Skip to main content
sharethis

สว.นันทนา รับหนังสือจากทนายอั๋น เรียกร้องตรวจสอบจริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุแม้ถอดถอนไม่ได้แต่ยื่นญัตติอภิปรายได้ ชี้หากต้องการแก้โครงสร้างปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นต้องยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

24 ส.ค. 2567 เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่านางสาวนันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) รับหนังสือจากนายภัทรพงศ์ สุภักษร (ทนายอั๋น) เพื่อขอให้วุฒิสภาตรวจสอบกรณีการแสดงออกของผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบุคคลหนึ่งในเวทีสาธารณะที่ จ.สุราษฎร์ธานี ที่พาดพิงถึงคดียุบพรรคก้าวไกล
         
โดย นายภัทรพงศ์ กล่าวว่า ตนในฐานะคนรุ่นใหม่และประชาชน ตั้งข้อสังเกตว่าพฤติกรรมของบุคคลดังกล่าวเหมาะสมกับการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ โดยเฉพาะเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือไม่ จึงขอให้วุฒิสภาตรวจสอบกรณีดังกล่าว เนื่องจากวุฒิสภาเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ในการสรรหาและแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ 
           
ด้าน นางสาวนันทนา กล่าวว่า ตามบทบาทหน้าที่ของวุฒิสภา กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจในการถอดถอนเอาไว้ แต่สามารถยื่นญัตติเพื่อนำเรื่องดังกล่าวไปอภิปรายได้ เพื่อถกเถียงในเรื่องบทบาทและจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวุฒิสภาไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องดังกล่าว เพราะอยู่ในความสนใจของประชาชน แต่ทั้งนี้วุฒิสภาทำได้แค่ยื่นญัตติในการอภิปรายและหากมีข้อสรุปเป็นอย่างไรก็อาจจะมีการยื่นเรื่องให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการตรวจสอบจริยธรรมกันเอง เนื่องจากมองว่าเรื่องจริยธรรมควรเป็นเรื่องที่บุคลากรในองค์กรนั้นๆตรวจสอบกันเอง
            
นอกจากนี้ในวันอังคารที่ 27 ส.ค.นี้ ตนจะเสนอเรื่องดังกล่าวให้เป็นญัตติด่วน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประธานวุฒิสภาที่จะวินิจฉัยว่าจะสามารถเป็นญัตติด่วนและดำเนินการอภิปรายในวุฒิสภาได้ หรือไม่ ส่วนคำพูดและพฤติกรรมที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้แสดงออกมามองว่าเหมาะสมและผิดจริยธรรม หรือไม่นั้น เห็นว่าหากจะใช้ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกระบวนการถอดถอนนายกรัฐมนตรี คือ “วิญญูชน” ย่อมตระหนักได้ว่าคำกล่าวนั้นเหมาะสมหรือไม่กับสถานะของผู้ที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งหากอยู่ในสถานะที่ให้คุณให้โทษและมีอำนาจอย่างกว้างขวางมาแสดงบทบาทที่อาจจะไม่เหมาะสมในสถานะ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้สาธารณชนเรียกร้องให้ลาออก แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่บุคคลดังกล่าวว่าจะหันกลับไปพิจารณาตนเอง หรือไม่
     
นางสาวนันทนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเห็นด้วยว่าตัวโครงสร้างที่ทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองในขณะนี้ คือ รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้เกิดองค์กรอิสระที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนและมีขอบเขตอำนาจที่ล้นเกิน ดังนั้น หากจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นที่การยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ประชาชนก็อยากให้เกิดขึ้น และจากบทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีต ทำให้เห็นว่าผู้ที่จะมาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะต้องเป็น ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net