Skip to main content
sharethis

ก.คลัง ของสหรัฐฯ ออกมาตรการลงโทษชาวจีน 3 ราย ที่อาศัยอยู่ในพัทยา ข้อหาก่ออาชญากรรมไซเบอร์โดยเข้ายึดคอมพิวเตอร์ของชาวอเมริกันและทำการถ่ายโอนเงินมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ฯ ของกองทุนบรรเทาทุกข์โควิด-19 พร้อมยังขู่วางระเบิด


ภาพหน้าจอเว็บไซต์ https://911.re วันที่ 29 พ.ค. 2567 | ที่มาภาพ: เรดิโอฟรีเอเชีย

สำนักข่าวเบนาร์นิวส์ รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค. 2567 ว่ากระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาได้ออกมาตรการลงโทษชาวจีน 3 ราย ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทั้งหมดก่ออาชญากรรมไซเบอร์โดยเข้ายึดคอมพิวเตอร์ของชาวอเมริกัน และทำการถ่ายโอนเงินมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ของกองทุนบรรเทาทุกข์โควิด-19 พร้อมยังขู่วางระเบิด

ตามคำแถลงของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ชาวจีนทั้งสามรายคือ หยุนเหอ หวาง, จิงปิง หลิว และยานนี เช็ง ร่วมกันใช้ “บ็อตเน็ต” 911 S5 ซึ่งเป็นมัลแวร์ชนิดหนึ่งในอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ที่ยึดได้ และเปิด “อนุญาตให้กลุ่มอาชญากรไซเบอร์ ใช้เป็นคอมพิวเตอร์แม่ข่ายสื่อกลาง เพื่อเรียกข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์เหล่านั้น” โดยทำให้ดูเหมือนว่าเหยื่อเป็นผู้ก่ออาชญากรรมไซเบอร์เอง

บ็อตเน็ต เข้าควบคุมไอพีได้ประมาณ 19 ล้านไอพี ทำให้อาชญากรสามารถเข้าไป “ปลอมการลงทะเบียนใบสมัครจำนวนหลายหมื่นใบ” ภายใต้พระราชบัญญัติความช่วยเหลือ การบรรเทาทุกข์ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เนื่องจากไวรัสโคโรนาปี 2563 จึงทำให้เกิดการกล่าวหาว่า มีการเบิกจ่ายกองทุนอย่างไม่ถูกต้องสูงถึง “หลายพันล้านดอลลาร์”

และในเวลาต่อมา คอมพิวเตอร์ที่ใช้บ็อตเน็ตควบคุมยังได้ส่งสัญญาณข่มขู่ว่าจะเกิดเหตุระเบิด “ทั่ว” สหรัฐอเมริกา ในเดือนกรกฎาคม 2565 คำแถลงดังกล่าวระบุ

หยุนเหอ หวาง วัย 35 ปี ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้นำอาชญากรรมครั้งนี้ ขณะที่ จิงปิง หลิว วัย 58 ปี เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการฟอกเงินโดยใช้เงินคริปโต (สกุลเงินดิจิทัล)

สำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศของกระทรวงการคลัง สหรัฐฯ ขึ้นลิสต์ชาวจีนทั้งสองว่า อาศัยอยู่ในอาคารคอนโดมีเนียมแห่งหนึ่งในเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์จำแนกอาคารดังกล่าวว่าเป็น "สถานที่ที่ให้คุณภาพชีวิตหรูบนชายฝั่งอันเงียบสงบของพัทยา"

ส่วน ยานนี เช็ง วัย 50 ปี ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้บริหารบริษัทหลักของ หยุนเหอ หวาง นั่นคือ บริษัท สไปซีโค้ด จำกัด (Spice Code Company Limited) และเธอได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในนามของเขา รวมถึงอสังหาริมทรัพย์หรูริมชายหาด ในประเทศไทย เธออาศัยอยู่ไม่ไกลนักที่อำเภอสัตหีบ ทางใต้ของพัทยา  

นอกจากนั้น ทั้งสามยังได้รับสัญชาติของประเทศเซนต์คิตส์ และเนวิส ในแถบแคริบเบียน เมื่อเดือน พ.ค. 2565 จากข้อมูลของกระทรวงการคลัง สหรัฐฯ

นอกจากบุคคลทั้งสามแล้ว กรมธนารักษ์ของสหรัฐฯ ยังได้ออกมาตรการลงโทษต่อบริษัท สไปซี โค้ด จำกัด และบริษัทอีกสองแห่งที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ หยุนเหอ หวาง ได้แก่ บริษัท ทิวลิป บิซ พัทยา กรุ๊ป จำกัด และบริษัท ลิลลี่ สวีท จำกัด

ภายใต้มาตรการการลงโทษดังกล่าว พลเมืองอเมริกัน ผู้อาศัยในพื้นที่ และบริษัททั้งหลาย ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจ รวมถึงการให้บริการด้านการธนาคาร หรือบริการอื่น ๆ กับบุคคลและบริษัทที่ถูกกล่าวหาเพ่งเล็งกลุ่มนี้

มาตรการลงโทษดังกล่าว เป็นผลมาจากการร่วมกันสอบสวน ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เอฟบีไอ และหน่วยงานท้องถิ่น ทั้งในประเทศไทยและสิงคโปร์ คำแถลงของกระทรวงการคลัง ระบุ

นางสาว วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอี) ของไทย ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

“เรายังไม่ได้รับรายงานใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้” วงศ์อะเคื้อ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ สำนักข่าวร่วมเครือเรดิโอฟรีเอเชีย “อย่างไรก็ตาม นโยบายที่เราทำอยู่คือ การจัดการและเฝ้าติดตามอาชญากรรมออนไลน์ โดยมุ่งเน้นที่การให้ความรู้แก่ประชาชนไทยเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นหลัก”

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net