Skip to main content
sharethis

'ไอลอว์' เปิด Pattern การโหวต เขียนเลขเหมือนกันทุกช่อง ส่งกลุ่มละ 7 คนเป็น สว. จากการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567

เว็บไซต์ไอลอว์ รายงานเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2567 ว่าการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567 ใช้เวลาการเลือกและการนับคะแนนไปนานกว่า 21 ชั่วโมง ในการออกเสียงลงคะแนนรอบแรกหรือรอบ “เลือกกันเอง” ของผู้สมัครในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีผู้สมัครไม่เกิน 154 คน ให้ผู้สมัครทุกคนเลือกกันเองในกลุ่ม โดยออกเสียงได้ไม่เกินคนละ 10 เสียง โดยการเขียนหมายเลขของผู้สมัครที่ต้องการเลือกลงในช่องว่างสิบช่องในบัตรเลือก ซึ่งจะออกเสียงเลือกตัวเองก็ได้ แต่ออกเสียงเลือกคนเดียวหลายคะแนนไม่ได้ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 40 อันดับแรกจากแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้เข้าสู่รอบต่อไป คือ การออกเสียงเลือกผู้สมัครจากกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน หรือการ “เลือกไขว้”

ผู้สังเกตการณ์ในระดับประเทศรวมทั้งประชาชนที่ติดตามดูการถ่ายทอดสดสังเกตเห็นถึง “ความไม่ปกติ” ในวิธีการออกเสียงลงคะแนน เมื่อนับคะแนนในระบบเลือกกันเอง เจ้าหน้าที่จะขานคะแนนและยื่นบัตรให้ผู้สมัครและประชาชนได้ดูเพื่อตรวจสอบว่าขานคะแนนได้ถูกต้องหรือไม่ ปรากฏว่า แต่ละกลุ่มมีบัตรหลายใบที่มีรูปแบบซ้ำๆ กัน (pattern) การออกเสียงเลือกผู้สมัครหมายเลขต่างๆ ที่เหมือนกันทั้งสิบหมายเลข และเรียงลำดับหมายเลขเหมือนกันทุกตำแหน่ง โดยไม่ได้เรียงจากหมายเลขน้อยไปหามาก

เนื่องจากแต่ละกลุ่มมีผู้สมัคร 154 คน และกกต. ไม่ได้กำหนดว่า การเลือกจะต้องเรียงลำดับหมายเลขน้อยไปหาหมายเลขมาก ความเป็นไปได้ที่ผู้สมัครแต่ละคนจะเขียนในแต่ละช่อง คือ 154 แบบและแต่ละคนออกเสียงเลือกได้สิบช่อง ซึ่งโอกาสที่ผู้สมัครสองคนจะ “บังเอิญ” ใจตรงกันและเลือกเหมือนกันทั้งสิบหมายเลขและเรียงลำดับเหมือนกัน โดยไม่ได้ตกลงนัดหมายกันมาก่อน คือ 1 ใน 5,566,857,732,147,160,000,000 (อ่านว่า หนึ่งในห้าพันห้าร้อยหกสิบหกล้านล้านล้าน …) หรือเรียกได้ว่า หากผู้สมัครทุกคนออกเสียงลงคะแนนโดยอิสระโอกาสที่จะมีบัตรสองใบจะเขียนตัวเลขเหมือนกันทั้งสิบช่องนั้น “แทบเป็นไปไม่ได้เลย”

แต่ในความเป็นจริง ปรากฎการณ์ที่พบในระหว่างการนับคะแนนรอบเลือกกันเองในกลุ่มเดียวกัน คือ มีหลายกลุ่มที่มีบัตรที่ออกเสียงเลือกเหมือนกันทุกหมายเลขและลำดับจำนวน 10-20 ใบ ซึ่ง ในทางคณิตศาสตร์โอกาสความบังเอิญที่จะเกิดขึ้นนั้น “เป็นไปไม่ได้เลย” จึงเชื่อได้ว่า มีการตกลงกันมาก่อนระหว่างผู้สมัครให้ออกเสียงเหมือนกันไปทางใดทางหนึ่งของผู้สมัครจำนวน 20-30 คนต่อกลุ่มเป็นอย่างน้อย

เนื่องจากกกต. ไม่ได้ถ่ายทอดสดการนับคะแนนทุกกลุ่มและไม่ได้เปิดเผยไฟล์จากกล้องวงจรปิดทั้งหมด ข้อมูลที่ได้เพื่อตรวจสอบการลงคะแนนซ้ำๆ กันเป็น Pattern จึงอาศัยข้อมูลจากผู้สมัครในกลุ่มนั้นๆ ที่จดบันทึกการขานคะแนนของบัตรทีละใบๆ ด้วยมือตัวเองและนำมาวิเคราห์ต่อ ซึ่งได้ข้อมูลมาทั้งหมดห้ากลุ่ม จากข้อมูลนี้พบว่า กลุ่ม 4 กลุ่มการสาธารณสุข มีบัตรที่เลือกเหมือนกัน 20 ใบ, กลุ่ม 9 กลุ่มผู้ประกอบกิจการ SMEs มีบัตรที่เลือกเหมือนกัน 18 ใบ, กลุ่ม 10 กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่น มีบัตรที่เลือกเหมือนกัน 22 ใบ, กลุ่ม 12 กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม มีบัตรที่เลือกเหมือนกัน 14 ใบและกลุ่ม 13 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มีบัตรที่เลือกเหมือนกัน 13 ใบ

นอกจากนี้จากรายชื่อของผู้สมัคร 10 คนที่ได้เข้ารอบจากการลงคะแนนแบบเป็น Pattern เหมือนกันในห้ากลุ่มตัวอย่างนั้น สุดท้ายแล้วผู้สมัครจากทั้งห้ากลุ่ม 7 จาก 10 คนนี้ได้รับเลือกเป็นสว. ตัวจริง เป็นจำนวนที่ตรงกันทั้งห้ากลุ่ม และ 6 จาก 7 คนที่ได้รับเลือกเป็นสว. ก็ได้คะแนนมากเป็น 6 อันดับแรกในลักษณะ “ทิ้งห่าง” ผู้สมัครคนอื่นๆ ชนิด “ล้นกระดาน”

อ่านรายละเอียดทั้งหมดในเว็บไซต์ไอลอว์ https://www.ilaw.or.th/articles/40978

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net