Skip to main content
sharethis

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการกรมประมงตรวจสอบข้อเท็จจริงการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำภายใน 7 วัน - มีโทษ 'จำคุก-ปรับ 1-2 ล้านบาท' เลี้ยง-ปล่อย ปลาหมอคางดำ ลงแหล่งน้ำธรรมชาติ


แฟ้มภาพสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2567 เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่านายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่หลายจังหวัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนรอบด้าน โดยในเบื้องต้นที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ครั้งที่ 2/2567 มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2568 ภายใต้กรอบ 5 มาตรการ 12 กิจกรรม ระยะเวลาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2567 ถึง ก.ย. 2568 และมาตรการระยะเร่งด่วนในการเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด โดยรับซื้อในราคา 15 บาท/กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังเตรียมมาตรการการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำโดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำปลาที่กำจัดได้ไปใช้ประโยชน์ รวมถึงสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำในพื้นที่ที่ยังไม่พบการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการแก้ปัญหาดังกล่าว รวมทั้งตรวจสอบสาเหตุการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนอย่างเร่งด่วน และเตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป

“กระทรวงเกษตรฯ สั่งการให้กรมประมงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำเข้าปลาหมอคางดำที่ผ่านมาและสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง โดยให้รายงานผลการตรวจสอบเพื่อนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบภายใน 7 วัน และเตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะกลาง ระยะยาว โดยขณะนี้ นอกจากการจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2568 แล้ว ในวันจันทร์ที่ 22 ก.ค. นี้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ ณ จุดรับซื้อจริง ในจังหวัดสมุทรสาคร อีกด้วย” ปลัดเกษตรฯ กล่าว

มีโทษ 'จำคุก-ปรับ 1-2 ล้านบาท' เลี้ยง-ปล่อย ปลาหมอคางดำ ลงแหล่งน้ำธรรมชาติ

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่านายบัญชา สุขแก้วอธิบดีกรมประมง ออกประกาศกรมประมง เรื่องห้ามเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ โดยระบุว่าปลาหมอคางดำ ชื่อสามัญ Blackchin

tilapia ชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ทำให้เจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 ห้ามเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ หากผู้ใดฝ่าฝืนทำการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประกอบกับขณะนี้ กรมประมงอยู่ระหว่างดำเนินการควบคุมกำจัดไม่ให้ปลาชนิดนี้ แพร่ขยายพันธุ์อันมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ และลดการสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง จึงขอแจ้งห้ามมิให้เพาะเลี้ยงและนำปลาหมอคางดำไปปล่อยในแหล่งน้ำอย่างเด็ดขาดหากพบเหตุดังกล่าวให้แจ้งสำนักงานประมงจังหวัดหรือสำนักงานประมงอำเภอในเขตท้องที่ทุกแห่ง และหากพบเห็นปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรรมชาติขอความร่วมมือให้กำจัดออกจากแหล่งน้ำนั้นด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net