Skip to main content
sharethis

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มภาระให้กับคนงานไร่ชาในบังกลาเทศ การเก็บใบชาภายใต้อากาศที่ร้อนระอุ ทำให้ยากที่จะได้ตามเป้าในแต่ละวัน ส่งผลให้ค่าแรงลดลง นอกจากนี้อุณหภูมิที่สูงขึ้นและการสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน นำไปสู่ความเหนื่อยล้า อาจนำไปสู่การทุพลภาพถาวร และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้


คนเก็บชาชาวบังกลาเทศดื่มน้ำท่ามกลางอากาศร้อนจัด | ที่มาภาพ: Solidarity Center / Hasan Zobayar

ภายใต้แสงแดดในเดือนกรกฎาคม ช่วงท้ายของวันผู้หญิงที่ทำงานเก็บใบชาจะเดินลงมาตามเนินเขา มุ่งหน้าไปยังลำธารที่เหลือน้ำอยู่น้อยนิดเพื่อชำระล้างร่างกาย ก่อนจะกลับไปยังบ้านพักของบริษัทที่ทำจากสังกะสี เพื่อเตรียมอาหารเย็นสำหรับพวกเธอและครอบครัว

คนงานไร่ชาในเมืองศรีมังกัล ประเทศบังกลาเทศ กล่าวว่างานของพวกเธอหนักขึ้นมากในขณะนี้ เนื่องจากความร้อนที่เพิ่มขึ้นและฝนตกหนักมากขึ้น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงยังหมายความว่าการใบชาให้ตามเป้าในแต่ละวันซึ่งเป็นเรื่องยาก บางครั้งก็เป็นไปไม่ได้เลย และเมื่อพวกเธอไม่สามารถทำตามเป้าได้ พวกเธอก็จะได้รับค่าจ้างน้อยลงไปอีก จากค่าจ้างที่ก็ต่ำอยู่แล้ว


ศรีมติ บัวรี (Sreemati Bauri) คนงานไร่ชาและผู้นำสหภาพแรงงาน | ที่มาภาพ: Solidarity Center / Hasan Zobayer

“บ่อยครั้งในช่วงคลื่นความร้อนัดมา เป็นเรื่องยากที่จะเก็บใบชาได้ตามเป้าในแต่ละวัน [55 ปอนด์ หรือ ประมาณ 25 กิโลกรัม] ดังนั้นพวกเขาจึงทำรายได้ไม่ถึง 170 ตากา [ประมาณ 1.55 ดอลลาร์สหรัฐฯ] ได้” ศรีมติ บัวรี (Sreemati Bauri) คนงานไร่ชาและผู้นำสหภาพแรงงานกล่าว ทั้งนี้พวกเธอต้องเดินระยะไกลข้ามเนินเขาในทุกเช้าก่อนที่จะเริ่มเก็บใบชา 

“มันยากอยู่แล้วที่จะใช้ชีวิตด้วยเงินจำนวนน้อยนิดนี้ หากคนงานไม่สามารถทำตามเป้ารายวันได้ ก็เป็นเรื่องยากที่จะอยู่รอด เนื่องจากอากาศร้อน มันร้อนเกินไปสำหรับการทำงาน” เธอกล่าวขณะพูดผ่านล่าม บัวรี ผู้นำสหภาพแรงงานแห่งหุบเขาจุรี (Jurivally) ที่มีสมาชิกเป็นผู้หญิงถึง 300 คน สหภาพแรงงานแห่งนี้ยังเป็นสมาชิกขององค์แรงงานคนงานไร่ชาระดับชาติ อย่างสหภาพแรงงานชาสรามิค (Cha Sramik) อีกด้วย 

“อากาศร้อนจัดมากขึ้นกว่าเดิม” สุมน กุมาร ตันต์ (Sumon Kumar Tant) หัวหน้าคนเก็บชาและสมาชิกสหภาพแรงงานกล่าว “พวกเราต้องทำงานภายใต้แสงแดดที่แผดเผา ราวกับว่าพวกเราต้องแบกภาระเป็นสองเท่า ภาระแรกคือใบชาบนหลัง และอีกภาระคือความร้อน”

สหภาพแรงงานช่วยให้สภาพการทำงานของคนเก็บชาดีขึ้น


ที่มาภาพ: Solidarity Center / Gayatree Arun

“อุณหภูมิที่สูงขึ้นและการสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน นำไปสู่ความเหนื่อยล้า อาจนำไปสู่การทุพลภาพถาวร และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้” โซฟี ฟิชเชอร์ (Sophy Fisher) กล่าวขณะหารือข้อค้นพบจากรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เกี่ยวกับผลกระทบของความร้อนต่อคนทำงาน การศึกษาใหม่ระบุว่าผู้หญิงได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความร้อนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากประเภทของงานที่พวกเธอทำ และปัญหาทางกายภาพ เช่น การตั้งครรภ์ เป็นต้น

ความยากลำบากที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้สภาพการทำงานที่ไม่มั่นคงอยู่แล้วของคนงานชาเพิ่มขึ้น ประมาณการกันว่ามีคนเก็บชา 13 ล้านคนใน 48 ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ได้รับค่าจ้างต่ำ มีการคุ้มครองด้านสุขภาพและความปลอดภัยเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย รวมถึงขาดแคลนมาตรการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศและความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ คนทำงานในไร่ชามักถูกบังคับให้พึ่งพานายจ้างในด้านอาหาร ที่อยู่อาศัย และการศึกษา ซึ่งเพิ่มความเปราะบางให้กับพวกเขา

“คนเก็บใบชาทุ่มเทให้กับงานมาก” บัวรี กล่าว

สหภาพแรงงานชาสรามิค ซึ่งเป็นพันธมิตรของ Solidarity Center ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงสภาพการทำงานในไร่ชา โดยนายจ้างต้องจัดให้มีการพักรับประทานอาหารกลางวันนานหนึ่งชั่วโมงทุกวันและมีสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ ตันต์อ้างถึงการที่บริษัทจ่ายผลประโยชน์อย่างรวดเร็วให้กับครอบครัวของคนเก็บชาที่ถูกกิ่งไม้ตกใส่จนเสียชีวิตขณะทำงาน เพื่อเป็นตัวอย่างว่าการเรียกร้องสหภาพแรงงานทำให้ได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสมได้อย่างไร

ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมชา แสดงความรับผิดชอบเพียงน้อยนิด


ที่มาภาพ: Solidarity Center / Hasan Zobayer

ไร่ชามีรากฐานมาจากการแสวงประโยชน์จากยุคอาณานิคม และเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิแรงงาน ความรับผิดชอบในห่วงโซ่อุปทานชาทั่วโลกก็ยังมีอยู่น้อยนิด โดยรายงานล่าสุดพบว่ามีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งยินดีให้ข้อมูลที่จำเป็นเพื่อพิจารณาว่าคนทำงานในอุตสาหกรรมนี้ได้รับการปฏิบัติอย่างไร แสดงให้เห็นถึงการขาดความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้

การขาดความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทาน หมายความว่าบริษัทต่างๆ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการละเมิด เคท เจลลี (Kate Jelly) ผู้เขียนรายงานของศูนย์วิจัยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (BHRRC) เรื่อง Boiling Point: Strengthening Corporate Accountability in the Tea Industry กล่าว “บริษัทหลายแห่งที่ยังรักษาห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ชัดเจนนี้ไว้ สามารถแยกตัวเองออกมาจากข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชนได้” เธอกล่าวกับรอยเตอร์

ในปี 2022 มีรายงานพบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในบังกลาเทศและอีก 4 ประเทศที่เกี่ยวข้องกับค่าจ้างต่ำหรือไม่ได้รับค่าจ้าง การขาดการคุ้มครองด้านความปลอดภัยและสุขภาพ และการข่มขู่โดยนายจ้างต่อคนทำงานที่ต้องการปรับปรุงสถานที่ทำงานของตนผ่านสหภาพแรงงาน

นาตาลี สวอน (Natalie Swan) ผู้จัดการโครงการสิทธิแรงงานของ BHRRC กล่าวว่าการให้พนักงานมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบสถานะถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่อความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทาน “นั่นหมายความว่าไม่ต้องพึ่งพาการรับรอง ไม่พึ่งพานโยบายสิทธิมนุษยชนหรือจรรยาบรรณของซัพพลายเออร์”

Solidarity Center เชื่อว่าคนทำงานจะต้องเป็นศูนย์กลางของการแก้ปัญหาในสถานที่ทำงาน รวมถึงการแก้ปัญหาเกี่ยวกับความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งความต้องการการมีส่วนร่วมของคนทำงานและชุมชนของพวกเขา ในการบรรลุการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just transition) สู่เศรษฐกิจที่เท่าเทียมและยั่งยืนมากขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สร้างผลกระทบให้กับชุมชน.


ที่มา:
THE WEIGHT OF THE HEAT’: CLIMATE CHANGE FURTHER BURDENS BANGLADESH TEA WORKERS (Tula Connell, Solidarity Center, 10 August 2023)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net