Skip to main content
sharethis

ข้อมูลจาก 'โครงการประเมินและสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตข้าราชการตำรวจ' พบกำลังพลระดับรอง ผบก.ลงมา 205,268 นาย เข้ารับการประเมิน 195,524 นาย (95.25%) ไม่เข้ารับการประเมิน 9,744 นาย (4.75%) ไม่พบความเสี่ยง 195,274 นาย (99.87%) พบความเสี่ยง 250 นาย (0.13%) แนะผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าหน่วยทุกระดับควรเข้ารับการอบรมความรู้ และมีทักษะในการป้องกันแก้ไขปัญหาตำรวจฆ่าตัวตาย

12 พ.ค. 2566 ข้อมูลจากการประชุมติดตามการดำเนินงานตาม 'โครงการประเมินและสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตข้าราชการตำรวจ' เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา มีการรายงานผลการดำเนินโครงการฯ โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

การดำเนินโครงการฯ นี้ได้ทำการประเมินเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าร่วมโครงการทางออนไลน์ (ระหว่าง 21 พ.ย.-7ธ.ค. 2565), ประมวลผลและแจ้งผลผู้เสี่ยง (8 ธ.ค. 2565-12 ม.ค. 2566), ตรวจวินิจฉัย รักษาและรายงานผลต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (จนถึงปัจจุบันเดือน พ.ค. 2566)

สรุปผลการดำเนินโครงการฯ จากกำลังพลระดับรอง ผบก.ลงมา 205,268 นาย เข้ารับการประเมิน 195,524 นาย (95.25%) ไม่เข้ารับการประเมิน 9,744 นาย (4.75%) ไม่พบความเสี่ยง 195,274 นาย (99.87%) พบความเสี่ยง 250 นาย (0.13%)

*"กลุ่มเสี่ยง" คือผู้มีผลการประเมินเสี่ยงทั้ง 3 ด้านได้แก่ 1.มีความเครียดระดับมากที่สุด 2.มีภาวะซึมเศร้าระดับรุนแรง 3. มีความเสี่ยงทำร้ายตนเองระดับปานกลาง-รุนแรง

สำหรับตำรวจที่พบความเสี่ยง 250 นายนั้น เข้าสู่กระบวนการรักษา 142 นาย (56.8%) ไม่พบความผิดปกติ 103 นาย (41.2%) รอพบแพทย์ 3 นาย (1.2 %) ลาออกจากราชการ 2 นาย (0.8%)

เมื่อพิจารณาตัวเลขตำรวจที่เข้าสู่กระบวนการรักษาจาก 142 นายนั้น พบว่าสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) มากที่สุด 32 นาย ตามมาด้วยกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และตำรวจภูธร ภาค 3(ภ.3) เท่ากันที่ 11 นาย

ด้านปัญหาและอุปสรรคของโครงการฯ พบข้อจำกัดของการประเมินสุขภาพจิตผ่านระบบออนไลน์ โดยตำรวจบางนายอาจไม่ถนัดการใช้งานผ่านระบบออนไลน์ ทำให้เกิดความผิดพลาดในการกรอกข้อมูลได้ เช่น กรอกข้อมูลไม่ถูกต้อง เลือกสังกัดผิด ส่งผลให้รายชื่อตกหล่น ไม่พบรายชื่อในสังกัดของตน และจำนวนของผู้เข้าทำแบบประเมิน อาจคาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง

นอกจากนี้ระบบของการประเมินค่อนข้างใช้งานได้ลำบาก เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลระหว่างช่วงของการประเมินได้แบบ real time time ต้องรอจนประเมินครบทุกหน่วยและปิดระบบการประเมินก่อนจึงจะสามารถตรวจสอบข้อมูลและแก้ไขได้ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบหรือติดตามให้เข้าทำแบบประเมินได้ครบทุกนาย

การประเมินในครั้งนี้เป็นเพียงการคัดกรองเบื้องต้น ซึ่งลักษณะของแบบประเมินเป็นแบบรายงานตนเอง (self report) ผู้ประเมินต้องซื่อสัตย์กับตนเอง และตอบตามความเป็นจริง จึงจะได้ผลลัพธ์ที่เชื่อถือได้

การประเมินสุขภาพจิตครั้งนี้เป็นเพียงการคัดกรองภาวะสุขภาพจิตเบื้องต้นและผลการประเมินสุขภาพจิตที่ได้เป็นผลขณะทำการทดสอบเท่านั้น ซึ่งภาวะสุขภาพจิตนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญจึงไม่สามารถใช้ในการทำนายอนาคตได้ แนะนำให้ผู้บังคับบัญชาคอยสอดส่องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาทุกนายอย่างใกล้ชิด หากพบความผิดปกติหรือสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงต่อการทำร้ายต้นเองสามารถดำเนินการนำตัวส่งพบแพทย์ได้ทันที

ตำรวจบางนายกลัวถูกตีตราไม่กล้าตอบตามความจริง เนื่องจากกังวลถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา

สำหรับข้อจำกัดในการดำเนินการนั้น มีเรื่องการรักษาความลับ เนื่องจากการดำเนินการต้องมีการประสานให้ผู้บังคับบัญชานำตัวผู้ที่มีความเสี่ยงสูงไปพบแพทย์ ทำให้ผู้ที่ตอบแบบประเมินบางนายกลัว ถูกตีตราไม่กล้าตอบตามความจริง ให้คำตอบที่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม เนื่องจากกังวลถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา

กำลังพลมีการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายอยู่ตลอด อาจทำให้เกิดความสับสน และลำบากในการติดตามอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้สถานพยาบาลบางแห่งมีจานวนจิตแพทย์จำกัด อาจต้องรอคิวนาน หรืออยู่ห่างไกลทำให้เกิดความลาบากและมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความลำบากในการไปรักษาอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงข้อจำกัดเรื่องความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต ผู้บังคับบัญชาบางหน่วยอาจขาดความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต เช่น มีการตำหนิผู้ที่มีความเสี่ยงซึ่งได้ตอบแบบประเมินตามความจริง ว่าไม่ควรตอบ ให้มีความเสี่ยง เนื่องจากกังวลว่าจะมีปัญหาตามมา นอกจากนี้ยังอาจขาดความเข้าใจเกี่ยวกับ ปัญหาสุขภาพจิต/โรคทางจิตเวช อาจมีการตัดสิน ตีตราผู้ที่มีความเสี่ยงว่าเป็นคนบ้า หรืออาจมีการสื่อสารที่ไม่เหมาะสมทำให้ผู้มีความเสี่ยงรู้สึกแปลกแยกจากผู้อื่นเกิดความพยายามที่จะปกปิดปัญหาไว้ จนอาจนำไปสู่ปัญหาที่รุนแรงได้ นอกจากนี้ยังอาจขาดทักษะในการสังเกต พฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการทาร้ายตัวเอง จะมีส่วนสำคัญในการช่วยยุติความรุนแรงและป้องกันเหตุได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ผู้ที่มีความเสี่ยงบางนายอาจขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช คิดว่าทานยาแล้วอาการดีขึ้นคือหายแล้ว จึงหยุดยาเอง ไม่ไปรักษาต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง ทำให้กลับมามีอาการอีก

แนะผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าหน่วยทุกระดับควรเข้ารับการอบรมความรู้ และมีทักษะในการป้องกันแก้ไขปัญหาตำรวจฆ่าตัวตาย

ในด้านข้อเสนอแนะของโครงการฯ มีดังนี้

1. ผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าหน่วยทุกระดับ โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาระดับบริหารที่สามารถขับเคลื่อนการให้ความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่อง ควรเข้ารับการอบรมความรู้ และมีทักษะในการป้องกันแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรมเพื่อเข้าใจปัญหาของผู้ใต้บังคับบัญชา หาแนวทางแก้ไขร่วมกัน และสามารถกำกับดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาได้อย่างเหมาะสม

2. ผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าหน่วยทุกระดับ ควรหมั่นสังเกต สอดส่องดูแล และให้ความช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิดและเหมาะสม รวมถึงมอบหมายงาน ให้ตรงกับศักยภาพ

3. ผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าหน่วยทุกระดับ ควรให้การสนับสนุน ติดตามการรักษาให้สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง ไม่หยุดยาเอง

อนึ่ง 'โครงการประเมินและสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตข้าราชการตำรวจ' จัดขึ้นเพื่อดูแลข้าราชการตำรวจให้มีสุขภาพจิตที่ดีและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net