ศาลปกครองเชียงใหม่รับฟ้องคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ โดยรับฟ้องผู้ถูกฟ้องที่ 1 คือ “พล.อ.ประยุทธ์” นายกรัฐมนตรี และผู้ถูกฟ้องที่ 2 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่ไม่รับฟ้องผู้ถูกฟ้องที่ 3 และที่ 4 ได้แก่ คือ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน การไม่รับฟ้องทั้งสองหน่วยงานนี้สะท้อนให้เห็นว่ากลไกลการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ข้ามพรมแดนของประเทศไทยยังไม่สามารถทำได้มากกว่าการเจรจาระหว่างประเทศ
21 เม.ย. 2566 ศาลปกครองเชียงใหม่รับฟ้องคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ หลังประชาชนรวมตัวกันยื่นฟ้อง “พล.อ.ประยุทธ์” นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เหตุไม่ใช้อำนาจทางกฎหมายที่มีแก้ไขวิกฤตฝุ่น PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานในภาคเหนือ 17 จังหวัด ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2566 ซึ่งเป็นอันตรายต่อต่อสุขภาพของประชาชน
โดยศาลรับฟ้องผู้ถูกฟ้องที่ 1 พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่ไม่รับฟ้องผู้ถูกฟ้องที่ 3 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ผู้ถูกฟ้องที่ 4 คณะกรรมการกำกับตลาดทุน
นอกจากนี้ศาลปกครองยังไม่รับพิจารณาคำขอท้ายฟ้องข้อ 5 ที่ขอให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ควบคุม (Regulator) กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข วิธีการจัดทำร้ายงานการเปิดเผยข้อมูล โดยกำหนดประเด็นเพิ่มเติมในแบบ 56 - 1 One Report หรือกำหนดแบบหรือวิธีการรายงาน ในลักษณะอื่น เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทลูก บริษัทย่อย บริษัทร่วมค้า หรือการลงทุนในรูปแบบใดๆ ที่เกี่ยวข้องตามห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจในกิจกรรม หลักให้ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลเปิดเผยอย่างรอบด้านถึงผลกระทบหรือความเสี่ยงด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ทั้งที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ และหรือการดำเนินธุรกิจดังกล่าวได้ส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับผลิตผลทางการเกษตรที่ต้องเผาและเป็นแหล่งกำเนิดมลภาวะฝุ่น PM2.5 ข้ามพรมแดนกลับมายังประเทศไทย
ทั้งนี้ คำขอท้ายฟ้องของประชาชนได้ร่วมกันฟ้องให้พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ศาลปกครองรับไว้พิจารณามีดังต่อไปนี้
1. ขอให้พล.อ.ประยุทธ์ดำเนินการตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 คือ ควบคุม ระงับ หรือบรรเทาผลร้ายจากปัญหาฝุ่น PM2.5
2. ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติดำเนินการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นในสถานการณ์วิกฤตระดับที่ 4 เพื่อพิจารณากลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาผลร้ายจากฝุ่น PM2.5 เป็นการเร่งด่วน
3. ขอให้พล.อ.ประยุทธ์และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในสภาวะวิกฤตและต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและทันที เมื่อปริมาณฝุ่น PM2.5 มีค่ามากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รวมถึงต้องควบคุมดูแลให้รัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ล่วงหน้าตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
4. ขอให้พล.อ.ประยุทธ์และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติปรับปรุงแก้ไขแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองให้บรรลุผลตามเกณฑ์ฐานฝุ่น PM2.5 ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ