Skip to main content
sharethis

'สหัสวัต' ปีกแรงงานก้าวไกล อภิปรายงบฯ กระทรวงแรงงานปี'68 น้อย สะท้อนความ 'อิกนอร์' ต่อแรงงาน เสนอเล่นบทบาทเชิงรุก จัดตั้งสถาบันวิเคราะห์ข้อมูลตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่าน-รองรับงานในอนาคต หนุนจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อลดภาระภาครัฐดูแลแรงงาน

 

19 มิ.ย. 2567 ยูทูบ 'TP Channel' ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่รัฐสภา แยกเกียกกาย กรุงเทพฯ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ​ 19 มิ.ย. 2567 เวลา 09.00 น. พิจารณา​ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ) วงเงิน 3.752 ล้านล้านบาท

สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชลบุรี เขต 7 พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงาน โดยระบุว่า รัฐบาลอิกนอร์ (เพิกเฉย) การคุ้มครองแรงงาน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานดีขึ้น

สหัสวัต เริ่มจากชี้แจงว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 รัฐบาลจัดสรรรายจ่ายให้กระทรวงแรงงาน 67,000 ล้านบาทเพื่อดูแลแรงงานทั่วประเทศ ซึ่งเหมือนเยอะ แต่เมื่อดูในรายละเอียด เป็นงบฯ ประกันสังคม 62,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ต้องจ่ายสมทบตามกฎหมาย และเป็นงบฯ กระทรวงแรงงาน 5,700 ล้านบาท แต่เป็นงบประมาณบุคลากรจำนวน 3,100 ล้านบาท ใช้จ่ายได้จริงๆ 2,600 ล้านบาทโดยประมาณ ซึ่งถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับภารกิจที่ต้องดูแลแรงงานทั่วประเทศทั้งในระบบ หรือนอกระบบ รวมประมาณ 40 ล้านคน

"ผมจึงเข้าใจว่าทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมายที่เป็นปัญหาต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ทั้งผู้ตรวจแรงงานไม่พอ บุคลากรไม่เพียงพอ โครงการที่มีอยู่ส่วนมาก คือโครงการอบรมแบบเบี้ยหัวแตก ที่ให้แรงงานเอาตัวรอดกันเอง ไม่สามารถคุ้มครองแรงงานได้จริง การตรวจความปลอดภัยในสถานประกอบการทำได้ไม่เพียงพอ ปัญหาเด็กจบใหม่ตกงาน หรือคนว่างงานไม่สามารถหางานใหม่ได้ วุฒิการศึกษาที่ไม่แมตช์กับงานที่มีอยู่ในตลาดแรงงาน ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนหนึ่งมาจากการขาดงบประมาณ" สหัสวัต กล่าว

จี้ รบ.จ่ายหนี้ประกันสังคม

สหัสวัต ระบุว่า ตอนนี้รัฐบาลมีหนี้ค้างจ่ายประกันสังคม จำนวน 66,900 ล้านบาท ในปี 2568 รัฐบาลจ่ายหนี้ประกันสังคม 15,000 ล้านบาท ซึ่งหนี้ที่รัฐบาลติด หรือค้างสมทบ ทำอะไรได้เยอะมาก หรือจ่ายดอกเบี้ยคืนมาบ้าง (3,345 ล้านบาทต่อปี) เพื่อให้กองทุนประกันสังคมได้เติบโต ขยายการลงทุน และนำไปขยายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน และเขาอยากย้ำเตือนด้วยว่านี่ไม่ได้เป็นเงินของรัฐบาล แต่เป็นเงินของผู้ประกันตน

ต่อมา สหัสวัต ได้กล่าวถึงข้อเสนอถึงรัฐบาล โดยมองว่าควรมีการปฏิรูปใหม่ทั้งระบบกระทรวงแรงงาน โดยต้องเริ่มจากการตั้งโจทย์ว่า กระทรวงแรงงานควรมีหน้าที่หลักคืออะไร เราถึงจะตอบคำถามได้ถูก

โดย สส.พรรคก้าวไกล เสนอว่า กระทรวงแรงงานควรมีหน้าที่ 3 อย่าง สร้างงานที่ดี สร้างค่าแรงที่ดี และสร้างสวัสดิการที่ดี แต่จะไปถึงเป้าหมาย 3 อย่างนี้ได้อย่างไรนั้น เขาเสนอว่า กระทรวงแรงงานทำงานเชิงรับมากเกินไป เช่น รอให้คนมาหาเพื่อหางานให้ รอให้มีปัญหาแล้วค่อยแก้ไข คอยให้มีอุปสงค์และค่อยสร้างอุปทาน ซึ่งเขาเสนอว่ากระทรวงแรงงานต้องทำงานเชิงรุก สร้างอุปสงค์ โดยไม่ต้องรออุปทาน

โจทย์การสร้างงานที่ดี

โจทย์การสร้างงานที่ดี สำหรับคนว่างงาน เด็กจบใหม่ คนที่ต้องการเปลี่ยนงานเพื่อหาความท้าทายใหม่ๆ หรือพูดง่ายๆ นี่คือลูกค้าของกรมจัดหางาน ต้องมีการจัดหางานให้มันแมตชิ่งงานที่ดีเหมาะสมกับศักยภาพของคน และต้องลดการจัดงาน Job Expo หรือ Job Fair ให้น้อยลง

พรรคก้าวไกล ระบุว่า กรมจัดหางานต้องไม่ใช่ดูแลตลาดแรงงานปัจจุบัน แต่ต้องวิเคราะห์คาดการณ์ความต้องการแรงงานในอนาคต และการเปลี่ยนผ่านแรงงาน โดยอาจจะต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันหลายกระทรวง เพื่อให้มีสถาบันที่คิดวิจัยเรื่องเหล่านี้ ยกตัวอย่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม หรือกระทรวงพาณิชย์ เพื่อคาดการณ์ตลาดแรงงานใหม่ทั้งหมด เพื่อจะให้กระทรวง อว. หรือ ศธ. จัดทำหลักสูตรที่เหมาะสมกับงานในอนาคต

สหัสวัต ระบุต่อว่า กรมจัดหางาน ต้องวิเคราะห์คาดการณ์สถานการณ์งานที่มีความเสี่ยงในปัจจุบัน เพราะปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม เรากำลังเห็นว่ามีอุตสาหกรรมจำนวนมากในไทยเติบโตช้าลง ไปจนถึงค่อยๆ ตายไป ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอ หรือยานยนต์ หากไม่มีการเตรียมพร้อม อาจเกิดวิกฤตต่อแรงงาน อาจทำให้แรงงานต้องตกงาน คำถามคือเราจะช่วยให้แรงงานปรับตัวอย่างไร เราต้องมีโครงการอัปสกิล รีสกิล แต่คำถามก็คือจะทำอย่างไรที่จะอัปทักษะให้เหมาะสมกับเขาหรือไม่ หรือเหมาะสมอย่างไรกับสถานการณ์มากขึ้น

สส.พรรคก้าวไกล ยกตัวอย่าง รัฐบาลสนับสนุนนโยบาย ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ เราจะให้พนักงานโรงงานสิ่งทอที่เย็บผ้ามา 20-30 ปี ไปทำงานเป็นไกด์พาทัวร์ท่องเที่ยวมันก็ไม่ได้ ความเป็นจริงก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เราจะเปลี่ยนโรงงานเย็บผ้าโหลมาเป็นการเย็บกระเป๋าราคาแพงได้หรือไม่ และกระจายไปสู่ท้องถิ่น หรือจากอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาบ เราจะเปลี่ยนผ่านเป็น EV ได้หรือไม่ ทุกวันนี้ไม่ใช่เราไม่ทำ โดยทางกรมพัฒนาฝีมือพยายามฝึกฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรม EV มากขึ้น

“เราต้องมีสถาบันที่คอยคิดวิจัยเรื่องเหล่านี้อยู่กระทรวงแรงงาน ต้องเตรียมหางานให้กับอุตสาหกรรมที่ต้อง 'เปลี่ยนผ่าน' (transfer) หรือ 'กำลังสู่จุดตกต่ำ' (downfall) เพื่อเป็นฐานให้กับฐานให้กับการพัฒนาฝีมือแรงงานต่อไป” สหัสวัต กล่าว

สร้างฐานข้อมูลพัฒนาแรงงานในอนาคต

สหัสวัต ระบุว่า เขาอยากให้กระทรวงแรงงานยื่นเสนอเข้าในโครงการของปลัดกระทรวงแรงงาน ที่ยื่นเสนอเข้ามา จำนวน 4 โครงการ 1. โครงการพัฒนาฐานข้อมูลแรงงานอัจฉริยะและบูรณาการข้อมูลแรงงาน 2. โครงการบูรณาการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเศรษฐกิจแรงงาน เพื่อการวิเคราะห์และพยากรณ์ภาวะแรงงาน 3. โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลกระทรวงแรงงาน และ 4. โครงการจัดทำระบบข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเฉพาะโครงการที่ 4 สหัสวัต เสริมว่า เขาให้การสนับสนุนอย่างมาก เพื่อนำไปสู่การกำหนดสูตรค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยที่แรงงานไม่ต้องแบกประเทศนี้บนการแข่งขันค่าแรงที่ถูก

สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่าทั้งหมดนี้ใช้งบประมาณ 119 ล้านบาท หรือพูดง่ายๆ ว่า 4 โครงการนี้ คือโครงการที่จะสร้าง ‘Database’ (ฐานข้อมูล) ด้านแรงงานขึ้นมา เพื่อนำมาวิเคราะห์และพิจารณาพยากรณ์สถานการณ์ด้านแรงงานอย่างครบวงจร และนำไปสู่การสร้างแผนที่มีตัวชี้วัดจับต้องได้ คนงานต้องมีงานที่ดี ที่ทำได้จริง

สหัสวัต คุ้มคง (ที่มา: เฟซบุ๊ก สหัสวัต คุ้มคง)

งบจัดสรรน้อย ตัวอย่างการอิกนอร์แรงงาน เสนอจัดตั้งสหภาพแรงงานช่วยดูแล

สหัสวัต กล่าวถึงโครงการของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โครงการทุกโครงการต่ำกว่าเป้าหมาย และได้รับการจัดสรรไม่เพียงพอ ขณะที่ถ้ามาดูงบประมาณที่กรมสวัสดิการฯ ขอปีนี้ทั้งปี (2568) อยู่ที่ 364 ล้านบาท ซึ่งต่อให้อนุมานเลยว่าทำตามเป้าหมายได้ครบ จะดูแลแรงงานได้ 2,290,000 คน จากแรงงานทั้งหมด 39 ล้านคน ซึ่งดูแลได้แค่ 5.9% ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ และแบบนี้จะดูแลแรงงานได้อย่างไร

สส.พรรคก้าวไกล เสนอว่า การที่จะดูแลแรงงานทั้งประเทศโดยไม่ต้องใช้งบประมาณสนับสนุน คือกรมสวัสดิการฯ ต้องสนับสนุนให้มีการตั้งสหภาพแรงงาน ให้แรงงานได้ดูแลกันเอง ร่วมกันต่อรองกับนายจ้างและสร้างการมีส่วนร่วม นี่คือสิ่งที่กรมสวัสดิการฯ จะต้องทำ เพื่อดูแลคนได้อย่างทั่วถึงภายใต้งบประมาณอันจำกัด

สส.พรรคก้าวไกล เสนอว่า เราสามารถจัดอบรมให้แรงงานเข้าถึงสิทธิทางกฎหมายให้เกิดขึ้นได้ สนับสนุนการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และใช้ตัวชี้วัดเป็นจำนวนสหภาพแรงงาน ส่วนตัวชี้วัดเชิงคุณภาพให้เป็นสหภาพที่ยังปฏิบัติงาน (active) อยู่ ซึ่งวิธีการแบบนี้ทำในหลายที่ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ หรือสวีเดน ที่มีการอบรมตั้งสหภาพแรงงาน

หลายคนอาจสงสัยว่าสหภาพแรงงานจะแก้ไขปัญหานี้ยังไง สหภาพแรงงานจะช่วยสร้างพลังให้คนทำงานกล้าลุกขึ้นต่อรอง เพื่อค่าแรงที่เป็นธรรม เรียกร้องสวัสดิการที่ดี ลองสังเกตได้เลยว่า หากบริษัทไหนมีสหภาพฯ บริษัทนั้นจะมีค่าจ้างและสวัสดิการที่เป็นธรรมกว่าบริษัทไม่มีสหภาพฯ ซึ่งรวมถึงประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในที่ทำงาน นอกจากนี้ สหภาพแรงงานสามารถพื้นที่สื่อสารระหว่างนายจ้าง และลูกจ้าง ให้เกิดการเจรจาต่อรองพูดคุยในเรื่องของปัญหาในการทำงาน

สหัสวัต ระบุว่า ในส่วนกลไกของผู้ตรวจแรงงานและผู้ตรวจความปลอดภัยที่มีงบประมาณในกรมสวัสดิการฯ และสำนักความปลอดภัยอาชีวอนามัย รวม 190 ล้านบาท หากจะตรวจเชิงรุกให้ทั่วถึงทั้งประเทศก็ไม่พอ ต้องเพิ่มการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อให้มีการช่วยเรื่องความปลอดภัยในที่ทำงาน และบางประเทศไม่จำเป็นต้องมีผู้ตรวจแรงงาน หรือผู้ตรวจความปลอดภัย เพราะว่าสหภาพแรงงานช่วยดูแลเรื่องนี้แทน  

นอกจากนี้ สหัสวัต ระบุถึงประโยชน์ของการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ยังช่วยคุ้มครองสิทธิในด้านต่างๆ ของคนทำงาน หรือกรณีที่มีการลอยแพเลิกจ้าง ก็จะช่วยเหลือและคุ้มครองได้

เสนอรับสัตยาบัน ILO 87 และ 98

สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า สุดท้ายอยากฝากถึงรัฐบาล และกระทรวงแรงงาน ซึ่งสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรองบประมาณ คือการให้สัตยาบัน ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับรองสิทธิและการรวมกลุ่มและการต่อรอง เพื่อเป็นบันไดขั้นแรกในการรวมกลุ่มจัดตั้งสหภาพแรงงาน 

"ความอิกนอร์ (ความเพิกเฉย) ของรัฐบาลนี้ หรือรัฐบาลก่อนๆ เพิกเฉย หรืออิกนอร์ปัญหาด้านแรงงาน สะท้อนผ่านปัญหาการจัดสรรงบประมาณแบบเชิงรับ ที่เหมือนเดิมทุกปี ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะยกระดับให้แรงงานมีงานที่ดี มีค่าแรงที่ดี และสวัสดิการที่ดีได้เลย งบประมาณที่ได้มาทำได้แค่โครงการเบี้ยหัวแตก ไม่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้น และได้รับการคุ้มครองในการทำงานอย่างเหมาะสมได้เลย

"รัฐบาลควรได้ความสำคัญกับกระทรวงแรงงานมากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทบทวนตัวชี้วัดโครงการ งบประมาณที่หน่วยงานภายใต้กระทรวงแรงงานได้รับจัดสรร" สหัสวัต กล่าวสรุป และฝากว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานควรเป็นผู้ริเริ่มบทบาทและกำหนดทิศทางและนโยบายให้ทำงานเชิงรุกโดยไม่ต้องรอข้าราชการมาเสนอ

"แรงงานเป็นกลไกสำคัญของประเทศ และถ้าเราอิกนอร์แรงงาน วิสัยทัศน์ ‘อิกไนต์ไทยแลนด์’ ของนายกฯ ก็จะไม่สามารถบรรลุผลได้เลย" สหัสวัต ทิ้งท้าย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net