Skip to main content
sharethis

วานนี้นักศึกษา - ประชาชนเชียงใหม่รวมกันที่คณะนิติศาสตร์ มช. หลัง “ยุบก้าวไกล” ปราศรัยถามจะยุบพรรคการเมืองกี่ครั้งกี่หน การเมืองไทยตระบัดสัตย์ในชีวิตและสิทธิในการปฏิรูปสังคมไทยให้ประเทศนี้น่าอยู่ขึ้น พร้อมตั้งคำถามว่าคนไทยกำลังอยู่ในสังคมแบบไหน

 

8 ส.ค. 2567 วานนี้ (7 ส.ค. 2567) เวลาประมาณ 17.00 น. นักศึกษาและประชาชนชาวเชียงใหม่นัดรวมกันที่บริเวณหน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล นักศึกษามีการแขวนป้ายผ้าเขียนข้อความ “ชนชั้นใดตรากฎหมาย ก็แน่ไซร์เพื่อชนชั้นนั้น” และเปิดพื้นที่ให้คนที่สนใจขึ้นปราศรัย

 

เชียงใหม่

 

เชียงใหม่

 

ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มช. กล่าวปราศรัย หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ยุบพรรคก้าวไกล ระบุ ขอพูดแทน 14 ล้านเสียง จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาและมากกว่า การเมืองไทยตระบัดสัตย์ในเรื่องสำคัญ ชีวิตและสิทธิในการปฏิรูปสังคมไทยให้ประเทศนี้น่าอยู่ขึ้น วันนี้ (7 ส.ค. 2567) เป็นวันรพีเราไม่ได้รำลึกถึงบิดาแห่งกฎหมาย แต่เรารำลึกถึงรัชสมัยใหม่ที่ปกครองด้วยระบบนิติรัฐโดยมีกฎหมายเป็นสาระสำคัญ กฎหมายที่มีประชาชนอยู่ในนั้น ไม่ใช่กฎหมายที่เป็นสมบัติส่วนตัวของกลุ่มบุคคลใด อีกด้านหนึ่งยังเป็นรำลึกถึงความโหดร้ายของสังคมในอดีตที่กฎหมายบิดเบี้ยวเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ เรารำลึกถึงผู้คนในอดีตวันเสียงปืนแตก ที่บ้านนาบัวจังหวัดนครพนม การต่อสู้ของสามัญชนประชาชนคนธรรมดา การเอารับเอาเปรียบของเจ้าหน้าที่รัฐ การคุกคามของนายทุน และฝ่ายเจ้าที่ทำให้ประชาชนต้องตกระกำลำบากในเรื่องที่ดินทำกิน สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ เราไม่ได้รำลึกถึงเสียงปืนนัดแรก เรารำลึกถึงการกดขี่ความโหดร้ายของคนกลุ่มเดิมที่ยังกระทำสิ่งเดิมจนถึงทุกวันนี้

 

 

“ในวันนี้เราโกรธพอหรือยัง เมื่อไหร่ก็ตามที่เราลุกขึ้นสู้ ตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น กบฏผู้มีบุญในภาคอีสาน ในภาคเหนือ คนเหล่านั้นมีชะตากรรมที่รอไว้ในชีวิตคืออะไร การถูกสังหาร เรือนร้อยเรือนพันเรือนหมื่นคน วีรชนเดือนตุลาทั้งสองครั้ง พฤษภาคมอำมหิต ราชประสงค์เลือด กี่พันคนที่สูญเสียชีวิตไป เมื่อเราลุกขึ้นสู้ด้วยตัวเราเองบนท้องถนน มันยิงกบาลพวกเรา ตายห่าบนท้องถนน ทุกวันนี้ยังไม่ได้รับความยุติธรรม แต่เมื่อเราต่อสู้โดยใช้ระบบตัวแทนเราเลือกตั้งผู้แทน เราเลือกพรรคการเมืองเพื่อไปสู้ใช้กลไกในทางนิติบัญญัติ กี่ครั้งกี่หนที่เกิดสิ่งเดิมยุบพรรคตัดสิทธิ แจ้งข้อหา สส. ยังไม่รวมพี่น้องประชาชนที่ลุกขึ้นสู้ในชีวิตประจำวันของเขาเอง พวกเขาถูกแจ้งความดำเนินคดีจากคนกลุ่มเดิม” ทัศนัยกล่าว

ทัศนัย เศรษฐเสรี 

ทัศนัยกล่าวต่อว่า ความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ ถกเถียงกันได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือสังคมแห่งฆาตกรรม ฆาตกรรมทางกฎหมาย ฆาตกรรมทางกายภาพ อีกกี่สิบปีกี่ร้อยปีข้างหน้าก็จะเป็นเช่นนี้ ประชาชนโกรธพอหรือยัง ไม่ว่าคนไหนเสื้อสีไหนก็จนกันทั้งประเทศ ในชีวิตดิจิตอลประชาชนถูกการสอดส่องควบคุมเซ็นเซอร์ในโลกออนไลน์อย่างเบ็ดเสร็จ การคุกคามจากการล่าแม่มดเกิดขึ้นทุกวัน มีชีวิตมิติไหนอีกที่ประชาชนไม่ถูกกระทำในสังคมที่บิดเบี้ยวแห่งนี้

“ผมยืนอยู่ที่บันไดคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมไม่ได้กำลังสื่อสารกับนักเรียนกฎหมาย ผมกำลังสื่อสารกับเนติบริกรที่ทำงานรับใช้สังคมและนิติรัฐที่บิดเบี้ยวนี้ เนติบริกรที่แฝงฝังตัวเองกินเงินเดือนเป็นอาจารย์ ลาออกซะ ผมกำลังสื่อสารกับนักศึกษานิติศาสตร์ในทุกมหาวิทยาลัย อะไรที่เป็นเยี่ยงอย่างไม่ดี อย่าทำตามและจงถ่มถุยใส่มัน ผมกำลังสื่อสารกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่ขับเคลื่อนสังคมอารยธรรม ให้วิวัฒน์ไปสู่ความเจริญ ถ้าท่านยังทนดูสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ไม่หือไม่อือ ยังรอรับเศษเนื้อเศษกระดูกเหมือนที่ผ่านมา ลาออกไปซะ ผมกำลังสื่อสารถึงสมาชิกสภาสูง ไม่ว่าท่านจะเข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรด้วยวิธีไหนก็ตาม สถานะอันทรงศักดิ์ของท่าน ถ้ายังทนอยู่กับระบบที่บิดเบี้ยวอย่างนี้ได้ อย่าอยู่ให้อายหมา ผมกำลังสื่อสารถึง สส. ของทุกพรรคการเมือง ที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้แทนราษฎร เข้าใจคำว่าราษฎรและประชาชนเสียใหม่ว่าเขาไม่ใช่ขี้ข้าใคร ผมกำลังสื่อสารถึงรัฐบาลในเวลาปัจจุบันที่หาเสียงมาตระบัดสัตย์ทำไม่ได้หรือไม่อยากทำ เป็นสิ่งที่ลืมไม่ได้” ทัศนัยกล่าว

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

ขณะที่พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. เชียงใหม่ของพรรคก้าวไกล ขึ้นปราศรัยกล่าวว่า ตอนนี้ตนเองพรรคไม่มีแล้ว ในมุมของคนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองขอพูดในบริบทของการที่สังคมจะสร้างและพัฒนาพรรคการเมืองในบริบทที่แตกต่างกันว่าเป็นอย่างไร ถ้ามองว่าพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองนั้น สถาบันทางการเมืองเหล่านี้ก็เป็นเหมือนครอบครัวขนาดใหญ่ อาจจะมีกระทบกระทั่งกันบ้าง เพราะฉะนั้นในบริบทสังคมที่มีกระแสธารของการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เป็นสัจธรรมของวิวัฒนาการทางการเมือง

วิวัฒนาการของพรรคการเมืองในเมืองไทยไม่ว่าในปัจจุบันหรือในอนาคต จะมีพรรคที่ถูกยุบอีกหรือไม่ก็ตาม เป็นสิ่งที่ประชาชนคาดเดาได้ยาก ไม่แตกต่างจากการที่คาดเดาว่าจะมีรัฐประหารอีกหรือไม่ แต่ที่แน่นอนพรรคการเมืองเริ่มมีสิ่งที่เรียกว่าอุดมการณ์ทางการเมืองที่แทรกซึมเข้าไปในระดับครอบครัว ในระดับคนรุ่นใหม่มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

พันธุ์อาจกล่าวว่า สิ่งที่ตนเองอยากจะแชร์ความรู้สึกในฐานะคนที่เป็นสมาชิกพรรคที่เพิ่งถูกยุบไป ตนเองเชื่อว่าอุดมการณ์ไม่ได้หายไปไหน ไม่ว่าจะยุบไปกี่ครั้งก็ตาม เมื่อยังมีแรง ยังมีร่างกาย ขอให้เดินต่อไป หากหยุดเดินอุดมการณ์เหล่านั้นก็จะหยุดตาม ในอนาคตสามารถมีพรรคการเมืองใหม่ๆ อาจจะไม่ใช่พรรคที่ถูกอยู่ไปก็ได้ วิธีคิดอุดมการณ์ก็อาจจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปคือจะไม่ยอมหยุดอยู่กับที่ และในที่สุดประชาธิปไตยที่จับต้องได้ ที่กินได้ จะมาสู่ประชาชน

คุณานนต์ คุณานุวัฒน์

คุณานนต์ คุณานุวัฒน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ยุบพรรคก้าวไกล ระบุว่า แม้ตนเองไม่ใช่นักศึกษากฎหมาย แต่ปัญหาของสังคมไทยตอนนี้คือกฎหมาย คืออำนาจที่ครอบประชาชนอยู่ กฎหมายกำลังดูถูกประชาชน และพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือก

“เราอยู่ในสังคมแบบนี้กัน อยู่ในสังคมที่เราทำอะไรก็ตามแต่ สิ่งที่อยู่เหนือกว่าเรากฎหมาย ตุลาการ หรืออะไรก็ตาม แต่เป็นอำนาจที่เราไม่มีส่วนร่วมในการเลือกมา พร้อมจะเขี่ยเสียงของเราทิ้ง คำถามคือนี่มันสังคมบ้าอะไรที่เรากำลังอยู่ ไม่ใช่รอบแรก ก่อนหน้านี้ก็มีพรรคหนึ่ง ก่อนหน้านี้ก็มี หลังจากนี้ก็จะมี เราอยู่ในสังคมแบบนี้เหรอ เราอยู่ในสังคมที่เราทำอะไรก็ตามแต่ แล้วมันก็พร้อมจะหายไปเพราะอำนาจที่อยู่เหนือเรา” คุณานนต์ กล่าว

หากปล่อยให้มีการยุบพรรคเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ พรรคที่ประชาชนเลือกเข้ามาก็จะถูกยุบอีกครั้ง ควรจะมีการแก้ไขกฎหมายหรือไม่ ประชาชนอยากให้มีการแก้กฎหมายและมีตัวแทนเข้าไปแก้กฎหมาย สุดท้ายเกิดการยุบพรรคเกิดขึ้น การยุบพรรคก้าวไกลด้วยเหตุผลของการแก้ไข ม.112 จะทำให้ในต่อไปการพูดถึง ม.112 ในฐานะของการศึกษาก็อาจจะพูดไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ได้ พูดถึงก็ไม่ได้ สังคมจะทำอย่างไรกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาได้บ้าง เพื่อให้ประชาชนต้องอยู่กันเช่นนี้ต่อไป

 

เชียงใหม่

บุตรีรัตน์ สุริยะเสถียร ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมกล่าวปราศรัยว่า ตนเองเคยเป็นคอมมิวนิสต์มาก่อน ตนเองเกิดที่ฝางได้เห็นความเหลื่อมล้ำมามาก ดิ้นรนถีบตัวออกจากฝางที่ทุรกันดารมีความเหลื่อมล้ำสูง โดยเฉพาะการศึกษา ตอนนี้เมื่อมีการยุบพรรคก้าวไกลเกิดขึ้นสังคมจะอยู่กันเช่นนี้หรือ บุตรีรัตน์ตั้งคำถามว่าจะให้ประชาชนทำเช่นไรต่อไปในเมื่อประชาชนสู้ทุกทางแล้ว

“ป้าเป็นคอมมิวนิสต์มาป้าไม่เคยโดนอะไรสักอย่าง แต่พอประยุทธ์มายึดอำนาจเมื่อปี 2557 ใช้ ม.44 จับป้าเข้าค่ายทหาร เอาป้าไปขังในค่ายทหารที่แม่ริม 5 วัน 4 คืน โดยที่ป้าไม่ได้มีความผิดอะไรเลย ป้าทำเสื้อสีดำ มีนกพิราบขาวข้างหลังเป็นตราสันติภาพ ให้ตำรวจในท้องที่เข้าไปค้นบ้านป้า ได้เสื้อดำ 45 ตัวโทรศัพท์เก่า 1 เครื่อง ออกหมายจับป้า ป้าจะบอกน้องว่าสู้แบบหัวชนฝาที่ป้าเข้าป่าเป็นคอมมิวนิสต์ ป้าก็ทำมาแล้ว แล้วเราคิดว่าเราสู้แบบสันติวิธีไล่ม็อบไล่ประยุทธ์ พวกเราก็ทำมาแล้ว แล้วจะให้พวกเราทำอะไรอีก” บุตรีรัตน์ กล่าว

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net