Skip to main content
sharethis

ย้อนดูการเลือกตั้ง 7 ครั้งตั้งแต่ปี 35 เก้าอี้ประธานสภาเป็นของพรรคอันดับ 1 ตลอด ยกเว้นปี 62 ที่พรรคอันดับ 1 อย่าง 'เพื่อไทย' ไม่ได้ทั้งประธานสภาและนายกฯ เพราะอภินิหารจากสูตรคำนวนและ ส.ว. ทำให้พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเป็น 'พลังประชารัฐ' รวมทั้งให้เก้าอี้ประธานสภาฯกับพรรคร่วมอย่าง 'ประชาธิปัตย์' แทน

24 พ.ค.2566 ภายหลังจากการเลือกตั้งนอกจากประเด็นการเลือกนายกฯแล้ว ยังมีกระแสถกเถียงกันเรื่องเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะทำหน้าที่ประธานรัฐสภาในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติที่จะทำหน้าที่เรียกประชุมเลือกนายกฯ และกำหนดวาระสำคัญๆ ในการผลักดันกฎหมายนั้น ควรจะตกกับพรรคใด ในโอกาสนี้จะย้อนกลับไปดูตำแหน่งนี้ว่าพรรคใดเป็นคนได้หลังเลือกตั้ง

เลือกตั้ง 35

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กันยายน พ.ศ. 2535 เป็นการเลือกครั้งแรกหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 พรรคประชาธิปัตย์ได้ 79 ที่นั่ง จากทั้งหมด 360 ที่นั่ง ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาจึงต้องตั้งรัฐบาลผสม ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคิดเป็น 61.6% ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกฯ เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ผสมด้วยพรรคการเมืองอีก 4 พรรค คือ พรรคความหวังใหม่ 51 เสียง, พรรคพลังธรรม 47 เสียง, พรรคเอกภาพ 8 เสียง และพรรคกิจสังคม 22 เสียง

โดยมี มารุต บุนนาค จากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานรัฐสภา

เลือกตั้ง 38

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 พรรคชาติไทยชนะ พรรคประชาธิปัตย์ไปได้ ทำให้ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และ บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคชาติไทยได้ 91 ที่นั่ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นลำดับต่อมา คือ 86 ที่นั่ง ขณะที่พรรคความหวังใหม่ได้รับเลือกมาเป็นลำดับที่สาม 57 ที่นั่ง

โดยมี พลตรี บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ จากพรรคชาติไทย เป็นประธานรัฐสภา

เลือกตั้ง 39

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539 พรรคความหวังใหม่ ได้ 125 เสียง เฉือนเอาชนะ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 123 เสียง ห่างกันเพียง 2 เสียง ทำให้ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคความหวังใหม่ เป็นประธานรัฐสภา

เลือกตั้ง 44

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในระบบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งแบ่งเป็นระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้งอีก 400 คน ภายใต้การกำกับดูแลและจัดการเลือกตั้งของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พรรคไทยรักไทย ได้ 248 ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ได้ 128 ที่นั่ง ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยเป็นนายกฯ

โดยมี อุทัย พิมพ์ใจชน จากพรรคไทยรักไทย เป็นประธานรัฐสภา

เลือกตั้ง 48 

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 ผลที่ตามมาพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของ ทักษิณ ชินวัตร ชนะแลนด์สไลด์ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 377 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 ที่นั่ง เป็นนายกฯต่อ โดยมีอดีตพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคชาติไทยได้ 25 ที่นั่ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง 96 ที่นั่งและพรรคมหาชน (ซึ่งเปลี่ยนชื่อจากพรรคราษฎร) ได้ 2 ที่นั่ง

โดยมี โภคิน พลกุล  จากพรรคไทยรักไทย เป็นประธานรัฐสภา

เลือกตั้ง 50

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 เป็นครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 และครั้งแรกภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล ทักษิณ ผลคือพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ต่อเนื่องจากพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบพรรค กลับมาชนะได้อีกด้วย 233 ที่นั่ง สมัคร สุนทรเวช ได้เป็นนายกฯ ขณะที่อันดับ 2 คือ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 164 ที่นั่ง

โดยมี ยงยุทธ ติยะไพรัช จากพรรคพลังประชาชน เป็นประธานรัฐสภา

เลือกตั้ง 54

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ผลปรากฏว่าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ต่อเนื่องจากพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบพรรคอีกครั้งได้ที่นั่งผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่ง 265 ที่นั่ง เกินกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง และยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก โดยได้ที่นั่งผู้แทนราษฎร 159 ที่นั่ง

โดยมี สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ จากพรรคเพื่อไทย เป็นประธานรัฐสภา

เลือกตั้ง 62 

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 พรรคเพื่อไทย ได้ที่นั่งอันดับ 1 คือ 136 ที่นั่ง แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้พรรคพลังประชารัฐ ที่ได้เสียงอันดับ 2 คือ 116 ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 272 ให้ ส.ว.ร่วมโหวตด้วย ซึ่ง ส.ว. 249 เสียงร่วมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. คณะรัฐประการปี 57 และแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกฯ 

โดยมี ชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล เป็นประธานรัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net