Skip to main content
sharethis

นักวิชาการมองนิติสงครามจะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและภาคการลงทุน เศรษฐกิจภาคส่งออกและท่องเที่ยวไม่ผูกเสถียรภาพการเมืองฟื้นตัวชัดเจน ไทยต้องการปฏิรูปใหญ่ทางเศรษฐกิจการเมือง


รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

1 ก.ย. 2567 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องถอดบทเรียนรับมือเศรษฐกิจยุคสงครามเนื่องจากมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่สงครามในยุโรปและตะวันออกกลางจะขยายวง รวมทั้ง สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา การทุ่มตลาดของจีนอาจเข้มข้นระหว่างและหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สังคมไทยและรัฐบาลควรเตรียมการเรื่องความมั่นคงทางอาหารและพลังงานไว้โดยไม่ประมาท การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต้องเน้นไปที่การรักษาเสถียรภาพและการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและรายได้ให้เป็นธรรม ส่วนในประเทศ เราอาจเผชิญกับสงครามการเมืองที่รุนแรงขึ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทบทวนบทบาทขององค์กรอิสระเพื่อให้เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตยเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพ นิติสงครามจะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและภาคการลงทุนของไทย รวมทั้งสร้างความไม่แน่นอนทางด้านนโยบาย การชะลอตัวของการลงทุนโดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐและเอกชนจะเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนดังกล่าว นิติสงครามจะทำให้ระบบสถาบันยุติธรรมไทยอ่อนแอลงอีก และอาจสร้างความสั่นคลอนต่อเสถียรภาพของรัฐบาลได้ ระบบนิติรัฐนิติธรรมอันอ่อนแอ ความไม่ชัดเจนของระบอบการปกครองโดยกฎหมายและไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลทำให้โอกาสความรุ่งเรืองรอบใหม่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ อัตราการใช้กำลังการผลิตขณะนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ ไตรมาสสองอยู่ที่ 57.7% เท่านั้น หากกำลังซื้อภายในฟื้นตัวและส่งออกดีขึ้น จะไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อแต่อย่างใด และ ภาคลงทุนก็จะไม่เติบโตมากนักเพราะมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ การเร่งกระตุ้นอุปสงค์ภายในและการฟื้นฟูผลกระทบจากอุทกภัยเป็นปัจจัยสำคัญต่อการประคับประคองการเติบโตของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน

เศรษฐกิจภาคส่งออกและท่องเที่ยวอาศัยตลาดภายนอก ไม่ผูกกับความผันผวนทางการเมืองและเสถียรภาพการเมืองมากนักสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง การทยอยแข็งค่าของเงินบาทยังไม่ส่งผลระยะสั้นต่อภาคท่องเที่ยวต่างชาติและภาคส่งออกในระยะสั้น การแข็งค่าของเงินบาทเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์จากการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกันยายน มีการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นในตลาดการเงินเอเชียและไทย นอกจากค่าเงินบาทแข็งค่ายังเป็นผลจากดุลบัญชีเงินสะพัดเกินดุลและดุลการค้าขาดดุลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เฉพาะไตรมาสสอง ไทยเกินดุลการค้า 5,539 ล้านดอลลาร์ ตัวเลขส่งออกเดือนกรกฎาคม ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากการปรับค่าจ้างและการจ้างงานที่ดีขึ้นของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริการขยายตัวมากกว่า 26% เมื่อหักสินค้าเกี่ยวกับทองคำ น้ำมันและยุทธปัจจัยแล้ว อัตราการขยายตัวของการส่งออกเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 9.3% ทำให้ 7 เดือนแรกของปีนี้มูลค่าส่งออกแตะระดับ 171,010 ล้านดอลลาร์ เป็นขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อน มูลค่าส่งออกเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 25,720 ล้านดอลลาร์ หากช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีสามารถทำมูลค่าส่งออกได้เฉลี่ยมากกว่าเดือนละ 25,000 ล้านดอลลาร์ ย่อมทำให้ตัวเลขส่งออกทั้งปีทะลุเป้า 2% ได้

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า คาดการณ์ว่าเมื่อ จัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว เฉพาะหน้าเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไรจะไหลเข้าลงทุนตลาดการเงินต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจต่อการลงทุน เพราะอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E) ต่ำ ผลกำไรบริษัทจดทะเบียนฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการใช้มาตรการลดหย่อนภาษีผ่านกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) จะกระตุ้นการลงทุน พร้อมกับมีการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 1.5 แสนล้านจะช่วยฟื้นฟูและเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน  หากรัฐบาลใหม่สามารถเข้าทำหน้าที่ได้ภายในปลายเดือนกันยายนก็ตาม คาดว่างบปี 2568 การลงทุนภาครัฐจะมีความล่าช้าอยู่ดี สัมปทานโครงการขนาดใหญ่ของภาคเอกชนจะชะลอตัวเพื่อรอความชัดเจนทางนโยบายและการตัดสินใจของรัฐบาล ไทยนั้นต้องการปฏิรูปใหญ่ทางเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในหลายภาคส่วน เราควรรักษาสมดุลระหว่าง แนวทางนโยบาย Industrial Champion กับ นโยบายทุนนิยมที่เน้นความเสมอภาค (Equality State) พร้อมเสริมสร้างความเสมอภาคทางโอกาส (Equal Opportunity) เพื่อลดปัญหาอำนาจผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ พร้อมกันนี้ก็ต้องเดินหน้าปฏิรูปทางการเมืองเพื่อให้ “สถาบัน” ในระบอบประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง จำเป็นต้องปฏิรูปลงไปถึงระดับ “โครงสร้างส่วนลึก” (Deep Structure) ซึ่งกำหนด ความคิด ค่านิยม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์เชิงอำนาจและเศรษฐกิจ อีกด้วย   
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net