Skip to main content
sharethis

แรงงานใน “เมืองฝุ่น” ประชาไทชวนสำรวจชีวิตของคนเชียงใหม่ที่ต้องทำงานท่ามกลาง PM2.5 สูดดมฝุ่นอยู่กลางแจ้งเกินวันละ 8 ชั่วโมง ในวันที่เชียงใหม่คุณภาพอากาศย่ำแย่ ทุกลมหายใจเต็มไปด้วย PM2.5 แต่มีบางคนที่หยุดทำงานหยุดใช้ชีวิตกลาง PM2.5 ไม่ได้

 

4 เม.ย. 2566 ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเชียงใหม่เป็นหนึ่งในจังหวัดภาคเหนือที่เผชิญกับปัญหามลพิษจากฝุ่น PM2.5 อย่างรุนแรง ข้อมูลจากเว็บไซต์รายงานคุณภาพอากาศ Iqair.com ระบุว่า เชียงใหม่มีค่าฝุ่นเกือบมาตรฐานติดต่อกันหลายวันในระดับที่เป็นสีม่วงซึ่งบ่งบอกถึงคุณภาพอากาศไม่ดีต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมาก และจะได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด บุคคลที่อยู่ในพื้นที่เหล่านี้ควรอยู่ในบ้านและจำกัดกิจกรรม

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 เชียงใหม่มีดัชนีคุณภาพอากาศวัดได้สูงถึง 281 US AQI และมี PM 2.5 อยู่ที่ 230 ไมโครกรัม ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ค่า PM 2.5 ไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ภาพจาก Iqair.com

อย่างไรก็ตาม แม้คุณภาพอากาศในเชียงใหม่จะปกคลุมด้วย PM2.5 ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย แต่ก็ยังมีคนทำงานบางอาชีพที่ไม่สามารถหยุดทำงานได้ ต้องสูดดมฝุ่นอยู่กลางแจ้งเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ประชาไทชวนสำรวจชีวิตและความเห็นของแรงงานกลุ่มนี้กับ PM2.5

เอกชัย ลอตเตอรี่

เอกชัยเป็นผู้พิการทางสายตาที่เดินขายลอตเตอรี่อยู่แถวนิมมาน เอกชัยเล่าให้ฟังว่าในช่วงใกล้วันหวยออกอย่างเช่นที่ได้พบกันเขาจะเดินขายลอตเตอรี่ตั้งแต่ 09.00 น. ไปจนถึง 23.00 น.

“วันใกล้อย่างวันนี้ผมก็จะออกมาเช้าหน่อย ตั้งแต่ 9 โมง เดินไปเรื่อยๆ จนถึงสัก 5 ทุ่ม บางวันก็เดินเส้นในคูเมือง บางวันก็เดินเส้นสวนดอก นิมมาน ไปนั่งขายแถวหน้าตึกคณะแพทย์ มช. บ้าง ผมก็รู้สึกได้ว่ามีฝุ่น PM2.5 ถ้าผมถอดแมสออกเวลาหายใจเข้าจะเหมือนกับเราอยู่ในห้องห้องหนึ่งที่มีฝุ่นเยอะๆ เหมือนกับห้องที่เราจะเข้าไปทำความสะอาดแล้วห้องนั้นมีแต่ฝุ่น เวลาหายใจจะไม่โล่ง ได้กลิ่นฝุ่นอะไรสักอย่างที่เราบอกไม่ถูก แต่รู้ว่าเป็นกลิ่นฝุ่น บางทีก็รู้สึกแสบตา” เอกชัย กล่าว

เอกชัยทำงานอยู่กลางแจ้งตลอดทั้งวัน เดินสูดฝุ่นวันละหลายชั่วโมง เขามีวิธีดูแลตัวเองโดยการพยายามหาหน้ากาก N95 มาใส่ และหากใส่ไปสักพักระหว่างวันจับไปเจอฝุ่นมาเกาะจนเริ่มหนาแล้วก็จะเปลี่ยนหน้ากากเป็นอันใหม่แทน

ในแต่ละงวดเอกชัยจะออกมาขายลอตเตอรี่ประมาณ 10 วัน ขึ้นอยู่กับจำนวนลอตเตอรี่ที่ได้รับมาขาย

หากสามารถบอกกับรัฐบาลได้เกี่ยวกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เอกชัยอยากบอกว่า “ได้ยินข่าวว่าประเทศเพื่อนบ้านเผากันเยอะ ก็อยากจะให้รัฐบาลไปคุย ไปเจรจา เพราะว่าเราก็เป็นแค่ประชาชนตัวเล็กๆ เราไม่สามารถพูดเองได้ อยากให้รัฐบาลมีแนวคิดหรือทำอะไรให้มันรวดเร็วกว่านี้ ไม่อยากให้มันเป็นแบบเช้าชามเย็นชาม อยากให้ทำงานให้เต็มที่”

ช่างอ้วน ร้านซ่อมรองเท้าข้างทาง

ช่างอ้วนเป็นช่างซ่อมรองเท้าที่เปิดร้านเล็กๆ อยู่ข้างทาง เขามาทำงานเย็บรองเท้าให้ลูกค้าทุกวัน หยุดเพียงหนึ่งวันต่อสัปดาห์คือวันอาทิตย์ ช่างอ้วนออกมาอยู่ข้างทางแบบนี้ตั้งแต่เวลา 08.30 – 17.30 น. การทำงานของเขาไม่สามารถหลีกหนีฝุ่นได้พ้นทั้งฝุ่น PM2.5 และมลพิษจากรถที่วิ่งไปมาบนถนน ช่างอ้วนระบุว่า เขาต้องดูแลตัวเอง

"มันบอกไม่ถูกนะ เราเลือกไม่ได้ ถ้าเลือกได้เราจะมาอยู่อย่างนี้ทำไม เราก็รู้อยู่ว่าเราอยู่ท่ามกลางมลพิษ ไม่ได้มีแค่ PM2.5 อย่างเดียว ไหนจะท่อไอเสียจากรถอีก แต่มันเป็นวิถีชีวิตของเรา งั้นเราจะไปทำงานอะไร คนเรามันเลือกเกิดไม่ได้ไง เราเลือกมาทำงานนี้ เราก็ต้องมาทนอยู่แบบนี้" ช่างอ้วน กล่าว

ช่างอ้วนนั่งเย็บรองเท้ามา 15 – 16 ปีแล้ว เขาระบุว่า ฝุ่นขึ้นอยู่กับลมฟ้าอากาศด้วยต่อให้ห้ามคนในประเทศไม่ให้เผาเผา ประเทศอื่นก็เผาและมีฝุ่นลอยมาอยู่ดี ไหนจะโรงงาน โรงสี ไฟป่า ฝุ่นจากการก่อสร้างอีก "บ้านเรามันไม่ใช่จะพัฒนาเหรอ ไม่แตกต่างกับพม่าเลย มีแต่แย่ลงๆ ยิ่งรัฐบาลทหารซ้ำร้าย ก็ช่วยเหลือตัวเองกันไป"

ในระหว่างวันช่างอ้วนจะใส่แมส (แมสแบบหน้าอนามัย 1 ชั้น) แต่ถ้าฝุ่นเริ่มหนาขึ้นในอากาศเขาก็จะใส่แมส N95 "แต่ใส่นานๆ ก็หายใจอึดอัด มันหนา มันเหมือนปอดของเราหายใจไม่สุด" 

โดยที่ช่างอ้วนไม่เคยเคยเช็คค่าฝุ่นในโทรศัพท์ผ่านแอปพลิเคชันก่อนออกมาจากบ้าน โดยบอกว่าตนเองไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ ไม่เคยเช็คค่าฝุ่นก่อนออกมาทำงานหรอก แต่ใช้วิธีการดูฟ้าดูดอยเอา

หากสามารถบอกกับรัฐบาลได้เกี่ยวกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ลุงอ้วนอยากบอกอะไร

“บอกอะหยั่งรัฐบาล เฮาบอกได้อี้ มันบ่มีประโยชน์อ่ะ ถ้าจะบอกไปเจ้าสัวซีพีนู่น บอกเจ้าสัวซีพีหยุด เอ็นดูประชาชนพ่อง เฮาเขาอยู่ในกำมือเจ้าสัวซีพีกันหมด จะบีบก็ตายจะคลายก็รอด ร้ายกว่า PM2.5 ก็นี่แหละ” ช่างอ้วน กล่าว

อนึ่ง เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า ผู้จัดหาสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบหลักทางการเกษตรของเครือ ซี.พี. กล่าวว่า ซี.พี.และซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการสร้างห่วงโซ่การผลิตอาหารที่ยั่งยืน และสนับสนุนการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน โดยมุ่งมั่นจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งปลูกที่ปราศจากการบุกรุกพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทาง “ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ” ตลอดจนได้พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) ซึ่งนำมาใช้ในกิจการประเทศไทยตั้งแต่ปี 2560 และสามารถตรวจสอบถึงแหล่งปลูกที่มีเอกสารสิทธิได้ 100% อีกทั้งนำระบบถ่ายภาพทางดาวเทียมช่วยวิเคราะห์จุดที่ยังมีการเผาหลังเก็บเกี่ยวเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทลงไปแนะนำเกษตรกรลด ละ เลิกการเผาตอซัง เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองจากการเพาะปลูกที่ยั่งยืน

 

 

เก็ท ไรเดอร์ขี่รถส่งอาหาร

เก็ทออกมาขี่รถส่งอาหารเกือบทุกวันตั้งแต่เช้าไปจนถึงราวๆ เที่ยงคืน เขามีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและต้องสูดดมฝุ่น PM2.5 ในอากาศเกินกว่า 10 โมง เพื่อแลกกับรายได้วันละพันกว่าบาท

“ออกมาขับตั้งแต่ 7 โมงเช้า จนถึง 5 ทุ่ม เที่ยงคืน เกือบทุกวัน ก็ดูแลตัวเองโดยการใส่หน้ากากอนามัยเท่าที่เราป้องกันได้ กลับห้องไปก็ต้องล้างจมูก แอปพลิเคชันดูฝุ่นเราไม่มีนะ ใช้วิธีติดตามข่าวเอา ผมว่าฝุ่น PM2.5 มันจะส่งผลกับเราในระยะยาวมากกว่าเกี่ยวกับพวกดวงตา แล้วก็ปอด หายใจเป็นหอบหืด บางคนเขาป่วยอยู่แล้วก็ยิ่งอาการกำเริบ จะเปิดกระจกหมวกกันน็อคขี่รถนี่ไม่ได้เลย ไม่งั้นจะตาแดง” เก็ท กล่าว

เมื่อสอบถามว่าทางบริษัทต้นสังกัดได้มีนยบายช่วยอะไรไรเดอร์ในจังหวัดที่ต้องเผชิญกับฝุ่น PM2.5 บ้าง ทั้งเก็ทและเพื่อนที่ขี่รถส่งอาหารอีก 2 - 3 คนบริเวณนั้นต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่มี ไม่มีเลยครับ”

ถ้าบอกรัฐบาลได้ เก็ทอยากบอกว่า ให้ใช้วิธีการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 แบบที่สากลทำกัน ไม่ใช่ใช้น้ำฉีดขึ้นฟ้า ใช้ละอองฉีดอยู่เพียงบางจุด ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อยากให้นายกฯ อัพเดตวิธีการแก้ปัญหา PM2.5

เอกศิลป์ แซ่ลี้ พนักงานรักษาความปลอดภัย

พนักงานรักษาความปลอดภัยเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ต้องทำงานกลางแจ้งตลอดทั้งวัน เอกศิลป์ แซ่ลี้ เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ สถานที่ของเอกศิลป์อยู่บริเวณคูเมือง เขาต้องทำหน้าที่โบกรถให้แก่ผู้มาใช้บริการ ทำงานตั้งแต่เวลา 08.30 – 19.30 น. เป็นเวลา 6 วัน จันทร์ถึงเสาร์ วนอยู่แบบนี้

“งานเข้า 08.30 – 19.30 น. เราต้องใส่หน้ากากไว้ตลอดเวลา ถึงมันจะอึดอัดหน่อยแต่ก็ต้องใส่ไว้ แล้วก็ฟังข่าวเอาว่าจุดไหนมีฝุ่นเยอะ ไม่เยอะ PM2.5 มันส่งผลกระทบกับเราเยอะ ตกเย็นกลับไปก็จะรู้สึกคัดจมูก น้ำมูกจะไหลเยอะ ตาก็จะแสบมาก ขนาดเราใส่แว่นตานะ ผลกระทบเรื่องการหายใจมีแน่นอน บางทีทำงานก็มีขี้เถ้าตกลงมาในอากาศ สมัยเป็นเด็กจนถึงวัยรุ่นไม่เคยมีสถานการณ์เช่นนี้ มา 10 กว่าปีนี้นี่แหละ เชียงใหม่มี 4 ฤดู ร้อน ฝน หนาว แล้วก็ฝุ่น” เอกศิลป์ กล่าว

อยากให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหา PM2.5 เสียที ไม่ใช่อ้างว่าประเทศอื่นเผา ถ้ารัฐบาลรู้ว่าต้นตอการเผามาจากเพื่อนบ้านก็น่าจะปรึกษาเพื่อนบ้านว่าจะดำเนินการอย่างไรกับสถานการณ์ฝุ่นและมลพิษที่เกิดขึ้น “แต่เราก็ต้องรอฟ้ารอฝน เพราะรัฐบาลไม่มีหวัง” นอกจากนี้เอกศิลป์ระบุว่า ไม่เคยมีหน่วยงานรัฐระดับจังหวัดมาสอบถามหรือให้ความช่วยเหลือคนที่ทำงานกลางแจ้งเช่นเขา

แทน เจ้าของร้านขนน

คนทำงานค้าขายกลางแจ้งเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แทนทำงานออกบูธขายขนมปัง เค้ก และขนมหวานอื่นๆ เวลามีงานเข้ามา เธอพยายามเช็คค่าฝุ่น PM2.5 ก่อนออกมาจากบ้านตลอดว่าควรออกมาทำกิจกรรมข้างนอกบ้านหรือไม่ ไม่แค่การทำงานฝุ่น PM2.5 ยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ สำหรับแทน เช่นการซักผ้าแทนก็จะซักและอบผ้าไปเลย เพราะถ้าตากผ้าไว้ข้างนอกบ้านก็มีแต่ฝุ่นเกาะ

“ช่วงนี้เราก็ออกมาขายของตลอดก็จะอยู่ข้างนอกแบบนี้ประมาณ 15.00 น. ถึง 23.30 น. เวลาออกข้างนอกก็จะใส่แมส แต่ช่วงนี้มันร้อน เวลาใส่จะอึดอัดมีเหงื่อ ก็จะถอดบ้าง แต่พยายามจะใส่แมสตลอด ถ้ากลับบ้านจะล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ มันเลี่ยงไม่ได้ เราต้องอยู่ใกล้ๆ ถนนใหญ่ด้วยมลภาวะส่วนใหญ่ก็คิดว่าน่าจะเกิดจากส่วนนี้ด้วย ทุกวันตื่นเช้ามาก็จะเปิดหน้าต่างดูก่อนเลยว่าหมอกหรืออะไร และจะเช็คค่าฝุ่นตลอด ฝุ่นPM2.5 ส่งผลต่อคนขายของ ไรเดอร์ที่ต้องขี่รถไปส่งของ ในวันที่เราอยู่บ้านเรายังป้องกันตัวเองได้มากกว่านี้ แต่คนที่เขาต้องทำงานอยู่ข้างนอกตลอดเวลา เราต้องเจอปัญหานี้ทุกๆ วัน” แทน กล่าว

ถ้าบอกรัฐบาลได้แทนอยากให้รัฐบาลเข้ามาดูอย่างจริงจังว่าปัญหาอะไรที่รัฐบาลสามารถเข้ามาแก้ไขได้ ไม่ต้องเป็นเรื่องใหญ่มากก็ได้ ปัญหาเล็กๆ อย่างรถติดก็ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาใหญ่ๆ ที่รัฐบาลสามารถแก้ได้เองในอนาคต

 

 

 

การอ่านค่าคุณภาพอากาศในเว็บไซต์ Iqair.com

สีเขียว คุณภาพอากาศดี

สีเหลือง คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง

สีส้ม คุณภาพอากาศไม่ดีสำหรับกลุ่มคนเปราะบาง

สีแดง คุณภาพอากาศไม่ดีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป

สีม่วง คุณภาพอากาศไม่ดีต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมาก

สีเลือดหมู คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่เลวร้ายเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net