชเป็นเณรยังเป็นเด็กจึงถือเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่แปดเปื้อนทางโลกเหมือนผู้ใหญ่

มีความเชื่อว่า “ส่างลอง” หรือสามเณรเป็นผู้ที่สามารถสร้างมหากุศลให้แก่บิดามารดา แก่ตนเอง และผู้ให้การสนับสนุนได้อย่างมาก การบวชส่างลองจึงเป็นการแสดงความกตัญญูตอบแทนคุณแก่บิดามารดาผู้ให้กำเนิดที่เลี้ยงดูจนเติบใหญ่ และเพื่อเปิดโอกาสให้สามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนภายใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนา และเป็นผู้มีสติปัญญาของสังคม

งานพิธีปอยส่างลองจะเป็นการจำลองฉากชีวิตของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเป็นเจ้าชายสิทธัตถะที่ทรงตัดสินใจสละ ทรัพย์สมบัติทางโลกเพื่อออก ผนวช ทรงปลงพระเกศาและลอบ หนีออกจากวังในยามกลางคืน ในพิธีบวชส่างลองจึงถือเป็น ธรรมเนียมที่จะต้องพาเด็กชายที่จะบวชเป็นส่างลองมาที่วัดในยาวกลางคืน โกนผมและคิ้วให้ เรียบร้อย เนื่องจากส่างลองเป็นภาพจำลองของเจ้าชายสิทธัตถะจึงมีการแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายที่สวยงาม สวมเครื่องประดับแวววาวดังเพชร พลอย เพื่อให้ดูเหมือนเจ้าชาย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net