Skip to main content
sharethis

เมียนมามีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ ขอปิดศูนย์ CI จำนวน 7 แห่ง เหลือ จ.สมุทรสาคร แห่งเดียว ภาคประชาสังคมกังวลอาจเป็นช่องทางให้นายหน้าเอาเปรียบแรงงานมากขึ้น

 

12 ก.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งเมื่อ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา มีคำสั่งกรมจัดหางานให้ปิดศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จ หรือที่เรียกชื่อเล่นว่า 'ศูนย์ CI' จำนวน 7 แห่ง ประกอบด้วย ปทุมธานี นครสวรรค์ สมุทรปราการ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา ให้เปิดทำการแค่ศูนย์เดียวในจังหวัดสมุทรสาคร โดยจะมีผลตั้งแต่ 7 ก.ค.เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

ทั้งนี้ จากเอกสารคำสั่งกรมการจัดหางาน ไม่ทราบว่าทำไมทางการเมียนมาให้ศูนย์ CI ทั้ง 7 แห่งปิดชั่วคราว

หนังสือ CI (Certificate of Identity) หรือหลายคนเรียกชื่อเล่นว่า ‘เล่มเขียว’ มีอายุ 4 ปี เป็นหนังสือที่พิสูจน์สัญชาติความเป็นพลเมืองเมียนมา และทำให้ชาวพม่าสามารถทำงานในประเทศไทย

หนังสือ CI หรือเล่มเขียว

รายละเอียดเอกสาร

คำสั่งกรมการจัดหางาน

เรื่อง ปิดศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566

ตามที่กรมจัดหางานได้มีมติคำสั่ง เรื่อง ปิดศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ลงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2567 นั้น

เนื่องจากเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ได้มีการประชุมไทย-เมียนมา เกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานเมียนมาในประเทศไทย โดยทางการเมียนมาได้เสนอให้ศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ยังดำเนินการได้ตามปกติ เพื่อรองรับการให้บริการแรงงานเมียนมาที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่อาจจะยังไม่ได้ดำเนินการจัดทำเอกสารประจำตัว ทั้งนี้ ทางการเมียนมาได้มีหนังสือแจ้งเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการแล้ว ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการจัดทำเอกสารประจำตัวของแรงงานเมียนมา เป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 อธิบดีกรมการจัดหางานจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

  1. ให้ยกเลิกคำสั่งกรมการจัดหางานที่ 893/2567 ลงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2567 เรื่อง ปิดศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566
  2. ให้ปิดศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566  จำนวน 7 แห่ง ดังต่อไปนี้

    (1) ให้ปิดศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 จังหวัดปทุมธานี

    (2) ให้ปิดศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 จังหวัดสมุทรปราการ

    (3) ให้ปิดศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 จังหวัดชลบุรี

    (4) ให้ปิดศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 จังหวัดสุราษฎร์ธานี

    (5) ให้ปิดศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 จังหวัดเชียงใหม่

    (6) ให้ปิดศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 จังหวัดนครสวรรค์

    (7) ให้ปิดศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 จังหวัดสงขลา

3. ให้ให้ปิดศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 จังหวัดสมุทรสาคร เปิดให้บริการต่อไปตามภารกิจที่กำหนดไว้ในคำสั่งกรมการจัดหางานที่ 258/2567 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เรื่อง จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

สั่ง ณ วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ศิววงศ์ สุขทวี สมาชิกเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ หรือ MWG กล่าวว่า ทางการพม่าแจ้งเพื่อขอปิดศูนย์ CI โดยอ้างว่าจำนวนชาวเมียนมาที่ต้องทำเอกสารประจำตัวพิสูจน์สัญชาติไม่เยอะแล้ว จึงให้เปิดเพียงศูนย์เดียว ส่วนจะเพียงพอหรือไม่ อาจต้องถามกรมการจัดหางานว่าเหลือแรงงานชาวเมียนมายังไม่ได้ทำหนังสือ CI กี่ราย

ศิววงศ์ สุขทวี

เดินทางไกล-เปิดช่องโหว่นายหน้าเอาเปรียบ

ศิววงศ์ แสดงข้อกังวลว่า การเปิดศูนย์ CI เพียงจังหวัดเดียว กำลังจะสร้างภาระให้กับแรงงานพม่ามากขึ้น เพราะว่าชาวพม่าที่อยู่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย หนองบัวลำพู อุดรธานี และอื่นๆ ต้องเดินทางมาที่สมุทรสาครเพียงแห่งเดียว อันนั้นคือปัญหาหลัก

ศิววงศ์ กล่าวต่อว่า เรากังวลด้วยว่ากลไกการจองคิวไม่มีความชัดเจน ซึ่งอาจทำให้บริษัทจัดหางานไปหาประโยชน์จากตัวแรงงานได้มากขึ้น จากการที่เขาสามารถเข้าถึงกลุ่มบุคคลในการจัดการคิว หรืออำนวยความสะดวกให้ ซึ่งมีแนวโน้มว่าแรงงานจะต้องจ่ายเงินจำนวนมากขึ้นให้บริษัทนายหน้า เพื่อให้ดำเนินการทำ CI มีมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จึงเป็นปัญหาว่า การทำ CI กำลังเป็นกระบวนการที่ผลักภาระให้แรงงานมากเกินไป

ข้อกังวลดังกล่าวตรงกับ 'ชอสุไปง์' แรงงานชาวพม่าในชลบุรี กล่าวว่า การเปิดศูนย์ CI เพียงที่เดียว ทำให้บางคนอยู่ไกลต้องลางาน 1 วันเต็มๆ เพื่อเดินทางไปทำหนังสือ CI และถ้าสมมติลาติดต่อกันหลายวันก็เสี่ยงตกงาน เลยอยากให้ตอนนี้สามารถใช้บัตรชมพูใบเดียวเป็นหลักฐานรับรองมากกว่า

ชอสุไปง์ แรงงานข้ามชาติชาวพม่าจากชลบุรี (ถ่ายโดยแมวซาโบ)

ทั้งนี้ แรงงานชาวเมียนมาในไทยได้รวมตัวหน้า โครงการคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา โดย 1 ในข้อเรียกร้องสำคัญของพวกเขาคือ 'One Card to Certify Everyone' หรือก็คือการให้แรงงานข้ามชาติพม่าใช้ “บัตรชมพู” (Work Permit) เป็นเอกสารหลักเพียงชิ้นเดียว สำหรับรับรองแรงงานข้ามชาติในไทย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการการรับรองสถานะบุคคลหรือ CI (Certificate of Identity) กับทางการเมียนมา 

โดยข้อเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้นวันเดียวกับวันทำการสุดท้ายของศูนย์ CI ทั้ง 7 จังหวัดอีกด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ข้อเสนอ 2 แนวทางช่วยแรงงานข้ามชาติ ระยะสั้น-กลาง

ศิววงศ์ ประเมิน สถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานชาวพม่าประมาณ 2.5 ล้านคน ซึ่งยังไม่รวมชาวพม่าในไทยที่ไม่มีเอกสาร และชาวพม่าที่ลี้ภัยเข้ามาจากสถานการณ์สงครามการเมืองเมียนมา ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีสูงถึง 1.5 ล้านคน ดังนั้น การเปิดศูนย์ CI ที่เดียวไม่เพียงพอแน่นอน ประกอบกับหลังจากสงครามพื้นที่ชายแดน 'เมียวดี' ประเทศเมียนมา ตกไปอยู่ในมือของกองกำลังกะเหรี่ยง การนำเข้า MOU จากนครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เข้ามาใน กทม.ลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ความต้องการแรงงานไทยยังสูงอยู่พอสมควร 

สมาชิก MWG เสนอว่า ระยะสั้น ทางการไทยต้องกำหนดช่องทางการจองคิว เพื่อทำหนังสือ CI ให้ชัดเจน ติดต่อช่องทางไหนได้ เพื่อบรรเทาปัญหาการถูกเอาเปรียบจากนายหน้า และอื่นๆ

สมาชิก MGW ระบุต่อว่า ระยะปานกลาง กระทรวงแรงงานมีโจทย์ใหญ่ให้ต้องคิดว่า เรื่องนโยบายและการทำงานกับรัฐบาลทหารพม่า รวมถึงการทำงานที่ยึดเอาผลประโยชน์ของไทย เพราะว่ามาตรการของรัฐบาลพม่าในการลดศูนย์ CI มันส่งผลกระทบที่บีบต่อไทยมากขึ้น ขณะเดียวกัน ถ้าไทยยึดตามรัฐบาลทหารพม่าตลอด มันก็ยากที่จะจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศ

ศิววงศ์ มองว่า นอกจากเรื่องความชัดเจนทางนโยบายทางการเมือง ไทยอาจมีแนวโน้มที่ต้องพิจารณานโยบายที่ออกเอกสารแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งจะมีความจำเป็นมากขึ้น อย่างช่วงเหตุการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด รัฐบาลเคยใช้มติคณะรัฐมนตรีผ่อนผัน เรียกให้แรงงานพม่าที่เข้าเมืองผิดกฎหมายมารายงานตัว และออกเอกสารประจำตัวให้ หรือที่เรียกว่า "บัตรชมพู" โดยทำคู่ขนานกับการเพิ่มประสิทธิการนำเข้าแรงงาน 

ศิววงศ์ กล่าวต่อว่า กรณีที่แรงงานเข้ามาในประเทศไทยแล้ว แต่มีข้อจำกัดการเข้าถึงเอกสารจากประเทศต้นทาง รัฐไทยสามารถออกเอกสารแต่เพียงฝ่ายเดียวจากทางการไทย เพื่อให้ชาวพม่าสามารถอยู่ในไทยได้ ซึ่งไทยสามารถทำได้และเคยใช้มาแล้ว โดยใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ควบคู่กับ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว แต่ขาดความชัดเจนในทางนโยบาย และความกังวลเรื่องความสัมพันธ์กับกองทัพพม่ามากเกินไป

ศูนย์บริหารจัดการการทำงานแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จ จังหวัดสมุทรปราการ (ที่มา: google map)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

กฎหมายรองรับ

ศิววงศ์ อธิบายว่า เราเริ่มจากใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ผ่อนผันคนกลุ่มหนึ่ง และกำหนดเงื่อนไขให้มารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะมาพร้อมนายจ้างหรือไม่มีนายจ้างก็ตาม ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับการกำหนดเงื่อนไขของทางการไทย เพื่ออนุญาตให้อยู่ในไทยชั่วคราว ตั้งเงื่อนไขกำหนดให้ต่ออายุปีต่อปีสำหรับบุคคลที่ยังต้องการกลับประเทศต้นทาง

สมาชิก MWG กล่าวต่อว่า อีกช่องทางสำหรับคนที่อยู่ในไทยมานาน สามารถต่ออายุเพื่ออยู่ในไทยชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองข้างต้น จากนั้น ให้ทำทะเบียนประวัติภายใต้ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร และขออนุญาตกับกรมจัดหางาน ภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว อย่างไรก็ตาม คนที่ใช้ช่องทางนี้อาจต้องตัดสินใจอยู่ในไทยถาวร

อย่างไรก็ตาม ศิววงศ์ เสนอด้วยว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพม่าหลังรัฐประหารปี 2564 ทำให้ชาวพม่าไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง ชาวพม่าอาจลังเลที่จะตัดสินใจอยู่ในไทยชั่วคราว ดังนั้น สถานการณ์เฉพาะหน้า รัฐไทยอาจต้องมีมาตรการผ่อนผันอยู่ในไทยจนกว่าสถานการณ์ในประเทศเมียนมาดีขึ้นมากพอที่จะเดินทางกลับได้

ต่อมา รัฐไทยต้องกำหนดเงื่อนไขว่าถ้าชาวพม่าต้องการใช้ชีวิตภายใต้เอกสารจากทางการไทยฝ่ายเดียว ต้องตัดสินใจว่าจะอยู่ในไทยชั่วคราวหรือไม่ ถ้าเลือกจะกลับบ้าน ก็ต้องกลับไปทำเอกสารในประเทศบ้านเกิด และค่อยกลับเข้ามาในไทยอีกครั้ง โดยทำแบบนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาบุคคล 2 ประเทศ ซึ่งอาจเป็นปัญหาในอนาคต

"เราเคยใช้การออกเอกสารฝ่ายเดียวตั้งแต่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2535 ด้วยซ้ำ กฎหมาย พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ควบคู่ไปกับ พ.ร.ก.จัดการการทำงานคนต่างด้าว ที่เพิ่งออกมาล่าสุดก็ดี เรามีกรอบกฎหมายการใช้อยู่แล้ว แต่เราขาดความชัดเจนในทางนโยบาย" ศิววงศ์ กล่าว

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net