Skip to main content
sharethis

ผลการศึกษาล่าสุดพบภัยคุกคามที่เป็นการฉ้อโกงเพิ่มสูงขึ้นในภาคการเงินของเอเชีย ผู้เชี่ยวชาญชี้เทคนิคและความซับซ้อนที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เป็นความท้าทายที่น่ากังวลที่สุด โดยเฉพาะสแกมและการโจมตีแบบฟิชชิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2567 GBG บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านอัตลักษณ์และตำแหน่งที่ตั้งทั่วโลก ด้วยความร่วมมือกับ Chartis Research เผยว่าสถาบันการเงินและธนาคาร 8 ใน 10 แห่งของเอเชียกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญเกี่ยวกับการตรวจจับการฉ้อโกงทางดิจิทัล ขณะเดียวกันก็มีการลงทุนเชิงรุกในด้านที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและประสบการณ์ผู้ใช้งาน (user experience) เพื่อลดความเสี่ยงและรักษาความเชื่อมั่นของลูกค้าเอาไว้ โดยผลการศึกษาที่สำคัญเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานในหัวข้อ 'Building Trust in Digital Channels: A Study of Banking and Finance in Asia' ฉบับล่าสุด ซึ่งศึกษาความท้าทายและความก้าวหน้าในการตรวจจับและการป้องกันการฉ้อโกงขณะที่ในภูมิภาคมีอัตราการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ รายงานดังกล่าวรวบรวมข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการป้องกันการฉ้อโกงในเอเชีย 114 ราย เพื่อหาแนวโน้ม ความท้าทาย และมาตรการป้องกันการฉ้อโกงที่ใช้โดยสถาบันการเงิน

มีแนวโน้มที่น่ากังวลเกี่ยวกับความซับซ้อนและความถี่ของการฉ้อโกงที่เพิ่มสูงขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 90% มองเทคนิคและความซับซ้อนที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เป็นความท้าทายที่น่ากังวลที่สุด เป็นที่สังเกตได้ว่าการหลอกลวงในลักษณะสแกมและการโจมตีแบบฟิชชิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามรายงานว่าพบการฉ้อโกงในลักษณะดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึง 59% และ 57% ตามลำดับ นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมายังพบแนวโน้มในการฉ้อโกงข้อมูลประจำตัว (synthetic ID-based fraud) เพิ่มมากขึ้น 58% ในทวีปเอเชีย ซึ่งก่อนหน้านี้พบมากในอเมริกาเหนือ เนื่องจากการฉ้อโกงในลักษณะนี้สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว

ผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 97% ตระหนักถึงความยากลำบากในการให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยและประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าอย่างเท่ากัน ซึ่ง 79% มองว่าเป็นอุปสรรคอย่างเห็นได้ชัด สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเร่งผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทั้งทวีปเอเชียในปัจจุบันที่การชำระเงินแบบเรียลไทม์กลายมาเป็นวิธีที่ได้รับความนิยม ซึ่งส่งผลให้เกิดช่องโหว่สำหรับการฉ้อโกงทั้งกับสถาบันทางการเงินและลูกค้าตามลำดับ ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดที่องค์กรเหล่านี้จะต้องมีมาตรการด้านความปลอดภัยที่เข้มแข็ง พร้อมมอบประสบการณ์การใช้งานที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้นเพื่อให้ลูกค้ายังคงไว้วางใจต่อไป

ระบบที่ล้าสมัยส่งผลต่อการตรวจจับการฉ้อโกงที่แม่นยำ ขณะเดียวที่องค์กรส่วนใหญ่ก็มีแพลตฟอร์มสำหรับใช้รวมการฉ้อโกงไว้ในแพลตฟอร์มเดียว

การตรวจจับการฉ้อโกงที่มีความซับซ้อนรูปแบบใหม่อย่างแม่นยำจำเป็นต้องใช้วิธีแบบหลายชั้นที่ผสานเทคนิคการตรวจจับความผิดปกติแบบดั้งเดิมเข้ากับวิธีที่มีความล้ำสมัยมากขึ้นอย่างเช่น นิวรัลเน็ตเวิร์ค อย่างไรก็ตาม ระบบและเทคโนโลยีที่ล้าสมัยที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบันทำให้การวิเคราะห์และนำข้อมูลใหม่ ๆ มาใช้มีความยากลำบาก โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 64% กล่าวว่านี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้อัตราผลบวกลวง (false positive rate) ยังคงสูงอยู่ ปัญหานี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยการที่ข้อมูลของหลายองค์กรนั้นขาดประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นปัญหาที่กว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (52%) ต่างยืนยัน

ขณะเดียวกัน องค์กรหลายองค์กรต่างได้รับการส่งเสริมให้จัดการกับปัญหานี้ในเชิงรุก โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 88% เผยว่าได้มีการเริ่มใช้แพลตฟอร์มที่สามารถแลกเปลี่ยนและแชร์ข้อมูลได้ในแพลตฟอร์มเดียวเพื่อลดความเสี่ยงจากการฉ้อโกงและอาชญากรรมทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นแล้ว

ธนาคารและสถาบันการเงินในเอเชียมักให้ความสำคัญกับการสรรหาพนักงานมาอุดช่องโหว่เกี่ยวกับการตรวจจับการฉ้อโกง ผลการศึกษาชิ้นนี้ยังพบว่าองค์กรเหล่านี้มีแผนเพิ่มการลงทุนที่สูงมากขึ้นในเรื่องแมชชีนเลิร์นนิง (ML) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในปีที่กำลังจะมาถึง (จาก 16% ในปี 2566-2567 เป็น 68% ในปี 2568-2569) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าองค์กรเหล่านี้กำลังมีการเปลี่ยนวิธีตรวจจับความผิดปกติแบบเดิมไปใช้ระบบอัตโนมัติที่สามารถรับมือกับงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้ การเปลี่ยนแปลงนี้มีจุดประสงค์เพื่อลดภาระของพนักงานและลดต้นทุนองค์กรที่สูง ขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับให้สูงขึ้น

ในรายงานดังกล่าว นาย Bernardi Susastyo ผู้จัดการทั่วไปฝ่าย Asia & Fraud APAC ของ GBG กล่าวว่า "ความร่วมมือกับ Chartis ครั้งนี้ทำให้เราเห็นถึงความท้าทายเร่งด่วนที่ธนาคารและภาคการเงินในเอเชียกำลังเผชิญ ซึ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการมีกระบวนการดูแลลูกค้า (onboarding) ที่ราบรื่นและมาตรการป้องกันการฉ้อโกงที่เข้มแข็ง ขณะที่ภัยคุกคามการฉ้อโกงลุกลามใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ องค์กรควรหันมาใช้มาตรการด้านความปลอดภัยเชิงรุกโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเกิดใหม่"
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net