Skip to main content
sharethis

ภาพจากงานบางกอกไพรด์ 2024 เปิดพื้นที่ LGBTQ+ นับถอยหลังประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ท่ามกลางคำวิจารณ์ผู้จัดงานรับสปอนเซอร์กลุ่มทุนใหญ่ ด้านนายกฯ รับคำมั่นผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม คำนำหน้านาม และ sex worker

เมื่อวันเสาร์ที่ 1 มิ.ย. 2567 ที่อาคารกีฬานิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมพันธมิตรภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ร่วมกันจัดงาน Bangkok Pride Festival 2024 โดยในปีนี้ใช้แนวคิด Celebration of Love เพื่อสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยและเปิดคืนที่ทางวัฒนธรรมสำหรับชุมชน LGBTQIA+ และนับถอยหลังสู่การบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งจ่อพิจารณาในชั้นวุฒิสภากลางเดือนมิถุนายนนี้

ทั้งนี้มีกลุ่มสนับสนุนความหลากหลายทางเพศทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, หมอปลา มือปราบสัมภเวสี, รัศมีแข นักแสดง, ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) รวมทั้ง ทูตานุทูตต่างประเทศ ฯลฯ ร่วมกิจกรรมบางกอกไพรด์ 2024 ด้วย

สำหรับการจัดงานบางกอกไพรด์ 2024 ยังจัดขึ้นท่ามกลางเสียงวิจารณ์รับสปอนเซอร์กลุ่มทุนใหญ่ โดยเฉพาะเซเว่นอีเลฟเว่นของเครือเจริญโภคภัณฑ์ด้วย ซึ่งมีข้อวิจารณ์ในเรื่องสิทธิแรงงาน และห่วงโซ่การผลิตที่มีคำถามเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม

โดยปีนี้ มีการถือธงไพรด์ยาวที่สุดในประเทศไทยคือ 200 เมตร และตั้ง 5 ขบวนหลัก 5 นิยามความรัก ประกอบด้วย ขบวนที่ 1 สมรสเท่าเทียม สีแดง สื่อถึงความรักโรแมนติก และเป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จของการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ขบวนที่ 2 ตัวตน สีเหลือง สีจากธงอัตลักษณ์ของเพศนอน-ไบนารีและอินเตอร์เซ็กซ์ ซึ่งมีตัวแม่ตัวมัมแดร็กไอคอนร่วมเดินพาเหรด ขบวนที่ 3 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สีเขียว ซึ่งเป็นสีสากลของความรักตัวเอง สื่อถึงความรักในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่เลือกปฏิบัติ ขบวนที่ 4 สันติภาพ สีฟ้า แสดงถึงสันติภาพ สื่อถึงการเรียกร้องสันติภาพให้เกิดขึ้นทั่วโลก เคียงข้างผู้มีความหลากหลายทางเพศที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งและสงคราม และขบวนที่ 5 เสรีภาพ สีม่วง สื่อถึงอิสระ และเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งภายในขบวนจะประกอบไปด้วย นักแสดงและดาราซีรีส์วาย LGBTQIA+

โดยขบวนพาเหรดทั้ง 5 ขบวนจะเคลื่อนไปบนถนนพระรามที่ 1 ผ่านสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ สยามพารากอน มุ่งสู่แยกราชประสงค์ บริเวณลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ระยะทางกว่า 2.5 กิโลเมตร โดยมี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมมอบธงไพรด์ประจำจังหวัด

โดยผู้จัดงานตั้งเป้ายกระดับการจัดงานไพรด์สู่มาตรฐานการจัด WorldPride และเตรียมความพร้อมกรุงเทพมหานครสู่การเป็นเจ้าภาพ Bangkok WorldPride 2030 รวมถึงตอกย้ำในการสร้างสังคมที่เท่าเทียมและปลอดภัยสำหรับทุกคนในประเทศไทย

เศรษฐากล่าวว่า เดือนมิถุนายนนี้เราจะฉลองครั้งใหญ่ทั้งเดือน ซึ่งรัฐบาลกับภาคประชาชนจะร่วมผลักดันสมรสเท่าเทียมให้สำเร็จ รวมถึงคำนำหน้านามและ Sex Worker

ขณะที่ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเคยพยายามผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมมาแล้วในสมัยพรรคไทยรักไทย และสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ถูกรัฐประหารเสียก่อน วันนี้จึงกลับมาเดินหน้าผลักดัน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม แล้วมาสำเร็จในรัฐบาลเศรษฐา ส่วนเรื่องการออกกฎหมาย Sex Worker เรื่องนี้อยากให้คณะกรรมการได้ปรึกษาหารือร่วมกันก่อน โดยมองว่าทุกชีวิตควรได้รับการดูแลในทุกๆ อาชีพ รวมถึงการดูแลสุขภาพต่างๆ ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ​พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เหลือแค่ขั้นตอนเดียวคือชั้นวุฒิสภาในวันที่ 18 มิถุนายน ถ้าผ่านก็จะน่าประกาศบังคับใช้ทั่วประเทศได้เลย แต่ยังมี พ.ร.บ.คำนำหน้านาม ที่เราเคยยื่นไปแล้วถูกปัดตก เราจะยื่นอีกครั้ง โดยมีร่างของ ครม. และภาคประชาชน รวมเป็น 3 ร่าง หวังว่าครั้งนี้จะได้รับการสนับสนุน และยังมีเรื่องของ Sex Worker ที่ต้องทำให้ผ่านเป็นกฎหมาย เพราะเมื่อเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายก็จะได้รับการคุ้มครองโดย พ.ร.บ.แรงงาน เชื่อว่าคราวนี้คงจะไม่โหวตคว่ำแบบครั้งที่แล้ว

ในขณะเดียวกันในขบวนไพรด์ มีรายงานด้วยว่า ผู้เข้าร่วมบางกอกไพรด์ขบวนที่ 4 นอกจากถือป้ายเพื่อแสดงความสมานฉันท์กับประชาชนปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ต่อต้านการรุกรานยูเครน สนับสนุนเสรีภาพประชาชนไต้หวัน และต้านรัฐบาลทหารพม่าแล้ว ผู้ร่วมกิจกรรมกลุ่มหนึ่งชูป้ายตั้งคำถามกับเซเว่นอีเลฟเว่นที่เป็นสปอนเซอร์งาน และยังตะโกนข้อเรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมือง นิรโทษกรรมประชาชน พร้อมถือป้ายรณรงค์รูปภาพของ 'บุ้ง ทะลุวัง' นักโทษการเมืองที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา พร้อมถือป้ายข้อความ “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีผู้ถือระบุข้อความ “นายก (เพื่อ) ไทย เมื่อไรจะเซ็นรับรองร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ พ.ศ. ….” เพื่อเรียกร้องให้นายกฯ เร่งพิจารณากฎหมายดังกล่าว

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net