Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 31/2567 ชี้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิทับที่ชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะล่าช้า เป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอเร่งแก้ไข - แนะแก้ระเบียบราชทัณฑ์ว่าด้วยการแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติในเรือนจำ

เว็บไซต์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รายงานว่า13 ก.ย. 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายบุญเกื้อ  สมนึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 31/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

กสม. ชี้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิทับที่ชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะล่าช้า เป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอเร่งแก้ไข

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย จำนวน 5 คำร้องต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2564 – ธ.ค. 2565 สรุปได้ว่า ผู้ร้องเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย (Orang Laut) อาศัยอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล โดยชาวอูรักลาโว้ยกลุ่มแรกเดินทางจากเกาะลันตา อพยพมาอาศัยที่เกาะหลีเป๊ะ และเริ่มตั้งหลักแหล่งตั้งแต่ประมาณปี 2440 ปัจจุบันเกาะหลีเป๊ะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ตำบลเกาะสาหร่าย ต่อมามีบุคคลอ้างสิทธิในที่ดินรวมจำนวน 3 แปลง ซึ่งทับซ้อนกับที่ดินของชุมชนชาวเลเกาะเหลีเป๊ะ จึงทำให้เกิดข้อพิพาทในพื้นที่ เช่น มีการดำเนินคดีเพื่อไล่รื้อที่อยู่อาศัยของชาวเลให้ออกจากที่ดิน มีการถมหนองน้ำที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกันและปิดกั้นทางสาธารณประโยชน์สำหรับเดินทางไปโรงเรียน โรงพยาบาล สุสาน รวมถึงทางสัญจรของนักท่องเที่ยว ทั้งยังมีการออกเอกสารสิทธิทับซ้อนสุสานซึ่งเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ส่งผลให้ผู้ร้องและชาวเลในชุมชนประมาณ 150 หลังคาเรือน หรือกว่า 500 คน ได้รับความเดือดร้อน โดยปัญหาดังกล่าวมีมาอย่างยาวนาน และยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชน โดยรัฐมีหน้าที่ต้องส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) ที่รับรองสิทธิในการมีที่อยู่อาศัย และมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว

กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 3 ประเด็นดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง ชุมชนชาวเลอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะ ควรได้รับการคุ้มครองในการอนุรักษ์ บริหารจัดการ และใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ และได้รับการส่งเสริมให้สามารถดำรงชีวิตตามวิถีชีวิตดั้งเดิมจากหน่วยงานของรัฐ หรือไม่ เห็นว่า ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่อาศัยบนเกาะหลีเป๊ะมาตั้งแต่ปี 2440 จนกระทั่งตั้งเป็นชุมชน มีจำนวน 320 ครอบครัว จึงต้องได้รับการส่งเสริม ให้ความคุ้มครอง และควรได้รับสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข สอดคล้องกับการที่ชุมชนชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ-เกาะอาดัง ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามแนวทางของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล

ประเด็นที่สอง การที่กรมที่ดิน (ผู้ถูกร้องที่ 1) ไม่ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนกรณีมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยคลาดเคลื่อน ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อเพิกถอนหรือแก้ไขเอกสารสิทธิในที่ดินทั้ง 3 แปลงซึ่งทับซ้อนที่ดินอันเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เห็นว่า เอกชนผู้อ้างเอกสารสิทธิในที่ดินเดิมคือ ส.ค. 1 (ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน) แปลงเลขที่ 10 และเลขที่ 11 รวมจำนวน 2 แปลง ยื่นขอออก น.ส. 3 (หนังสือรับรองการทำประโยชน์) โดยระบุเนื้อที่เพิ่มมากขึ้นจากหลักฐานเดิมและจากภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งปรากฏให้เห็นว่า ที่ดินทั้งสองแปลงรุกล้ำที่ดินของชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ มีเจตนาที่จะนำที่ดินที่ชุมชนชาวเลอยู่อาศัย รวมถึงที่ดินสำหรับใช้ประโยชน์ร่วมกันของชาวเลเกาะหลีเป๊ะมาเป็นของตน และผลจากการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยคลาดเคลื่อน ทำให้ที่ดินทั้งสองแปลงรุกล้ำที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนเป็นเหตุให้มีการฟ้องขับไล่ชาวเลอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะ มีการกีดกันการใช้ประโยชน์ของที่ดิน และมีการปิดกั้นทางเดินสาธารณะซึ่งทำให้ประชาชนทั่วไปที่ใช้ทางเดินสาธารณะได้รับความเดือดร้อนด้วย

ส่วนที่ดินอีก 1 แปลง คือ ส.ค. 1 แปลงเลขที่ 7 แม้จะยังไม่ได้ขอออก น.ส. 3 แต่พบว่ามีการครอบครองที่ดินเกินกว่าที่ระบุใน ส.ค. 1 และเมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายทางอากาศปรากฏว่าทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชน นอกจากนี้ยังพบว่าเอกชนผู้อ้างเอกสารสิทธิทั้ง 3 แปลง ครอบครองที่ดินเนื้อที่เกินจากหลักฐานจนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตาด้วย

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่ดินทั้ง 3 แปลง เป็นการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยคลาดเคลื่อน แต่กรมที่ดินไม่ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยคลาดเคลื่อน ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชร้องขอ ตั้งแต่ความปรากฏครั้งแรกในปี 2557 เพื่อพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขเอกสารสิทธิแปลงพิพาทให้ถูกต้อง ส่งผลให้ชาวเลที่อยู่อาศัยบนเกาะหลีเป๊ะได้รับความเดือดร้อน จึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ยและชาวเลที่อยู่บนเกาะหลีเป๊ะ

ประเด็นที่สาม กรณีเอกชน (ผู้ถูกร้องที่ 2) ปิดกั้นทางสาธารณประโยชน์ เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งอ้างการครอบครองที่ดิน น.ส. 3 แปลงเลขที่ 11 ปิดกั้นทางเดินสาธารณะ ส่งผลให้ชาวเลอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะรวมถึงประชาชนรายอื่นที่ใช้ประโยชน์ทางเดินสาธารณะได้รับความเดือดร้อน เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องและชาวเลอูรักลาโว้ยที่อยู่บนเกาะหลีเป๊ะ แต่อย่างไรก็ตามอำเภอเมืองสตูลได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ผู้ถูกร้องที่ 2 รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่ปิดกั้นทางสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อเปิดเส้นทางแล้ว แต่การดำเนินคดีเพื่อเปิดเส้นทางเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาซึ่งใช้ระยะเวลานาน จึงยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนบนเกาะหลีเป๊ะได้ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่ออำเภอเมืองสตูลเพื่อดำเนินการต่อไป

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2567 จึงมีข้อเสนอแนะให้กรมที่ดิน (ผู้ถูกร้องที่ 1) เร่งรัดสอบสวนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยคลาดเคลื่อน ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งสำรวจการถือครองและการทำประโยชน์ของชาวเลเกาะหลีเป๊ะทุกครัวเรือน ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้สอดคล้องกับประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล

นอกจากนี้ ให้อำเภอเมืองสตูลเร่งแก้ไขปัญหาการปิดกั้นทางเดินสาธารณะให้แก่ประชาชนบนเกาะหลีเป๊ะ และให้ร่วมกับจังหวัดสตูลตรวจสอบพื้นที่ลำรางสาธารณะ พื้นที่สาธารณะภายในชุมชนเกาะหลีเป๊ะ ได้แก่ ทางสัญจรสาธารณะ สุสานบรรพบุรุษ และจุดจอดเรือหน้าหาดเพื่อการประมง รวมทั้งให้จังหวัดสตูลและสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสตูล จัดให้มีผังเมืองเกาะหลีเป๊ะ เพื่อกำหนดการใช้ประโยชน์และการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่เกิดขึ้นโดยสภาพหรือจากการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน

กสม. แนะแก้ระเบียบราชทัณฑ์ว่าด้วยการแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถสวมเสื้อชั้นในหรือแต่งกายตามเพศสภาพได้ เพื่อป้องกันการถูกคุกคามทางเพศและขจัดการเลือกปฏิบัติในเรือนจำ

นายบุญเกื้อ  สมนึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียน กรณีกล่าวอ้างว่าผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศถูกบังคับให้สวมกางเกง ไม่ได้รับอนุญาตให้แต่งกายตามเพศสภาพ ขณะที่ผู้ต้องขังที่ทำศัลยกรรมเสริมหน้าอกแล้วไม่ได้รับอนุญาตให้ใส่เสื้อชั้นในเป็นสาเหตุให้ถูกคุกคามหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศ

กสม. ได้พิจารณาคำร้อง ศึกษาข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน เอกสารงานวิจัยและสอบถามความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า แม้ผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศจะถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพบางประการ หากแต่คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงดำรงอยู่เฉกเช่นเดียวกันกับผู้ต้องขังทั่วไป การกระทำอันเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ย่อมมิอาจกระทำได้ โดยเฉพาะในกรณีการแต่งกายของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ หลักการยอกยาการ์ตาว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ได้บัญญัติรับรองสิทธิในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดให้ได้รับการคุ้มครองและหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการลดทอนคุณค่าของมนุษย์และเลือกปฏิบัติ

สถิติของกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 15 ม.ค. 2567 ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังที่แปลงเพศสมบูรณ์แบ่งเป็น (1) ผู้ต้องขังชายศัลยกรรมแปลงเพศเป็นหญิง 15 คน และ (2) ผู้ต้องขังหญิงที่ศัลยกรรมแปลงเพศเป็นชาย 1 คน อย่างไรก็ตาม สถิติดังกล่าวเป็นการรวบรวมเฉพาะสถิติผู้ต้องขังที่ศัลยกรรมแปลงเพศเป็นคนข้ามเพศโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ไม่รวมถึงผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ ซึ่งยังไม่ได้ศัลยกรรมแปลงเพศและมีอยู่จำนวนไม่น้อย ผู้ต้องขังกลุ่มนี้จึงถูกมองข้าม ถูกลดคุณค่า อันเป็นเหตุให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ

จากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันการแต่งกายของผู้ต้องขังเป็นไปตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง พ.ศ. 2538 และระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับอนามัยและการสุขาภิบาลของผู้ต้องขัง พ.ศ. 2561 ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ 3 ประเด็น สรุปได้ดังนี้

(1) ปัญหาการแต่งกายของผู้ต้องขังตามเพศสภาพ ปัจจุบันระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง พ.ศ. 2538 ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับผู้ต้องขังหลากหลายทางเพศไว้ แต่กรมราชทัณฑ์มีมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ (Standard Operating Procedures: SOPs) ซึ่งกำหนดเรื่องการแต่งกายของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศกรณีผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศเป็นชายและที่แสดงออกเป็นชาย (ทอม) และกรณีผู้ต้องขังชายข้ามเพศเป็นหญิงหรือมีสรีระเป็นหญิง ให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณาและอนุญาตเป็นการเฉพาะราย อย่างไรก็ตามมาตรฐาน SOPs ดังกล่าว เป็นเพียงแนวปฏิบัติที่ไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาข้อกำหนดที่บังคับใช้ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง พ.ศ. 2538 เห็นว่า ยังคงยึดตามเพศกำเนิดเป็นหลัก โดยมีเพียงข้อ 14 ที่เปิดช่องให้อำนาจอธิบดีใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ผู้ต้องขังใช้เครื่องแต่งกายหรือเครื่องประกอบอย่างอื่นในกรณีมีเหตุพิเศษ จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบฯ ดังกล่าวให้เข้ากับมุมมองเรื่องเพศที่เปลี่ยนไปในสังคมยุคปัจจุบัน โดยคำนึงถึงการรับรองสิทธิในการแต่งกายตามเพศสภาพ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติอันเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ

(2) ปัญหาการไม่สามารถสวมใส่เสื้อชั้นในของผู้ต้องขังหลากหลายทางเพศที่มีหน้าอก ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับการอนามัยและการสุขาภิบาลของผู้ต้องขัง พ.ศ. 2561 กำหนดว่า ในปีหนึ่ง ๆ ให้จ่ายเสื้อชั้นใน จำนวน 4 ตัว แก่ผู้ต้องขังหญิงเท่านั้น ผู้ต้องขังหลากหลายทางเพศที่มีหน้าอกจึงไม่มีสิทธิได้รับเสื้อชั้นใน และแม้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง พ.ศ. 2538 ข้อ 14 จะให้อำนาจอธิบดีใช้ดุลพินิจในกรณีมีเหตุพิเศษก็ตาม แต่ในความเป็นจริง พบว่า การใช้ดุลพินิจภายใต้กรอบความคิดของระเบียบดังกล่าวยังยึดถือเพศกำเนิดเป็นหลัก ส่วนการใช้ดุลพินิจให้แต่งกายรูปแบบอื่นถือเป็นข้อยกเว้น

(3) ปัญหาการแต่งกายของผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี สถิติของกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 กันยายน 2567 ระบุว่า ปัจจุบันผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี มีจำนวน 68,260 คน หรือร้อยละ 22.64 ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด โดยการแบ่งแยกแดนการควบคุมตัวผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ออกจากนักโทษเด็ดขาด กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการนำร่องเป็นตัวอย่างในเรือนจำพิเศษมีนบุรีซึ่งถือเป็นเรือนจำต้นแบบ โดยระยะต่อไปมีแผนให้มีการจัดตั้งเรือนจำศูนย์ระหว่างการพิจารณาคดีในเขตจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศในอนาคต ซึ่งถือเป็นพัฒนาการและความมุ่งมั่นของกรมราชทัณฑ์ในการปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเฉพาะประเด็นเรื่องการแต่งกายของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี พบว่า กรมราชทัณฑ์มีการแบ่งแยกการแต่งกายตามมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี
ข้อ 2.1 ของระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง พ.ศ. 2538 ซึ่งกำหนดให้นักโทษเด็ดขาดสวมใส่เสื้อสีฟ้า กางเกงหรือผ้าถุงสีกรมท่า ส่วนผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีจะสวมใส่ชุดสีน้ำตาล หรือชุดสีลูกวัว แต่ปรากฏข้อแตกต่างเฉพาะเรือนจำพิเศษมีนบุรีซึ่งเป็นเรือนจำนำร่อง ที่ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีสามารถสวมใส่เสื้อผ้าทั่วไปที่ญาติฝากให้ได้ขณะอยู่ในเรือนจำ รวมทั้งกรณีเดินทางไปศาลให้ใส่เสื้อมีแถบสีที่แขนเสื้อเป็นสัญลักษณ์ และสวมใส่กางเกงวอร์มขายาวได้ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากนักโทษเด็ดขาด อันสอดคล้องกับหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence)  ทั้งนี้ กสม. เห็นควรให้ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม มีสิทธิและเสรีภาพแต่งกายตามความเหมาะสมได้ ทั้งกรณีอยู่ในเรือนจำและออกไปศาลตามนัด เพื่อไม่ให้เกิดการตีตราและเลือกปฏิบัติระหว่างผู้ต้องหาที่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวและไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในขณะที่เดินทางมาศาลด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวการประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายให้กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการ สรุปได้ดังนี้

(1) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ควรสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับแนวคิดเพศวิถีแก่เจ้าหน้าที่ให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติภารกิจเกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังโดยตรง เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติเนื่องจากเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด และส่งเสริมให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ และให้เร่งผลักดันนโยบายการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีให้แตกต่างกับนักโทษเด็ดขาดอย่างเหมาะสม และครอบคลุมเรือนจำทุกแห่งทั่วประเทศ โดยในส่วนการแต่งกายให้ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีมีสิทธิแต่งกายตามความเหมาะสมเองได้ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) อันเป็นการยกระดับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี

(2) ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้แก้ไขปรับปรุงระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง พ.ศ. 2538 และระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับการอนามัยและการสุขาภิบาลของผู้ต้องขัง พ.ศ. 2561 โดยคำนึงถึงการรับรองสิทธิในการแต่งกายตามเพศสภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการสวมใส่เสื้อชั้นในของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศที่ทำศัลยกรรมหน้าอกแต่ไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ เพื่อให้เรือนจำทั่วประเทศมีแนวทางในการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net