สุรพศ ทวีศักดิ์: ตอบพระเรื่อง Secularization

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เป็นนิมิตดีที่พระเริ่มถกเถียงประเด็นการแยกศาสนาจากรัฐหรือการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางการเมือง (political secularization) และการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางสังคม (social secularization) มากขึ้นในบทความชื่อ “คาร์ล มาร์กซ์พูดถึงชนชั้น แต่นิทเชไม่ได้สนใจ” (ดู https://prachatai.com/journal/2023/04/103684) ของพระปลัดสมนึก ธีรปัญโญ ผมขอแลกเปลี่ยนเป็นประเด็นๆ ต่อไปนี้

1. ไม่มีใครบอกว่า Friedrich Nietzsche ใช้ประเด็น “ชนชั้น” เป็นไอเดียพื้นฐานในการวิเคราะห์สังคมแบบคาร์ล มาร์กซ์ เรื่องนี้ทุกคนที่สนใจงานทางปรัชญารู้ๆ กันอยู่แล้ว แต่ปัญหาชนชั้นมองได้หลายมิติ ไม่จำเป็นต้องมองแบบมาร์กซ์เท่านั้น 

ที่จริงพระควร “ทำความเข้าใจ” ว่าคนอื่นพูดถึง “ประเด็นอะไร” หรือควร “จับประเด็น” ที่เขาเสนอให้ชัดก่อนแย้ง บทความผมเพียงแต่พูดถึง “การวิจารณ์ศีลธรรม” ของ Nietzsche ว่ามี “บางแง่” ที่พูดถึงศีลธรรมเป็นเรื่องของชนชั้น หรือศีลธรรมเกี่ยวข้องกับมิติชนชั้น โดยผมอ้างถึงงานของ Laurence Gane ที่อธิบายว่านีทเชอแยก “จริยศาสตร์แบบชนชั้นสูง” ที่นิยาม “ดี=สูงศักดิ์=คุณลักษณะที่ดีเลิศ” ซึ่งจริยศาสตร์แบบชนชั้นสูงอาจเรียกอีกอย่างว่า “จริยศาสตร์แบบนาย” ส่วน “เลว=ต่ำทราม=คุณลักษณะที่น่ารังเกียจ” และ “จริยศาสตร์แบบทาสนิยาม “ดี=เป็นทาส=อ่อนแอ ต่ำต้อย” ส่วน “เลว=ชั่วร้าย=เป็นอันตรายต่อคนส่วนใหญ่ที่อ่อนแอกว่า” (ดู https://prachatai.com/journal/2023/03/103148

จากนั้น ผมจึงบอกว่าหากนำกรอบคิดศีลธรรมตามที่อ้างถึงข้างบนมาใช้ “มอง” ประวัติศาสตร์การสร้างระบบศีลธรรมแบบพราหมณ์ฮินดู-พุทธ หรือพุทธศาสนาไทย เราจะเห็นภาพ “ศีลธรรมชนชั้น” ชัดเจนมาก เช่น ศีลธรรมตามกรอบคิดวรรณะสี่ที่ถือว่าคนแต่ละวรรณะมี “ธรรมะ” หรือหน้าที่ต่างกันตามชนชั้นของตน และศีลธรรมตามคติไตรภูมิพระร่วงที่ถือว่าคนเกิดมาในชนชั้นต่างกัน เพราะทำกรรมดี-ชั่วมาต่างกัน ซึ่งเป็นชุดความเชื่อทางศีลธรรมที่ถูกใช้สนับสนุนระบบศักดินาไทยมาหลายศตวรรษ กระทั่งปัจจุบัน นอกจากพระปลัดสมนึกจะไม่ได้แย้ง “ประเด็นหลัก” ดังกล่าวนี้แล้ว ยังเขียน (ข้อความที่มีนัยสำคัญสนับสนุนประเด็นหลักที่ผมวิจารณ์นี้) ว่า

“ส่วนค่านิยมการปฏิเสธชีวิตมาจากหลักศีลธรรมแบบดั้งเดิม หมายถึงมาจากศีลธรรมทางศาสนา แต่เขาไม่ได้โจมตีว่าเกิดจาก “แนวคิดพื้นฐาน” (basic concept) ของศาสนา แต่โจมตีว่าเกิดจาก “การใช้” (use) ในความหมายที่ทำให้คนปฏิเสธชีวิต หมายถึง การใช้คำสอนทางศาสนากดคนให้ยอมจำนนนั่นเอง (โปรดดูเพิ่มเติมใน Simon May, (1999), Nietzsche’s Ethics and his War on ‘Morality’ Oxford: Clarendon Press)”

ใช่เลยครับ ไม่ว่าประวัติศาสตร์การประกอบสร้างชุดความเชื่อทางศีลธรรมตามระบบวรรณะสี่ของพราหมณ์ฮินดู หรือชุดความเชื่อทางศีลธรรมตามคติไตรภูมิพระร่วงของพุทธศาสนาไทย หากมองจากมุมมองแบบ Nietzsche มันคือ “การใช้คำสอนทางศาสนากดคนให้ยอมจำนนนั่นเอง” ครับ หรือพูดอีกอย่าง มันคือ “ศีลธรรมแบบสัตว์ฝูง” (herd morality) ที่ทำให้คนเชื่อตามๆ กันอย่างปราศจากการตั้งคำถาม และไม่ใช้เสรีภาพเลือกคุณค่าความหมายของชีวิตที่ดีด้วยตนเอง

2. พระเขียนว่า “เราไม่ควรกล่าวโทษว่าเป็นเพราะระบบพ่อขุนอุปถัมภ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย หรือแม้แต่ลำเลิกว่าปัญหาของศาสนามาจากคำสอนของพระไตรภูมิพระร่วงหรือโองการแช่งน้ำ...การกล่าวโทษอดีต รังแต่จะทำให้สังคมร้าวฉาน เราไม่มีไทม์แมชชีนกลับไปแก้ไขอดีตได้”

นี่เป็นการ “จับประเด็นผิด” อีกครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมแปลกใจมากว่าทำไม “ข้อความภาษาไทย” ตรงไปตรงมาและชัดแจ้งขนาดนั้น พระถึง “ตีความ” ไปเป็นคนละเรื่องเฉยเลย เพราะบทความผมไม่ได้กล่าวโทษอดีตและไม่ได้เสนอให้ไปแก้ไขอดีตเลย แต่ผมวิจารณ์ตรงไปตรงมาว่ายุคเผด็จการสฤษดิ์มีการอ้างแนวคิดพุทธศักดินาตามคติไตรภูมิพระร่วงมาสนับสนุน “ประชาธิปไตยแบบไทย” และในยุคปัจจุบันมีการอ้างคติไตรภูมิพระร่วงเป็นอุดมคติในการสร้าง “สัปปายะสภาสถาน” ทั้งๆ ที่คติความเชื่อดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการกำเนิดระบบรัฐสภาสมัยใหม่เลย (ดู https://prachatai.com/journal/2023/03/103354

ตามข้อเท็จจริงคือ ทั้งยุคเผด็จการสฤษดิ์ และยุคปัจจุบันที่อ้างศีลธรรมชนชั้นแบบพุทธไทยมาใช้กับระบอบการปกครองสมัยใหม่ พวกเขาอ้างว่าเพื่อสร้าง “ความสามัคคี” ทั้งนั้นเลย เหมือนที่พวกเขาทำรัฐประหารทุกครั้ง ก็อ้างว่าเพื่อสร้างความสามัคคี และกล่าวหาประชาชนฝ่ายที่สู้เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมว่าเป็นฝ่ายที่สร้างความแตกแยก

ถามพระว่า ข้อวิจารณ์ของผมต่อเรื่องดังกล่าว มัน “ทำให้สังคมร้าวฉาน” ยังไงหรือครับ ยกตัวอย่างความร้าวฉานของสังคมที่เกิดจากการวิจารณ์นั้นได้ไหม ทำไมเราต้องยอมรับการอ้างอุดมคติทางศีลธรรมและการเมืองแบบโบราณมาใช้กับสังคมสมัยใหม่โดยไม่วิพากษ์วิจารณ์ล่ะ การที่ฆราวาสหรือพระยอมรับเชื่องๆ ต่างหากที่สะท้อนการยึด herd morality ตามๆ กัน

3. พระเขียนว่า “...ปัจจุบันคนมีเหตุผลมากกว่าอดีตและมีกลุ่มปัญญาชนที่ถกเถียงกันถึงหลักคำสอนของศาสนาอย่างมีเหตุผล เช่น กรณี พระเนติวิทย์หรือ ส.ศิวรักษ์ กล่าวถึง “Socially Engaged Buddhism” หรือสังคมอินเดีย ญี่ปุ่น และตะวันตก กล่าวถึง “Critical Buddhism” 

พระคงเข้าใจผิด หรือคิดไปเองว่าผมมีปัญหากับ Socially Engaged Buddhism หรือเรื่องที่สังคมอินเดีย ญี่ปุ่น และตะวันตกพูดถึง Critical Buddhism กระมัง เปล่าเลยครับ เพราะผมยืนยันแนวคิดโลกวิสัย (secularism) ที่เสนอแยกศาสนาจากรัฐ หรือปฏิเสธรัฐศาสนาทุกแบบ และรัฐกึ่งศาสนาแบบไทย มาเลเซีย อินโดนนีเซียเป็นต้น Socially Engaged Buddhism ที่พระเนติวิทย์และ ส. ศิวรักษ์พูดถึงมันไม่ใช่ศาสนาแบบรัฐ แบบมหาเถรฯ หรือแบบพุทธราชาชาตินิยมครับ จริงๆ แล้ว ส. ศิวรักษ์มีทีมทำ Socially Engaged Buddhism มานาน แต่เป็นพุทธที่มีความโน้มเอียงเป็นอิสระจากรัฐ หรือมีแนวโน้มเป็น “secular Buddhism” ส่วนพุทธในญี่ปุ่น อินเดีย และตะวันตก เป็น secular Buddhism แล้วครับ คือเป็นพุทธศาสนาเอกชนที่ปรับตัวอยู่ใต้กติกาของสังคมโลกวิสัยแล้ว ไม่ใช่พุทธแบบรัฐอย่างพุทธราชาชาตินิยมในไทย จึงไม่ขัดหลักการแยกศาสนาจากรัฐที่ผมยืนยัน

4. พระเขียนว่า “หลักการแยกศาสนาจากการเมืองของจอห์น ล็อค (John Locke) ที่เขียนไว้ใน “On Toleration” เขาเรียกร้องให้คน tolerate กับทุกศาสนา แต่เขากลับยอมรับผู้ที่ไม่นับถือพระเจ้า...”

น่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อนครับ จริงๆ ล็อกไม่ tolerate กับคาทอลิกครับ และไม่อดกลั้นต่อการไม่มีศาสนาหรือไม่นับถือพระเจ้าด้วย เพราะเขามองคาทอลิกเป็นภัยที่ต้องเฝ้าระวัง และยืนยันว่าการให้การต่อศาลยังต้องสาบานต่อพระเจ้า แต่นักคิดเสรีนิยมหลังล็อกที่ยืนยันการแยกศาสนาจากรัฐ ต่างยืนยันความอดกลั้นต่อทุกศาสนา ทุกนิกายศาสนา และการไม่มีศาสนา ยกเว้นการใช้ความเชื่อศาสนาหรือความเชื่อใดๆ ที่ไม่ใช่ศาสนาละเมิดเสรีภาพปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางการเมือง

5. พระเขียนว่า “...ไม่ควรนำประเด็นการแยกศาสนาออกจากการเมืองไปกล่าวรวมกับอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” เนื่องจากอุดมการณ์ดังกล่าวเกิดจากรัฐไทยเข้าสู่สังคมสมัยใหม่เมื่อประมาณร้อยปีมานี้ หรือไม่ควรเสนอว่าให้รัฐเลิกอุปถัมภ์ศาสนา หรือเลิกการปกครองสงฆ์ หรือเลิกกรมการศาสนา เพราะเราต้องยึดหลักการมากกว่าเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นที่เป็นข้อยกเว้น”

ข้อความนี้จบเลยครับ ที่พระอ้างนีทเช, รุสโซ, ล็อก, Robert Audi มันสะท้อนจากข้อความข้างบนนี้ว่าที่อ้างๆ มานั้นพระ “เข้าใจ” อย่างไร 

เพราะโดยหลักการแล้วมันไม่เกี่ยวกับว่าจะมีการเอาศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์รัฐ “ในสมัยใด” ครับ เพราะถ้ายึด “หลักการของ political secularization” การแยกศาสนาจากรัฐในทางการเมือง หรือการทำให้เป็นโลกวิสัยทางการเมือง ต้องเอาศาสนาออกไปจากอุดมการณ์รัฐ จากการเป็นสถาบันหลักของชาติ จากการเป็นศาสนาของรัฐ ศาสนาประจำชาติ ต้องไม่มีศาสนจักรของรัฐ องค์กรทุกศาสนาเป็นเอกชนทั้งหมด 

โดยเฉพาะหลัก “ความเป็นกลางของรัฐต่อความเชื่อทางศาสนาต่างๆ และความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนา” ตามแนวคิดเสรีนิยม, แนวคิดโลกวิสัย และตามที่ Audi ยืนยัน รัฐต้องไม่อุปถัมภ์ศาสนาใดๆ องค์กรทุกศาสนาแยกจากรัฐเป็นเอกชนหมดครับ 

เพราะถ้ารัฐอุปถัมภ์ศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ หรืออุปถัมภ์ทุกศาสนา (ที่รัฐรับรอง) เท่าเทียมกัน มันคือการให้ “อภิสิทธิ์ทางศาสนา” (religious privileges) ซึ่งขัดหลักการที่รัฐต้อง “เป็นกลาง” ระหว่างความเชื่อทางศาสนาต่างๆ กับความเชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่ศาสนา

อภิสิทธิ์ทางศาสนาในรัฐไทยมีหลายอย่างมาก เช่น รัฐให้ยศและเงินเดือนพระและผู้นำศาสนาอื่นๆ, เจ้าหน้าที่รัฐ (เช่นเจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ, กรมการศาสนา) ให้งบฯ สนับสนุนคณะสงฆ์, สำนักพุทธฯ, กรมการศาสนา, บังคับเรียนศาสนาในหลักสูตรการศึกษาชาติ, ให้อำนาจทางกฎหมายแก่นักบวชหรือศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม และออกกฎหมายอื่นๆ เพื่อสิทธิพิเศษของนักบวชและผู้นำศาสนาต่างๆ 

การให้อภิสิทธิ์ทางศาสนาดังกล่าว ย่อมไม่เป็นธรรมกับคนที่ไม่มีศาสนาที่ภาษีของพวกเขาถูกแบ่งไปสนับสนุนศาสนาต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ไม่มีหลักการที่ชอบธรรมรองรัฐ ไม่ว่าหลักประชาธิปไตยโลกวิสัย หรือหลักธรรมวินัยของพุทธะก็ตาม

จึงใช้หลักคิดแบบที่พระเขียนว่า “การที่รัฐให้เงินอุดหนุนศาสนาพุทธปีละห้าพันล้านบาทมากหรือน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนงบประมาณของรัฐปีละสามแสนกว่าล้านล้านบาท” ไม่ได้ครับ จะเปรียบเทียบอย่างนั้นไม่ได้ เพราะงบประมาณประจำปีของรัฐใช้เพื่อคนทั้งประเทศ พระเณรคือคนกลุ่มเล็กๆ และไม่ได้อยู่ในสถานะเสมอภาคกับพลเมืองทุกคนที่จะนำมาเปรียบเทียบในเรื่องการแบ่งปันงบประมาณรัฐได้ เนื่องจากพระอยู่ใน “สถานะอภิสิทธิ์ชน” ไม่จ่ายภาษี มีอภิสิทธิ์ต่างๆ ทางศาสนา เช่น อยู่ฟรี กินฟรี สอนธรรม ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ล้วนมีค่าตอบแทนเป็น “เงินทำบุญ” และยังมีเงินบริจาคอื่นๆ อีก มีงานวิจัยระบุว่าปีหนึ่งๆ มีเงินบริจาคหมุนเวียนเฉลี่ยทุกวัดทั่วประเทศปีละกว่าแสนล้านบาท พระบางรูปมีบัญชีเงินฝากส่วนตัวเป็นหลักสิบหลักร้อยล้านหรือมากกว่านั้น เมื่อมีอภิสิทธิ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมากขนาดนี้อยู่แล้ว ยังต้องมีอภิสิทธิ์ในเรื่องงบประมาณรัฐอีกหรือ 

อย่าบอกนะครับว่า “ถึงมีเงินบริจาคหมุนเวียนกว่าแสนล้าน แต่บางวัดรวย บางวัดจน พระรวยส่วนน้อย พระส่วนมากจน” ก็พระสอนเองว่าให้สังคมทางโลกนำหลักธรรมาธิปไตยมาใช้ เพราะ “ถ้าธรรมาธิปไตยไม่มาก็หาประชาธิปไตยไม่เจอ” แล้วระบบสงฆ์ทำไมไม่ใช้หลักธรรมาธิปไตยกระจายอำนาจ กระจายรายได้แก่วัดแก่พระให้เท่าเทียมเป็นประชาธิปไตยเล่าครับ ถ้าหลักธรรมาธิปไตยดีขนาดนั้น พระจะมาเอาอำนาจทางกฎหมาย ยศตำแหน่ง เงินเดือน งบฯ ประจำปี และฯลฯ จากรัฐทำไม หรือเมื่อรับเงินทำบุญมากอยู่แล้วจะรับ “ภาษี” จากคนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนาอีกทำไม เพราะนอกจากไม่มีหลักธรรมวินัยรองรับแล้วยังขัดหลักการประชาธิปไตยสมัยใหม่หรือประชาธิปไตยโลกวิสัยอีกด้วย ใช้ธรรมาธิปไตยบริหารวงการพระให้เป็นประชาธิปไตยและไม่ขัดหลักประชาธิปไตยโลกวิสัยให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ซิครับ จึง “ควร” สอนชาวบ้าน

6. พระเขียนว่า “หลักประการแรกใช้กับกิจกรรมของสถาบันรัฐบาล แยกย่อยออกเป็น (1) หลักเสรีภาพ (the libertarian principle) เป็นเงื่อนไขที่รัฐยินยอมให้ศาสนาต่างๆ ปฏิบัติตามศาสนาของตน (2) หลักความเสมอภาค (the equalitarian principle) รัฐต้องไม่ยินยอมให้ศาสนาหนึ่งมีอำนาจเหนือศาสนาอื่น (3) หลักความเป็นกลาง (the neutrality principle) รัฐต้องไม่แสดงความนิยมในศาสนาหนึ่งๆ เพียงเพราะการเป็นศาสนาหนึ่งหรือเขา นับถือศาสนานั้น

ส่วนหลักประการที่สองหลักที่ใช้กับศาสนา หมายถึงหลักการทางสถาบันของความเป็นกลางทางการเมืองของศาสนา (the neutrality principle of political neutrality) ศาสนาต้องหลีกเลี่ยงการสนับสนุนผู้สมัครทางการเมืองหรือการเสนอนโยบายใดของพรรคการเมือง (คงภาษาอังกฤษตามต้นฉบับของพระปลัดสมนึก)

จริงๆ แล้วหลักการ 3 ประการนั้น เป็นหลักการพื้นฐานของรัฐประชาธิปไตยโลกวิสัยที่แยกศาสนาจากรัฐแล้ว คือองค์กรทุกศาสนาเป็นเอกชนหมดแล้ว (เช่นอเมริกา, ฝรั่งเศส ฯลฯ) และโดยหลักการพื้นฐาน 3 ประการนั้นไม่อนุญาตให้นำศาสนามาใช้เป็นอุดมการณ์ของรัฐ เพราะถ้านำมาใช้มันก็เป็น “รัฐศาสนา” หรือ “รัฐกึ่งศาสนา” และเกิดความไม่เป็นธรรมต่อศาสนาอื่นๆ และคนไม่มีศาสนา ขัดทั้งหลักความเสมอภาคและหลักความเป็นกลางทางศาสนา ที่สำคัญขัดหลักเสรีภาพทางการเมืองด้วย ถ้าเอาศาสนามาเป็นอุดมการณ์รัฐและเป็นอุดมการณ์ที่แตะต้องไม่ได้ หรือเป็นอุดมการณ์ที่ถูกใช้เพื่อกดปราบคนคิดต่างแบบทำกันมาตลอดในประเทศไทย  

ส่วนย่อหน้าที่สองแสดงถึง “ความสับสน” หรือความเข้าใจผิดๆ ของพระเอง ที่ถูกคือเมื่อแยกศาสนาจากรัฐและรัฐยึดหลักการพื้นฐาน 3 ประการนั้นแล้ว รัฐย่อมไม่สามารถสถาปนาศาสนาประจำชาติ หรือออกกฎหมาย และกำหนดนโยบายเพื่ออภิสิทธิ์ทางศาสนาใดๆ ได้ แปลว่ารัฐไม่อุปถัมภ์หรือส่งเสริมศาสนาใดๆ ปล่อยให้ศาสนาเป็นความเชื่อส่วนตัว หรือเป็นความเชื่อของกลุ่มหรือชุมชนศาสนานั้นๆ ที่เป็นเอกชน 

ดังนั้น นาย ก, ข, ค... หรือกลุ่มศาสนา ก, ข, ค... จะชอบพรรคการเมืองใดๆ สนับสนุนหรือเลือกพรรคการเมืองใดๆ ก็เป็นสิทธิของเขาครับ เพราะทุกคนเป็นพลเมืองเสรีและเสมอภาคที่มีสิทธิทางการเมืองเท่าเทียมกัน นักบวชก็มีสิทธิเลือกตั้ง เขาจะเลือกหรือสนับสนุนพรรคการเมืองใดๆ ก็ได้ ตราบใดที่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่ออภิสิทธิ์ทางศาสนาของพวกตนที่ขัดหลักการพื้นฐาน 3 ประการนั้น หรือขัดกับเสรีภาพปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมือง

แต่เนื่องจากรัฐโลกวิสัยยึดหลักการพื้นฐาน 3 ประการนั้น รัฐจึงไม่สามารถให้อภิสิทธิ์ทางศาสนาใดๆ ได้ นโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ จึงแข่งกันเฉพาะ “นโยบายทางโลก” เช่น เรื่องเศรษฐกิจ การบริการสาธารณะทางการศึกษา การรักษาพยาบาล สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค คามเป็นธรรม สวัสดิการ และอื่นๆ ที่เกิดประโยชน์กับพลเมืองทุกคนโดยไม่เลือกว่าจะถือศาสนาใดๆ หรือไม่มีศาสนา ถ้านักการเมือง พรรคการเมืองนำเรื่องศาสนามาเสียง เช่น สัญญาว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลจะบัญญัติพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ จะให้งบฯ สนับสนุนศาสนา ฯลฯ ย่อมขัดหลักการประชาธิปไตยโลกวิสัย เป็นสิ่งที่เขาไม่ทำกันอยู่แล้วในรัฐโลกวิสัย

นอกจากย่อหน้าที่สองจะแสดงถึง “ความสับสน” หรือเข้าใจผิดต่อหลักการพื้นฐานของ political secularization อย่างสิ้นเชิงแล้ว ยังเป็นความพยายาม “สร้างมายาคติ” ว่าการเมืองเป็นเรื่องเกี่ยวกับพรรคการเมือง นักการเมือง การเลือกตั้ง หรือการชุมนุมต่างๆ เท่านั้น ถ้าพระเข้าข้างนักการเมือง หรือพรรคการเมือง ก็แปลว่า “ไม่เป็นกลาง” แต่ความจริงแล้วความหมายของ “การเมือง” ซับซ้อนกว่านั้นมาก การที่สมเด็จพระสังฆราชออกหนังสือสั่งการ หรือมหาเถรฯ มีมติ ประกาศ คำสั่งให้พระทั่วประเทศสอนประชาชนให้จงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่ห้ามแสดงความคิดเห็น อภิปราย เสวนา ชุมนุมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชน ก็มี “ความเป็นการเมือง” (the political) ที่เป็นการลือกอุดมการณ์ หรือเลือกข้างเลือกฝ่ายชัดเจนอยู่แล้ว หาได้มี “ความเป็นกลาง” ทางการเมือง (ระหว่างฝ่ายที่คิดต่าง เชื่อต่าง มีอุดมการณ์ต่างกัน) แต่อย่างใดไม่

7. พระเขียนว่า “การวิเคราะห์การแยกศาสนาจากการเมืองของศาสนาพุทธอาจต้องแตกต่างไปจากตะวันตกหรือไม่ เนื่องจากศาสนาพุทธไม่มีพระเจ้า และไม่มีปัญหาการเข้าแทรกแซงทางศาสนาจากต่างชาติเหมือนประเทศอื่น เช่น กรณีของญี่ปุ่น”

การแยกศาสนาจากรัฐและอำนาจทางการเมือง (political power) มันไม่เกี่ยวกับศาสนา “มีพระเจ้า” หรือ “ไม่มีพระเจ้า” ดอกครับ เพราะไม่ว่าอำนาจเทวสิทธิ์ของกษัตริย์หรืออำนาจธรรมราชา, สมมติเทพ, โพธิสัตว์, พระพุทธเจ้าอยู่หัวที่ “ปกครองโดยธรรม” ล้วนแต่เป็น “อำนาจเด็ดขาด” (despotism) ของคนๆ เดียว หรือเครือข่ายชนชั้นปกครองที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตยโลกวิสัย (secular democracy) เหมือนกัน 

พูดอีกอย่าง ไม่ว่ารัฐคริสเตียน, รัฐอิสลาม, รัฐฮินดู, รัฐพุทธ หรือรัฐศาสนาใดๆ ก็เป็นรัฐที่ไม่มีหลักเสรีภาพ, ความเสมอภาค, และหลักความเป็นกลางทางศาสนาและความเชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่ศาสนาแบบรัฐประชาธิปไตยโลกวิสัยทั้งนั้น มันจึงไม่ใช่จะอ้าง “ความพิเศษ” ของพุทธศาสนาไทย หรือ “ความเป็นไทย” ที่หลอกตัวเองว่าไม่เหมือนใครในสามโลก จะเป็นประชาธิปไตยก็ต้องเป็น “ประชาธิปไตยแบบไทย” เท่านั้น จะแยกศาสนาจากรัฐก็ต้อง “แยกแบบพุทธไทย” เท่านั้น พูดแบบนี้มาเกือบร้อยปีแล้ว ก็ได้แต่เผด็จการไทยๆ และรัฐกึ่งศาสนาไทยๆ อยู่แบบนี้

การอ้าง “ความพิเศษ” ของบริบทพุทธไทยและบริบทความเป็นไทย ทำให้ประเทศนี้ไม่สามารถจะมีสิทธิ เสรีภาพ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความยุติธรรมตามหลักนิติรัฐแบบประเทศที่เจริญแล้วเขามีกันได้ เพราะไอ้ “ความพิเศษ” ไม่เหมือนใครในสามโลกที่นิยมอ้างมาหลอกตัวเอง มันไป “ลดทอน” ความหมายของคำเหล่านั้นหมด ทำให้มีได้แค่สิทธิเสรีภาพไทยๆ ประชาธิปไตยไทยๆ พุทธไทยๆ ซึ่งห่างไกลจาก secular Buddhism ที่สอดคล้องกับ secularization ราวฟ้ากับเหว

ดังนั้น การอ้างแบบพระจึงไม่ใช่ “การเจริญสติอยู่กับปัจจุบัน” ดังที่ยกมาแนะนำคนอื่น เพราะปัจจุบันโลกส่วนใหญ่เป็นสังคมโลกวิสัย ส่วนพุทธแบบไทยคืออดีตอัน (เชื่อว่า) งดงามที่ไม่มีวันจะหวนคืนกลับมา

อาจเป็นดังที่นิธิ เอียวศรีวงศ์เคยตั้งข้อสังเกตว่า ในอนาคตอีกไม่นานเมื่อคนรุ่นใหม่เติบโตมีการงาน ครอบครัว และเข้ามามีอำนาจนำทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม พระสงฆ์ไทยจะไม่เหลือใครให้สั่งสอนอีกต่อไป 

เพราะพูดกันคนละภาษา เช่น ภาษาหรือคุณค่าแบบ secular เขามีความหมายของเขาชัดเจนอยู่แล้ว พระก็พูดให้มีความหมายอีกแบบ ส่วน “ภาษาธรรมวินัย” พระก็ตีความเพื่อใช้สนับสนุนระบบศักดินาพระหรือ “Status quo” ของพวกตนที่ขัดกับคุณค่าแบบ secular โดยพื้นฐาน และขัดหลักคำสอนให้ “ปล่อยวาง” หรือละทิฐิอุปาทานต่างๆ เสียเอง

ทั้งนี้เพราะปัญหาพื้นฐานสำคัญที่สุดเลยคือ พระตอบไม่ได้ว่าการคงระบบไม่แยกศาสนาจากรัฐแบบที่เป็นอยู่นี้เป็นการ “ซื่อสัตย์” ต่อธรรมวินัยของพุทธะอย่างไร และเป็นการ “เคารพ” ต่อหลักการประชาธิปไตยโลกวิสัย หรือหลักเสรีภาพ เสมอภาค และความเป็นกลางต่อความเชื่อทางศาสนาและความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนาอย่างไร และภายใต้ระบบไม่แยกศาสนาจากรัฐนี้ พระเองยังไม่สามารถจะมีเสรีภาพแห่งมโนธรรมสำนึกด้วยซ้ำ แต่ก็ยังพยายามหาข้ออ้างนานามาปกป้องระบบที่ละเมิดความเป็นมนุษย์ของตนเอง! 

 

ที่มาภาพ: https://laurenrevisesphilosophy.wordpress.com/2019/05/29/the-challenge-of-secularism/

 

 

 
 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท