Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษจากสื่อ IndiaSpend ว่าด้วยบทเรียนจากอินเดีย "การบาดเจ็บจากการทำงานของแรงงานหญิงในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์" ผู้หญิงมีความเสี่ยงเนื่องจากช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ การขาดการฝึกอบรมที่เหมาะสม และความยากลำบากในการเข้าถึงสิทธิ์ตามกฎหมาย


ที่มาภาพประกอบออกแบบโดยเทคโนโลยี AI ขับเคลื่อนโดย DALL·E 3

บาสันตี (Basanti) แรงงานหญิงวัย 37 ปี ซึ่งอพยพมาจากเมืองโดลปูร์ รัฐราชสถาน ต้องดิ้นรนเพื่อกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา

ในวันอาทิตย์หนึ่งของเดือน พ.ย. 2023 เมื่อหัวหน้างานของเธอ เรียกให้เธอมาที่โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในฟาริดาบัด โรงงานที่เธอทำงานเป็นผู้ควบคุมเครื่องกดไฟฟ้า เธอลังเลใจ หากเธอไม่ทำตามคำสั่งเพื่อช่วยผลิตตามคำสั่งเร่งด่วน หัวหน้างานบอกว่าเธอจะถูกไล่ออกจากบริษัทที่เธอทำงานมา 2 ปี

“เมื่อฉันมาถึง ฉันบอกหัวหน้างานว่าเครื่องจักรนั้นไม่ปลอดภัยและเป็นเช่นนั้นมาประมาณ 6 เดือนแล้ว โดยปกติแล้วเครื่องนี้จะถูกควบคุมโดยคนอื่นที่ลาหยุดในวันนั้น” บาสันตี บอกกับ IndiaSpend “เครื่องจักรเกือบจะบดมือฉัน 3 ครั้งในวันนั้นก่อนเกิดอุบัติเหตุ แต่ฉันถูกบังคับให้ควบคุมเครื่องเพื่อให้การผลิตเป็นไปตามต้องการ”

มือของเธอถูกตัดออกหลังจากถูกเครื่องนั้นบด มันเป็นเครื่องกดไฟฟ้าที่ขาดการบำรุงรักษาที่ดี ตอนนี้เธอต้องพึ่งพาสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้ดูแล ซึ่งโดยปกติคือ ลูกสาวของเธอ เพื่อป้อนอาหาร อาบน้ำ และแต่งตัวให้ “ฉันแค่อยากปลูกถ่ายมือใหม่ [ทางศัลยกรรม] เพื่อให้ฉันสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้” เธอกล่าว

กรณีของเธอมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของอินเดีย ตั้งแต่ปี 2016 มีการบาดเจ็บในภาคยานยนต์มากกว่า 5,000 ครั้ง ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วคนทำงานจะสูญเสียนิ้วสองนิ้ว ตามรายงาน ‘Crushed 2023’ ขององค์กรภาคประชาสังคม Safe in India Foundation (SII) เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานของแบรนด์ยานยนต์หรือผู้รับจ้างผลิตอุปกรณ์ (OEMs) มากกว่า 20 แบรนด์ คนทำงานส่วนใหญ่ที่ SII ช่วยเหลือในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคม (ESIC) เช่น การสนับสนุนทางการแพทย์และเงินบำนาญ

ตามข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อินเดีย (ACMA) ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้น 33% ต่อปี โดยในปี 2023 มีมูลค่าถึง 5.6 แสนล้านรูปี (ประมาณ 70 พันล้านดอลลาร์ฯ) ในขณะที่การจัดหาชิ้นส่วนยานยนต์ของผู้รับจ้างผลิตชิ้นส่วน เติบโตขึ้น 40% แต่บาสันตีได้รับเงินเพียง 10,000 รูปี (ประมาณ 120 ดอลลาร์ฯ) ต่อเดือน สำหรับงานที่เธอไม่เคยได้รับการฝึกอบรมทางเทคนิคมาก่อน

ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตยานยนต์อินเดีย (SIAM) ซึ่งเป็นองค์กรระดับชาติที่เป็นตัวแทนของผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ยานยนต์หลักทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์สร้างการจ้างงานโดยตรงและโดยอ้อมประมาณ 32 ล้านคนในปี 2016 และมีศักยภาพที่จะเพิ่มงาน 65 ล้านตำแหน่งภายในปี 2026 และสร้างรายได้ 25 แสนล้านรูปี (300 พันล้านดอลลาร์ฯ) คิดเป็นสัดส่วน 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของอินเดีย

แม้ว่าจะมีกำไรและการเติบโตที่น่าประทับใจ แต่ในระดับล่างของห่วงโซ่อุปทาน ความปลอดภัยของคนทำงานโดยรวม--และความเสี่ยงของคนทำงานหญิงโดยเฉพาะ--ยังคงถูกเอารัดเอาเปรียบ IndiaSpend พบในระหว่างการรายงานในฟาริดาบัด คนทำงานหญิงซึ่งส่วนใหญ่ยากจนและเป็นแรงงานที่มาจากต่างถิ่น มีความเสี่ยงเป็นพิเศษเนื่องจากความแตกต่างด้านค่าจ้างระหว่างเพศ พวกเธอไม่รู้หนังสือและการขาดการฝึกอบรมที่เหมาะสมในการควบคุมเครื่องกดไฟฟ้า ขาดโอกาสในการทำงานหลังจากเกิดอุบัติเหตุ แรงกดดันจากครอบครัว และความยากลำบากในการเข้าถึงสิทธิ์ตามกฎหมายหลังเกิดอุบัติเหตุ

การละเลยความปลอดภัยของคนทำงานและขาดการฝึกอบรม

ในปี 2021 มีผู้หญิงมากกว่า 3.1 ล้านคน ทำงานในโรงงานที่จดทะเบียนในอินเดีย ตามข้อมูลล่าสุดจากกรมบริการคำแนะนำโรงงานและสถาบันแรงงาน (DGFASLI) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านเทคนิคของกระทรวงแรงงาน ที่จัดการเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน (OSH) ในปี 2021 มีผู้หญิงมากกว่าครึ่งล้านคนทำงานในรัฐหรยาณา ซึ่งมากที่สุดรองจากรัฐทมิฬนาฑู

DGFASLI รวบรวมสถิติ OSH จากหัวหน้าผู้ตรวจสอบโรงงานของรัฐและผู้อำนวยการด้านความปลอดภัยและสุขภาพในอุตสาหกรรม ข้อมูลเหล่านี้แสดงถึงเฉพาะโรงงานที่จดทะเบียน แม้ว่าประมาณ 90% ของคนงานในอินเดียจะทำงานในภาคส่วนที่ไม่เป็นทางการ IndiaSpend รายงานในเดือนมกราคม 2023

ชยามวาติ (Shyamvati) ผู้ควบคุมเครื่องกดไฟฟ้าวัย 32 ปี เป็นแรงงานหญิงอีกคนที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานในอุตสาหกรรมนี้

ในเดือน เม.ย. 2024 ชีวิตของชยามวาติเปลี่ยนไป หลังจากที่มือซ้ายของเธอถูกบดด้วยเครื่องกดไฟฟ้า ในโรงงานซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่แห่งหนึ่ง ยกเว้นนิ้วชี้ซ้ายที่ชาหมดความรู้สึก นิ้วอื่น ๆ ของเธอถูกตัดออกหมด และแผลยังไม่หายดีเมื่อ IndiaSpend พบเธอช่วงเดือน มิ.ย. 2024

เครื่องกดไฟฟ้าใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ในการตัดและขึ้นรูปโลหะซึ่งลดแรงงานและเวลาที่ใช้ในการผลิตวัสดุ มันเป็นสาเหตุถึง 2 ใน 3 ของการบาดเจ็บจากการทำงานในรัฐหรยาณา มหาราษฏระ และอุตตราขัณฑ์ ตามการวิเคราะห์ของ SII ในปี 2023 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการบำรุงรักษาที่ไม่ดี ในรัฐหรยาณา อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของการบาดเจ็บตั้งแต่ปี 2016 เกิดจากเครื่องกดไฟฟ้า

รัฐหรยาณาเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของภาคยานยนต์หลัก ๆ และในเมืองฟาริดาบัดและกูรูกราม ก็มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จำนวนมาก

ชยามวาติ เป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว นับตั้งแต่สามีของเธอที่เคยทำงานรับจ้างรายวันมีปัญหาสุขภาพ ไม่นานหลังจากที่พวกเขาย้ายจากภาราตปูร์ รัฐราชสถาน มายังฟาริดาบัดจาก เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เธอมีรายได้ 13,200 รูปี (ประมาณ 160 ดอลลาร์ฯ) ต่อเดือน ซึ่งมากกว่าค่าจ้างของผู้ควบคุมเครื่องจักรผู้หญิงคนอื่น ๆ

“หมอบอกว่าไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก” ชยามวาติ กล่าว เธอต้องใช้ยาเม็ด 4 เม็ดในแต่ละวันเพื่อบรรเทาอาการปวด

ทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุ เธอได้รับเงิน 2,700 รูปี สำหรับการทำงาน 4 วัน ในเดือน เม.ย. และถูกแนะนำโดยตัวแทนโรงงานให้รับเงิน 10,000 รูปีเป็นการชดเชยแทนที่จะฟ้องร้อง ซึ่งพวกเขากล่าวว่าจะเป็นภาระทางการเงินสำหรับเธอ “ฉันไม่คิดว่าพวกเขาจะให้ฉันทำงานอีก เมื่อฉันไปพบพวกเขา แม้แต่น้ำดื่มพวกเขายังไม่เสิร์ฟให้ฉัน”

เช่นเดียวกับบาสันตี ชยามวาติก็เผชิญกับความอับอายหากไม่สามารถทำการผลิตบนเครื่องที่เสียและไม่ปลอดภัยเหล่านั้น ซึ่งสุดท้ายทำให้เธอต้องพิการ “เมื่อฉันทำความสะอาดเครื่อง ฉันสังเกตว่าเครื่องกดไฟฟ้าเริ่มทำงานเอง ซึ่งฉันก็แจ้งหัวหน้างานทันที” เธอกล่าว “ฉันถูกบอกให้กลับบ้านถ้าไม่อยากทำงาน และถูกกดดันให้มั่นใจในคุณภาพการผลิต บนเครื่องที่ไม่มีเซนเซอร์ความปลอดภัยที่เหมาะสม”

ตอนนี้ไม่มีรายได้และมีหนี้มากกว่า 1 แสนรูปี ชยามวาติต้องให้ลูกทั้ง 3 คน ของเธอที่ อายุ 12, 11 และ 9 ปี ออกจากโรงเรียน เธอและลูก ๆ ตอนนี้อาศัยอยู่กับน้องสาวของเธอห่างออกไป 120 กม. ในมถุรา รัฐอุตตรประเทศ เพราะการทำอาหารและงานบ้านอื่น ๆ เกือบจะเป็นไปไม่ได้  “ลูกสาวของฉันยังเด็กเกินไปที่จะช่วยเหลือครอบครัว และสามีของฉันต้องจัดการเองที่นี่” ชยามวาติ ผู้เป็นกังวลกล่าว

แรงงานหญิงภายใต้ความเครียดที่เพิ่มขึ้น


ที่มาภาพประกอบออกแบบโดยเทคโนโลยี AI ขับเคลื่อนโดย DALL·E 3

บาสันตีและชยามวาติ เป็นแรงงานย้ายถิ่นที่ได้งานผ่านผู้รับเหมาช่วง จากรายงานของ SII ระบุว่าแรงงานส่วนใหญ่ในภาคนี้เป็นแรงงานชั่วคราวที่ย้ายถิ่นมาจากชนบท และไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน

การมีส่วนร่วมของแรงงานหญิงเป็นเรื่องที่น่ากังวลในอินเดีย อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานหญิงเพิ่มขึ้นในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว แต่สัดส่วนส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นนั้นอยู่เป็นแรงงานที่ขาดความมั่นคง ตามที่ระบุในรายงาน State Of Working India (SWI)

โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิงอินเดียใช้เวลากว่า 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการทำงานบ้านที่ไม่ได้รับค่าจ้างและกิจกรรมการดูแลครอบครัว IndiaSpend ในทางกลับกัน ผู้ชายใช้เวลาเพียงกว่า 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในกิจกรรมเหล่านี้

นิชา ศรีวัสตาวา (Nisha Srivastava) นักเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เดลี กล่าวว่าการเกิดอุบัติเหตุเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มันสามารถหลีกเลี่ยงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายมากนักสำหรับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในการรับประกันความปลอดภัยของคนทำงาน “สภาพแวดล้อมไม่เอื้อประโยชน์ให้คนทำงานทุกคน และผู้หญิงก็ได้รับผลกระทบมากกว่าคนอื่น” เธอกล่าว “ฉันคิดว่าความสิ้นหวัง เป็นสิ่งที่นำพาผู้คนมาสู่งานเช่นนี้”

ระหว่างปี 2017-2021 มีคนได้รับบาดเจ็บเฉลี่ยวันละ 10 คน จากอุบัติเหตุในโรงงานที่จดทะเบียนในอินเดีย ส่วนในระดับโลก มีอุบัติเหตุเกือบ 3,800 ครั้งต่อปี มีแรงงานกว่า 395 ล้านคน ทั่วโลกได้รับบาดเจ็บจากการทำงานที่ไม่รุนแรงในปี 2019 ตามข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)ในปี 2023

คนทำงานส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยผู้ควบคุมเครื่องกดไฟฟ้า และทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การนำเศษเหล็กออกและโหลดชิ้นงาน บาสันตีและชยามวาติเป็นผู้ช่วยที่เรียนรู้การควบคุมเครื่องกดไฟฟ้าขณะทำงานโดยไม่มีการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการ ในขณะที่ชยามวาติสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา บาสันตีไม่ได้เข้าโรงเรียน คนทำงานมักไม่มีวุฒิการศึกษาที่เพียงพอ ซึ่งจำเป็นต้องสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 8 ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ IndiaSpend สัมภาษณ์ กล่าวว่าพวกเธอไม่ได้จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาหรือไม่ได้เข้าโรงเรียนเลย

ในรายงาน ‘Crushed’ พบว่าในรัฐหรยาณา มหาราษฏระ และอุตตราขัณฑ์ คนทำงานที่ได้รับบาดเจ็บระหว่าง 13-24% เป็นผู้ช่วย แต่ผู้ช่วยและผู้ควบคุมเครื่องต้องเผชิญกับการสูญเสียนิ้วในอัตราที่ใกล้เคียงกัน รายงานระบุว่าข้อมูลจากกูรูกราม ฟาริดาบัด ปูเน และรุทราปูร์ สัดส่วนสูงของผู้ช่วยที่ได้รับบาดเจ็บแสดงให้เห็นว่าคนทำงานที่ไม่มีทักษะถูกขอให้ทำงานที่ต้องใช้ทักษะ ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

'เราทำงานมากกว่าผู้ชาย'

IndiaSpend ได้พูดคุยกับผู้หญิงหลายคนที่ได้รับบาดเจ็บจากเครื่องกดไฟฟ้า ไม่มีใครที่ได้รับการฝึกอบรมหรือมีวุฒิการศึกษาที่เพียงพอในการใช้เครื่องจักรเหล่านี้ พวกเธอเริ่มต้นเป็นผู้ช่วย ได้รับเงินเดือนระหว่าง 6,000-8,000 รูปีต่อเดือน สำหรับการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน และถูกบังคับให้กลายเป็นผู้ควบคุมเครื่องจักร ที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมที่เพียงพอ—ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่พวกเธอต้องจำใจยอมรับเพราะเงินเดือนดีกว่า

ส่วนใหญ่ผู้ชายที่ทำงานในโรงงานได้รับเงินเฉลี่ย 58 รูปีต่อชั่วโมง มากกว่าผู้หญิงที่ได้รับเงินเฉลี่ย 43 รูปีต่อชั่วโมง ตามรายงาน Women and Men in India 2022 ของรัฐบาลอินเดีย

อินเดียมีความเหลื่อมล้ำในด้านค่าจ้างระหว่างเพศสูงสุดในโลก ตามดัชนีช่องว่างระหว่างเพศทั่วโลก 2024 (Global Gender Gap Index 2024) อินเดียอยู่ในอันดับที่ 142 จาก 146 ประเทศ ในด้านการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและโอกาส อยู่เหนือปากีสถาน อิหร่าน ซูดาน และบังกลาเทศเพียงเท่านั้น ในแง่ของความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ โดยรวมแล้วอินเดียตกอันดับลง 2 อันดับจากปี 2023

ความเหลื่อมล้ำในด้านค่าจ้างระหว่างเพศมีอยู่ทั่วไป ศรีวัสตาวา กล่าว “โศกนาฏกรรมที่นี่คืออุบัติเหตุและผลกระทบของมัน ในภาคส่วนอื่น ๆ อาจไม่เป็นเช่นนี้” เธอกล่าว

ในเดือน เม.ย. 2024 กวิตา (Kavita) วัย 34 ปี ที่เพิ่งทำงานได้เดือนเดียว ประสบอุบัติเหตุถูกเครื่องกดไฟฟ้าบดขยี้นิ้วมือ ตั้งแต่ที่เธอแยกทางกับสามีที่ทำร้ายร่างกายเธอ กวิตาได้พักอยู่ในห้องเช่ากับแม่ของเธอมากว่า 5 ปี มากกว่า 1 ใน 4 ของเงินเดือนของเธอ ถูกใช้ไปกับค่าเช่าและค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน เธอกล่าวว่าเธอได้รับเงินเดือนหนึ่งเดือนจากผู้รับเหมา พร้อมความหวังว่าพวกเขาจะจ่ายเงินให้เธอจนกว่าเธอจะฟื้นตัว แม้ว่าบริษัทจะขอให้เธอกลับไปทำงาน แต่มันเป็นงานของผู้ช่วยที่จ่ายค่าจ้างน้อยกว่า

“ฉันทำงานเป็นผู้ควบคุมเรื่องจักรเพราะเงินเดือน 10,500 รูปีต่อเดือน ฉันมีภาระทางครอบครัวและต้องการงาน” กวิตากล่าว เธอไม่เคยเข้าโรงเรียน “ผู้ชายได้เงินมากกว่าผู้หญิงเพราะพวกเขาบอกว่าผู้หญิงทำให้เสียเวลา แต่ในความเป็นจริง เราทำงานมากกว่าผู้ชาย”

โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิงมีรายได้เป็นสัดส่วนเพียง 76% ของผู้ชายในงานที่มีเงินเดือน และลดลงเหลือเพียง 40% สำหรับผู้ที่ทำงานอิสระ ตามรายงาน SWI ปี 2023

ผู้หญิงบางคนกล่าวว่าผู้ชายอาจต้องทำงานกับเครื่องมือเฉพาะสำหรับตัดโลหะ หรือต้องยกชิ้นส่วนหนักซึ่งต้องใช้แรงงานทางกายภาพมากกว่า แต่พวกเธอกล่าวว่านั่นไม่ใช่เหตุผลที่สมเหตุสมผลที่ผู้หญิงจะได้รับเงินน้อยกว่าสำหรับงานประเภทเดียวกัน

ซีมา ชาร์มา (Seema Sharma) ผู้บริหารภาคสนามในศูนย์ฟาริดาบัดของ SII กล่าวว่าทั้งคนทำงานชายและหญิงมีปัญหาคล้ายกัน แต่แรงกดดัน—ทั้งงานและครอบครัว—ผู้หญิงมีมากกว่า “ผู้หญิงได้รับค่าจ้างน้อยกว่าทั้งที่ทำงานมากกว่า ผู้หญิงหลายคนไม่สามารถต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเธอได้เพราะพวกเธอไม่สามารถหางานอื่นได้ [หลังจากเกิดอุบัติเหตุ] และมันส่งผลกระทบต่อครอบครัวของพวกเธอ”

ผู้หญิงที่ IndiaSpend พูดคุยด้วยกล่าวว่าพวกเธอทำงานมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง และมากกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเกินขีดจำกัดภายใต้ข้อกำหนด OSH 2020 คนทำงานส่วนใหญ่กล่าวว่าพวกเธอได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงโดยไม่มีค่าล่วงเวลา คนทำงานมีสิทธิ์ได้รับค่าล่วงเวลา 2 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันตามพระราชบัญญัติโรงงาน ค.ศ. 1948

2 ใน 3 ของคนทำงานที่ได้รับบาดเจ็บ รายงานว่าทำงานมากกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามรายงาน Crushed 2023 ของ SII และ 26% ทำงานมากกว่า 48 ชั่วโมง

“การจ่ายค่าแรงไม่เท่ากันสำหรับงานที่เหมือนกัน เป็นโรคทางประวัติศาสตร์” ชยาม สุนทาร์ นักเศรษฐศาสตร์แรงงานและอาจารย์พิเศษที่สถาบันพัฒนาการจัดการ (MDI) เมืองคุร์เคาน์ กล่าว ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างเพศมีอยู่ในอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าที่สุด ไม่ใช่แค่ระดับการผลิตที่ต่ำกว่าเท่านั้น และมีอยู่ในทุกอุตสาหกรรม แม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติค่าตอบแทนเท่าเทียมกัน ค.ศ. 1976 ซึ่งกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับงานที่เท่าเทียมกัน แต่ก็เป็นกฎหมายที่พูดถึงน้อยที่สุดแต่ถูกเอาเปรียบมากที่สุด เขากล่าว

การขาดความเห็นอกเห็นใจและการเข้าถึงการรักษาพยาบาลหลังอุบัติเหตุ

สำหรับคนทำงานที่สูญเสียแขนขา อนาคตดูมืดมน พวกเธอไม่สามารถหางานทำในโรงงานอื่น ๆ ได้ พวกเธอกล่าวว่า ผู้รับเหมาจะตรวจสอบมือและเท้าของพวกเธอสำหรับบาดแผลก่อนพิจารณาการจ้างงาน ซึ่งจำกัดโอกาสสำหรับคนทำงานทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับปัญหาการเคลื่อนไหวและการหาเครือข่ายในการหางานใหม่

หลังจากเกิดอุบัติเหตุ คนทำงานต้องต่อสู้เพื่อเข้าถึงสิทธิ์ทางการแพทย์ภายใต้ระบบประกันสังคม ESIC ซึ่งช่วยให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลในช่วงเจ็บป่วย การคลอดบุตร การทุพพลภาพ และการเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุในการทำงาน รวมถึงการให้การดูแลทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนและครอบครัวของพวกเขา

2 ใน 3 ของคนทำงานในรัฐหรยาณากล่าวว่าพวกเขาได้รับบัตรประจำตัวผู้ประกันตน ESIC e-Pehchan หลังจากเกิดอุบัติเหตุ ส่วนในรัฐมหาราษฏระมีสัดส่วนมากกว่า 75%

ESIC ใช้กับโรงงานและสถานประกอบการอื่น ๆ เช่น การขนส่งทางถนน โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ ที่มีคนทำงานตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ส่วนลูกจ้างอื่น ๆ ที่มีรายได้ไม่เกิน 21,000 รูปีต่อเดือน มีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองทางสังคมภายใต้พระราชบัญญัติ ESI

สุจิตรา ไสน์ (Suchita Saini) อายุ 45 ปี เป็นผู้ควบคุมเครื่องจักร ที่ศึกษาแค่ระดับประถมศึกษาปีที่ 7 เธอย้ายมาอยู่ที่ฟาริดาบัดเมื่อ 17 ปีที่แล้วจากเมืองชาพรา รัฐพิหาร พร้อมกับลูกสาว 4 คน และสามีของเธอ จากอุบัติเหตุในปี 2022 เธอสูญเสียนิ้ว 3 นิ้ว สาเหตุจากเครื่องจักรที่ไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างเหมาะสม

ไสน์ต่อต้านความพยายามทุกครั้งของเจ้าของโรงงาน ซึ่งเธอกล่าวว่ามักจะดูหมิ่นผู้หญิง ที่จะลบชื่อเธอออกจากรายชื่อลูกจ้าง ครอบครัวของเธอได้รับการจุนเจอจากรายได้ 10,500 รูปีต่อเดือนของเธอ

หลังจากอุบัติเหตุ เธอถูกพาไปยังสถานพยาบาลเอกชน "ที่มีเตียง 2 เตียง" แทนที่จะเป็นโรงพยาบาล ESI "โรงงานบอกให้ฉันใช้บัตร ESI ของสามี" เธอกล่าว "ทำไมฉันต้องใช้บัตรของเขาในเมื่อฉันเป็นผู้ควบคุมเครื่องจักรที่โรงงาน ฉันเรียกร้องให้พาฉันไปโรงพยาบาล ESI เพื่อรับการรักษา" ไม่มีการบำรุงรักษาเลย และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมากขึ้น เธอกล่าว

ทั้งที่นายจ้างต้องจัดทำรายงานอุบัติเหตุส่งให้ ESI แต่มันมักไม่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้การรักษาที่โรงพยาบาลล่าช้า รายงานอุบัติเหตุ ซึ่งควรจะยื่นภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากที่นายจ้างได้รับทราบอุบัติเหตุ จะแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับวันที่และรายละเอียดของอุบัติเหตุและสถานที่เกิดเหตุ ช่วยในการคำนวณสิทธิ์สำหรับการทุพพลภาพชั่วคราวและถาวร ซึ่งเป็น 90% ของค่าแรง สิทธิ์สำหรับผู้ทุพพลภาพถาวรจะถูกตัดสินและรับรองโดยคณะกรรมการแพทย์ ESI 
ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับของการสูญเสียความสามารถในการหารายได้

"รายงานอุบัติเหตุที่นายจ้างบันทึก ควรจะมีตำแหน่งที่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งหมายความว่ากองความปลอดภัยและสุขภาพอุตสาหกรรมภายใต้แผนกแรงงานควรจะรับรู้เกี่ยวกับอุบัติเหตุ" ซาโรจา วี.เอ็น. ซาโรจา หัวหน้าฝ่ายสนับสนุน ความปลอดภัยของคนงาน และโครงการ ESIC ที่ SI กล่าว "ในขณะที่ข้อมูล ESI อาจสะท้อนการรักษา DGFASLI ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงแรงงานอาจไม่มีข้อมูลเดียวกัน"

ขณะที่ไสน์ได้รับเงิน 24,000 รูปีสำหรับความต้องการทางการแพทย์ผ่าน ESI รายได้ของเธอซึ่งเป็น 11,000 รูปีก่อนเกิดอุบัติเหตุ ลดลงเหลือ 10,500 รูปี "เราไม่ได้รับสลิปเงินเดือน แต่รู้ว่าการหักเงินสมทบ ESI เกิดขึ้นเพราะฉันได้รับข้อความ"

เพื่อนของเธอ สาวิตรา เทวี (Savita Devi) อายุ 36 ปี ผู้ควบคุมเครื่องจักรอีกราย โกรธมากที่นายจ้างของโรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ที่เธอทำงานด้วยไม่ได้ทำบัตร ESI ให้เธอเมื่อเกิดอุบัติเหตุที่เธอสูญเสียนิ้วชี้ซ้าย แต่เมื่อพวกเขาให้ พวกเขากลับทำข้อมูลผิดพลาด

หากไม่มีรายละเอียดที่ถูกต้อง เธอไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์จากความทุพพลภาพและบำนาญรวมถึง 3,000 รูปีต่อเดือนจากบำนาญทุพพลภาพของรัฐหรยาณาได้

"ฉันต้องต่อสู้เพื่อสิทธิของฉัน" สาวิตรา กล่าว เธอย้ายถิ่นมาจากเขตชาคิปุระ รัฐพิหาร "ฉันอยากเห็นว่าพวกเขาจะไล่ฉันออกได้อย่างไรโดยไม่ให้สิทธิ์ของฉัน ฉันจะไม่ยอมแพ้โดยไม่ต่อสู้เพื่อสิทธิของฉัน"

ส่วนบาสันติสูญเสียความหวังในการรับความช่วยเหลือจากนายจ้างของเธอในการผ่าตัดเพื่อปลูกถ่ายแขนใหม่ และกำลังหาทางต่อสู้กับพวกเขา "ฉันขอให้เขาโอนเงินก้อน ซึ่งเขาทำ แต่ทั้งผู้รับเหมาและเจ้าของไม่สนใจเรื่องการผ่าตัดของฉันอีกต่อไป ฉันไม่มีความหวังจากพวกเขา"


ที่มา
How Injuries Impact Women In Automobile Supply Chain (Shreehari Paliath, IndiaSpend, 2 July 2024)
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net