Skip to main content
sharethis
ศาลสั่ง 'มิกกี้บัง' จำคุก 5 ปี 10 วัน 'จิตริน' จำคุก 3 ปี 10 วัน จากคดีมาตรา 112 เหตุเผาซุ้ม-ป้อมจราจรแยกนางเลิ้ง #ม็อบ19กันยา64 ด้าน 'สินบุรี' จำคุก 2 ปี 10 วัน เฉพาะกรณีเผาป้อมจราจร ก่อนได้ประกันตัวทั้งหมด
 
 
 
30 พ.ค. 2567 เว็บไซต์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานวันนี้ (30 พ.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีของ 'มิกกี้บัง' (สงวนชื่อ-นามสกุล) อายุ 24 ปี จิตริน พลาก้านตง อายุ 27 ปี และ สินบุรี แสนกล้า อายุ 27 ปี โดยทั้งหมดเป็นสมาชิกทะลุฟ้า และถูกกล่าวหาว่าวางเพลิงซุ้มเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 10 และราชินี บนสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยมศึกษา และเผาป้อมควบคุมสัญญาณไฟจราจรบริเวณแยกนางเลิ้ง ระหว่างการชุมนุมครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร เมื่อ 19 ก.ย. 2564
  • คดีนี้มีจำเลย 3 คน ประกอบด้วย มิกกี้บัง และจิตริน ถูกกล่าวหา 4 ข้อหา ประกอบด้วย มาตรา 112 วางเพลิงเผาทรัพย์ มาตรา 217 ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
  • ส่วนอีกรายคือ สินบุรี แสนกล้า อายุ 27 ปี ถูกกล่าวหาในเฉพาะกรณีเผาป้อมจราจรบริเวณแยกนางเลิ้ง รวม 3 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ไม่มีมาตรา 112)
  • ศาลพิพากษาจำคุก มิกกี้บัง รวมระยะเวลา 5 ปี 10 วัน ข้อหามาตรา 112 ศาลพิพากษาจำคุกมิกกี้บังรวม 5 ปี 10 วัน ในข้อหามาตรา 112 จากการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ ข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ ป้อมจราจร และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
  • จิตริน ถูกจำคุกรวม 3 ปี 10 วัน ในข้อหามาตรา 112 จากการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ  และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
  • สินบุรี ถูกจำคุกรวม 2 ปี 10 วัน ในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ ป้อมจราจร และ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  

ต่อมา มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันทั้ง 3 คนระหว่างอุทธรณ์

ทบทวนคดีนี้

สำหรับเหตุการณ์ชุมนุมที่นำมาถูกฟ้องในคดีนี้ เป็นการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. 2564 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 15 ปีการรัฐประหารปี 2549 หลังจากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเสร็จสิ้นช่วงเย็น มวลชนอิสระได้นัดหมายชุมนุมต่อทั้งบริเวณแยกดินแดง และแยกนางเลิ้ง มีรายงานว่าเกิดเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ และมีรายงานว่าซุ้มเฉลิมพระเกียรติและป้อมจราจรแยกนางเลิ้งถูกวางเพลิง

หลังจากนั้น วันที่ 8 ต.ค. 2564 ‘มิกกี้บัง’ เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.นางเลิ้ง ตามหมายเรียกในข้อหา มาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยพนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวมิกกี้บัง ไว้ในระหว่างสอบสวน

ถัดมา เกือบ 1 ปี วันที่ 7 ก.ค. 2565 พรชัย ถูกจับกุมตามหมายจับในข้อหามาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งหลังจากถูกจับ พรชัยไม่ได้รับการประกันตัว จึงส่งผลให้เขาต้องถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ​ ตั้งแต่นั้น

ต่อมา ในวันที่ 8 ส.ค. 2565 สินบุรีได้ไปมอบตัวหลังทราบว่ามีหมายจับในข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเขาก็ไม่ได้รับการประกันตัว จึงทำให้เขาต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำเช่นเดียวกันกับพรชัย

จากนั้น พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องพรชัย และสินบุรี ต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2565 ระหว่างที่ทั้งสองคนยังถูกคุมขังในเรือนจำ และยื่นฟ้องมิกกี้บัง เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2565 ภายหลังศาลรับฟ้องก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ทำให้มิกกี้บังถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำ ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 ศาลอาญามีคำสั่งให้ประกันตัวพรชัย, สินบุรี และมิกกี้บัง หลังจากทนายความยื่นขอประกันตัวด้วยวงเงินประกันคนละ 100,000 บาท พร้อมติดกำไล EM และเงื่อนไขรวม 5 ประการ

การที่ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวทั้ง 3 คนในวันดังกล่าว ทำให้พวกเขาได้รับอิสรภาพหลังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลานาน โดยพรชัยถูกคุมขังเป็นเวลา 139 วัน (หรือ 4 เดือนเศษ) และสินบุรีถูกคุมขังเป็นเวลา 107 วัน (หรือ 3 เดือนเศษ) โดยพรชัยและสินบุรีถูกคุมขังตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถูกฟ้อง ส่วนมิกกี้บังถูกคุมขังเป็นเวลา 50 วัน (หรือเกือบ 2 เดือน) หลังจากถูกฟ้อง

หลังจากทั้ง 3 คนถูกฟ้องและได้รับการประกันตัวแล้ว จิตริน ได้เดินทางไปมอบตัวต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 หลังทราบว่ามีหมายจับ ซึ่งถูกแจ้งข้อหามาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน กรณีของจิตริน นั้นถูกพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีไปเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2566 และศาลให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี

ก่อนเริ่มพิจารณาคดี อัยการได้ขอให้ศาลรวมการพิจารณาคดีทั้งสามเข้าด้วยกัน ต่อมาในนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก พรชัย (จำเลยที่ 1) ไม่ได้เดินทางมาศาล ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับและจำหน่ายคดีในส่วนของพรชัย ส่วนจำเลยอีก 3 คนยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงสืบพยานโจทก์ทั้งสิ้น 4 นัด ในระหว่างวันที่ 19-21 มี.ค. และ 2 เม.ย. 2567

โจทก์ได้นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 10 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลยไม่ติดใจสืบพยานจำเลย แต่ได้นำส่งแถลงการณ์ปิดคดีต่อศาล ก่อนที่ศาลจะนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ (30 พ.ค. 2567)

ศาลพิพากษาเห็นว่าผิด ลงโทษจำคุกลดหลั่นกัน ก่อนให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

วันนี้ (30 พ.ค.​ 2567) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 703​ มิกกี้บัง จิตริน และสินบุรี เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับครอบครัว อีกทั้งเพื่อนนักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า อาทิ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ธนพัฒน์ กาเพ็ง รวมถึงประชาชน สื่อพลเมือง องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนมาร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจการฟังคำพิพากษา

เวลา 10.20 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์และเริ่มอ่านคำพิพากษากว่า 30 นาที โดยผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะพิจารณาคดีนี้ ได้แก่ สายสนีย์ สายสุนทร และ พรศักดิ์ เชาวลิต คำพิพากษาสามารถสรุปใจความสำคัญได้ว่า

พิเคราะห์พยานหลักฐานที่นำสืบและข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 กลุ่มทะลุแก๊ส นัดหมายชุมนุมที่แยกนางเลิ้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแผงเหล็กป้องกัน ผู้ชุมนุมปะปะกับเจ้าหน้าที่และขว้างปาสิ่งของ จำเลยอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม มีคนร้ายปาระเบิดเพลิงไปบนสะพานลอยที่มีซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ต่อมามีคนราดน้ำมันเพลิงไปยังซุ้มเฉลิมพระเกียรติอีก และมีการวางเพลิงป้อมจราจรแยกนางเลิ้งจนได้รับความเสียหาย

ในขณะนั้นมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และในขณะเกิดเหตุก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่ รัฐบาลได้นำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 โดยประกาศห้ามมิให้มีการชุมนุมมากกว่า 25 คนขึ้นไป และห้ามมิให้ชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งประกาศดังกล่าวครอบคลุมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสิบกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

  • ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

พยานโจทก์เบิกความว่าเห็นจำเลยทั้ง 3 คนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมาก เป็นการรวมกลุ่มมากกว่า 25 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่าจำเลยเข้าร่วมการชุมนุม จำเลยจึงมีความผิดในข้อหานี้ ถึงแม้ว่าจะมีประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้วก็ตาม แต่การประกาศนั้นไม่ใช่การยกเลิกกฎหมายดังกล่าว

  • ในข้อหามาตรา 112, วางเพลิงเผาทรัพย์ฯ ตามมาตรา 217 และทำให้เสียทรัพย์ฯ ตามมาตรา 358

ศาลเห็นว่ามีพยานโจทก์ (พ.ต.ท.จักรพงษ์ กิ่งแก้ว) เบิกความจากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดพบภาพจำเลยทั้งสี่คน ถึงแม้ว่าภาพจากกล้องวงจรปิดจะไม่ชัดเจน แต่พยานโจทก์ (พ.ต.ท.จักรพงษ์) เบิกความว่าได้ติดตามกลุ่มนี้มานาน ประกอบกับได้นำกล้องวงจรปิดมาเปรียบเทียบการแต่งกาย พบว่าพรชัย สวมรองเท้าตรงกับวันเกิดเหตุคือมีสีดำ และหัวแหลม

ส่วนสินบุรี อยู่ในกลุ่มทะลุฟ้า มีการถ่ายภาพวันเดียวกันกับวันเกิดเหตุแต่เป็นช่วงเย็น สวมนาฬิกา หมวกแก๊ป และขับรถจักรยานยนต์สีเทา ปิดเลขทะเบียน เมื่อพยานไปตรวจสอบพบว่าเป็นคันเดียวกันกับรถที่จอดอยู่ที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันหลังเกิดเหตุ พยานตรวจสอบเลขทะเบียนดังกล่าวพบว่าเป็นบิดาของสินบุรี จึงเชื่อว่าสินบุรี เป็นผู้ก่อเหตุวางเพลิงป้อมจราจรจริงตามฟ้อง

ส่วนมิกกี้บัง เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับรูปในเฟซบุ๊ก พบว่ามีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับในกล้องวงจรปิด และรถจักรยานยนต์ที่ใช้หลบหนีหลังคนร้ายเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติพบว่ามีภูมิลำเนาเดียวกันกับมิกกี้บัง จึงเชื่อว่ามิกกี้บัง อยู่ในที่เกิดเหตุ ถึงแม้ว่าไม่พบว่าเป็นผู้วางเพลิง แต่เป็นผู้พาคนร้ายหลบหนีไป

และจิตริน ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่คนสาดน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ก็อยู่กับคนร้ายและไม่ได้ห้ามปรามผู้ก่อเหตุ อีกทั้งยังพรางตัวโดยการกลับด้านเสื้อ ซึ่งถ้าไม่มีความผิดก็ไม่มีเหตุที่ต้องทำเช่นนั้น จึงเชื่อว่าจิตรินมีส่วนรู้เห็นในการกระทำ

เห็นว่าพยานโจทก์ตรวจกล้องวงจรปิด ภาพจากสำนักข่าว และภาพที่ถ่ายไว้ในครั้งอื่นๆ รวมถึงการตรวจสอบเลขทะเบียนพบว่ามีภูมิลำเนาเดียวกัน จึงเชื่อว่าพยานโจทก์จำจำเลยทั้ง 4 คนได้ไม่ผิดตัว และที่พยานโจทก์ (ร.ต.ท.หญิง อัญญารัตน์ ไพศาลพิสุทธิสิน) เบิกความว่ามีการสาดของเหลวจนทำให้เกิดไฟนั้นเชื่อว่าเป็นสารเคมี จึงฟังได้ว่าการสาดสารเคมีทำให้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติจนเกิดไฟลุกไหม้เสียหายคิดเป็นเงิน 1,000 บาท

นอกจากนั้น ยังมีพยานโจทก์ (คมสัน โพธิ์คง) เบิกความว่า การที่ใช้ไฟเผารูปในหลวงและราชินีที่ประดิษฐานไว้นั้นเป็นการสาปแช่ง อาฆาตมาดร้าย เป็นการกระทำที่ไม่สมควร ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ การกระทำจึงเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ และทำให้เสียทรัพย์ฯ

ส่วนกรณีวางเพลิงป้อมจราจร มีพยานโจทก์ (พ.ต.ท.จักรพงษ์) เบิกความว่าพบเห็นสินบุรีจุดไฟเผา จนทำให้สิ่งของซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ ร.ต.ท.อัครพล ไชยขันท์ (ผู้กล่าวหาที่ 3) เสียหายเป็นเงิน 15,000 บาท  อีกทั้งมีพยานโจทก์ (ร.ต.ท.หญิง อัญญารัตน์) ได้เบิกความอีกว่า การเผาไหม้เป็นการกระทำโดยบุคคล และจากกล้องวงจรปิด ถึงแม้ว่ามิกกี้บัง จะไม่ใช่คนจุดไฟ แต่เมื่อไม่ได้ห้ามปรามหรือดับไฟ จึงน่าเชื่อว่ามิกกี้บังทราบการดำเนินการของสินบุรี จึงมีลักษณะเป็นตัวการร่วม พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่าการกระทำของสินบุรีและมิกกี้บังเป็นความผิดตามฟ้อง แต่ไม่พบว่าจิตรินมีส่วนร่วมในการกระทำผิดอย่างไร จึงให้ยกฟ้องในข้อหานี้

พิพากษาว่าทั้ง 3 คนมีความผิดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นอกจากนั้น สินบุรี ยังผิดในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ ตามมาตรา 217 และทำให้เสียทรัพย์ฯ ตามมาตรา 358 ส่วนมิกกี้บังและจิตรินมีความผิดตามมาตรา 112, วางเพลิงเผาทรัพย์ฯ ตามมาตรา 217 และทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 358

ในฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ และมาตรา 112 เป็นกรรมเดียวต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นโทษที่หนักที่สุด จำคุกมิกกี้บังและจิตริน คนละ 3 ปี

ส่วนฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ และทำให้เสียทรัพย์ฯ ป้อมจราจร เป็นกรรมเดียวต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ ซึ่งเป็นโทษที่หนักที่สุด จำคุกสินบุรีและมิกกี้บังคนละ 2 ปี

ส่วนฐานร่วมชุมนุมมากกว่า 25 คนขึ้นไปอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ​ ให้จำคุกทั้ง 3 คน คนละ 10 วัน

โดยสรุปแล้วศาลพิพากษาจำคุกทั้ง 3 คนดังนี้

  • สินบุรี พิพากษาจำคุกรวม 2 ปี 10 วัน ในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ ป้อมจราจร (จำคุก 2 ปี) และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (จำคุก 10 วัน)
  • จิตริน พิพากษาจำคุกรวม 3 ปี 10 วัน ในข้อหามาตรา 112 จากการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ (จำคุก 3 ปี) และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (จำคุก 10 วัน)
  • มิกกี้บัง พิพากษาจำคุกรวม 5 ปี 10 วัน ในข้อหามาตรา 112 จากการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ  (จำคุก 3 ปี), ข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ ป้อมจราจร (จำคุก 2 ปี) และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (จำคุก 10 วัน)

ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษของพรชัยและจิตรินต่อจากคดีอื่น ๆ ส่วนของพรชัยนั้นยังไม่มีคำพิพากษา และในส่วนของจิตริน ในศาลอื่นยังไม่มีคำพิพากษาให้จำคุก จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ คำขอในส่วนนี้จึงให้ยกไป

หลังจากศาลอ่านคำพิพากษา ทั้ง 3 คนถูกเจ้าหน้าที่เข้าใส่กุญแจมือ ก่อนนำตัวไปควบคุมที่ห้องขังใต้ถุนศาลระหว่างรอผลการยื่นประกันตัวในชั้นอุทธรณ์

ต่อมาเมื่อเวลา 15.34 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทั้ง 3 คนระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาโดยกรณีมิกกี้บัง ให้วางหลักทรัพย์ 300,000 บาท จิตริน ให้วางหลักทรัพย์ 200,000 บาท, สินบุรี ให้วางหลักทรัพย์ 150,000 บาท โดยไม่กำหนดเงื่อนไขใด หลักทรัพย์ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ และทำให้เย็นวันนี้ทั้ง 3 คนจะได้เดินทางกลับบ้าน

ด้านทนายความในคดีนี้มีความเห็นต่อคดีหลังมีคำพิพากษาว่า เนื่องด้วยพยานหลักฐานโจทก์จากกล้องวงจรปิดไม่ชัดเจน เนื่องจากเป็นเวลากลางคืน มีการยิงแก๊ซน้ำตา ทำให้เกิดฝุ่นควัน เหตุยังอยู่ในระยะไกลจากกล้อง ไม่ชัดเจน และไม่มีเสียง จึงไม่ชัดเจนพอที่จะระบุได้ว่าเป็นใคร หรือใครทำอะไรอยู่ได้อย่างชัดเจน ซึ่งศาลได้พิพากษาให้ลงโทษจำเลยจากพยานหลักฐานเช่นนี้

สำหรับในคดีที่มีคำพิพากษาในวันนี้ กรณีของ 'มิกกี้บัง' และ 'จิตริน' เป็นคดีเดียวที่ทั้งคู่ถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 ส่วนในคดีอื่นๆ ของทั้ง 2 คนนั้นเป็นคดีที่สืบเนื่องมาจากการร่วมชุมนุม ส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้านสินบุรี นั้นก็ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองในคดีนี้เพียงคดีเดียวเท่านั้น

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net