รัฐฉานบ้านฉัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 “รัฐฉานบ้านฉัน” โดย ยุ่น โมกขธัม เป็นหนึ่งในงานเขียนจากนิทรรศการภาพถ่ายและงานเขียน “Story from 9 %” เรื่องเล่าจากประชากร 9 % ในเชียงใหม่ จัดโดยเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชนภาคเหนือ, มูลนิธิเสมสิกขาลัย, เพจ In Chiang Mai และ Lanna Project เมื่อวันที่ 21 – 22 มกราคม 2565  ณ ลานท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่

 

จุดหมายปลายทางของการกลับบ้านในทริปนี้คือ บ้านตื้อนิ่ว จังหวัดลางเคอ รัฐฉาน ในเขตการปกครองของเมียนมา ข้ามเส้นเขตแดนไทยขึ้นเหนือไปทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทางรัฐฉานใต้ อีกประมาณ 50 กิโลเมตร แต่การเดินทางยาวนานข้ามวัน ด้วยเส้นทางที่ทุรกันดาร ผนวกกับเส้นทางข้ามภูเขาตลอดเวลา ทริปนี้ จะขอเริ่มตั้งแต่การจัดเตรียมรถ ให้เป็นทั้งรถขนของและรถโดยสารได้ในครั้งเดียวและคันเดียว 

ย้ำว่าผู้โดยสารจะต้องขึ้นนั่งบนรถเหล่านี้อีก ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความแข็งแรง ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ทั้งคนขับ คนจัดของ (ซึ่งมักจะเป็นคน ๆ เดียวกัน) ในการจัดของเหล่านี้ ให้มั่นคงแข็งแรง เพียงพอต่อการให้คนขึ้นไปนั่งอีกอย่างต่ำ 4-8 คน เคยมีคนทำได้ถึง 20 คน ด้วยรถกระบะเพียงคันเดียว ทำเอานึกภาพไม่ออกเลยว่าจะต้องนั่งกันแบบไหน

ประตูสู่รัฐฉานใต้


ด่านหัวเวียง

บ้านหัวเวียง (หัวเมือง) เสียงสำเนียงผู้คนเริ่มเปลี่ยนไป ทั้งภาษาเมียนมาและไทใหญ่ ถ้าปวดหนักปวดเบา หิวข้าวหิวน้ำ ควรทำกิจให้เสร็จเสียก่อนออกจากเมืองนี้ เพราะว่าตลอดการเดินทางนับจากนี้อีกประมาณ 7 ชั่วโมง จะไม่มีโอกาสลงจากรถ นอกจากตอนข้ามแม่น้ำสาละวิน 

เกือบตลอดเส้นทางการเดินทางจะมีการข้ามภูเขาและฝุ่นดินแดง หากเป็นหน้าฝนคะนอง ความอันตรายจะเพิ่มขึ้นทันที

หากเกิดรถเสียระหว่างทาง อาจช้าไปจากเวลาเดิมอีก 1-2 ชั่วโมง

พอถึงท่าแม่น้ำสาละวิน รถทุกคัน ผู้โดยสารทุกคน จะต้องลงรอคิวข้ามน้ำ 

จากการนั่งรอคิวเกือบชั่วโมงก็ได้นำรถขึ้นเรือยนต์ ข้ามแม่น้ำสาละวิน 

ริมฝั่งแม่น้ำน้ำสาละวิน มักมีการนำปลาและอาหารป่า มาแล่ขายกันสด ให้ผู้เดินทางกลับบ้านได้ซื้อเป็นของฝากอาหารเย็นให้กับคนที่บ้าน (ในภาพคือเนื้อเก้ง)

ตลอดเส้นทางจะมีด่านทหารเมียนมาเฝ้าเก็บค่าผ่านด่านอยู่เป็นระยะ ๆ 

ขบวนรถทยอยขับตามลัดเลาะไปตามหุบผาง่ามเขา ลูกแล้วลูกเหล่าจวบเข้าสู่เขตหมู่บ้าน กองคาราวานรถยนต์ขนบรรทุกทั้งข้าวของเครื่องใช้เต็มลำรถพร้อมผู้โดยสาร ขับตามกันไปตามถนนสายหลักของหมู่บ้านแต่ละบ้าน เว้นระยะห่างคันต่อคัน พอให้ฝุ่นควันฟุ้งค่อย ๆ จางหาย 

บ้านเรือน ไร่นา ริมเส้นทางกลับบ้าน ภาพความทรงจำลาง ๆ ทว่าความรู้สึกมันชัดเจน บางห้วงสภาวะ กลิ่นบางกลิ่น กระตุกจิตให้คิดถึงเรื่องราวในอดีต ถนนสายเก่า โรงเรียนเก่า สถานที่เก่า ๆ มันอบอวลอยู่กึ่งกลางระหว่างอก จุกแน่น ตื่นเต้น และปิติสุข 

หลังพายุฝนลมแล้งลูกสุดท้ายพัดกระหน่ำ ก่อนเข้าหน้าร้อน เดือนเมษายน ขบวนรถกลุ่มสุดท้าย เดินทางมานับ 7 ชั่วโมง เคลื่อนล้อเข้าสู่หมู่บ้านตื้อนิ่ว กลิ่นไอดินหอมกรุ่นอุ่นอวล อาตมาเหมือนได้ซบนอนลงตักแม่อีกครั้ง มันช่างอบอุ่นหัวใจและจิตวิญญาณ 

ไม่มีเด็กคนใด แก่ตายบนตักแม่ของตน 
อาตมาเป็นเด็กไม่กี่คนในหมู่บ้านที่เกิดที่นี่ แต่พ่อแม่ระหกระเหินเดินเท้าอพยพหนีภัยสงครามเข้ามาอาศัยในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดเชียงใหม่ ในเขตประเทศไทย อาตมาจึงได้ติดสอยห้อมตามมาด้วย ตั้งแต่จำความไม่ได้ 

แต่ยังมีเด็กและเยาวชนอีกมากที่ยังยืนหยัดกล้าหาญสู้อดทนใช้ชีวิตต่อ อาตมาขอสดุดีเคารพในความกล้าหาญชาญชัย ไม่ยอมแพ้ต่อสิ่งใด ในการเรียนรู้ และไม่ยอมหยุดนิ่ง อาตมาภูมิใจเหลือเกิน ที่ได้เกิดเป็นคนไทใหญ่ในหมู่บ้านแห่งนี้ 

ลมร้อนต้นเดือนเมษา พัดปลิวปลิดขั้วใบไม้เหี่ยว ระร่อนลงลานวัด เด็กหญิงเด็กชายและสามเณร จับไม้กวาดกระชับมือ กวาดใบไม้สะเปะสะปะ เสียงดังเจี๊ยวจ๊าวตั้งแต่เช้า พระอาจารย์เวโปล่า เปิดเพลงโรงเรียนธรรมะผ่านเสียงลำโพงหมู่บ้าน เป็นสัญญาณบอกให้เยาวชนในหมู่บ้านมารวมตัวกันที่วัด เพื่อร่วมกันเรียน ช่วยกันสอน ภาษาไทใหญ่ (หลิกไต) ศาสนา ธรรมะ และวัฒนธรรม 

ศาสนาคือเครื่องมือทางการเมือง 
ความรู้คืออำนาจ ด้วยสถานการณ์สงครามทางการเมืองของเมียนมาภาคพื้นดินและการรักษาฐานที่มั่นในปัจจุบัน ดูจะมีความยืดหยุ่นผ่อนคลายลงบ้าง พระสงฆ์ในหมู่บ้านเริ่มให้ความสำคัญกับการติดความรู้ให้เยาวชนมากกว่าการติดอาวุธและความเกลียดชังให้กัน พระอาจารย์บอกว่า เราควรเรียนเพื่อเอาความรู้ ไม่ใช่เรียนเพื่อเอาความแค้น

ท่ามกลางการกดขี่เรามีภาษาเป็นอาวุธ 
การสอนภาษาไต ไม่เพียงแต่เป็นการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ของชนชาติตนเท่านั้น ภาษาเป็นการสร้างอำนาจเชิงแฝงเร้น ไว้คานกับอำนาจรัฐบาล นอกจากกองกำลังติดอาวุธ เพราะภาษาไม่ได้ใช้ในการสื่อสาร หรืออธิบายความจริงเท่านั้น แต่ภาษายังสามารถกำหนด การรับรู้ของผู้คนได้อีกด้วย เพราะภาษาเป็นอัตวิสัยร่วม ที่คนในสังคมนั้นให้คุณค่า และความหมายของสิ่งต่าง ๆ ร่วมกัน เพื่อเป็นหลักประกันในจุดยืนที่ว่า เราทุกคนมีสิทธิ์ในการกำหนดชีวิตตัวเอง

ท่ามกลางสงครามยังมีดอกไม้งอกงาม 
การต่อสู้ในยุคนี้ เป็นการต่อสู้กันทางข้อมูลข่าวสาร ภาษาและความรู้ จึงเป็นหัวใจสำคัญ ในการต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่ พระนักปราชญ์ไทใหญ่หลายท่านมองเห็นกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงร่วมด้วยช่วยกันช่วงชิงพื้นที่ทางศาสนามาได้อย่างชาญฉลาด เช่น ภาษาที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ภาษาเขียน ภาษาพูด และภาษากาย เพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งเด็ก เยาวชน คนแก่คนเฒ่า ก่อนเราจะสร้างการรับรู้ให้กับโลก ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ และเรียกร้องสิทธิ ศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ ผ่านประวัติศาสตร์ชาติอันโหดร้าย 

แม้จะสิ้นฉาน จงอย่าสิ้นหวัง

ผู้เขียน: ยุ่น โมกขธัม พระชาวไทใหญ่

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท