Skip to main content
sharethis

'โรม' ถามกระทู้สด รมว.ต่างประเทศ กรณีธนาคารไทยถูกใช้เป็นทางผ่านซื้ออาวุธกองทัพพม่า 'มาริษ' ยันจุดยืนไทยไม่ส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมตรวจสอบ ไม่รับปากเชิญผู้รายงานพิเศษ UN หารือแบบทางการ เผยต้องชั่งน้ำหนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 

18 ก.ค. 2567 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานวันนี้ (18 ก.ค.) อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้สดด้วยวาจาถามนายกรัฐมนตรี ถึงกรณีรายงานของ ทอม แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่ออกมาระบุว่า ระบบธนาคารของประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้องโดยเป็นทางผ่านในการจัดซื้ออาวุธของกองทัพพม่า ใช้ทำสงครามกับฝ่ายต่อต้าน วันนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาลเศรษฐา มาเป็นผู้ตอบกระทู้ 

โดยรังสิมันต์ เริ่มต้นคำถามด้วยการกล่าวถึงรายงานดังกล่าวว่า เนื้อหาในรายงานชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลทหารเมียนมาได้มีการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ จนสามารถซื้ออาวุธไปใช้สังหารประชาชนชาวเมียนมาผ่านระบบธนาคารของประเทศไทย โดยแต่เดิมธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลเมียนมา คือ MFTB และ MICB ซึ่งถูกสำนักงานควบคุมทรัพย์สินในต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา (OFAC) คว่ำบาตรตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 ทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาไม่สามารถทำธุรกรรมจากเมียนมาได้ 

และเนื่องจากการทำธุรกรรมจากเมียนมา ซึ่งถูกประกาศเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีการฟอกเงินตามประกาศของ FATF ส่งผลให้ธุรกรรมต่างๆ ที่ทำระหว่างไทยกับเมียนมาต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด (EDD) ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ธนาคารพาณิชย์ต้องหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อประเมินว่าธุรกรรมดังกล่าวมีความเสี่ยงหรือไม่

แต่จากรายงานดังกล่าว มีธนาคารจำนวนหนึ่งที่มีมูลค่าการทำธุรกรรมเกี่ยวกับเมียนมาเพิ่มสูงขึ้น อีกธนาคารหนึ่งมีธุรกรรมที่ลดลง ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลการคว่ำบาตรซึ่งเป็นไปตามระเบียบ ปปง. ธนาคารฝั่งประเทศไทยต้องปฏิเสธการทำธุรกรรมและยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทดังกล่าว

รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า การที่กระบวนการตรวจสอบ EDD ของธนาคารไทยมีความลักลั่น ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จะส่งผลต่อมาตรฐานทางการเงินของประเทศไทยหรือไม่ และในปี 2570 ประเทศไทยจะต้องถูก FATF ประเมินว่าระบบธนาคารของไทยยังได้มาตรฐานหรือไม่ ยังไม่นับรวมว่ารัฐบาลทหารเมียนมาได้เปลี่ยนมาใช้บริษัทที่ยังไม่ถูกคว่ำบาตรจาก OFAC เพื่อมาทำธุรกรรมกับธนาคารของประเทศไทย รวมทั้งเปิดบริษัทนอมินี 

และยังมีบริษัทไทยอย่างน้อยสองบริษัท ได้แก่ CB Energy และ ตะวันออยล์ อาจเป็นนอมินีของรัฐบาลทหารเมียนมาที่ถูกนำมาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ และยังปรากฏชื่อของธนาคาร MEB และ MADB ที่รัฐบาลทหารเมียนมาเลือกใช้แทนธนาคารที่ถูกคว่ำบาตร โดยที่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งของประเทศไทยได้ยอมรับในกรรมาธิการความมั่นคงฯ ว่า บัญชีของ MEB ยังมีความเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบัน แต่มีมูลค่าไม่มาก แต่สิ่งที่สำคัญไม่ใช่มูลค่าที่มีการทำธุรกรรม แต่คือมีการใช้ธุรกรรมลักษณะนี้ในการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ผ่านระบบธนาคารของประเทศไทย 

ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ ที่ผ่านมา ได้รับสัญญาณบวกจากหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล ทั้ง ปปง. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ปัญหาคือแม้ทั้งสองหน่วยงานมีความตั้งใจ แต่หากรัฐบาลไม่สามารถให้คำยืนยันหรือข้อสั่งการที่ชัดเจนให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและทบทวนกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ หน่วยงานต่างๆ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

หน่วยงานรัฐพร้อมสนองนโยบายเต็มที่เพื่อแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลทหารเมียนมาใช้ธุรกรรมทางการเงินของไทยซื้ออาวุธไปใช้สังหารประชาชน แต่ตนอยากทราบว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไรต่อจากนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้างเพื่อตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่ปรากฏในรายงาน และมีผลการตรวจสอบอย่างไร

รมว.ต่างประเทศยืนยันไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในส่วนของ มาริษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบคำถามว่า รัฐบาลไทยมีความชัดเจนในนโยบายและจุดยืนที่จะไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้ธุรกรรมธนาคารในการกระทำที่เป็นการขัดต่อกฎบัตรองค์กรระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยก็มีความเคารพและมีความสัมพันธ์กับทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกัน

มาริษ เสงี่ยมพงษ์ (ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก รังสิมันต์ โรม)

ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกแห่งในการดำเนินการสอบถามไปแล้ว จากกรณีรายงานดังกล่าวของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารประกอบการประชุม มีการระบุอย่างชัดเจนว่าไม่พบหลักฐานที่ระบุว่าธนาคารไทยที่ถูกอ้างถึงในรายงานรับรู้ว่าธุรกรรมดังกล่าวเป็นการจัดซื้อยุทธภัณฑ์ หรือมีกองทัพเมียนมาเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์สุดท้าย และไม่พบหลักฐานว่ารัฐบาลไทยมีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับรู้เกี่ยวกับธุรกรรมดังกล่าว

รัฐบาลรู้แล้วทำอย่างไร

ด้านรังสิมันต์ ได้ถามต่อเป็นคำถามที่สอง โดยระบุว่าจากกรณีที่รัฐมนตรีระบุว่าในรายงานไม่ได้ระบุว่าประเทศไทยมีความมุ่งหมายที่จะสนับสนุนด้านอาวุธและการฆ่าประชาชนเมียนมา แต่คำถามคือในเมื่อวันนี้รู้แล้ว ว่าธุรกรรมที่เกิดขึ้นนำไปสู่การซื้อขายอาวุธและเอาไปใช้เข่นฆ่าประชาชนเมียนมา คำถามคือจะมีการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

การที่รัฐมนตรีมีแนวทางให้มีการตรวจสอบเป็นเรื่องดี แต่ตนก็ต้องท้วงติงว่าทางรัฐบาลได้เชิญผู้รายงานพิเศษไปให้ข้อมูลแล้วหรือยัง แม้รัฐบาลไทยจะบอกว่ามีนโยบายและจุดยืนที่จะไม่สนับสนุนให้ธนาคารไทยไปเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ถ้าจะทำให้จุดยืนนี้เกิดขึ้นจริง สิ่งที่ต้องการมากกว่าคำพูดคือการกระทำ 

ก่อนมีรายงานฉบับนี้ออกมา ก็มีรายงานในลักษณะเดียวกันออกมาก่อนหน้านี้ในปี 2566 ในขณะนั้นสิงคโปร์ เป็นแหล่งการทำธุรกรรมเพื่อจัดซื้ออาวุธที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของรัฐบาลทหารเมียนมา แต่หลังจากมีการตรวจสอบจากรายงานดังกล่าว ก็ส่งผลให้การจัดซื้ออาวุธผ่านบริษัทสิงคโปร์ ลดลงจากเดิม 110 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เหลือ 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2566 หรือลดลงกว่า 90% ขณะที่สัดส่วนของการทำธุรกรรมของรัฐบาลทหารเมียนมาที่ทำผ่านสถาบันการเงินของสิงคโปร์ในปี 2565 จากเดิมที่มีสัดส่วนกว่า 70% ลดเหลือเพียง 20% ในไตรมาสแรกของปี 2566

รังสิมันต์ กล่าวต่อไป สำหรับกรณีของประเทศไทย เดิมการจัดซื้ออาวุธของรัฐบาลทหารเมียนมาผ่านบริษัทไทยมีมูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2565 แต่เพิ่มขึ้นเป็น 130 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2566 โดยมีธนาคารประมาณ 5 แห่ง เกี่ยวข้องกับธุรกรรมในการจัดซื้ออะไหล่อากาศยานที่นำมาใช้โจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายพลเรือน ซึ่งในหลายกรณีมีการล้ำแดนประเทศไทยเข้ามาด้วย

ในปี 2564 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งครั้งนี้ไปแล้ว 5,000 คน มีผู้พลัดถิ่นจากสงครามราว 3 ล้านคน จำนวนนับล้านหนีมาอยู่ในประเทศไทย และยังมีกรณีนักโทษการเมืองกว่า 20,000 คน ตนเข้าใจดีถึงจุดยืนและความลำบากของรัฐบาลไทย แต่ตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ ไทยเคยงดออกเสียงให้กับมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือน มิ.ย. 2564 คำถามคือรัฐบาลไทยในวันนี้จะมีจุดยืนอย่างไร 

ไม่รับปากหารือกับผู้รายงานพิเศษ UN เป็นทางการ ต้องชั่งน้ำหนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

มาริษ ได้ตอบคำถามว่า รัฐบาลไทยมีจุดยืนชัดเจนอยู่แล้วที่จะไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่สนับสนุนให้มีการกระทำกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ถามว่าได้มีการเชิญผู้รายงานพิเศษมาหารือเพิ่มเติมหรือไม่ ผู้แทนถาวรไทย ณ นครเจนีวาได้ทั้งชี้แจงในที่ประชุมและพูดคุยด้วยวาจากับผู้จัดทำรายงานแล้ว และได้ยืนยันว่าหากผู้เสนอรายงานพิเศษมีข้อมูลเพิ่มเติม ทางการไทยก็ยินดีรับฟังและจะนำมาใช้ในการตรวจสอบต่อไป

นอกจากนี้ ในวันที่ 24 ก.ค. 2567 จะมีการประชุมเพื่อติดตามตรวจสอบกรณีดังกล่าวอย่างเข้มข้น โดยตนยืนยันว่าจะพยายามทำทุกอย่างให้โปร่งใสที่สุด และเมื่อมีการตรวจสอบแล้วจะมีการส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ทราบในภายหลังต่อไป

รังสิมันต์ ได้ถามต่อเป็นคำถามสุดท้ายว่า ก่อนรายงานที่ออกมาในปีนี้ มีรายงานฉบับหนึ่งที่ระบุถึง 254 บริษัทที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกรรมการซื้อขายอาวุธโดยรัฐบาลทหารเมียนมา คำถามคือ 254 บริษัทนี้รัฐบาลเคยได้ตรวจสอบบ้างหรือไม่ ถ้าไม่เคยตรวจสอบก็ขอให้ตรวจสอบได้หรือไม่

ส่วนการที่ผู้แทนถาวรไทยประจำนครเจนีวาได้พูดคุยกับผู้รายงานพิเศษด้วยวาจาอย่างเดียว ตนเห็นว่าไม่เพียงพอ เป็นไปได้หรือไม่ที่ทางกระทรวงการต่างประเทศจะเชิญผู้รายงานพิเศษมาพูดคุยเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ เหมือนกับสิ่งที่สิงคโปร์ได้ทำ และต่อมาประสบความสำเร็จในการลดการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการซื้ออาวุธ มีการตรวจสอบและมีบางบริษัทที่ถูกลงโทษจริง ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้โมเดลนี้ได้

สุดท้าย ไม่ใช่ทุกธนาคารของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวที่ไม่มีความเข้มงวด มีธนาคารหนึ่งที่ทำได้ดี แต่ปัญหาคือธนาคารต่างๆ มีแนวทางปฏิบัติไม่เหมือนกัน ขอให้รัฐบาลคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง สนับสนุนการทำงานของ ปปง. ก็จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอบว่าในเรื่อง 254 บริษัท หลายกรณีเมื่อได้รับคำร้องมาก็มีการดำเนินการไปตรวจสอบ ทุกบริษัทที่ติดต่อมีการให้ความร่วมมือดี รัฐบาลไม่ได้ละเลยและจะมีการตรวจสอบเพิ่มเติมต่อไป ส่วนกรณีการเชิญผู้รายงานพิเศษ ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเหมาะสมในเรื่องการต่างประเทศและผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งตนจะขอรับไปพิจารณาเพื่อให้เป็นไปอย่างโปร่งใสและสอดคล้องกับเป้าหมายต่อไป

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net