Skip to main content
sharethis

พรรคก้าวไกล เผยแพร่ความเห็น 'สุรพล นิติไกรพจน์' พยานฝ่ายตนเองในคดียุบพรรค ชี้ กกต.ไม่ทำตามขั้นตอน ยื่นศาล รธน.โดยไม่ให้ผู้ถูกร้องชี้แจงข้อกล่าวหา มองการแก้ ม.112 เป็นวิถีทางตาม รธน.เพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง สส.ร่วมชุมนุมเป็นเสรีภาพส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับพรรค การยุบพรรคต้องระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นจะนำไปสู่การทำลายประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2567 เพจพรรคก้าวไกล - Move Forward Party ได้โพสต์ข้อความ เปิดความเห็น 4 ประเด็น ของ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล มีรายละเอียดระบุว่า

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายมหาชน นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. เป็นหนึ่งในพยานของพรรคก้าวไกล ที่ทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีที่ กกต.ร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกล โดย ศ.ดร.สุรพล ได้ให้ความเห็นต่อคำร้องของ กกต.ใน 3 ประเด็นหลักเกี่ยวกับคดีนี้ ได้แก่

1. คำร้องยุบพรรคก้าวไกลของ กกต.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

การยื่นคำร้องยุบพรรคการเมืองของ กกต.ต้องดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ พ.ร.ป. พรรคการเมือง ม.92 และ ม.93 ซึ่ง ม.92 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดเหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง และ ม.93 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดกระบวนการขั้นตอนให้ กกต.ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง “หลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคเสียก่อน โดย กกต.ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพิ่มเติมไว้ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง

กรณี กกต.มีมติเสนอคำร้องยุบพรรคก้าวไกลนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่กระทำตามกระบวนการขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น ต้องถูกเพิกถอนไป

การใช้การตีความกฎหมายจะต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกันทั้งระบบและเป็นเอกภาพ ไม่ก่อให้เกิดผลประหลาดในทางระบบกฎหมาย กรณีที่ กกต. เห็นว่า ม.92 คือช่องทางการยื่นยุบพรรคช่องทางหนึ่ง และ ม.93 คืออีกช่องทางหนึ่งนั้น ส่งผลให้วิธีการเสนอคำร้องยุบพรรคมี 2 กระบวนการที่แตกต่างกันอย่างมาก กล่าวคือ แบบที่หนึ่ง ไม่ต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้รับทราบข้อกล่าวหาตลอดจนชี้แจงโต้แย้งพยานหลักฐาน แต่ กกต. สามารถยื่นคำร้องต่อศาล รธน.ได้เลย ส่วนแบบที่สอง เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้รับทราบข้อกล่าวหาตลอดจนชี้แจงโต้แย้งพยานหลักฐานต่อ กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วทั้ง 2 มาตราเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคเช่นเดียวกัน ต้องยื่นคำร้องให้ศาล รธน. พิจารณาเช่นเดียวกัน และจะส่งผลร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรคเช่นเดียวกัน การใช้และตีความกฎหมายเช่นนี้จะก่อให้เกิดผลประหลาดในทางกฎหมาย เช่นนี้แล้วจะบัญญัติ ม.93 และระเบียบ กกต. ไว้ในกฎหมายเพื่อเหตุผลใด

กกต.ไม่สามารถอ้างคำวินิจฉัยศาล รธน.ที่ 3/2567 มาเป็นฐานในการยื่นยุบพรรคก้าวไกลโดยจงใจไม่ทำตามกระบวนการขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดได้ เนื่องจากเป็นคนละกรณีที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังมีกระบวนการขั้นตอนนำคดีขึ้นสู่ศาล ตลอดจนผลในทางกฎหมายที่แตกต่างกัน

2. การกระทำตามคำร้องในคดียุบพรรคก้าวไกล เป็นการล้มล้างการปกครองฯ หรืออาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่?

เมื่อพิจารณาการกระทำตามคำร้องในคดียุบพรรคก้าวไกล ซึ่งมีหลายการกระทำที่มิใช่การกระทำของพรรค แต่เป็นการกระทำในฐานะปัจเจกบุคคลหรือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของ ส.ส. เห็นได้ว่า มิได้เป็นการใช้กำลังบังคับหรือเป็นการกระทำโดยใช้ความรุนแรงเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสิ้นสุดลง หรือเป็นการกระทำที่ใช้อำนาจตาม รธน. เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปเป็นแบบอื่นแต่ประการใด กล่าวคือ

(1) กรณีการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ม.112 เป็นเพียงการที่ ส.ส. ใช้อำนาจนิติบัญญัติในการเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแก้ไขกฎหมายเท่านั้น อันเป็นการกระทำที่ชอบด้วยวิถีทางของ รธน.อีกด้วย วิญญูชนทั่วไปย่อมไม่อาจมีทางที่จะเห็นไปได้โดยสามัญสำนึกว่าการเสนอร่างกฎหมายจะเป็นการบ่อนเซาะทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังที่ กกต.เสนอความเห็นต่อศาล รธน.ได้

(2) กรณีการเสนอนโยบายแก้ไข ม.112 ตลอดจนการนำนโยบายมาหาเสียงและเผยแพร่นั้น เป็นการนำเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง โดยมุ่งเน้นประนีประนอมกลุ่มความคิดต่างๆ ในเรื่องนี้ ซึ่งก็คือเรื่องที่ว่าควรจะต้องมีบทบัญญัติคุ้มครองประมุขของรัฐมิให้ถูกหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นในระดับใดและภายใต้เงื่อนไขใดจึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อประคับประคองระบอบประชาธิปไตยให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น กกต. ก็เคยพิจารณาวินิจฉัยยกคำร้องกรณีนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม ม.112 ของพรรคก้าวไกลไว้แล้ว และการนำเสนอนโยบายแก้ไข ม.112 มาใช้หาเสียงเลือกตั้งของพรรคก้าวไกลก็มิได้เป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.ป. การเลือกตั้ง ส.ส. แต่อย่างใด ด้วย กกต. ก็มิได้เคยมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือสั่งห้ามนำเสนอนโยบายดังกล่าวในการหาเสียงแต่อย่างใดเลย

(3) กรณีการแสดงออกผ่านการรณรงค์ การปรากฏตัวในที่ชุมนุมของ ส.ส. ที่เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล มิใช่เป็นการกระทำของพรรคก้าวไกล หากแต่เป็นการใช้เสรีภาพส่วนบุคคลที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย

(4) กรณีการเป็นนายประกันให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือการเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ในคดีตาม ม.112 ของสมาชิกพรรคก้าวไกลนั้น เห็นว่า การที่ ส.ส. ใช้ตำแหน่งประกอบคำร้องของปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลย มิได้หมายความว่า ส.ส. ผู้นั้นจะเห็นด้วยหรือสนับสนุนการกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลย ทำนองเดียวกับการเป็นทนายความหรือผู้พิพากษาแห่งคดีนั้น นอกจากนี้การกระทำของสมาชิกพรรคกับการกระทำของพรรคเป็นคนละการกระทำกัน หากสมาชิกพรรคถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดก็เป็นการกระทำที่ผู้นั้นต้องรับผิดชอบในการกระทำนั้นเอง ไม่ใช่พรรคการเมืองที่สังกัดอยู่ หากพรรคต้องมารับผิดด้วยย่อมเกิดผลประหลาดในทางกฎหมาย เพราะเป็นการนำการกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาทำลายเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองของบุคคลอื่นทั้งหมด

3. ศาลรัฐธรรมนูญควรพิจารณาให้ยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่?

มาตรการยุบพรรคการเมืองเป็นมาตรการในการธำรงรักษาประชาธิปไตย แต่กระนั้นการใช้มาตรการนี้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง มิเช่นนั้นอาจนำไปสู่การทำลายระบอบประชาธิปไตยในที่สุด หากการยุบพรรคเป็นไปโดยไม่คำนึงถึงความชอบด้วยกฎหมายและ รธน. และไม่คำนึงถึงบริบทสภาพแวดล้อมของระบบการเมืองแล้ว อาจส่งผลร้ายในอนาคต อันได้แก่ การทำลายดุลยภาพในทางการเมืองระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล ซึ่งอาจนำไปสู่ระบบเผด็จการรัฐสภา คำวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองจึงต้องถูกใช้ในกรณีที่เป็นข้อยกเว้นอย่างแท้จริงเท่านั้น กล่าวคือ เฉพาะกรณีที่การกระทำของพรรคที่ต้องถูกยุบนั้นขัดหรือแย้งกับอุดมการณ์พื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีการแสดงออกที่ชัดแจ้งว่าต้องการเปลี่ยนแปลงด้วยความรุนแรง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่ง รธน. และมีเหตุผลอย่างหนักแน่นว่าไม่มีหนทางอื่นใดที่จะทำได้นอกจากการยุบพรรคการเมืองนั้น สำหรับการกระทำตามคำร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล ล้วนเป็นการใช้อำนาจหน้าที่หรือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตาม รธน.อันเป็นวิสัยปกติ เป็นการกระทำที่อยู่ในวิถีทางแห่ง รธน. จึงไม่เป็นเหตุแห่งการยุบพรรค

สุดท้าย ศ.ดร.สุรพล ยังเสนอความเห็นเพิ่มเติมต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่า “การพยายามแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่ซับซ้อนของชาติด้วยการวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ เป็นกระบวนการที่ได้ใช้มาแล้วหลายครั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญและแต่ละครั้งก็ไม่เคยทำให้เกิดทางออกหรือทางเลือกใหม่ที่จะช่วยคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองที่เป็นอยู่ ในทางตรงกันข้าม กลับสร้างความโกรธแค้นชิงชังในทางการเมืองให้มีเพิ่มมากยิ่งขึ้น และยิ่งจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศที่อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายอยู่แล้ว กลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น นอกจากประเด็นข้อกฎหมายที่ได้ให้ความเห็นมาแล้วข้างต้นทั้งหมด ข้าพเจ้าใคร่ขอกราบเรียนต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยความเคารพที่จะได้กรุณาใช้มโนธรรมและความรัก ความห่วงใยในประเทศชาติและประชาชนชาวไทยโดยรวม ในการวินิฉัยชี้ขาดคดีนี้ด้วยเช่นกัน”

เปิดความเห็น สุรพล นิติไกรพจน์ พยานฝั่งก้าวไกล ยื่นสู้คดียุบพรรค

ต่อมาวันที่ 12 ก.ค. 2567 มติชนออนไลน์ ได้เผยแพร่เป็นบันทึกความเห็นของ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสร์ ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมหาชน ที่พรรคก้าวไกล ยื่นสู้ในคดีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้อง ให้ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองฯ ในคดีของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องพิจารณาที่ 10/2567 ดังนี้

ข้อ 1.ข้าพเจ้า ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกสภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และที่ปรึกษากฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำรงวิทยฐานะเป็นศาสตราจารย์ในสาขาวิชากฎหมายมหาชน ในฐานะเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ทางด้านกฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง ตลอดจนกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมือง ขอให้ความเห็นต่อคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล  ในคดีของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องพิจารณาที่ 10/2567 ต่อศาลรัฐธรรมนูญดังต่อไปนี้

พรรคการเมืองเป็นองค์กรที่มีสถานะเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างประชาชนกับรัฐ ช่วยรวบรวมความปรารถนาที่หลากหลายของประชาชนเข้าด้วยกัน แล้วนำเสนอออกมาเป็นนโยบายของพรรคการเมือง โดยกระบวนการรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนจนนำมาสู่ข้อเสนอในทางนโยบายของพรรคการเมืองนี้มีจุดหมายเพื่อดึงดูดแรงสนับสนุนจากประชาชนให้กว้างขวางที่สุด ดังนั้น เพื่อให้ได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชน พรรคการเมืองย่อมลดทอนข้อเสนอที่สุดโต่ง (radical) และพยายามแสวงหาจุดร่วมที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ซึ่งเมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วก็ต้องพยายามผลักดันเจตจำนงของประชาชนให้กลายเป็นกฎหมายหรือนโยบายของรัฐต่อไป นอกจากนี้พรรคการเมืองยังเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่ต้องการแสดงออกในทางการเมืองและประสงค์ที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก แสดงให้เห็นว่าการรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองของประชาชนนั้น เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สิทธิในการรวมกลุ่มกันทางการเมือง และสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง ดังนั้น มาตรการยุบพรรคการเมือง จึงถือเป็นการกระทำที่กระทบสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง ด้วยเหตุผลดังกล่าว มาตรการยุบพรรคการเมืองหากจะมีขึ้นจึงจะต้องอยู่ภายใต้หลักการสากล กล่าวคือการยุบพรรคการเมืองต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และมาตรการยุบพรรคการเมืองต้องไม่กระทบสารัตถะสำคัญแห่งสิทธิจนเกินสัดส่วน ภายใต้การใช้การตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด ลำพังการนำเสนอแนวคิดเพื่อแลกเปลี่ยนผ่านกลไกต่าง ๆ อย่างสันติของพรรคการเมืองภายใต้วิถีทางรัฐธรรมนูญ ไม่อาจเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลายประชาธิปไตยแต่ประการใด นอกจากนี้ กระบวนการยุบพรรคการเมืองต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม และที่สำคัญที่สุด ผลลัพธ์ของการยุบพรรคต้องเป็นการธำรงรักษาประชาธิปไตย ไม่ใช่เพื่อทำลายระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ มาตรการยุบพรรคการเมืองถูกถือเป็นมาตรการที่มีผลบังคับรุนแรง และไม่เป็นประชาธิปไตยในตัวเอง ซึ่งการใช้มาตรการดังกล่าวโดยไม่มีเหตุผลทางกฎหมายและพยานหลักฐานที่ชัดเจนน่าเชื่อถือรองรับอย่างหนักแน่น จะนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความชอบธรรมและประสิทธิภาพของมาตรการนี้และองค์กรที่กำหนดให้ใช้มาตรการนี้ด้วย ดังนั้น มาตรการยุบพรรคการเมืองอันเป็นการปกป้องประชาธิปไตยจึงต้องพิจารณาบนหลักการสำคัญ กล่าวคือ 1) การยุบพรรคการเมืองต้องนำไปสู่การรักษาสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่เพื่อทำลายปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่มกันเป็นพรรคการเมืองต่อไป 2) การกระทำหรือการแสดงความคิดเห็นที่จะนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองนั้น ต้องไม่เพียงแค่เป็นเพียงความคิดเห็นที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน แต่การกระทำหรือการแสดงความคิดเห็นนั้นจะต้องมีองค์ประกอบของการใช้ความรุนแรงนอกกรอบของรัฐธรรมนูญอยู่ การเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงตามวิธีทางรัฐธรรมนูญโดยสันติวิธีย่อมไม่เพียงพอที่จะเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง 3) การยุบพรรคการเมืองนั้นมีเหตุแห่งความชอบธรรมเพียงพอหรือน่าเชื่อถือหรือไม่ และกฎหมายที่ระบุเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองต้องมีความชัดเจนว่าครอบคลุมการกระทำอะไรบ้าง โดยไม่คลุมเครือ ไม่กว้างขวางจนเกินไป กระบวนการยุบพรรคการเมืองต้องเคารพสิทธิของพรรคการเมือง และผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับการพิจารณาในกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และ 4) กฎหมายที่ใช้ในการยุบพรรคการเมืองต้องเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป ไม่เจาะจงใช้กับบุคคลหรือคณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ โดยกฎหมายนั้นต้องตราขึ้นโดยผู้แทนปวงชนซึ่งมีกระบวนการนิติบัญญัติที่ได้มาตรฐานและชอบธรรม

โดยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นหากมาตรการยุบพรรคการเมืองเปลี่ยนจากกลไกป้องกันประชาธิปไตย (defensive mechanism) ไปเป็นอาวุธ (weaponizing) ในทางการเมืองการยุบพรรคการเมืองก็จะกลายเป็นการปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ และบีบบังคับให้สังคมลดความหลากหลายของความคิดเห็นที่แตกต่างลง และเป็นผลร้ายอันนำไปสู่การทำลายประชาธิปไตยเสียเอง นอกจากนี้การยุบพรรคการเมืองนั้น ควรเป็นมาตรการสุดท้ายในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร หากมีมาตรการลงโทษอย่างอื่นมาใช้แทนการยุบพรรคการเมือง ก็ควรที่จะนำมาบังคับใช้ แต่ถ้าการกระทำอันเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคการเมืองนั้นเกิดขึ้นจริงก็ควรที่จะปรากฏในรัฐธรรมนญและกฎหมายอย่างชัดเจน และการกระทำของพรรคการเมืองที่ต้องถูกยุบนั้นก็ต้องมีเหตุจากการมีอุดมการณ์ ตลอดจนการจัดตั้งองค์กรและกิจกรรมที่ขัดหรือแย้งกับอุดมการณ์พื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีการแสดงออกมาผ่านการกระทำ แผนงาน หรือคำปราศรัยที่ชัดแจ้งว่า ต้องการเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์พื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความรุนแรง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้การตีความไปในแนวทางดังกล่าวจะต้องตีความโดยเคร่งครัด และมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนประกอบด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ในการพิจารณาคดียุบพรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญพึงคำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่ไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกในทางระหว่างประเทศ รวมถึงแนวปฏิบัติที่นานาอารยะประเทศได้วางหลักการไว้ เพื่อป้องกันมิให้เป็นข้อครหาหรือข้อวิจารณ์เกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมและการเมืองของประเทศไทยว่า มาตรการยุบพรรคการเมืองกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว แทนที่จะเป็นเครื่องมือในการปกป้องประชาธิปไตย ด้วยอาจจะเกิดผลกระทบในทางระหว่างประเทศได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ สหภาพยุโรป ได้มีข้อแนะนำว่าด้วยการห้ามการยุบพรรคการเมืองและมาตรการอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง (Guidelines on Prohibition and Dissolution of Political Parties and Analogous Measures) ที่จัดทำโดย The European Commission on Democracy Through Law หรือคณะกรรมการเวนิส (Venice Commission) ลงวันที่ 10 ม.ค. 2000 ตามคำร้องขอจาก The Secretary General of the Council of Europe ซึ่งดูแลกิจการของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยอาจยึดถือเป็นแนวทางสากลในการยุบพรรคการเมืองได้ คณะกรรมการเวนิสวางหลักสำหรับการยุบพรรคการเมืองไว้ 7 ประการ ดังนี้

(1) รัฐต้องรับรองว่าประชาชนมีสิทธิที่จะจัดตั้งหรือเข้าร่วมพรรคการเมืองอย่างเสรี

(2) การจำกัดเสรีภาพของประชาชนผ่านกลไกควบคุมพรรคการเมืองนั้น ไม่ใช่เรื่องของกฎหมายภายในประเทศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงและต้องสอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน และกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

(3) การยุบพรรคการเมืองจะทำได้ก็เฉพาะกรณีพรรคการเมืองที่สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ กิจกรรมที่ต้องห้ามรวมถึงการก่อการร้าย การสู้รบด้วยอาวุธหรือองค์กรที่ทำกิจกรรมลับ ทั้งนี้ การรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญด้วยสันติวิธีไม่ถือว่าเป็นการกระทำในข้อนี้ และไม่พึงถูกยุบ อารยประเทศย่อมมีช่องทางให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสันติวิธีทั้งผ่านการเลือกตั้งและกระบวนการประชามติ

(4) พรรคการเมืองย่อมไม่ควรรับผิดในการกระทำของสมาชิกเพียงคนใดคนหนึ่งที่ไม่ได้ผ่านการเห็นชอบจากพรรค อาชญากรรมที่พรรคจะถูกลงโทษได้ต้องมีหลักฐานว่าผู้กระทำผิดได้รับการสั่งการโดยพรรคการเมืองหรือโดยมติของพรรคการเมือง หากไม่ปรากฏหลักฐานเชื่อมโยงพรรคเข้ากับการกระทำของบุคคลนั้น ๆ โทษที่พึงมีย่อมตกแก่ผู้กระทำแต่ไม่ไปถึงพรรค

(5) การยุบพรรคการเมืองเป็นมาตรการที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง จึงควรใช้อย่างระมัดระวังควรถือเป็นมาตรการสุดท้าย เป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่มาตรการหลักที่รัฐใช้สม่ำเสมอ รัฐต้องชั่งน้ำหนักผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบอบประชาธิปไตย รัฐต้องมั่นใจว่ามีหลักฐานว่ามีภัยคุกคามจริง นอกจากนั้น รัฐควรพิจารณาว่าสามารถใช้มาตรการที่ร้ายแรงน้อยกว่านี้ได้หรือไม่ เช่น มาตรการปรับทางปกครอง การลงโทษสมาชิกรายบุคคล เป็นต้น

(6) มาตรการยุบพรรคการเมืองต้องเป็นผลของการใช้อำนาจตุลาการเพื่อประกาศว่าการกระทำใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และต้องอยู่ภายใต้หลักความได้สัดส่วน มาตรการยุบพรรคต้องอยู่บนพื้นฐานของพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือเพียงพอ

(7) มาตรการยุบพรรคการเมืองต้องถูกสั่งโดยศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นที่เทียบเคียงกันได้ ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่เคารพหลักประกันสิทธิเสรีภาพ ความโปร่งใส และกระบวนพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

เห็นได้ว่า การยุบพรรคการเมืองจึงต้องเป็นทางเลือกสุดท้าย ด้วยสามารถหามาตรการอื่นมาใช้ทดแทนได้ และการยุบพรรคการเมืองไม่ควรถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ เพราะการยุบพรรคการเมืองอาจกลายเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่มกันเป็นสมาคมของประชาชน ส่งผลให้เป็นการทำลายประชาธิปไตยมากกว่าการปกป้องประชาธิปไตย และการยุบพรรคการเมืองนั้น ควรตั้งอยู่บนข้อพิจารณาที่ว่าการกระทำของพรรคการเมืองที่เป็นเหตุแห่งการถูกยุบพรรคนั้นจะต้องมีองค์ประกอบของความรุนแรงรวมอยู่ การนำเสนอนโยบาย การดำเนินกิจกรรมทางการเมือง การแสดงความคิดเห็น การเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงตามกติกาโดยสันติวิธีไม่สามารถเป็นเหตุแห่งการถูกยุบพรรคการเมืองได้ ด้วยเหตุนี้ ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน การยุบพรรคการเมืองจึงเป็นแค่การปกปิดปัญหาที่สะสมอยู่ในสังคมแทนที่จะนำขึ้นมาพูดกันอย่างเปิดเผย การยุบพรรคการเมืองไม่สามารถทำให้ปัญหาที่สะสมอยู่หายไปได้ แต่จะยิ่งทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ต่อกระบวนการยุติธรรมและการเมืองมากยิ่งขึ้น การยุบพรรคการเมืองแทนที่จะเป็นการแก้ไขปัญหา แต่กลับก่อให้เกิดปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น การแก้ไขปัญหาทางการเมืองของประเทศจึงไม่ใช่การยุบพรรคการเมือง

สำหรับในคดียุบพรรคก้าวไกลที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนี้ เห็นได้ว่า มีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาทั้งสิ้น 3 ประการด้วยกัน กล่าวคือ (1) คำร้องยุบพรรคก้าวไกลของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (2) การกระทำตามคำร้องในคดียุบพรรคก้าวไกลเป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือมีการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ และ (3) ศาลรัฐธรรมนูญควรยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่

กรณีประเด็นที่หนึ่ง คำร้องยุบพรรคก้าวไกลของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามที่ได้อธิบายไปข้างต้นว่า การยุบพรรคการเมืองนั้นมีความชอบธรรมเพียงพอหรือน่าเชื่อถือหรือไม่ ตลอดจนกระบวนการยุบพรรคการเมืองต้องเคารพสิทธิของพรรคการเมือง และผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมชอบด้วยกฎหมาย นั้น เมื่อพิจารณาถึงกระบวนการขั้นตอนในการยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลของคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว กลับปรากฏว่า เป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ การยื่นคำร้องยุบพรรคการเมืองของคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในกรณีนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ได้แก่

(1) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 และมาตรา 93

(2) ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566

โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดเหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง และมาตรา 93 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดกระบวนการขั้นตอนให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการในกรณียุบพรรคการเมือง โดยกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพิ่มเติม ได้แก่ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 นั่นเอง ทั้งนี้ระเบียบฉบับดังกล่าว ตั้งแต่ ข้อ 5 ถึงข้อ 9 กำหนดกระบวนการ ขั้นตอน และระยะเวลาที่นายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องปฏิบัติไว้ ตั้งแต่ นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบเรื่อง นายทะเบียนพรรคการเมืองตั้งพนักงานสอบสวนเบื้องต้น นายทะเบียนพรรคการเมืองตั้งคณะบุคคลทำหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน การแจ้งให้พรรคการเมืองได้ทราบข้อเท็จจริงและได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน การเสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ไปจนถึงการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ในฐานะศาสตราจารย์ทางกฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง เห็นว่าในสาขาวิชากฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า คำอธิบายหลัก “เหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ของการกระทำขององค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งหลาย นั้น แบ่งออกเป็น ๒ เหตุ กล่าวคือ เหตุภายนอก อันได้แก่ (1) การไม่มีอำนาจกระทำการ คือ กฎหมายกำหนดให้องค์กรหนี่งมีอำนาจ แต่อีกองค์กรหนึ่งกลับไปใช้อำนาจกระทำการ หรือ กฎหมายกำหนดให้องค์กรหนึ่งมีอำนาจเฉพาะในเขตพื้นที่นี้ แต่กลับไปใช้อำนาจนอกเขตพื้นที่ (2) ไม่กระทำตามรูปแบบอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด เช่น กฎหมายกำหนดให้ทำคำสั่งเป็นหนังสือ และต้องให้เหตุผลประกอบคำสั่ง แต่กลับไม่ปฏิบัติตาม (3) ไม่กระทำตามกระบวนการขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด เช่น กฎหมายกำหนดว่าก่อนมีมติหรือคำสั่ง ต้องเรียกคู่กรณีมาชี้แจง โต้แย้ง หรือแสดงพยานหลักฐาน เสียก่อน แต่กลับไม่ปฏิบัติตาม และ เหตุภายใน ได้แก่ (1) เนื้อหาของการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ไม่เคารพหลักความเสมอภาค ไม่เคารพหลักความได้สัดส่วนหรือพอสมควรแก่เหตุ (2) ใช้ดุลพินิจโดยบิดผันไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เช่น ออกคำสั่งไปโดยมีวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกำหนด ออกคำสั่งโดยต้องการกลั่นแกล้ง ไม่สุจริต

กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเสนอคำร้องยุบพรรคก้าวไกลนี้ ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเหตุภายนอก เหตุที่สาม กล่าวคือ “ไม่กระทำตามกระบวนการขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด” โดยการกระทำใดที่ไม่ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดอันส่งผลให้การกระทำนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและต้องถูกเพิกถอน ต้องเป็นกระบวนการขั้นตอนที่ไม่ได้ดำเนินการตามนั้น เป็นกระบวนการขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญด้วย ซึ่งกระบวนการขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญมีสองประการ กล่าวคือ

ประการแรก หากดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนครบถ้วนแล้วอาจส่งผลให้มีมติหรือออกคำสั่งแตกต่างไปจากการไม่ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอน เช่น ออกใบอนุญาตไปโดยไม่ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ ไม่จัดทำประชาพิจารณ์ ถ้าหากมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือจัดทำประชาพิจารณ์ ก็อาจไม่ออกใบอนุญาต เช่นนี้ การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการจัดทำประชาพิจารณ์ จึงเป็น “กระบวนการขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ”

ประการสอง กระบวนการขั้นตอนนั้นกำหนดไว้เพื่อประกันสิทธิของคู่กรณี เช่น ก่อนออกคำสั่งซึ่งอาจส่งผลกระทบหรือผลร้ายต่อคู่กรณี ก็ต้องเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้ชี้แจง แสดงพยานหลักฐาน โต้แย้งเสียก่อน อันเป็นการประกันสิทธิในการต่อสู้โต้แย้ง เช่นนี้ กระบวนการขั้นตอนนี้ย่อมถือเป็นสาระสำคัญ

ข้อเท็จจริงปรากฏว่าตามระเบียบฉบับดังกล่าวในข้อ 7 วรรคสอง กำหนดให้ “ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง บุคคลหรือคณะบุคคลที่นายทะเบียนแต่งตั้งต้องให้ผู้ถูกร้องหรือพรรคการเมืองนั้น แล้วแต่กรณี มีโอกาสรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน ก่อนมีการเสนอรายงานรวบรวมข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียนพิจารณา”

เห็นได้ว่า การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือนายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องให้ผู้ถูกร้องหรือพรรคการเมือง “มีโอกาสรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน ก่อนมีการเสนอรายงานรวบรวมข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียนพิจารณา” เป็นกระบวนการขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ เพราะเป็นการประกันสิทธิในการต่อสู้โต้แย้ง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม อีกทั้ง การเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานอย่างเต็มที่ ก็อาจส่งผลให้ยุติเรื่องในชั้นคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

เมื่อการดำเนินการในชั้นนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนนี้ แต่กลับดำเนินการต่อเนื่องไปจนมีมติยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลต่อศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมถือได้ว่า มติการยื่นคำร้องนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องถูกเพิกถอนไป

นอกจากนี้ การใช้การตีความกฎหมาย กรณีการดำเนินการยุบพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 และมาตรา 93 นั้น เห็นได้ว่า กระบวนการยุบพรรคการเมืองในระบบกฎหมายไทยตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านการดำเนินกระบวนการ 2 ขั้นตอน โดย 2 องค์กรที่ต่างกัน กล่าวคือ

ขั้นตอนแรก ชั้นก่อนการเสนอคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ อันได้แก่ การสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน และยื่นคำร้องยุบพรรคการเมือง โดยองค์กรผู้มีอำนาจตามกฎหมาย คือ คณะกรรมการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง

ขั้นตอนที่สอง ชั้นการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ อันได้แก่ การพิจารณาคดี การไต่สวน และวินิจฉัย โดยองค์กรผู้มีอำนาจตามกฎหมาย คือ ศาลรัฐธรรมนูญ

บทบัญญัติในมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดเหตุแห่งการยุบพรรคไว้ใน (1) ถึง (4) หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามเหตุเหล่านั้น ก็ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องยุบพรรคการเมืองต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการยุบพรรคการเมืองต่อไป

ส่วนการดำเนินการในชั้นของคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนที่จะยื่นคำร้องยุบพรรคการเมือง ก็ต้องมีกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่ง “หลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” เสียก่อน ซึ่งกระบวนการเหล่านั้น กำหนดไว้ในมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่กำหนดให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ก่อนเสนอความเห็นให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาต่อไป โดยรายละเอียดของกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ นั้น มาตรา 93 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้ในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งได้แก่ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 นั่นเอง

ข้าพเจ้าขอเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การใช้การตีความกฎหมายโดยปกติแล้วจะต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกันทั้งระบบและเป็นเอกภาพ ไม่ก่อให้เกิดผลประหลาดในทางระบบกฎหมาย ที่ส่งผลให้มีบทบัญญัติในมาตราใดมาตราหนึ่ง หรือกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งถูกงดเว้นใช้บังคับ ดังนั้น การใช้และตีความกฎหมายแยกส่วนกันดังเช่นที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีความเห็นว่า มาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 คือ ช่องทางการยื่นคำร้องยุบพรรคการเมืองช่องทางหนึ่ง และมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน คือ ช่องทางการยื่นคำร้องยุบพรรคการเมืองอีกช่องทางหนึ่ง ส่วนการจะเลือกใช้ช่องทางตามมาตราใดก็แล้วแต่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะกำหนดนั้น ส่งผลให้วิธีการเสนอคำร้องยุบพรรคการเมืองมี 2 กระบวนการที่แตกต่างกันอย่างมาก กล่าวคือ แบบที่หนึ่ง ไม่ต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้รับทราบข้อกล่าวหา ตลอดจนชี้แจง โต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลย และแบบที่สอง ที่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้รับทราบข้อกล่าวหา ตลอดจนชี้แจง โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานต่อองค์การผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วทั้งสองมาตราต่างก็เป็นคำร้องขอให้ยุบพรรคการเมืองเช่นเดียวกันและบัญญัติไว้ติดต่อกันในกฎหมายฉบับเดียวกัน และเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองเช่นเดียวกันซึ่งจะต้องยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเช่นเดียวกัน และจะส่งผลร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรคการเมืองเช่นเดียวกัน การตีความแบบประหลาดพิศดารเช่นนี้จะเป็นการใช้และตีความกฎหมายที่ก่อให้เกิดผลประหลาดในทางกฎหมาย กล่าวคือ มาตรา 93 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 จะไม่มีที่ให้ใช้บังคับ เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถเลือกที่จะใช้กระบวนการขั้นตอนตามมาตรา 92 ได้ทั้งหมด โดยไม่ให้พรรคการเมืองมีโอกาสชี้แจง โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง เช่นนี้แล้ว จะมีการบัญญัติ มาตรา 93 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 ไว้ในกฎหมายเพื่อเหตุผลใด ? นอกจากนี้ บทบัญญัติในมาตรา 93 ยังได้อ้างถึงมาตรา 92 ถึงสองที่ ที่แรก ในวรรคแรก “เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92…” และในวรรคสอง “ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 92…” ความข้อนี้ ก็ย่อมหมายความอย่างชัดเจนว่า กรณีมาตรา 92 และมาตรา 93 มีความสัมพันธ์ต้องใช้ควบคู่กัน

ในกรณีที่พิจารณาอยู่นี้ แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเคยวินิจฉัยมาก่อนแล้วว่าพรรคก้าวไกลใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ไม่สามารถอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 มาเป็นฐานในการยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยจงใจไม่ทำตามกระบวนขั้นตอนตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 กำหนดได้ เนื่องจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567เป็นคดีตามมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ แต่คำร้องยุบพรรคก้าวไกลที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นคดีตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 อันเป็นคนละกรณีที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังมีกระบวนการขั้นตอนนำคดีขึ้นสู่ศาล ตลอดจนผลในทางกฎหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้น แม้จะมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ยังคงมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนตามมาตรา 92 และมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 ให้ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่คำร้องยุบพรรคก้าวไกลที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น มีข้อกล่าวหาใหม่ที่ไม่ปรากฏในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ได้แก่ มาตรา 92 (1) ที่กล่าวหาว่า พรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา 92 (2) ที่กล่าวหาว่า พรรคก้าวไกลได้กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยิ่งเป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมือง และคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา 93 และระเบียบฉบับดังกล่าวโดยเคร่งครัด โดยไม่อาจดำเนินการเป็นอย่างอื่นได้

ดังนั้น คำร้องยุบพรรคก้าวไกลที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญจึงจะต้องดำเนินการตามมาตรา 92 และมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 เท่านั้น มิเช่นนั้นแล้วก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง และคำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ย่อมเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความน่าเชื่อถือในคำวินิจฉัยกรณีการยุบพรรคการเมือง ซึ่งต้องมีความชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมายมากเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม แม้ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 จะมีบทยกเว้นตามข้อ 11 วรรคสอง ที่กำหนดว่า “กรณีใดที่มิได้กำหนดไว้ หรือมีเหตุจำเป็น คณะกรรมการอาจกำหนด ยกเว้น หรือผ่อนผันการปฏิบัติตามความในระเบียบนี้ได้” พิจารณาได้ว่า บทบัญญัติในข้อ 11 วรรคสองนี้ เป็นข้อยกเว้น โดยใช้ได้ในสองกรณี ได้แก่ “กรณีมิได้กำหนดไว้” หรือ “มีเหตุจำเป็น” โดยในส่วนของ “กรณีมิได้กำหนดไว้” นั้น มิอาจนำมาใช้กับกรณียุบพรรคก้าวไกลในเรื่องนี้ได้ เพราะกรณีการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่ถูกกล่าวหาได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานนี้ ได้กำหนดไว้ชัดเจนในข้อ 7 วรรคสองว่ามีกระบวนการขั้นตอนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไร และในส่วนของกรณี “มีเหตุจำเป็น” ก็ไม่ได้มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นใดที่ปรากฏอย่างประจักษ์ชัด อีกทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมืองก็ไม่เคยแสดงให้เห็นว่าต้องใช้บทบัญญัติข้อ 11 วรรคสองนี้มา “กำหนดยกเว้น หรือผ่อนผัน” ข้อ 7 วรรคสอง และทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมืองก็ไม่เคยแจ้งแก่พรรคก้าวไกลว่ามีเหตุจำเป็นอย่างไรจึงต้องใช้ข้อยกเว้นนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ข้อ 11 วรรคสองของระเบียบดังกล่าวก็เป็น “ข้อยกเว้น” จึงต้องใช้อย่างจำกัดและในกรณีจำเป็นอย่างยิ่ง และใช้อย่างพอสมควรแก่เหตุ เท่าที่จำเป็น โดยไม่กระทบกับสิทธิขั้นพื้นฐานของคู่กรณี หรือใช้จนกระทบกับสาระสำคัญของระเบียบนี้ไปทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการยุบพรรคการเมืองถือเป็นการกระทำที่กระทบสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง มาตรการยุบพรรคการเมืองจึงต้องกระทำไปโดยไม่กระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพจนเกินสัดส่วน ภายใต้การใช้การตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตลอดจนกระบวนการขั้นตอนการยุบพรรคการเมืองต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม หากการยุบพรรคการเมืองเป็นไปโดยไม่มีเหตุผลทางกฎหมายและพยานหลักฐานที่ชัดเจนน่าเชื่อถือรองรับอย่างหนักแน่น จะนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความชอบธรรมและประสิทธิภาพของการยุบพรรคการเมืองนั้น ดังนั้นการใช้และตีความกฎหมายในข้อ 11 วรรคสองแห่งระเบียบดังกล่าว เพื่ออ้างว่า เป็นการ ”ยกเว้นหรือผ่อนผัน“ ข้อ 7 วรรคสอง ไม่ให้พรรคก้าวไกลได้ทราบข้อเท็จจริงและไม่ให้มีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน ย่อมเป็นการนำ “ข้อยกเว้น” มาทำลายหลักการพื้นฐานและสาระสำคัญของกระบวนการขั้นตอนการยุบพรรคการเมืองที่ต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้อย่างเต็มที่

ยิ่งไปกว่านั้น กรณีจึงปรากฏด้วยว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเหตุที่ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดมาแล้ว ปรากฏในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15/2553 ศาลรัฐธรรมนูญได้ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยเหตุที่ว่า กระบวนการขั้นตอนยื่นคำร้องยุบพรรค ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 เนื่องจาก นายทะเบียนพรรคการเมืองส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา โดยไม่ทำความเห็นอันเป็นกระบวนการขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดก่อน อันเป็นหลักการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยวางหลักเกณฑ์ไว้เป็นบรรทัดฐานมาก่อนแล้ว อันเป็นที่ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในวงการนิติศาสตร์ไทยด้วยเช่นกัน

ประเด็นที่สอง การกระทำตามคำร้องในคดียุบพรรคก้าวไกลตามที่พิจารณาอยู่ในคดีนี้เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ ในประเด็นนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาการกระทำตามคำร้องให้ชัดเจนให้ได้ว่า การกระทำใดเป็นการกระทำของพรรคการเมือง และการกระทำใดเป็นการกระทำของปัจเจกบุคคล เพราะตามหลักกฎหมายทั่วไปแล้ว การกระทำที่จะมีผลเป็นการผูกพันนิติบุคคลนั้น ต้องเป็นการกระทำของนิติบุคคลเท่านั้น หาใช่เป็นการกระทำของสมาชิกหรือบุคคลในสังกัดของนิติบุคคลนั้นเพียงคนใดคนหนึ่ง และเนื่องจากมาตรการยุบพรรคการเมืองนั้นมีความร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยย่อมไม่ควรรับผิดในการกระทำของสมาชิกเพียงคนใดคนหนึ่งที่ไม่ได้ผ่านการเห็นชอบจากพรรค การกระทำผิดที่พรรคจะถูกลงโทษได้ต้องมีหลักฐานว่าผู้กระทำผิดได้รับการสั่งการโดยพรรคการเมืองหรือเป็นมติของพรรคการเมือง หากไม่ปรากฏหลักฐานเชื่อมโยงพรรคเข้ากับการกระทำของบุคคลนั้น ๆ โทษที่พึงมีย่อมตกแก่ผู้กระทำแต่ไม่ไปถึงพรรคด้วย อีกทั้งกฎหมายที่ระบุเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองต้องมีความชัดเจนว่าครอบคลุมการกระทำอะไรบ้าง โดยไม่คลุมเครือ ไม่กว้างขวางจนเกินไป และแม้นว่าจะเป็นการกระทำของพรรคการเมืองแล้ว ก็ต้องพิจารณาโดยรอบคอบ สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยตามที่ปรากฏในนานาอารยะประเทศที่มีระบบการเลือกผู้แทนของประชาชนโดยผ่านระบบพรรคการเมืองด้วยว่า การนำเสนอแนวคิดเพื่อแลกเปลี่ยนผ่านกลไกต่าง ๆ อย่างสันติภายใต้วิถีทางรัฐธรรมนูญ ไม่อาจเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยแต่ประการใด การกระทำหรือการแสดงความคิดเห็นของพรรคการเมืองที่อาจจะนำไปสู่การยุบพรรคนั้นจะต้องมีองค์ประกอบของการใช้ความรุนแรงนอกขอบของรัฐธรรมนูญอยู่ การเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายตามวิถีทางรัฐธรรมนูญโดยสันติวิธีด้วยการเสนอร่างกฎหมายย่อมไม่เพียงพอและไม่อาจจะเป็นสาเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้แห่งการยุบพรรคการเมือง

เมื่อพิจารณาการกระทำของพรรคก้าวไกลในกรณีของคดีนี้แล้ว เห็นได้ว่า มีหลายการกระทำที่ปรากฏว่าเป็นการกระทำที่มิใช่การกระทำของพรรคการเมือง แต่เป็นการกระทำในฐานะปัจเจกบุคคลหรือในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมือง เช่น การเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การแสดงความคิดเห็นให้มีการยกเลิกหรือการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การปรากฏตัวในสถานที่ที่มีการชุมนุมทางการเมืองเกี่ยวกับการยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การเป็นนายประกันให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย และการเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยของสมาชิกพรรคก้าวไกลในคดีมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาบรรดาการกระทำต่าง ๆ ที่พรรคก้าวไกลถูกร้องว่าเป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแล้ว เห็นได้ว่า การกระทำใดจะเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ ต้องเป็นการกระทำที่ใช้กำลังบังคับ หรือเป็นการกระทำโดยใช้ความรุนแรงเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสิ้นสุดลง หรือเป็นการกระทำที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปเป็นระบอบการปกครองแบบอื่นอย่างชัดแจ้ง เช่น การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีรูปของรัฐเป็นสาธารณรัฐ เป็นต้น ตามที่ปรากฏในมาตรา 255 แห่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้” เมื่อพิจารณาบรรดาการกระทำที่ถูกร้องของพรรคก้าวไกลแล้ว ย่อมจะเห็นได้ว่า

(1) กรณีการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นมิได้เป็นการใช้กำลังบังคับหรือเป็นการกระทำโดยใช้ความรุนแรงเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสิ้นสุดลง หรือเป็นการกระทำที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปเป็นระบอบการปกครองแบบอื่นแต่ประการใด เป็นเพียงการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ อันได้แก่อำนาจนิติบัญญัติในการเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเท่านั้น อีกทั้งการเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขฯ ที่ได้กระทำผ่านระบบรัฐสภา ต้องผ่านความเห็นชอบทั้งจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญทั้งก่อนและหลังการประกาศใช้ อันเป็นการกระทำที่ชอบด้วยวิถีทางของรัฐธรรมนูญอีกด้วย ดังนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการเสนอและพิจารณาร่างกฎหมายในระดับ “พระราชบัญญัติ” ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา ก็เป็นพระราชบัญญัติด้วยเช่นกัน ดังนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการเสนอแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาได้ ตลอดจนข้อเสนอในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือการแก้ไขบทบัญญัติที่มีลักษณะเดียวกันในอดีตนั้น ก็ปรากฏมาอยู่โดยตลอด เช่น ข้อเสนอคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งได้รับการตั้งขึ้นโดยคณะรัฐมนตรี มีศาสตราจารย์ ดร. คณิต ณ นคร เป็นประธานกรรมการ ที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเดิม เป็น “มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาตร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดที่ต้องให้อำนาจ การสอบสวนดำเนินคดีในความผิดตามวรรคหนึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอำนาจจากเลขาธิการพระราชวัง”

ข้าพเจ้ายังมีความเห็นเพิ่มเติมในเรื่องนี้ด้วยว่าวิญญูชนทั่วไปย่อมไม่อาจมีทางที่จะเห็นไปได้โดยสามัญสำนึกว่าการทำคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีในอำนาจหน้าที่ของตุลาการ การเสนอร่างกฎหมายของสมาชิกรัฐสภา เพื่อพิจารณา หรือการตัดสินใจดำเนินบริการสาธารณะในเรื่องใดของคณะรัฐมนตรี จะมีลักษณะเป็นการบ่อนเซาะ ทำลายระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีความเห็นเสนอมาต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

(2) กรณีการเสนอนโยบายของพรรคก้าวไกลในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ตลอดจนการนำนโยบายดังกล่าวมาหาเสียงและเผยแพร่ นั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองย่อมมีฐานะเป็นตัวกลางที่คอยเชื่อมต่อระหว่างประชาชนกับรัฐ ช่วยรวบรวมความปรารถนาที่หลากหลายของประชาชนเข้าด้วยกัน แล้วนำเสนอออกมาเป็นนโยบายของพรรคการเมือง โดยกระบวนการรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนจนนำมาสู่ข้อเสนอในทางนโยบายของพรรคการเมืองนี้มีจุดหมายเพื่อดึงดูดแรงสนับสนุนจากประชาชนให้กว้างขวางที่สุด และเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากประชาชนโดยทั่วไป ข้อเสนอในทางนโยบายของพรรคการเมืองจึงมีลักษณะเป็นการประนีประนอมแนวทางของกลุ่มความคิดต่าง ๆ เพื่อประคับประคองระบอบประชาธิปไตย ส่งผลให้แต่ละฝ่ายสามารถยอมรับความแตกต่างระหว่างกันได้ มิเช่นนั้นแล้ว การผลักดันนโยบายให้เกิดเป็นจริงก็คงไม่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าหากพรรคการเมืองนำเสนอนโยบายที่มีลักษณะสุดโต่ง รุนแรง พรรคการเมืองนั้น ๆ ก็ไม่อาจได้รับการยอมรับและการสนับสนุนจากประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก เมื่อพิจารณาถึงการเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตลอดจนการนำนโยบายดังกล่าวมาหาเสียงและเผยแพร่ของพรรคก้าวไกล การกระทำดังกล่าวก็มิได้ปรากฏว่าเป็นการใช้กำลังบังคับหรือเป็นการกระทำโดยใช้ความรุนแรงเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสิ้นสุดลง หรือเป็นการกระทำที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปเป็นระบอบการปกครองแบบอื่นแต่ประการใด หากแต่เป็นเพียงการนำเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง โดยมุ่งเน้นประนีประนอมกลุ่มความคิดต่าง ๆ ในเรื่องนี้ ซึ่งก็คือเรื่องที่ว่าควรจะต้องมีบทบัญญัติในกฎหมายอาญาหรือคุ้มครองประมุขของรัฐมิให้ถูกหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นในระดับใดและภายใต้เงื่อนไขใดจึงจะมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อประคับประคองระบอบประชาธิปไตยให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งกรณีเช่นนี้ก็ปรากฏอยู่โดยทั่วไปในนานาอารยะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และในหลายประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ก็ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างมีวุฒิภาวะ ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรผู้มีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบพรรคการเมือง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็เคยใช้ดุลพินิจในการพิจารณาวินิจฉัยยกคำร้องกรณีนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลไว้แล้ว

นอกจากนั้นการนำนโยบายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มาใช้หาเสียงเลือกตั้งของพรรคก้าวไกลก็มิได้เป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 แต่อย่างใด ด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งก็มิได้เคยมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือสั่งห้ามนำเสนอนโยบายดังกล่าวในการหาเสียงเลือกตั้งแต่อย่างใดเลย

(3) กรณีการแสดงออกผ่านการรณรงค์ การปรากฏตัวในที่ชุมนุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล หรือการติดสติ๊กเกอร์แสดงความคิดเห็นของสมาชิกพรรค เห็นได้ว่า บรรดาการกระทำต่าง ๆ นั้นมิใช่เป็นการกระทำของพรรคก้าวไกล หากแต่เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นส่วนบุคคลที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้นในบางกรณีก็เป็นการกระทำอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และการปรากฏตัวในสถานที่ชุมนุมต่าง ๆ ก็มิได้จำเป็นว่าจะต้องเห็นด้วยกับประเด็น ข้อเรียกร้อง ในการจัดการชุมนุม และไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมแต่อย่างใด หรือในบางกรณีก็เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเพื่อให้ประชาชนทั่วไปรับทราบว่าในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพร้อมจะสนับสนุนให้มีการนำความคิดเห็นของประชาชนเข้าไปอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรอย่างมีวุฒิภาวะเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์และระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งการกระทำดังกล่าวล้วนมิได้มีลักษณะเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด เฉกเช่นเดียวกันกับกรณีที่พรรคการเมืองที่มีข้อเสนอในการนำเรื่องการแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปถกแถลงในสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง

(4) สำหรับเรื่องการเป็นนายประกันให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย และการเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของสมาชิกพรรคก้าวไกลนั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า เห็นได้ว่า การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลจะใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลย ก็มิได้หมายความว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นจะเห็นด้วยหรือสนับสนุนกับการกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลย ทำนองเดียวกับการเป็นทนายความแห่งคดีนั้น หรือผู้พิพากษาองค์คณะพิจารณาคดีในศาลที่มีการฟ้องร้องคดีนั้นจะต้องเห็นด้วยหรือสนับสนุนการกระทำตามที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นถูกกล่าวหาแต่อย่างใด นอกจากนั้น การที่สมาชิกพรรคก้าวไกลเป็นนายประกันให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็มิได้เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด แต่ประเด็นปัญหาประการสำคัญก็คือ การกระทำของสมาชิกพรรคกับการกระทำของพรรค เป็นคนละการกระทำกัน หากสมาชิกพรรคผู้นั้นถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็เป็นการกระทำที่ผู้นั้นต้องรับผิดชอบในการกระทำนั้นเอง ไม่ใช่พรรคการเมืองที่สังกัดอยู่ มิเช่นนั้นแล้ว หากสมาชิกพรรคใดกระทำความผิดโดยเป็นการกระทำของตนเองแต่พรรคการเมืองต้องมารับผิดด้วย ย่อมเกิดผลประหลาดในทางกฎหมาย เพราะเป็นการนำการกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาทำลายเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองของบุคคลอื่นทั้งหมด

ประเด็นที่สาม คือประเด็นที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญควรพิจารณาให้ยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่ ดังที่กล่าวมาข้างต้น มาตรการยุบพรรคการเมืองเป็นมาตรการในการธำรงรักษาประชาธิปไตย แต่กระนั้นการใช้มาตรการดังกล่าวก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง มิเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยเอง เพราะอาจนำไปสู่การทำลายระบอบประชาธิปไตยไปในที่สุด เพราะการยุบพรรคการเมืองนั้นอาจจะส่งผลให้เกิดการปิดกั้นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์และสันติตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ ประชาชนจำนวนมากต้องสูญเสียพื้นที่ทางการเมือง รวมถึงสูญเสียโอกาสในการก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองของตนลงโดยสิ้นเชิง และต้องตกเป็นผู้พ่ายแพ้โดยสิ้นเชิงในการแข่งขันกันเพื่อกำหนดทิศทางทางการเมืองจากคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาขององค์กรตุลาการ ตลอดจนไม่อาจทำให้เกิดการประสานประโยชน์ทางการเมืองของประชาชนทุกฝ่ายได้  อีกทั้งการยุบพรรคนั้นอาจส่งผลเป็นการทำลายการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างพรรคการเมืองด้วยกันเอง ด้วยพรรคการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรนั้น มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการตรวจสอบถ่วงดุลการบริหารราชการแผ่นดินของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล หากการยุบพรรคการเมืองเป็นไปโดยไม่คำถึงความชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และไม่คำนึงถึงบริบทสภาพแวดล้อมของระบบการเมืองแล้ว อาจส่งผลร้ายในอนาคต อันได้แก่ การทำลายดุลยภาพในทางการเมืองระหว่างฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ซึ่งอาจนำไปสู่ระบบเผด็จการรัฐสภา ซึ่งเคยมีตัวอย่างเกิดขึ้นในหลายประเทศ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน

เมื่อพรรคการเมืองคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนฝ่ายข้างน้อย คำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาที่เป็นการยุบพรรคการเมืองจึงต้องถูกใช้ในกรณีที่เป็นข้อยกเว้นอย่างแท้จริงเท่านั้น กล่าวคือ เฉพาะกรณีที่การกระทำของพรรคการเมืองที่ต้องถูกยุบนั้นมีเหตุจากการมีอุดมการณ์ ตลอดจนการจัดตั้งองค์กรและกิจกรรมที่ขัดหรือแย้งกับอุดมการณ์พื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีการแสดงออกมาผ่านการกระทำ แผนงาน หรือคำปราศรัยที่ชัดแจ้งว่า ต้องการเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์พื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความรุนแรง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาดังกล่าวจะต้องให้เหตุผลที่ทรงพลังว่าเหตุใดพรรคการเมืองหนึ่งจำเป็นต้องถูกทำลายไปจากระบอบการเมือง และมีเหตุผลอย่างหนักแน่นว่าไม่มีหนทางอื่นใดที่จะทำได้นอกจากการยุบพรรคการเมืองนั้นเสีย หากคำวินิจฉัยของศาลมิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ก็อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและการยอมรับของประชาชนและสังคม เพราะองค์กรตุลาการจะได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชนและสังคมได้นั้น ก็ด้วยการที่คำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาขององค์กรตุลาการนั้นมีเหตุผลที่ถูกต้องน่ารับฟังและสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของสังคมเสรีประชาธิปไตยสมัยใหม่ ซึ่งส่งผลให้สังคมการเมืองนั้น ๆ เป็นสังคมการเมืองที่สงบสุข เนื่องด้วยคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษานั้น เป็นการชี้ขาดในเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ด้านต่าง ๆ ของประชาชน โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางการเมือง รวมถึงเป็นการชี้ขาดที่กระทบอารมณ์ความรู้สึกของคู่ความหรือประชาชนเป็นการทั่วไป

สำหรับกรณีพรรคก้าวไกลนี้ เห็นได้ว่า (1) การเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (2) การเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (3) การนำนโยบายหาเสียง และการเผยแพร่นโยบายบนเว็บไซต์ (4) การแสดงออกผ่านการรณรงค์ การปรากฏตัวในที่ชุมนุม การติดสติ๊กเกอร์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นสมาชิกพรรค (5) การเป็นนายประกันหรือเป็นผู้ต้องหาในคดีมาตรา ๑๑๒ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นสมาชิกพรรค ล้วนเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ หรือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอันเป็นวิสัยปกติ มิได้เป็นการใช้กำลังบังคับเพื่อล้มล้างการปกครอง หรือมิได้ใช้อำนาจเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น การกระทำต่าง ๆ ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่อยู่ในวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ จึงไม่เป็นเหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง เมื่อคำนึงถึงสัดส่วนความรุนแรงของพฤติการณ์อันเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรค ตลอดจนต้องปรากฏพยานหลักฐานที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพียงพอว่านอกจากจะเป็นการใช้กำลังโดยรุนแรงแล้วก็ต้องมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้โดยใกล้เคียงต่อผลถึงขนาดด้วย ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวย่อมไม่อาจรวมถึงการแสดงทัศนะหรืออุดมการณ์ของพรรคการเมือง หรือการรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายโดยสันติตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเห็นได้ว่า บรรดาการกระทำดังกล่าวนั้นมิได้มีลักษณะที่เป็นเหตุแห่งการยุบพรรคก้าวไกลเลยแม้แต่น้อย

จากเหตุผลที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้น ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า พรรคก้าวไกลยังไม่มีการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอันจะเป็นเหตุให้นำไปสู่การพิจารณายุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

ในท้ายที่สุด ด้วยความเคารพนับถือต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละท่านเป็นรายบุคคล ข้าพเจ้าขอเรียน   ความคิดเห็นประการสุดท้ายด้วยความห่วงใยต่อวิกฤตการณ์และสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศที่จะเกิดจากผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ด้วยว่า การพยายามแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่ซับซ้อนของชาติด้วยการวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ เป็นกระบวนการที่ได้ใช้มาแล้วหลายครั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญและแต่ละครั้งก็ไม่เคยทำให้เกิดทางออกหรือทางเลือกใหม่ที่จะช่วยคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองที่เป็นอยู่ ในทางตรงกันข้าม กลับสร้างความโกรธแค้นชิงชังในทางการเมืองให้มีเพิ่มมากยิ่งขึ้น และยิ่งจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศที่อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายอยู่แล้ว กลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น นอกจากประเด็นข้อกฎหมายที่ได้ให้ความเห็นมาแล้วข้างต้นทั้งหมด ข้าพเจ้าใคร่ขอกราบเรียนต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยความเคารพที่จะได้กรุณาใช้มโนธรรมและความรัก ความห่วงใยในประเทศชาติและประชาชนชาวไทยโดยรวม ในการวินิฉัยชี้ขาดคดีนี้ด้วยเช่นกัน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net