Skip to main content
sharethis

'กฤษฎางค์ นุตจรัส' หรือ 'ทนายด่าง' แถลงคำชี้แจงการเสียชีวิตของ 'บุ้ง เนติพร' เรื่องข้อสังเกตในการรักษาพยาบาลกู้ชีพ เปิดไทม์ไลน์ส่งตัวจากราชทัณฑ์สู่ รพ. ธรรมศาสตร์


ที่มาภาพ: มติชนออนไลน์

19 พ.ค. 2567 มติชนออนไลน์ รายงานว่าสืบเนื่องการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง ผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ซึ่งอดอาหารประท้วงหลังถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา กระทั่งมีอาการวิกฤตหัวใจหยุดเต้น จึงต้องส่งตัวไปรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี โดยแพทย์ได้ปั๊มหัวใจยื้อชีวิต (CPR) แต่ไม่เป็นผล ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เมื่อเวลา 11.22 น. วันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น

วันนี้ (19 พ.ค.) ที่ศาลา 7 วัดสุทธาโภชน์ ลาดกระบัง กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์รายงานบรรยากาศการถวายภัตตาหารเพลพระสงฆ์ในช่วงเช้า ก่อนที่จะมีพิธีฌาปนกิจในช่วงเย็น บรรยากาศเต็มไปด้วยครอบครัว ญาติ มิตรสหาย ผู้ร่วมอุดมการณ์ของ น.ส.เนติพร ตลอดจนนักกิจกรรมและประชาชนที่ทยอยเดินทางมาร่วมไว้อาลัย

โดยผู้มาร่วมงาน อาทิ ครอบครัว น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม, นายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือสายน้ำ, น.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ ทะลุวัง, นางเงินตา คำแสน หรือมานี นักกิจกรรมอิสระ, นายโชคดี ร่มพฤกษ์ หรืออาเล็ก ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร, นายณัชปกร นามเมือง หรือถา ไอลอว์, นายกฤษฎางค์ นุตจรัส หรือทนายด่าง, น.ส.อันนา อันนานนท์ กลุ่มนักเรียนเลว, วรวรรณ แซ่อั้ง หรือป้าเป้า, นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย

ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศเวลา 14.00 น. นายกฤษฎางค์ นุตจรัส หรือทนายด่าง ได้แถลงคำชี้แจงการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม เรื่องข้อสังเกตในการรักษาพยาบาล กู้ชีพ

โดยคำแถลงมีรายละเอียดดังนี้

“ตั้งแต่เหตุการณ์เกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ซึ่งข้อมูลจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์แจ้งว่า นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม มีอาการหมดสติ ไม่มีสัญญาณชีพ และได้รับการทำ CPR เพื่อฟื้นคืนชีพตั้งแต่เวลา 0623 น. ก่อนจะส่งตัวผู้ป่วยมารักษาต่อที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติในเวลา 09.30 น. ซึ่งข้อมูลการรักษาก่อนหน้าเกิดอาการระหว่างการกู้ชีพ

รวมถึงระหว่างการส่งตัวมาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังไม่มีการเปิดเผยเอกสารตามที่ทางทนายความได้ทำเรื่องขอ เพื่อความกระจ่างในการรักษา โดยสาเหตุการตายจากการชันสูตรพลิกศพ ลงความเห็นไว้ว่า

1.ภาวะหัวใจล้มเหลวโดยเฉียบพลัน
2.ภาวะสมดุลเกลือแร่ผิดปกติ
3.ภาวะหัวใจโต ส่วนผลการตรวจหาสารพิษยังอยู่ในระหว่างการรอผล

จากข้อมูลการรักษา เวชระเบียนที่ได้จากทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แรกรับช่วงเวลา 09.30 น. พบว่าไม่มีสัญญาณชีพ คลื่นไฟฟ้าหัวใจแรกรับ ไม่มีคลื่นไฟฟ้าของหัวใจห้องข้างล่าง (Asystole) ฟังปอดไม่พบเสียงลมในปอด แต่ได้ยินเสียงลมบริเวณลิ้นปี่ เมื่อตรวจดูด้วยอุปกรณ์ใส่ท่อช่วยหายใจที่มีกล้องติดอยู่ที่ปลาย (Video laryngoscope) พบว่าท่อช่วยหายใจอยู่ในหลอดอาหาร ค่า ETC02 พบว่าไม่มีคลื่น ETC02 โดยวัดค่าได้เท่ากับ 0 มิลลิเมตรปรอต ซึ่งจากข้อมูลทั้งหมดระบุว่ามีการใส่ท่อช่วยหายใจลงในหลอดอาหาร (Esophageal intubation) จึงทำการใส่ท่อช่วยหายใจใหม่ที่ห้องฉุกเฉิน หลังจากใส่ท่อช่วยหายใจใหม่ ได้ยินเสียงลมเข้าปอดทั้งสองข้าง และวัดค่า ETCO2 ได้ 10 มิลลิเมตรปรอต

ตั้งแต่เวลาที่บุ้งตรวจไม่พบสัญญาณชีพ 06.23 น. จนมาถึงห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ในเวลา 09.30 น. เป็นเวลา 3 ชั่วโมงในการกู้ชีพ โดยที่สัญญาณชีพแรกรับที่ห้องฉุกเฉินไม่พบชีพจร ในขณะที่ยังต้องค้นหาสาเหตุการตายผ่านการทบทวนเวชระเบียนจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แม้การใส่ท่อช่วยหายใจลงในหลอดอาหารเป็นสิ่งที่พบได้ แต่ตามมาตรฐานวิชาชีพการตรวจสอบเพื่อยืนยันตำแหน่งท่อช่วยหายใจทันทีเป็นเรื่องพื้นฐาน หากไม่แน่ใจต้องมีวิธีการในการยืนยันเพื่อให้แน่ใจว่าตำแหน่งท่อช่วยหายใจอยู่ในที่ที่ถูกต้อง แม้การใส่ท่อช่วยหายใจผิดตำแหน่งและตรวจสอบไม่ได้ อาจไม่ได้เป็นสาเหตุการเสียชีวิต แต่เป็นหนึ่งในอีกความผิดพลาดร้ายแรง ที่ทำให้โอกาสการคืนชีพของบุ้งน้อยลงจนกลายเป็นแทบไม่มีโอกาสรอดชีวิต

เราต้องการตั้งคำถามกับทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุ้ง ตั้งแต่การดูแลก่อนการเสียชีวิต ขณะกู้ชีพ และจนถึงระหว่างการส่งตัวเพื่อรักษาต่อ เพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และทราบถึงมาตรฐานการรักษาของโรงพยาบาลราชทันฑ์ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ผิดพลาดนี้กับคนไข้รายอื่นอีก” ทนายด่างกล่าว

ราชทัณฑ์ยืนยันบุคลาการทางการแพทย์ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ให้การรักษาและช่วยชีวิต บุ้ง ตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างเต็มที่เต็มกำลัง

ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า Thai PBS  รายงานว่ากรมราชทัณฑ์ออกเอกสารชี้แจง กรณีที่ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส หรือ ทนายด่าง ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนกล่าวพาดพิงถึงทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทำการรักษาและการช่วยชีวิต น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง อย่างผิดวิธีจึงอาจเป็นสาเหตุทำให้ น.ส.เนติพร เสียชีวิต

กรมราชทัณฑ์ ได้รับรายงานจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ชี้แจงกระบวนการรักษา และการช่วยชีวิต น.ส.เนติพร เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2567 ว่า ทีมบุคลากรทางการแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้ช่วยชีวิต น.ส.เนติพร ในภาวะวิกฤตตามมาตรฐานการรักษาพยาบาล โดยมีแพทย์ดำเนินการใส่ท่อช่วยหายใจ ได้นวดหัวใจ พร้อมให้ยากระตุ้นหัวใจ ยากระตุ้นความดันโลหิตตามมาตรฐานการช่วยชีวิตขั้นสูง และทีมบุคลากรทางการแพทย์ให้การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดตลอดช่วงเวลา จนส่งตัวผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

กรมราชทัณฑ์ ขอยืนยันว่า ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังคงให้การดูแลรักษา ผู้ต้องขังทุกรายตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วย ล้วนแล้วแต่ได้มาตรฐานถูกต้องทุกประการตลอดจนกระบวนการการรักษาที่เป็นไปตามหลักวิชาชีพ

ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ขอให้ติดตามข้อมูลทางการแพทย์ และผลการชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมเกียรติ เพื่อเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ต่อไปสำหรับประวัติการรักษาพยาบาลของนางสาวเนติพรฯ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้เตรียมพร้อมให้ญาติหรือทนายความที่ได้รับมอบอำนาจมารับเอกสารในวันเปิดทำการ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net