Skip to main content
sharethis

พรรคการเมืองร่วมลงนามใน “จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566” และ “สัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน พ.ศ. 2566” โดยมีภาคประชาสังคมและองค์กรสื่อร่วมเป็นสักขีพยานในการสร้างสัญญาประชาคมขับเคลื่อนการเลือกตั้งที่โปร่งใส สร้างสรรค์และการนำนโยบายที่สัญญาไว้ไปปฏิบัติจริง


ที่มาภาพ: We Fair

ประชาไทได้รับแจ้งว่าเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2566 ที่ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 2 อาคารทรงกลม ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย มูลนิธิสันติภาพวัฒนธรรม มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม WeWatch เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566 WeVis มูลนิธิปรีดี พนมยงค์และสถาบันปรีดี พนมยงค์ ศูนย์ประสานงานการเพื่อมนุษยธรรม (Centre for Humanitarian Dialogue - HD) โครงการผู้หญิงผู้นำทางการเมือง โคแฟค (ประเทศไทย) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาองค์กรของผู้บริโภค และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดงานพิธีลงนามใน “จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566” และ พิธีลงนาม “สัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน พ.ศ. 2566” ขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ “การเลือกตั้งครั้งนี้นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ยกระดับระบอบประชาธิปไตยของไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีขึ้นไปอีก” โดยมีพรรคการเมืองเข้าร่วม 34 พรรคการเมืองเข้าร่วมลงนาม และ องค์กรประชาธิปไตย องค์กรภาคประชาสังคม ผู้แทนสถานทูตต่างๆ และ ผู้แทนองค์กรศาสนาจำนวนมากเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน 

สำหรับการจัดทำเอกสารทั้งสองฉบับ ทั้งจรรยาบรรณในการหาดเสียงเลือกตั้งและคำมั่นสัญญาของพรรคการเมืองนั้น รศ. ดร. โคทม อารียา ประธานภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และ อดีต กกต กล่าวว่า เอกสารทั้งสองฉบับเกิดจากการร่วมมือของพรรคการเมืองและหลายองค์กรที่อยากเห็นการเลือกตั้งที่โปร่งใส เป็นธรรมและสร้างสรรค์ โดยในจรรยาบรรณหาเสียงเลือกตั้งนั้น ยังสร้างมาตรฐานใหม่ๆ ที่ครอบคลุมไปถึง “การใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบในการหาเสียงเลือกตั้ง” และ “การหาเสียงเลือกตั้งที่เป็นมิตรต่อผู้หญิงและบุคคลทุกเพศสภาพ” เพื่อเป็นการสร้างพื้นที่ในการสื่อสารทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ทั้งในโลกออนไลน์และทางกายภาพ และสร้างมาตรฐานใหม่ทางการเมืองเรื่องการเคารพในศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ จรรยาบรรณหาเสียงเลือกตั้ง ยังนำไปสู่การวางรากฐานของกระบวนการติดตามตรวจสอบอย่างแข็งขันจากภาควิชาการและภาคประชาสังคมอีกด้วย

ใน “สัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน พ.ศ. 2566” พรรคการเมืองเห็นพ้องกันว่า ไม่ว่าใครจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล สิ่งที่ต้องทำร่วมกันเป็นวาระสำคัญเพื่อสร้างเสถียรภาพ การฟื้นฟูประชาธิปไตย และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อาทิเช่น การพูดคุยสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการรวมกลุ่มของประชาชน การลดความเหลื่อมล้ำในทุกด้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ดูแลผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ การสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มเข้าสู่ระบบการประกันสังคมอย่างครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้ง การกำกับดูแลไม่ให้สมาชิกที่เป็นข้าราชการการเมืองใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบเพื่อให้คุณหรือให้โทษแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้เคารพความเป็นกลางของข้าราชการประจำ

ดร. เอกพันธ์ ปิณฑวณิช ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และ อดีตผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในการณ์นี้ มีการสร้างกลไกในการสร้างหลักประกันให้เกิดการปฏิบัติตามพันธสัญญา โดย ทางเครือข่ายองค์กรประชาธิปไตย ภาคประชาคม สื่อและภาคประชาชน จะได้ร่วมกันในการติดตามว่า พรรคการเมืองต่างๆได้ปฏิบัติตามจรรยาบรรณในการรณรงค์ในการหาเสียงเลือกตั้งตามที่ได้ลงนามไว้หรือไม่ และ ได้ทำตามสัญญาประชาคมหลังการเลือกตั้งหรือไม่ 

คุณ ธนิสรา เรื่องเดช กล่าวในนามกลุ่มเทคโนโลยีภาคประชาชน WeVis ที่ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีการนี้ กล่าวว่าพวกเรายินดีอย่างยิ่งที่มีพิธีลงนามนี้เกิดขึ้น ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พวกเราพัฒนาแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า ‘Promise Tracker’ เพื่อรวบรวมคำสัญญาหรือนโยบายหาเสียงของแต่ละพรรค พร้อมร่วมกันติดตามการทำงานของทุกพรรคและทุกสมาชิกพรรคอย่างใกล้ชิด เพื่อแสดงการมีส่วนร่วมในฐานะประชาชนผู้มอบอำนาจให้เข้าไป และหวังว่าจะสร้างความรับผิดชอบทางการเมืองให้เกิดขึ้นกับแต่ละพรรคการเมือง

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เราก็จะยังคงดำเนินการติดตามสัญญาจากพรรคการเมืองอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเปิดให้ประชาชนทุกคนและพรรคการเมืองทุกพรรค ร่วมส่งข้อมูลเข้ามาให้เรารวบรวมไว้บนแพลตฟอร์มนี้ได้ และจะรวมเอาสัญญาร่วมที่พรรคการเมืองที่ให้ไว้ในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของคำสัญญาจากทุกพรรคการเมืองด้วย พวกเราหวังว่าทุกๆ กากบาทในวันเลือกตั้ง ซึ่งแสดงทุกๆ ความไว้ใจของพวกเราที่มีให้กับแต่ละพรรคการเมือง จะถูกตอบแทนด้วยการผลักดันทุกคำสัญญาให้เกิดขึ้น ให้สมกับที่อาสาเป็น ‘ผู้แทน’ ของราษฎรอย่างแท้จริง"

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ก่อตั้งโคแฟค ประเทศไทย กล่าวว่า โคแฟคได้ริเริ่มโครงการตรวจสอบความจริงร่วม FactCollabTH ขี้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างโคแฟคและภาคีรวมทั้งสื่อมวลชน ในเบื้องต้นเน้นการตรวจสอบข้อมูลเท็จหรือบิดเบือนทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่การสื่อสารทางการเมืองที่อิงอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เคารพความเห็นต่าง และไม่ส่งเสริมการใช้ความรุนแรงหรือ การสร้างความแตกแยก ทั้งนี้เพื่อให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเป็นไปอย่างสุจริตและปราศจากความรุนแรง และปูทางไปสู่การบรรลุข้อตกลงทางการเมืองโดยสันติ นอกจากนี้ โคแฟคและภาคียังร่วมกันรณรงค์ให้ภาคการเมืองและสังคมใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างรับผิดชอบในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย 

สุภิญญายินดีที่เห็นภาคผนวกของจรรยาบรรณหาเสียงเลือกตั้ง ที่มีทั้งเรื่องการใช้สื่อออนไลน์และการเคารพในความแตกต่างหลากหลายในเพศสภาพ โดยเฉพาะในหลักการที่มีการระบุว่า

• สื่อสังคมออนไลน์ต้องเป็นพื้นที่ของการสื่อสารที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบ เคารพในศักดิ์ศรีและความเสมอภาคของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างแท้จริง 

• พรรคการเมืองไม่พึงวางเฉยต่อพฤติกรรมและกลวิธีทางสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นอันตราย และวางมาตรการเชิงป้องกันโดยการสร้างการตระหนักรู้ต่อสาธารณะ ตลอดจนมาตรการการจัดการและตอบโต้ต่อพฤติกรรมทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างเหมาะสม

• พฤติกรรมและกลวิธีทางสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นอันตรายที่กำหนดไว้ในภาคผนวกนี้ เป็นสิ่งที่พรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้สนับสนุนพรรคการเมือง ไม่พึงกระทำ

การระบุถึงพฤติกรรมและกลวิธีทางสื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้เพื่อการมุ่งร้าย หลอกลวง เพื่อประโยชน์ทางการเมือง หรือเพื่อนำไปสู่การคุกคามหรือความรุนแรง เป็นสิ่งที่อันตรายและมีหลายลักษณะ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันเพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้ถูกใช้ในการทำลายความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของกระบวนการเลือกตั้ง เช่น ข้อแรก ต้องไม่ใช้ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) ในการชี้นำความเห็นหรือการลงคะแนนเสียงของปนะชาชน ข้อสอง ต้องรณรงค์ไม่ให้หาเสียงด้วยวาทกรรมลดทอนคุณค่าด้วยเหตุแห่งความแตกต่างเชิงอัตลักษณ์ (Identity Discrimination) ตลอดจนการใช้วาทกรรมการป้ายสีเหมารวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยความแตกต่างทางความคิดเห็นทางการเมืองหรือความเชื่อ  ข้อสาม ต้องช่วยกันลด ละ เลิก การใช้ภาษาหรือเนื้อหาที่เป็นการยั่วยุปลุกปั่นที่มุ่งร้ายให้เกิดความเกลียดชัง หรือความรุนแรงต่อผู้อื่น (Dangerous Speech and Incitement of Violence) ข้อสี่ ปฏิเสธการใช้การข่มขู่คุกคาม (Harassment) ทุกรูปแบบตั้งแต่ข่มขู่คุกคามออนไลน์ คุกคามทางเพศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการจงใจรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล (Doxxing) เพื่อให้นำไปสู่การคุกคามหรืออันตรายในชีวิตจริง ข้อห้า ต้องไม่ให้มีการทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (‘IOs’: Information/Influence Operations) หรือการเผยแพร่ข้อมูลหรือเนื้อหาที่เป็นอันตรายอย่างเป็นระบบร่วมกันผ่านการใช้เครือข่ายบัญชีผู้ใช้งาน (Networks of Coordinated Accounts) ด้วยตนเองหรือจ้างเหมาบุคคลอื่น ในการทำปฏิบัติการฯ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจผิด บิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวบุคคล ข้อมูลเชิงนโยบายและประเด็นสาธารณะ หรือเพื่อปลุกระดมการคุกคามทางสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ หรือความรุนแรงในทางกายภาพ ข้อหก ช่วยกันไม่ให้มีการสร้างบัญชีผู้ใช้งานสวมรอยแอบอ้างเป็นบุคคลอื่น (Impersonation) ข้อเจ็ด การระดมการแจ้งรายงานต่อผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ให้ลบเนื้อหาหรือถอดถอนบัญชีผู้ใช้งานในสื่อสังคมออนไลน์ (Organized Reporting/Takedowns) ของคู่แข่งหรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง  เพื่อจงใจปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางการเมือง ข้อแปด ต้องรณรงค์ร่วมกันไม่ให้ใช้วิธีการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองแอบแฝง (Politically-motivated Enforcement of Legal Procedures) เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว รวมไปถึงเพื่อกลั่นแกล้งหรือสร้างภาระให้แก่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ในภาคผนวกที่สอง มีข้อพึงปฏิบัติดังนี้

(1) สนับสนุนวิธีการหาเสียงที่เน้นการสื่อสารข้อมูลเชิงนโยบาย เน้นนำเสนอประสบการณ์ ความสามารถ ความสนใจ และความเชี่ยวชาญของผู้สมัครรับเลือกตั้ง

(2) ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพในการหาเสียงให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งหญิง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่มีความเป็นมืออาชีพ มีความมั่นใจ และน่าเชื่อถือ

(3) ไม่ใช้ข้อความที่สื่อในทางกีดกัน ดูถูก เหยียดหยาม หรือตั้งคำถามเพื่อลดทอนคุณค่าหรือศักดิ์ศรีของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะในด้านอายุ เพศ อาชีพ ภูมิหลัง เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ หรือความพิการ

(4) ไม่ใช้วาทกรรมที่ลดทอนคุณค่า ศักดิ์ศรี สิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และการเป็นผู้นำทางการเมืองของผู้หญิง รวมทั้งไม่ลดทอนคุณค่าด้วยเหตุแห่งอายุหรือรูปลักษณ์ภายนอกของผู้หญิงและบุคคลทุกเพศสภาพ

(5) ไม่ใช้วิธีการสร้างข่าวลวง ข่าวเท็จ ข้อความที่บิดเบือน แสดงความเกลียดชัง หรือข่มขู่ใช้ความรุนแรงต่อผู้แข่งขันทางการเมือง ไม่ว่าทางกายภาพหรือทางสื่อสังคมออนไลน์ 

เราคาดหวังว่า พรรคการเมืองจะสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ให้ผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เป็นผู้นำทางการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้บริหารพรรคการเมืองในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา สื่อสังคมออนไลน์ ถูกนำมาใช้ในการจัดตั้งขบวนการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร  เผยแผ่ความเกลียดชังทางการเมือง และสร้างความแตกแยกในสังคม ทางภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยและองค์กรเครือข่าย ได้ร่วมกับพรรคการเมืองในการกำหนดข้อปฏิบัติในการหาเสียงเลือกตั้งในการใช้สื่อออนไลน์ไปในทางสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดกระบวนการเลือกตั้งที่โปร่งใส มีความน่าเชื่อถือ เพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจลงลงคะแนนเสียงบนฐานของนโยบายและข้อมูลที่ถูกต้อง และเพื่อป้องกันความพยายามในการทำลายความชอบธรรมของผลการเลือกตั้ง ตลอดจนความพยายามในปลุกปั่นความรุนแรงภายหลังการเลือกตั้ง 

ผู้แทนพรรคการเมืองที่มาร่วมในการทำกิจกรรมวันนี้ จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็ต่อเมื่อมีเสียงสนับสนุนรวมกันเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับกลุ่มของพรรคการเมืองที่มีเสียงรวมกันไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ การจัดตั้งรัฐบาลมาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ พวกเรามีความคาดหวังว่า  พรรคการเมืองต่างๆเมื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลแล้ว จะนำนโยบายและสัญญาประชาคมที่แต่ละพรรคใช้ในการหาเสียงมาบูรณาการกันอย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติ ความก้าวหน้าและความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นอกจากนี้ ผู้แทนพรรคการเมืองที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ จะร่วมมือกับทุกพรรคการเมืองในการดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวในช่วงสุดท้ายว่า พื้นฐานเบื้องต้นที่สำคัญที่สุดก่อนที่จะทำให้ประเทศมีการพัฒนาก้าวหน้า ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมมีสันติธรรม ก็คือ การที่เราต้องมีรัฐธรรมนูญที่อยู่บนหลักการที่ถูกต้องและเป็นประชาธิปไตยเสียก่อน สังคมสมานฉันท์ เศรษฐกิจที่เป็นธรรม การเมืองที่เคารพในสิทธิเสรีภาพจึงเกิดขึ้นได้ การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนหรือการถอยหลังเข้าคลองย้อนยุคสวนกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลง ย่อมก่อให้เกิดวิกฤติทางการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การเลือกตั้งที่โปร่งใส เป็นธรรม สะท้อนเสียงประชาชน องค์กรจัดการเลือกตั้งอย่าง กกต ที่มีความเป็นกลาง มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่า ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร หลังการเลือกตั้ง ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และ องค์กรเครือข่าย มีความมุ่งมั่นในการรณรงค์ต่อเนื่องเพื่อก่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน และ การร่างรัฐธรรมนูญประชาชนต้องนำมาสู่การปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้าน ซึ่งหมายรวมถึงการปฏิรูปกองทัพ ให้ทหารเป็นทหารอาชีพ แก้ปัญหาวังวนของการทำรัฐประหารซ้ำซากในประเทศไทย การปรับเปลี่ยนให้อำนาจตุลาการยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น รวมทั้งการปฏิรูปความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เหมาะสมระหว่าง สถาบันการเมือง สถาบันศาสนา สถาบันกษัตริย์ และประชาชน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข โดยยึดถือผลประโยชน์และคุณภาพชีวิต ความสุขสงบ พัฒนาก้าวหน้าของประชาชนเป็นศูนย์กลาง 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net