Skip to main content
sharethis

ประชาไทประมวลข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อ 5 เม.ย. 2566 ต่อสถานการณ์ผู้ถูกคุมขังทางการเมืองระหว่างสู้คดีความ และยังเข้าไม่ถึงสิทธิการประกันตัว

 

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อ 5 เม.ย. 2566 ระบุว่ามีผู้ถูกคุมขังในคดีความทางการเมือง และเกี่ยวข้องกับเสรีภาพการแสดงออก โดยที่คดียังไม่สิ้นสุด อย่างน้อย 8 ราย ได้แก่ คทาธร, ถิรนัย, ชัยพร, ทัตพงศ์, ชนะดล, หิน, วุฒิ และธนภลย์ 

ขณะที่ผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้ว มีจำนวนอย่างน้อย 7 คน ได้แก่ อัญชัญ ปรีเลิศ (ม.112) ศุภากร (พ.ร.บ.คอมฯ) ณัฐชนน (ครอบครองวัตถุระเบิด) เมธิน (ม.112) กฤษณะ และวรรณภา (คดีสหพันธรัฐไท ข้อหาอั้งยี่) และปริทัศน์ (ม.112)

'คทาธร' ผู้ถูกฝากขังยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี’63 เป็นต้นมา

สำหรับคดีของคทาธร (สงวนนามสกุล) สมาชิกกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อายุราว 26 ปี ถูกตำรวจตั้งข้อกล่าวหาว่าครอบครองวัตถุระเบิดปิงปอง หลังเจ้าตัวถูกตำรวจจับกุมขณะขับขี่มอเตอร์ไซค์จากย่านดินแดงไปร่วมการชุมนุมทางการเมือง 'ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม' ที่แยกราชประสงค์ เมื่อ 10 เม.ย. 2565  

ทั้งนี้ กิจกรรม 'ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม' คือการชุมนุมเพื่อรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 ที่แยกราชประสงค์ โดยบีบีซีไทย รายงานว่า ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง จำนวน 94 คน ในช่วงระหว่าง เม.ย.-พ.ค. 2553

หลังจากถูกจับกุม สมาชิกกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนฯ ถูกนำตัวไปฝากขัง และศาลปฏิเสธปล่อยตัวชั่วคราว ส่งผลให้คทาธร ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อ 11 เม.ย. 2565 

คทาธร ถูกฝากขังในชั้นสอบสวน และถูกปฏิเสธการคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อ 7 มี.ค. 2566 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาตัดสินจำคุก คทาธร ในคดีครอบครองระเบิดปิงปอง เป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน 15 วัน และปรับ 1,925 บาท โดยคทาธร แจ้งกับทนายว่าต้องการยื่นประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ต่อไป 

ปัจจุบัน คทาธร ถูกคุมขังในเรือนจำชั้นอุทธรณ์ รวมระยะเวลา 350 วันแล้ว (11 เม.ย. 2565 จนถึง 5 เม.ย. 2566) และจะครบกำหนดโทษราววันที่ 24 ก.ค. 2566 นี้ สำหรับคทาธร ถือเป็นผู้ที่ถูกฝากขังทางการเมืองยาวนานที่สุด นับตั้งแต่การชุมนุมคนรุ่นใหม่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2563 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คทาธร (สงวนนามสกุล) (ที่มา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

'ถิรนัย-ชัยพร' คดีครอบครองวัตถุระเบิด ม็อบ29สิงหา64

ถิรนัย (สงวนนามสกุล) อายุราว 22 ปี และชัยพร (สงวนนามสกุล) อายุราว 22 ปี สองผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊ส ถูกตำรวจจับกุมที่แยกนางเลิ้ง ก่อนเริ่มกิจกรรม "CAR MOB CALL (ประยุทธ์) OUT" เมื่อ 29 ส.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตรวจค้นมอเตอร์ไซค์ที่ทั้งคู่ขับขี่มา พบว่ามีระเบิดปิงปองบรรจุขวด 2 ลูก ระเบิดปิงปองลูกบอลกลม 8 ลูก อยู่ในกระเป๋าที่ถิรนัยสะพายอยู่ และพบขวดบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง 4 ขวด ใต้เบาะรถจักรยานยนต์ เป็นเหตุให้ตำรวจตั้งข้อหาครอบครองวัตถุระเบิดแก่ทั้งสองคน

ต่อมา เมื่อ 15 ก.พ. 256ุ6 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกคนละ 6 ปี ก่อนลดโทษเหลือคนละ 3 ปี เพราะจำเลยรับสารภาพ ปัจจุบัน ทั้งสองคนถูกฝากขังระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาตั้งแต่ 15 ก.พ. จนถึง 5 เม.ย. 2566 รวมระยะเวลา 50 วัน 

'ทัตพงศ์' คดีครอบครองวัตถุระเบิด ม็อบ21พฤศจิกา64

ทัตพงศ์ เขียวขาว ประชาชนอายุ 25 ปี ถูกกล่าวหาว่าครอบครองวัตถุระเบิดระหว่างการชุมนุมของทะลุแก๊ส ณ ถนนราชปรารภ เมื่อ 21 พ.ย. 64 ก่อนหน้านี้ทัตพงศ์ เคยถูกฝากขังระหว่างพิจารณาคดีเมื่อ 17 พ.ย. 2565 จนถึง 8 ก.พ. 2566 รวมระยะเวลา 84 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัว เพราะครบกำหนดฝากขัง 

ต่อมา เมื่อ 1 มี.ค. 2566 อัยการสั่งฟ้องคดี และถูกพาตัวเข้าเรือนจำอีกครั้ง โดยศาลให้เหตุผลว่า "กรณีการกระทำที่ถูกกล่าวหา เป็นความผิดร้ายแรง มีอัตราโทษสูง เป็นการกระทำเกี่ยวกับวัตถุระเบิดที่ไม่สามารถออกใบอนุญาต ทำให้เกิดระเบิดในถนนสาธารณะกลางเมือง อันอาจเป็นอันตรายแก่ประชาชน ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงมาก หากให้ปล่อยชั่วคราว อาจหลบหนีได้ ยกคำร้อง"

ปัจจุบัน ทัตพงศ์ ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. จนถึง 5 เม.ย. 2566 รวมระยะเวลากว่า 36 วัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ทัตพงศ์ เขียวขาว (ที่มา: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

'ชนะดล' คดีครอบครองวัตถุระเบิด ม็อบ20สิงหา64

'มาร์ค' ชนะดล ลอยมั่นคง สมาชิกทะลุแก๊สอายุ 24 ปี ถูกฝากขังชั้นพิจารณาคดีศาล หลังเมื่อ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังอัยการมีคำสั่งส่งฟ้องชนะดล จากการถูกตั้งข้อกล่าวหาร่วมกันจัดการชุมนุม ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ระหว่างเข้าร่วมชุมนุมทะลุแก๊ส เมื่อ 20 ส.ค. 2564 ก่อนศาลรับฝากขังและไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ปัจจุบัน สมาชิกทะลุแก๊สวัย 24 ปี ถูกคุมขังมาแล้ว 21 วัน ระหว่าง 15 มี.ค. จนถึง 5 เม.ย. 2566

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

'อานนท์' คดีครอบครองอาวุธปืน ม็อบ12กันยา64 (ได้รับการประกันตัว 28 มี.ค.)

อานนท์ แย้มสะอาด ประชาชนอายุ 29 ปี ถูกตำรวจตระเวนชายแดน 3 จับกุมที่ถนนวิภาวดี (ขาเข้าเมือง) ใกล้แยกดินแดง เมื่อ 12 ก.ย. 2564 โดยตำรวจค้นตัว และพบอาวุธปืน รีโวลเวอร์ .38 มม. จำนวน 1 กระบอก พร้อมกระสุน 11 นัด หนังสติ๊ก และลูกแก้ว โดยทั้งหมดถูกยึดไปใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดี รวมถึงมีการยึดโทรศัพท์ ไปใช้เป็นวัตถุพยาน ทั้งนี้ อานนท์ เผยกับทนายความด้วยว่าระหว่างการจับกุม ตำรวจตระเวนชายแดน มีการเตะและกระทืบเขาประมาณ 2 ครั้ง

ต่อมา เมื่อ 4 ธ.ค. 2564 อัยการส่งฟ้องอานนท์ ต่อศาลในหลายข้อหา ได้แก่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.โรคติดต่อ และกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216, 138 และ 140 รวมถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 พกพาอาวุธปืนเข้าร่วมชุมนุมโดยไม่มีเหตุจำเป็น 

คดีของอานนท์ มีการนัดสืบพยานเมื่อ 17 ก.พ. 2566 โดยฝั่งอัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบพยานจำนวน 7 ปาก แต่ทนายจำเลยไม่ติดใจสืบบางส่วน จึงเหลือการสืบพยานโจทก์เพียงแค่ 3 ปาก โดยฝั่งจำเลยประสงค์นำพยานจำเลยเข้าสืบ 2 ปาก 

กระทั่งเมื่อ 23 มี.ค. 2566 ศาลมีนัดอ่านคำพิพากษา และสั่งลงโทษอานนท์ จำคุก 4 ปี 2 เดือน ไม่รอลงอาญา เหตุเคยต้องคดีอาวุธปืน มีพฤติการณ์ไม่เกรงกลัวกฎหมาย และทำผิดซ้ำเรื่องเดิม ปัจจุบัน อานนท์ ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. จนถึง 5 เม.ย. 2566 รวมระยะเวลา 14 วัน 

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา อานนท์ แย้มสะอาด ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แล้ว และมีเงื่อนไขต้องติดกำไล EM 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

'หิน' ถูกกล่าวหาปาลูกกระทบ 9 ครั้ง ม็อบ21พฤศจิกา64

สำหรับคดีของ 'หิน' (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 19 ปี (แต่ขณะเกิดเหตุอายุ 17 ปี) ถูกจับกุมตามหมายจับช่วงกลางดึกเมื่อ 24 มี.ค. 2566 จากคดีปา "ลูกกระทบ" จำนวน 9 ครั้ง ในการชุมนุมแยกราชปรารภ เมื่อ 21 พ.ย. 2564 โดยหิน ถูกส่งตัวไปที่ สน.ดินแดง และฝากขังเป็นเวลา 1 คืน

ต่อมา เมื่อ 25 มี.ค. 2566 ตำรวจส่งตัวหิน ไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อตรวจสอบการจับกุมว่าได้กระทำไปตามกฎหมายเกี่ยวกับการจับกุมเยาวชนครบถ้วนหรือไม่ ก่อนศาลฯ ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยระบุว่าอัตราโทษสูง เกรงจะหลบหนี ส่งผลให้หิน ถูกฝากขังที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครทันที 

ปัจจุบัน หินถูกฝากขังชั้นพิจารณาคดีตั้งแต่ 25 มี.ค.จนถึง 5 เม.ย. 2566 รวมระยะเวลา 12 วัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วุฒิ' วัย 51 ปี ถูกฝากขังระหว่างพิจารณาคดี ม.112 โพสต์เฟซฯ 12 ข้อความ 

วุฒิ (นามสมมติ) ประชาชนวัย 51 ปี ถูกอัยการมีนบุรีสั่งฟ้องในคดี มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3) จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 12 ข้อความช่วงปี 2564 ก่อนที่เมื่อ 27 มี.ค. 2566 ศาลอาญามีนบุรีมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวชั้นพิจารณาคดี ปัจจุบัน วุฒิ ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. จนถึง 5 เม.ย. 2566 เป็นระยะเวลารวม 10 วัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

'ธนลภย์' เยาวชนที่อายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดี ม.112

'หยก' ธนลภย์ (สงวนนามสกุล) เยาวชนอายุ 15 ปี ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการแสดงออกทางการเมือง "13 ตุลาหวังว่าสายฝนจะพาล่องลอยไป" ที่เสาชิงช้า เมื่อ 13 ต.ค. 2565 โดยมีอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ซึ่งเป็นกลุ่มเทิดทูนสถาบัน เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

'หยก' ธนลภย์ (สงวนนามสกุล) เยาวชนอายุ 15 ปี (ถ่ายโดย แมวส้ม ประชาไท)

ธนลภย์ ถูกจับกุมที่ สน.พระราชวัง ตั้งแต่เย็น 28 มี.ค. 2566 ระหว่างที่เธอเดินทางไปสังเกตการณ์การจับกุมคดีพ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าจะดำเนินคดีข้อหา พ.ร.บ.คอมฯ จากการถ่ายคลิปการพ่นสี แต่เมื่อทนายความเดินทางมาถึง ตำรวจกลับระบุว่า หยกมีหมายจับที่ สน.สำราญราษฎร์ คดีมาตรา 112 จากการเข้าร่วมม็อบ13ตุลา65 

เยาวชนอายุ 15 ปี ถูกส่งตัวมาที่ สน.สำราณราษฎร์ เพื่อแจ้งข้อหาและสอบปากคำ โดยเจ้าหน้าที่แจ้ง 3 ข้อหา ได้แก่ ม.112 พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องเสียงฯ และกฎหมายอาญา มาตรา 368 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน เนื่องจากธนลภย์ ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมโดยไม่พิมพ์ลายนิ้วมือในบันทึกจับกุมและรับทราบข้อหา

ธนลภย์ ถูกควบคุมตัวใน สน.สำราญราษฎร์ จนถึงเช้าวันที่ 29 มี.ค. 2566 และถูกส่งตัวไปที่ศาลเยาวชนฯ เพื่อตรวจสอบการจับกุมว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมถึงออกหมายควบคุมตัว

ตลอดการพิจารณาของศาลเยาวชนฯ ธนลภย์ นั่งหันหลังให้บัลลังก์ เพื่อแสดงจุดยืนปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ไม่ขอใช้สิทธิแต่งตั้งที่ปรึกษาทางกฎหมาย (ทนายความ) ไม่ขอใช้สิทธิประกันตัว รวมถึงไม่เซ็นเอกสารใดๆ

ต่อมา ศาลออกหมายควบคุมตัวเป็นเวลา 1 ผัด หรือ 30 วัน ทำให้หยก ถูกส่งตัวไปที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จ.นครปฐม ทันที ปัจจุบัน 'หยก' ถูกควบคุมตัวเป็นระยะเวลารวม 8 วัน ตั้งแต่ 29 มี.ค. จนถึง 5 เม.ย. 2566 

สำหรับธนลภย์ เป็นเยาวชนที่อายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 โดยขณะเกิดเหตุเธอมีอายุเพียง 14 ปี 7 เดือนเศษเท่านั้น นอกจากนี้ อานนท์ กลิ่นแก้ว แจ้ง ม.112 เพิ่มเป็นคดีที่ 2 กับหยก หลังเธออ่านแถลงการณ์หน้าสำนักงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย เมื่อ 18 ก.พ. 2566

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมายเหตุ: เมื่อ 10 เม.ย. 2566 เวลาา 1.11 น. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณี อานนท์ แย้มสะอาด ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อ 28 มี.ค. 2566 พร้อมเงื่อนไขติดกำไล EM   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net